ผลงานเพลงอมตะของพรานบรูพ์

    ผลงานเพลงอมตะของพรานบรูพ์ (1)



    โดย คีตา พญาไท นสพ.ผู้จัดการ

    เพลงจันทร์เจ้าขา

    ญ. เออ น่าอายน่าขัน จริงนะ จันทร์เจ้าขา หลบหน้าหน่อยซิเจ้าคะ

    ช. เราจะกระซี้ กระซิก

    พ. ระริกระรื่น รื่น

    ญ. ชื่นใจ

    ช. ชื่นใจ จันทร์เจ้าขา ให้เจียมบอกข้าอีกซ้ำ ซาบซ่านหวนฉ่ำคำ น้องรักพี่

    ญ. จันทร์เจ้าขา ให้จิตบอกข้าอีกที หวานล้ำทวีคำพี่รักน้อง

    ช. เอียงหน้ามาซิ พี่จะกระซิบเบาๆ

    ญ. อุ๊ย ไม่เอา ไม่เอา ดูนั่น จันทร์เจ้าคอยจ้อง

    ช. ของสงวนของน้อง นั่นควรเสนอสนอง

    ญ. อุ๊ย อุ๊ย อย่ามอง ดิฉัน ซิคะ จันทร์เจ้าขา

    ช. โอ้จันทร์เจ้าขา ไม่เวทนาข้าหรือว่าไร

    ญ. หลบหน้าหน่อยซิเจ้า คะ

    ช. เราจะกระซี้กระซิก

    พ. ระริกระรื่น รื่น

    ญ. ชื่นใจ

    ช. ชื่น...ใจ

    พ. จริงนะ จันทร์เจ้าขา



    เพลงนี้บันทึกลงแผ่นเสียงขี้ผึ้งครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2477 ผู้ขับร้อง คือ ประทุม ประทีปเสน(นางเอก)และมณี แพ่งสุภา(พระเอก) ต่อมาบันทึกเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2492 โดยประทุม ประทีปเสน และสมชาย ตัณฑ์กำเนิด ต่อมาชรินทร์ นันทนาคร และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี บันทึกไว้เป็นครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2502

    เพลงจันทร์เจ้าขา จากละครเพลงเรื่องนี้ มาลัย ชูพินิจ นักหนังสือผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของเมืองไทยในยุคนั้น เขียนชมเชยไว้ว่า ได้รับความนิยมแพร่ไปกว้างไกล แม้กระทั่งในชนบท ป่าเขาที่ห่างไกลเมืองหลวง ก็ยังมีคนนำไปร้องกันอยู่อย่างน่าแปลกใจ

    เพลงนี้เป็นเพลงประกอบในละครเพลง ดังนั้น พรานบูรพ์ จึงนำเอาชื่อตัวละคร ตัวเอก ทั้งพระ และนางเอก มาใส่ไว้ในเนื้อเพลงด้วยคือ

    “...ชื่นใจ จันทร์เจ้าขา ให้ “เจียม” บอกข้าอีกซ้ำ ซาบซ่านหวานฉ่ำคำน้องรักพี่

    จันทร์เจ้าขา ให้ “จิต” บอกข้า อีกที หวานล้ำฉ่ำทวี คำพี่รักน้อง...”

    และเพราะเป็นเพลงประกอบละคร พรานบูรพ์ จึงขึ้นต้นด้วยคำว่า

    “เออ น่าอาย น่าขัน จริงนะ จันทร์เจ้าขา” อันเป็นช่วงเวลาที่ พระเอก (จิต) กำลังพรอดรักอยู่กับนางเอก(เจียม)ท่ามกลางบรรยากาศที่มีพระจันทร์เป็นฉากที่เป็นใจและเร้าอารมณ์อย่างยิ่ง แล้วเอาเพลงมาร้องแทนการเจรจาบอกความในใจ ซึ่งเป็นศิลปะทางการละครที่น่าศึกษาเป็นแบบอย่าง

    นอกจากนี้ พรานบูรพ์ ยังใช้คำอุทาน แสดงความแปลกใจ ตกใจ มาเรียงร้อยไว้ในบทเพลงได้อย่างสอดคล้องลงตัว ทำให้เกิดความไพเราะมากขึ้น เช่น

    “เออ น่าอาย น่าขัน..”

    "อุ๊ย ไม่เอ๊า ไม่เอา ดูนั่น จันทร์เจ้าขาคอยมอง”

    "อุ๊ย อุ๊ย อย่ามองดิฉัน ซิคะ จันทร์เจ้าขา” สามารถทำให้เห็นภาพ อากัปกิริยาของคู่พระ คู่นาง ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นวรรคทอง ของเพลงนี้ไปในที่สุด และยิ่งได้การร้องในแนวเอื้อนแบบละครร้อง เช่น

    “เรากระซี้กระซิก ระริกระรื่น ชื่น...ใจ ระริกระรื่นชื่น...ใจ ชื่น...ใจ”

    ยิ่งทำให้เพลง จันทร์เจ้าขานี้ เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมมากกว่าเพลงใดในยุคสมัยนั้น

    ผลงานเพลงอมตะของพรานบรูพ์ (2)



    โดย คีตา พญาไท

    นอกจากเพลง "จันทร์เจ้าขา" ที่เป็นที่นิยมแล้ว เพลง "กล้วยไม้ลืมดอย" ผลงานของพรานบูรพ์นั้นก็เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมด้วยเช่นเดียวกัน โดยเพลงนี้มาจากละครเรื่อง "โจ๊โจ้ซัง" ของคณะศรีโอภาส แสดงที่โรงภาพยนตร์พัฒนาการ เมื่อวันที่ 13 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2477



    เพลงกล้วยไม้ลืมดอย

    กล้วยไม้ของเราแต่เก่าก่อน อยู่ในดงในดอน เจ้าซ่อนช่อซ่อนใบ

    ไกลภู่ ไกลผึ้ง ซ่อนอยู่ถึงไหนไหน

    ใครจะเด็ดจะดมได้ ใครจะเด็ดจะดมได้ เราไม่เห็นเลย

    โอ้กล้วยไม้เอย น่าชื่นน่าเชย เจ้าบ่เคยชอกช้ำ

    ทุกเช้าสายบ่ายค่ำ ชื่นบ่ช้ำชอกเลย

    เดี๋ยวนี้ดูหรือกล้วยไม้ มาชู่ช่อชูใบ บานอยู่ในกระเช้า

    ลืมดอยลืมดอน ที่เคยซ่อนก่อนเก่า

    ภู่จะคลึง ผึ้งจะเคล้า ให้เจ้าเฉาลง ภู่จะคลึง ผึ้งจะเคล้า ให้เจ้าเฉาลง

    โอ้กล้วยไม้เอย โธ่ไม่น่าเลย ที่จะมาไหลหลง

    เจ้าลืมซุ้มพุ่มพง เจ้าลืมดงดอยเอย



    เป็นอีกเพลงอมตะของพรานบูรพ์ที่มีแนวการร้องแบบละครร้องที่ได้รับความนิยมกันมาก เพลงนี้พรานบูรพ์แสดงฝีมือความเป็นนักกลอนหรือคีตกวีอย่างสมศักดิ์ศรี เพราะการเล่นคำ การซ้ำคำและสัมผัสทั้งอักษรและเสียงที่ทำให้สื่อความหมายและสร้างอารมณ์ของเพลงได้ดียิ่ง เช่น



    "เก่าก่อน" "ไหนไหน" "ชอกช้ำ" "ชูช่อชู-ใบ" "ไหลหลง" "พุ่มพง" "ดงดอย" "ในดง ในดอน" "ไกลภู่ ไกลผึ้ง" "จะเด็ด จะดม" "น่าชื่น น่าเชย" "ชูช่อ ชูใบ" "ลืมดอย ลืมดอน" "ภู่จะคลึง ผึ้งจะเคล้า" และ "ลืมซุ้มพุ่มพง ลืมดงลืมดอย" ซึ่งเป็นผลงานการแต่งคำร้องที่หาตัวจับได้ยากยิ่งในยุคสมัยนั้น แม้ตราบเท่าทุกวันนี้



    ยิ่งมีแนวการร้องที่มีจังหวะเว้นเป็นช่วงๆ แล้วร้องติดกันเป็นวรรคยาวๆ ที่เป็นแบบฉบับของละครร้องด้วยแล้วยิ่งทำให้เพลงๆ นี้ ติดอยู่ในความนิยมของแฟนเพลงตั้งแต่นั้นมา



    คราวหน้าหากจะร้องเพลงกล้วยไม้ลืมดอยกันอีกอย่าลืมพิจารณาข้อสังเกตที่ผมยกมาให้อ่านกันก่อนนะครับ คุณจะได้ "ตีความ" ของเพลงให้ทะลุ เวลาร้องจะได้ซึมซาบทั้งอารมณ์และอรรถรสของเพลง



    แล้วคุณจะได้รู้เองว่า "อันเพลง ดนตรี คีตศิลป์" นั้น มีคุณค่าแก่ชีวิตแค่ไหน



    ต่อกันด้วยเพลงที่ชื่อว่า "กุหลาบร่วง"



    เพลงนี้เดิมเป็นเพลงอยู่ในละครเรื่อง "บุปผชาตินคร" ของคณะจันทโรภาส ที่ไปแสดงที่วิกบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปีพ.ศ.2476 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "แม่ศรีเวียง" แสดงที่โรงพัฒนากร เมื่อปี พ.ศ.2478 จึงตัดเอาเพลงกุหลาบร่วง ออกมาร้องสลับฉาก ขับร้องโดย ชะอวบ ฟองกระแสสินธุ์



    ปี พ.ศ.2525 นงลักษณ์ โรจนพรรณ ดาราละครทีวีของ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ช่อง 4 บางขุนพรหมนำมาบันทึกเทปออกเผยแพร่เลยหวนคืนมาฮิตติดใจผู้ฟังอีกรอบหนึ่ง และมีการนำเอามาร้องใหม่กันอีกหลายครั้งหลายหน โดยนักร้องชื่อดังๆ ในแต่ละยุค



    รายละเอียดเป็นอย่างไร มาว่ากันต่อในสัปดาห์หน้า...


    ผลงานเพลงอมตะของพรานบรูพ์ (3)



    โดย คีตา พญาไท

    เพลงกุกลาบร่วง



    เดิมเป็นเพลงอยู่ในละครเรื่องบุปผชาตินครของคณะจันทโรภาส ที่ไปแสดงที่วิกบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปี พ.ศ 2476



    ต่อมาเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็นแม่ศรีเวียง แสดงที่โรงพัฒนากร เมื่อปี พ.ศ.2478 จึงตัดเอาเพลงกุหลาบร่วง ออกมาร้องงสลับฉาก ขับร้องโดย ชะอวบ ฟองกระสินธุ์



    ปี พ.ศ.2525 นงลักษณ์ โรจนพรรณ ดาราละครทีวี ของ บริษัท ไทรโทรทัศน์ จำกัด ช่อง 4 บางขุนพรหม นำมาบันทึกเทปออกเผยแพร่ เลยหวนคือมาฮิตติดใจผู้ฟังอีกรอบหนึ่งและมีการนำเอามาร้องใหม่กันอีกหลายครั้งหลายหน โดยนักร้องชื่อดังๆ ในแต่ละยุค



    สายลมผวนหวนไป ใจของเราหายวาบ กลิ่นกุหลาบเจ้าเอ๋ย นะ

    ก่อนเคยมีกลิ่นหอม ยั่วย้อมอารมณ์

    สายลมเชยเคยได้ดม ชื่นอารมณ์เพียงชั่วคืน

    คิดไปใจหาย กุหลาบกลายไปเป็นของคนอื่น

    ปลูกเอาไว้ หวังใจจะได้ชื่น สู้เร่งวันคืน มิทันได้ชื่น สิกลับต้องช้ำ

    สายลมหวนทวนมา พาหัวใจให้จำ เมื่อกุหลาบแตกช่อ นะ

    ก่อเป็นกอละกำ สุดจะช้ำวิญญา

    สายลมเชยรำเพยพา กลิ่นเอามาให้เราดม

    เดี๋ยวนี้ซิหนอ ยังสู้แตกออกไว้ให้ชื่นชม

    สุดเสียดาย เขาเด็ดดอกเอาไปดม อกเราต้องระทม เพียงต้องสายลมยังเรรวน

    สายลมหวนครวญเสียง แม้นเพียงเราครวญ กลีบกุหลาบที่เหลือ นะ

    เชื่อใจว่าจะหวน ทวนสายลมมา

    สายลมเชยเคยได้พา กลิ่นเอามาให้ชื่อใจ

    คิดไปแสนห่วง กุหลาบล่วงช่อแห้งติดใบ

    เถอะจะสู้ รดน้ำพรวนดินไว้

    ช่อที่แห้งติดใบ นี้จะเอาไว้ให้ชื่นบาน



    เข้าใจเอาเองว่า บทร้องวรรคที่สองของท่อนแรก ที่ว่า “สายลมหวนทวนไป ใจของเรา “หายวาบ”” ซึ่งจะส่งไปสัมผัสกับเนื้อบรรทัดที่สอง “กลีบกุหลาบเจ้าเอ๋ย นะ” นั้น คำว่า “หายวาบ” แสดงความรู้สึกได้สุดยอดว่ารู้สึกอย่างไร แม้จะเป็นคำพื้นๆ สามัญทั่วๆ ไปจนกระทั่ง ขุนวิจิตรมาตรา นำเอาไปแต่งใน “เพลงกุหลาบในมือเธอ”ที่ พลโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร เป็นผู้ขับร้อง(ใจพี่ หายวาบ เมื่อเห็นกุหลาบกลีบกระจายฯ)



    เพลงกุหลาบร่วง เพลงนี้ พรานบรูพ์ แต่งเนื้อไว้เพียงสามท่อน แต่ละท่อนจะมีเนื้อเพลงล้อกันทั้งเพลง เช่น “สายลมหวนทวนไป....สายลมหวนทวนมา....สายลมหวนทวนเสียง” “สายลมเชยเคยได้ดม....สายลมเชยลำเพยพา....สายลมเชยเคยได้พา” “คิดไปใจหาย....คิดไปแสนห่วง” เนื้อหาก็เป็นการตัดพ้อต่อว่า และยอมรับในโชคชะตา ที่ฟ้าลิขิตมาให้โดยไม่มีเงื่อนไข ข้อต่อรองใดทั้งสิ้น



    “ปลูกเอา ไว้หวังใจว่าจะได้ชื่น สู้เร่งวันเร่งคืน ยังมิทันชื่นซิกลับต้องช้ำ” “สุดเสียดาย เขาเด็ดดอกเอาไปดม อกเราต้องระทม เพียงต้องสายลมยังเรรวน”



    ขนาดแค่ “เพียงต้องสายลมยัง เรรวน” นี่ผมว่ามันหนักหนาสาหัสเอาเรื่องทีเดียวนะครับที่สำคัญก็คือ บทสรุปสุดท้ายที่ว่า “คิดไปแสนห่วง กุหลาบร่วงช่อแห้งติดใบ เถอะจะสู้รดน้ำพรวนดินไว้ ช่อที่แห้งติดใบ ช่อมีเอาไว้ให้ชื่นบาน”



    แหม ขนาด “ช่อ”ที่มีกุหลาบแห้งติดอยู่ ก็ยังรักและบูชาอยู่อย่างนี้ ดูออกจะเป็น “คนดี”ที่หาได้ยากเสียกระมัง ในยุคนี้ สมัยนี้ หรือคุณว่าไง

    จากคุณ : สมถวิล - [ 10 เม.ย. 47 07:16:31 A:203.151.206.81 X:203.113.36.11 ]