CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    ๑๕ กันยายน วันศิลป์ พีระศรี

    ขอขอบคุณทุกข้อความและภาพจากเว็บ
    http://www.moomkafae.com ไว้ด้วยครับ:)

    ศ.ศิลป์ พีระศรี..บุรุษผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย

    เป็นบิดาแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร

    เป็นทั้งศิลปินและปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ผู้สร้างความเป็นปึกแผ่นแก่วงการศิลปะไทย ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าตลอดมาจนถึงปัจจุบัน



           ชีวิต ผลงาน และแนวคิดของท่านนอกจากจะคงค่าในตัวเองแล้ว ยังสะท้อนภาพหลายประการถึงอุปสรรคของการพัฒนาศิลปะในยุคที่ท่านยังมีชีวิตอยู่  แต่ที่น่าวิตกคือ ซากธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นปัญหาหลายประการยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน และนั้นคือบทเรียนที่น่าสนใจ ที่สะท้อนจากเรื่องราวของท่าน… ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี



    ...................................



           ท่านเป็นบุคคลแรก ที่เริ่มสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองไทยด้วยฝีมือและความสามารถของช่างไทย แทนการสั่งปั้นหล่อมาจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศชาติประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เป็นอันมาก



           งานสร้างอนุสาวรีย์ของท่านมีมากมาย อาทิ  พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ( ปี๒๔๗๕ ) ออกแบบโดยสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ( ปี ๒๔๗๗ ) พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ( ปี ๒๔๘๔ ) พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช ( ปี๒๔๙๓-๒๔๙๔ ) นายสิทธิเดช แสงหิรัญ นายปกรณ์ เล็กสน นายสนั่น ศิลาภรณ์ ผู้ช่วย พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดอนเจดีย์ (ปี ๒๔๙๙) นายสนั่น ศิลาภรณ์ นายสิทธิเดชแสงหิรัญ และคนอื่นๆ ผู้ช่วย อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ดอยสุเทพ เชียงใหม่ ( เฉพาะศีรษะ ) นายเขียน ยิ้มศิริ ผู้ช่วย



    ฯลฯ



    .............................



           อย่างไรก็ตามแม้ท่านจะเป็นผู้ปั้น แต่สำหรับงานออกแบบแล้ว ก็ไม่ใช่จะตรงตามที่ท่านต้องการเสียทั้งหมดทีเดียวนัก มีรายละเอียดบางส่วนจากบทความเรื่อง ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  โดย น.ณ ปากน้ำ ท่านบันทึกไว้ว่า



           “ ข้าพเจ้าเคยได้เห็นภาพเสก็ตช์ของอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์  ท่าทางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ประทับนั่งบนพระราชอาสน์ก็สวยงามสง่ามาก คือเอนพระอังสาเล็กน้อย พระบาทวางเหลื่อมกัน  โดยพระบาทข้างที่พระอังสายื่นออกมานั้นอยู่เบื้องนอก พระพักตร์เชิดอย่างสง่า



           ท่าแบบนี้เป็นท่าที่จัดไว้อย่างสวยงามมีชีวิตชีวา ไม่ดูประทับนั่งเฉยๆอย่างที่เห็นปัจจุบัน ข้อนี้ข้าพเจ้ารู้ความจริงภายหลังว่า คณะกรรมการได้ติชม แก้ไข พระบรมรูปให้เป็นท่าทางปัจจุบันนี้เอง เพราะเหตุนี้จึงออกเป็นเรื่องขมขื่นของท่านปฏิมากรเอกมิใช่น้อย ”



           คนรุ่นหลังที่พอมีความรู้ทางศิลปะ บางคนตำหนิข้อบกพร่องของงานในแง่ดังกล่าวมา โดยไม่ทราบความเป็นมา ความจริงเรื่องนี้ก็พอจะเป็นอุทาหรณ์ได้ถึงงานวิจารณ์หรืองานพัฒนาอย่างอื่น ก่อนจะตัดสินตัวผล หรือผลงาน หรือวิธีการ หรือการยกเลิกธรรมเนียมความเชื่อบางอย่าง บางทีก็ต้องศึกษาสภาพแวดล้อมโดยรอบ อันเป็นเหตุหรือที่มาของสิ่งนั้นๆด้วย  จึงจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมและรอบคอบอย่างแท้จริง  อันจะช่วยให้โลกทัศน์มีมิติที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น



           นอกจากนี้บทความดังกล่าว คุณ น.ณ ปากน้ำได้บันทึกไว้ด้วยว่า “ อนุสาวรีย์พระมหาธีรราชเจ้า ทั้งรูปเสก็ตช์และรูปขยายเท่าตัวจริง ซึ่งข้าพเจ้าเคยเห็นตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ทรงสวมฉลองพระองค์ชุดจอมทัพเสือป่า พระหัตถ์เบื้องขวาหนีบพระมาลาทรงสูง อันประดับด้วยขนนก ทรงประทับยืนพักพระบาทข้างหนึ่ง นับว่าเป็นภาพอันสง่างามมิใช่น้อย


           ครั้งหนึ่งเมื่อได้ยืนต่อหน้ารูปปั้นขนาดเท่าองค์จริงชิ้นนั้น ข้าพเจ้าเรียนถามท่านศาสตราจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ

    ทำไมถึงไม่ปั้นตามนี้ ผมว่าจะสง่ากว่ารูปจริงซึ่งสวมหมวก ดูแล้วเฉยๆชอบกล ท่านยักไหล่ แล้วสั่นหัวอย่างท้อแท้ตอบว่า

    เขาไม่เอา จะให้ฉันทำอย่างไร เขาบอกว่าท่านยืนตากแดดร้อนถ้าไม่สวมหมวก ”



           จากบทความเดียวกัน ทำให้ได้ทราบว่า

           “ งานปั้นซึ่งไม่ได้ถูกบังคับ ที่ท่านปั้นขึ้นจากคติความคิดเห็นของท่านเองรูปแรก ปั้นขึ้นก่อนปีพ.ศ.๒๔๖๖  ก่อนจะมารับราชการในเมืองไทย  ขณะนั้นเป็นศาสตราจารย์ทางศิลปที่หนุ่มที่สุดของอิตาลี นามว่า ศาสตราจารย์โคโรโด เฟโรจี อายุ ๒๑ ปีเท่านั้น  เป็นรูปพระไครส์ซึ่งถูกนำลงจากไม้กางเขน ร่างวางเหยียดยาวบนแท่นหิน เป็นภาพอันมีชีวิตที่สุด ผู้เชี่ยวชาญทางศิลปต่างๆยกย่องกันโดยทั่วหน้า



           รูปพอทเตรท รูปปั้นด้วยเทคนิคแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ แม้ท่วงทีการปั้นอย่างเร็วก็สามารถแสดงอารมณ์เข้าถึงชีวิตที่สุด

    ..รูปปั้นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่สองเท่าคนจริง  กลุ่มคนแสดงท่าทางอันอิสระเสรีเต็มที่ตามความต้องการของปฏิมากร ซึ่งผิดกับอนุสาวรีย์ในเมืองไทยของท่าน แต่ละชิ้นที่ถูกบังคับจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้  แม้ไม่ถูกบังคับด้วยท่าทางก็ถูกบังคับด้วยความคิด...”



    .............................................
    *ขอขอบคุณภาพจาก http://www.art-centre.su.ac.th ครับ*

    แก้ไขเมื่อ 15 ก.ย. 47 02:29:27

     
     

    จากคุณ : ฮานาแฮมฟาย - [ 15 ก.ย. 47 01:35:15 ]