CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    สมศักดิ์ เทพานนท์ ยอดขุนพลเอก เพลงสุนทราภรณ์

    สมศักดิ์ เทพานนท์ ยอดขุนพลเอก เพลงสุนทราภรณ์ flower

    เทพกร บวรศิลป์ เรียบเรียง และรายงาน

    ในปีนี้เป็นปีที่คุณสมศักดิ์ เทพานนท์ อายุครบ 80 ปี (5 มีนาคม 2547) และครบรอบวันเสียชีวิตปีที่ 10 (26 กรกฎาคม 2547) จึงขอนำประวัติส่วนหนึ่ง ของยอดขุนพลเอก เพลงสุนทราภรณ์ ท่านนี้ มานำเสนอให้ผู้สนใจได้รับทราบกัน

    สมศักดิ์ เทพานนท์ ชื่อจริงว่า สมศักดิ์ ทัพทัต เป็นบุตรของนายทองย้อย กับนางระเบียบ ทัพทัต เกิดที่บ้านย่านสำราญราษฎร์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2467

    สมศักดิ์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดสุทัศน์ จบชั้นมัธยามศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดสระเกศ แล้วเข้าศึกษาต่อที่เตรียมเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เรียนไม่จบเนื่องจากคุณพ่อและคุณย่าเสียชีวิตเสียก่อน จึงไม่มีผู้อุปการะให้เรียนต่อ สมศักดิ์จึงหันมาเอาดีทางด้านดนตรีเรื่อยมา เครื่องดนตรีชิ้นแรกที่หัดเล่น คือ กีตาร์สแปนิช และกีตาร์ฮาวาย โดยการฝึกสอนของครูฮอน หาญบุญตรง

    วงดนตรีที่ได้ร่วมบรรเลงเป็นวงแรก คือ วงหัสดนตรีกองทัพเรือ ของกองดุริยางค์ทหารเรือ ต่อมาได้ลาออกแล้วย้ายมาอยู่กับบริษัทละครนิยมไทย และย้ายมาอยุ่กับวงดนตรีเทศบาล 4 ปีต่อมา ได้ย้ายมาอยู่วงดนตรีดุริยะโยธิน จนในที่สุดได้มาอยู่กับวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยการชักชวนของครูเวส สุนทรจามร เมื่อปี 2496

    และที่วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์นี้เอง สมศักดิ์ได้เล่นดนตรีในตำแหน่งมือกลอง ต่อมาได้เป็นนักร้องประจำวง และได้แต่งเพลงร่วมกับครูเอื้อ สุนทรสนานด้วย เพลงที่ครูเอื้อส่งทำนองมาให้สมศักดิ์ใส่คำร้องมักได้รับความนิยม เช่น ขวัญใจเจ้าทุย, ไม่ใกล้ไม่ไกล, พระจันทร์วันเพ็ญ, ปลูกรัก, ขอรักคืน, ไพรพิสดาร, ดอนทรายครวญ, เปลี่ยวใจ และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงเพลงรำวง และเพลงที่ดัดแปลงจากทำนองเพลงไทยอีกหลายเพลง

    สมศักดิ์ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ เมื่อปี 2508 ในเพลง "รักเธอเสมอ" ซึ่งนับว่าเป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิต คุณรวงทอง ทองลั่นธม เล่าว่า เพลง "รักเธอเสมอ" เกิดขึ้นจากบทประพันธ์ของ "อิงอร" นำเสนอทางโทรทัศน์ช่อง 4 เพลงนี้ผู้ฟังชอบมาก เพราะมีช่วงดนตรีหยุด ร้องคนเดียว แล้วเปียโนโดดเด่นมาก ออกร้องบนเวที ช่วงดนตรีหยุด คนฟังเหมือนหยุดหายใจ แล้วมาถอนใจตอนดนตรีมา

    สมศักดิ์ เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2528 หลังจากนั้น ก็ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย มีความสุขอยู่บ้านกับลูกหลาน เริ่มมีอาการป่วยเกี่ยวกับโรคเบาหวานมากขึ้น แต่ว่ามีใจรักทางดนตรี เมื่ออยู่บ้านก็แต่งเพลงทั้งคำร้อง และทำนองด้วยตนเอง อีกหลายเพลง

    ในด้านการร้องเพลง ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกับวงดนตรี "สังคีตสัมพันธ์" สามารถร้องเพลงตามงานต่าง ๆ ได้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สำคัญ งานการกุศล และโทรทัศน์บ้างเป็นบางครั้ง

    ในที่สุด เมื่อมีอาการป่วยหนักขึ้น ประกอบกับมีโรคแทรกซ้อนหลายอย่าง จึงได้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 สิริอายุได้ 70 ปี 4 เดือน 21 วัน

    สมศักดิ์ เทพานนท์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2537

    ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ สมศักดิ์ เทพานนท์ : -

    โกรธ, กุหลาบงาม, กระท่อมรัก, เกษตรสามัคคี, ขอรักคืน, ขอให้ได้ดั่งใจนึก, ขวัญใจเจ้าทุย, ขอทานรัก, ขอลาที, ใครจะรักเธอจริง, ครูสอนรัก, คืนนั้นวันนี้, คลื่นสวาท, ใครลิขิต, งามลำปางเขลางค์นคร, จำปีฟ้า, ใจหาย, จุดไต้ตำตอ, จะทำยังไง, จากไปใจอยู่, ใจคู่ใจ, ชะชะช่ากล่อมใจ, ดอนทรายครวญ, เดือนประดับใจ, แดนดินถิ่นรัก, ตลุงสากล, ตลุงเริงใจ, ตัดสวาท, ตามทุย, ตลุงลำนำ, ทำนายฝัน, ไทยเพื่อไทย, ทุงยาเล, นกเขาไพร, ตลุงโนราโนรีศรีธรรมราช, บ่าวสาวรำวง, ใบ้คลั่ง, บัวกลางบึง (ชาย), บ่อโศก, ปลอบใจเจ้าทุย, ปลูกรัก, ป่วยการรัก, เปลี่ยวใจ, ผู้ครองฟ้า, ฝันหวาน, ฝนมาทุยหาย, เพลินเพลงแมมโบ้, พายเรือพลอดรัก, พุ่มพวงดวงใจ, เพ็ญโฉม, พระจันทร์วันเพ็ญ, เพลงพาสุข, เพลงเนรมิต, เพชรน้อย, พักร้อน, พี่รักจริง, ไพรพิสดาร, มั่นใจไม่รัก, ไม่มีหวัง, ไม่ใกล้ไม่ไกล, ม่านมงคล, มาร์ชนายเรืออากาศ, มาร์ชวิทยาศาสตร์การแพทย์, ม่านฟ้า, มนต์นางรำ, ไม่รักใครเลย, ยอดเทพี, รำวงรอคู่, รำวงฝากรัก, รั้วแดงกำแพงเหลือง, รำวงปูจ๋า, รักต่างแดน, เริงตลุง, รักจ๋า, รอคำรัก, รักแท้, รักเถอะรักกันไว้, รำวงบ้านป่าพาสุข, รักเธอเสมอ, รักจริงไหม, รำวงชวนรำ, รำวงใต้แสงจันทร์, รำวงบ้านใกล้ใจรัก, รำวงไม่ลงเอย, รำวงลำโขงลำรัก, รำวงเฮฮา, รำวงมาลัยรจนา, รำวงเดือนลอยฟ้า, รำวงชมสวรรค์, รักใครกันแน่, รักฉันคนเดียว, รักฉันสักคน, รักที่หวัง, เริงเพลงลิมโบ้, รำวงหมองู, เริงเพลงกลองยาว, รำวงลูกไม้เก่า, ราตรีประดับดาว, รักจากใจ, รักสลาย, รำวงเทวีศรีนวล, รำวงลีลารัก, รำวงสุขสำราญ, ลองคิดดู, เริงรัก, ลวงรัก, ลาภูพิงค์, เสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก, สวยจริงรักจริง, สั่งใจ, สามนัด, สุขกันเถอะเรา, สุดแสนเสียดาย, สดุดีทหารเสือพระราชินี, สุดสายใจ, หนีไม่พ้น, หงส์กับกา, หวงรัก, อย่าลืมฉัน, อย่าซื้อฉันด้วยเงิน, อุ่นไอรัก, เอื้องกำสรวล, แอ่วสาวอีสาน, เฮฮาวาตูซี่, เหลือจะเชื่อ, หวัง, เส่เหลเมา, สำคัญที่ใคร, เมา, มนต์ดลใจ, ภาพดวงใจ, ขวัญข้าว, ลืมแล้วหรือคุณ, รำวงไทยขายไทยซื้อ, เพลงพาชื่น, ตลุงลาก่อน, ดาวเคลื่อนเดือนคล้อย, ดีกันนะ, ตลุงพรานบุญ, คอยรักคืนรัง, ล่องใต้, เพียงแค่เอื้อม, ตลุงตื่นเถิดเรา และอื่น ๆ อีกมากมาย

    สมศักดิ์ เทพานนท์ จึงเป็นครูเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่วงดนตรีสุนทราภรณ์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งเพลงจำนวนมากเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน จึงขอรำลึกถึงเกียรติคุณไว้ ณ กระทู้นี้

     
     

    จากคุณ : เทพกร บวรศิลป์ - [ 22 ก.ค. 47 21:39:29 ]