ฟังดนตรีคลาสสิก ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด !!

    ท่านที่ชอบชมภาพยนต์ การ์ตูน รายการโทรทัศน์ สารพันบันเทิงต่างๆก็ต้องเคยลิ้มรสดนตรีคลาสสิกมาบ้าง เนื่องจากดนตรีคลาสสิกถูกนำไปใช้ประกอบละคร โฆษณา ฯลฯ ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยผู้ที่ได้รับฟังรับชมอยู่นั้น อาจจะไม่ทราบเลยว่า หลายๆเพลงนั้น ก็คือเพลงคลาสสิกนั่นเอง

    คำว่า Classical โดยทั่วไปหมายถึง "สิ่งที่รับรองกันแล้วว่าดีถึงขนาด" หรือ "ผลงานชิ้นเยี่ยมของศิลปิน" หรือ "ผลงานของศิลปินที่มีความสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์ และความกระจ่างชัดในด้านเนื้อหาและแบบแผนหรือรูปทรง"/เป็นคำที่มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า popular music
    *คำว่า Classical ยังมีความหมายอื่นอีก แต่จะขอยกมาเพียงเท่านี้เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น

    สำหรับผู้ที่สนใจจะฟังดนตรีคลาสสิก สิ่งเรามักจะพบบ่อยๆก็คือ ประโยคแปลกๆจากบุคคลรอบข้าง ยกตัวอย่างเช่น

    - ท่าจะบ้าแล้วไอ้นี่ คิดยังไงฟังคลาสสิก ไม่มีใครเขาฟังกันหรอก
    - อี๋... ปิดเดี๋ยวนี้เลยนะ ฟังแล้วจะหลับ น่าเบื่อจะตาย
    - ต้องปีนกระไดฟังหรือเปล่าเนี่ย หูถึงเหรอแก
    - แหม!! ทำมาเป็นหัวสูง
    - ฟังอะไรน่ะเธอ ไม่ทันสมัยเอาซะเลย เชยชะมัด ฟังแต่เพลงคนแก่หัวโบราณ
    (บางคนเพื่อนๆไม่อยากจะคบหาด้วย เพราะเพียงแค่ชอบฟังดนตรีคลาสสิก)

    สำหรับผู้ที่เรียนดนตรีหรือเล่นดนตรีแนวนี้เป็นอาชีพอยู่แล้ว ก็จะถูกทักเอาบ่อยๆว่า เล่นดนตรีคลาสสิกแล้วจะเอาอะไรกิน เจออย่างนี้มากๆเข้าก็จะเสียกำลังใจทั้งคนเล่นและคนฟังล่ะครับเนี่ย โชคยังดีที่ยังไม่เจอป้ายช่วยกันรณรงค์ "คนฟังตาย คนเล่นติดคุก"

    ต้องลองถามตัวเองดูว่า เหตุผลในการเลือกฟังเพลง คือ "ก็เพลงเขาเพราะ" "เพลงเขาน่าสนใจ" หรือ "ใครๆเขาก็ฟังกันทั้งนั้น"

    ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้เกิดมามีสองหู มนุษย์เราสามารถใช้หูทั้งสองให้คุ้มค่าที่สุดได้ ในแง่การฟังดนตรี หูของเราสามารถฟังเพลงได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น Classic , Pop , Jazz ,ลูกทุ่ง ฯลฯ ดังนั้น การเลือกฟังดนตรีจึงไม่เหมือนการทำข้อสอบทั่วๆไป ที่ต้องการให้เลือกข้อที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว จึงอยากเสนอว่า เราไม่ควรปิดกั้นโอกาสในการรับฟังดนตรี ด้วยความเชื่อผิดๆหรืออคติใดๆ จะดีที่สุด

    การเริ่มฟังดนตรีคลาสสิก น่าจะเริ่มเปิดรับด้วยจิตใต้สำนึกก่อน สำหรับท่านที่เคยได้ศึกษาเรื่องจิตใต้สำนึกมาบ้าง ก็จะทราบดีว่าพฤติกรรมของมนุษย์ที่ถูกแสดงออกมา ส่วนใหญ่เกิดจากการตอกย้ำหรือสั่งสิ่งนั้นในจิตใต้สำนึก ในการฟังดนตรี ถ้าสมมติว่าเราถูกกรอกหูมาเป็นเวลานานว่า"อย่าไปฟังเลย ดนตรีคลาสสิก ฟังแล้วน่าเบื่อ ฟังแล้วหลับ" ถ้าเราเชื่อในสิ่งนั้นอย่างสนิทใจแล้ว ถ้าเมื่อใดที่เราได้มีโอกาสรับฟังดนตรีคลาสสิก ถ้าเราทราบว่าที่ฟังอยู่นั้นเป็นดนตรีคลาสสิก เราก็จะคิดขึ้นมาเลยว่า "มันน่าเบื่อนะ มันทำให้ง่วงนะ" สักพักเราก็จะแสดงอาการออกมาอย่างที่เราคิดนั่นเอง

    ข้อแนะนำ(ส่วนตัว) ในการฟังดนตรีคลาสสิกก็คือ เราต้องลองปรับความคิดของเราใหม่ว่า "ดนตรีคลาสสิกทำให้ฉันมีความสุข ฉันสนุกสนานเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีอันไพเราะ" ฟังอย่างปราศจากอคติ และความกังวลใดๆ พยายามทำใจให้สบาย อยู่ในอิริยาบทที่รู้สึกผ่อนคลาย ระหว่างฟังเพลงถ้ารู้สึกอึกอัดก็ใช้วิธีหายใจเข้า-ออกช้าๆ ลึกๆ คล้ายๆการทำสมาธิ ปล่อยใจไปตามทำนองเพลงอันแสนจะไพเราะ เพียงเท่านี้ ก็จะทำให้เรามีความรู้สึกดีๆในการฟังดนตรีได้แล้ว(บางคนมีความเข้าใจอย่างผิดๆว่า การตั้งใจฟังดนตรีคลาสสิก ต้องนั่งตัวเกร็งๆ อย่านะครับ เหนื่อยฟรี)

    มีคนเคยกล่าวไว้ว่า "ดนตรีแบบนี้(ดนตรีคลาสสิก) เราฟังไม่รู้เรื่องหรอก" สำหรับคนเริ่มฟัง ไม่ต้องรู้เรื่องหรอกครับ แค่ปล่อยจิตใจไปตามทำนองเพลงอย่างที่บอกนั่นแหละครับ ไม่ต้องไปคิดอะไรมากเลย แค่นี้ก็มีความสุขได้แล้ว

    หลายคนเข้าใจว่าดนตรีคลาสสิกคือดนตรีช้าๆ ความจริงแล้ว ดนตรีคลาสสิกมีอัตราจังหวะหลากหลายนะครับ ตั้งแต่ช้ามากๆ จนถึงเร็วมากๆ สนุกสนานเร้าใจก็มีไม่น้อยเลยครับ ซาบซ่าถึงใจเชียวล่ะ ขอบอก

    การเริ่มฟังดนตรีคลาสสิก เปรียบได้กับการคบเพื่อนใหม่สักคนหนึ่ง แรกๆก็ไม่ค่อยสนิทสนมคุ้นเคยกันนัก ต้องใช้เวลาสักระยะก็จะเข้าใจกันเอง

    ดนตรีคลาสสิกเปรียบเสมือนงานศิลปะที่มีความงดงามมากๆเพียงแต่งานนั้นเรามองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า ไม่อยากให้คิดว่าดนตรีคลาสสิกเป็นเรื่องของชนชั้นสูง ปัจจุบัน ดนตรีคลาสสิก ถือเป็นวัฒนธรรมของโลกมนุษย์ทุกคนมีสิทธิรับฟังดนตรีคลาสสิกได้เท่าเทียมกัน

    จุดประสงค์ของผู้เขียนบทความนี้คือ ต้องการถ่ายทอดความคิดและมุมมองเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน ผู้เขียนมิได้ต้องการจะบอกว่าดนตรีคลาสสิกดีที่สุด ดนตรีแต่ละแนวย่อมมีความโดดเด่นในตัวเอง ไม่มีดนตรีแนวไหนดีกว่ากันหรอก อ่านจบแล้วก็.... มาฟังเพลงกันเถอะครับ

    จากคุณ : คนรักดนตรี - [ วันเนา (14) 14:33:40 A:202.57.185.162 X: ]