ประวัติวงดนตรีที่เรียกว่า สังคีตสัมพันธ์
เมื่อปี พุทธศักราช 2496 พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ท่านมีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะพัฒนาดนตรีไทย จึงได้ดำเนินการเพิ่มอัตราข้าราชการขึ้นในแผนกดนตรีไทย และประกาศรับสมัครนักดนตรี จึงได้มีนักดนตรีไทยสมัครเข้ามารับราชการหลายท่านด้วยกัน
คือ ครูบุญยง เกตุคง ครูสมาน ทองสุโชติ ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์ ครูประสงค์ พิณพาทย์ ครูสืบสุด ดุริยประณีต ครูสมพงศ์ นุชพิจารย์ ครูช้องมาศ สุนทรวาทินครูทัศนี ดุริยประณีต ครูสุดจิตต์ ดุริยะประณีต และ ครูบุบผา คำศิริ
ขณะนั้น ยังมีนักดนตรีไทยอาวุโสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางดนตรีไทยอย่างยอดเยี่ยม ทั้งทางด้านการบรรเลง และการแต่งเพลงเป็นอย่างมาก แต่ติดขัดอยู่ว่า ท่านอายุมากแล้ว ไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ ท่านอธิบดี พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร มีความตั้งใจที่จะได้นักดนตรีอาวุโสท่านนี้ไว้เป็นที่ปรึกษาในวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์ให้ได้ จึงได้จัดเงินงบพิเศษของสถานีวิทยุภาคทดลองมา จัดเป็นเงินสมนาคุณในตำแหน่ง ที่ปรึกษาทางดนตรีไทยแก่นักดนตรีท่านนั้นคือ ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์
ครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ เดิมท่านชื่อ พุ่มเล็ก เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2433 ณ บ้านพระยาภูธราภัย อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรีเป็นบุตรคนสุดท้องของ ครูปุย บาปุยะวาทย์ ครูดนตรีที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ครูพุ่มเป็นผู้มีฝีมือทางด้านดนตรีไทยอย่างยอดเยี่ยม ทั้งในทางทฤษฎีและ ทางปฎิบัติ ได้มีโอกาสเป็นผู้สอนวิชาดนตรีไทย ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ ตามวังต่างๆ เช่น วังบางขุนพรหม ของ ทูลกระหม่อมบริพัตร วังบูรพาของสมเด็จฯ กรมพระยาภาณุพันธ์ฯ วังพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี นอกจากนั้น
ที่บ้านครูพุ่ม ก็มีลูกศิษย์ มาเรียนวิชาดนตรีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน
เมื่อวงดนตรีไทยของกรมประชาสัมพันธ์มีนักดนตรีพร้อมเพรียงแล้ว จึงได้มีการฝึกซ้อมเพลงกันขึ้นเป็นประจำ ด้วยเหตุที่ห้องซ้อมดนตรีไทย กับ ดนตรีสากลอยู่ใกล้ชิดกัน จึงทำให้เสียงดนตรีไทย กับดนตรีสากลคลุกเคล้าผสมผสานกันไปโดยกฎแห่งธรรมชาติ ทำให้เกิดมีความไพเราะอย่างแปลกประหลาด
ท่านอธิบดี พลโทหม่อมหลวงขาดกุญชร จึงได้ระลึกถึงพระราชเสาวณีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ที่เคยตรัสว่า ดนตรีไทยกับดนตรีสากลนั้น ควรจะเล่นรวมกันได้ ดังนั้น ท่านอธิบดีพลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร จึงดำริที่จะทำวงวดนตรีผสมขึ้น ในขณะนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ควบคุมวงดนตรีสากลอยู่ ก็มีแนวความคิดนี้เช่นกันว่า จะนำเครื่องดนตรีไทยมาผนวกเข้ากับเครื่องดนตรีสากลได้ ทั้งนี้จะได้ช่วยเชิดชูเพลงไทยให้จำง่ายขึ้น โดยนำมาบรรเลงในแบบสากลได้อย่างสนิท และยังคงจะรักษาบรรยากาศแบบไทยๆเราไว้ได้อย่างผสมกลมกลืน จึงได้ตกลงเรียกการบรรเลงดนตรีผสมนี้ว่า
สังคีตสัมพันธ์
เพลงแรกที่บรรเลงแบบผสมนี้คือ เพลงกระแต จากเพลงไทยที่มีชื่อว่า กระแตเล็ก ใสตับลาวเจริญศรี โดยมีครูพุ่ม บาปุยะวาทย์ เป็นผู้บอกทางเพลงให้เป็นครั้งแรก
-----------------------------------------------------------
ชอบเพลงอะไรกันบ้างครับ
ผชอบเพลง "ดีกันนะ" , "คำหอม" , "ราตรีสิ้นดาว "
จากคุณ :
สมถวิล (สมถวิล)
- [
วันเนา (14) 07:36:13
]