สตรีในวงการแฟชั่นชั้นสูง (6)
ผู้หญิงในวงการแฟชั่นสัปดาห์นี้คือ แดลฟีน อาร์โนลต์ (Delphine Arnault) บุตรสาววัย 28 ปี ของ แบร์นาร์ด์ อาร์โนลต์ (Bernard Arnault อ่านว่า แบกนา อาโนล) ประธานบริษัทหลุยส์ วุตต็อง โมเอต์ อ็องแนสซี (Louis Vuitton Moet Hennessy=LVMH) ซึ่งออกแบบ-ผลิต และจำหน่ายสินค้าระดับที่เรียกว่า Luxury-goods เช่นเครื่องหนัง แฟชั่นเสื้อผ้า เหล้า สินค้าอื่นๆ โดยเธอเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่ง ในคณะกรรมการบริหารบริษัท (Board) ซึ่ง เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในคณะกรรมการฯที่เป็นชายถึง 15 คน เป็นที่รู้กันว่า บิดาของเธอพยายามผลักดันให้แดลฟีน เข้ามามีส่วนในการบริหาร หลังจากที่ได้นั่งอยู่ติดแคตวอล์ก เพื่อตรวจเช็กการแสดงแฟชั่นโชว์ของบริษัทมานาน โดยบิดามีจุดประสงค์ที่จะให้เธอได้รับการฝึกฝน เพื่อตักตวงประสบการณ์เสียตั้งแต่อายุยังน้อย แม้ตัวเขาเองจะมีอายุแค่ 54 ปี และ คุณปู่ของแดลฟีนอายุ 83 ปีแล้ว ซึ่งเป็นอีก 2 คน ในคณะกรรมการบริหารเช่นเดียวกัน
แดลฟีนผ่านการฝึกงานด้านแฟชั่นอย่างเงียบๆมานาน เธอเรียนจบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยลอนดอน จากนั้นก็ไปทำงานที่บริษัทแม็คคินซี-ปารีส เป็นเวลา 2 ปี ก่อนเข้าทำงานที่ LVMH เมื่อปี 2000 เธอเรียนรู้ด้านธุรกิจแฟชั่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และการปิดป้ายหรือแบรนด์กับ จอห์น กัลเลียโน และไปฝึกงานต่อที่ดิออร์ จนกระทั่งได้เป็นหัวหน้าแผนกรองเท้าสตรีของสถาบันดิออร์ ซึ่งเป็นแผนกที่เติบโตเร็วที่สุดของบริษัท
ซิดนี่ย์ โทเลดาโน หัวหน้าฝ่ายบริหารด้านการออกแบบ ซึ่งควบคุมดูแลพนักงานของดิออร์ เล่าว่า แดลฟีนมีความสามารถ มีไหวพริบในเรื่องผลิตภัณฑ์ และมีวิสัยทัศน์ในเรื่องแฟชั่น ที่ดิออร์นี่เองทำให้เธอได้คลุกคลีกับโรงงานผลิต ซึ่งคุณพ่อของเธอขอร้องหัวหน้าหน่วยงานให้ปฏิบัติต่อเธอเหมือนพนักงานธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ต้องให้สิทธิพิเศษใดๆ นับว่าคุณพ่อของเธอช่วยเหลือสนับสนุนอย่างมาก การฝึกงานที่ดิออร์ การควบคุมคุณภาพและจำนวนสินค้าที่โรงงาน รวมทั้งการสำรวจตลาด ทำให้เธอทราบความคิดเห็นของลูกค้า รวมทั้งได้ทราบจุดอ่อน-จุดแข็งของรูปแบบที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการ ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเธอในอนาคต
การนำเอาลูกหลานอายุน้อยเข้ามาฝึกงาน ทำงาน หรือแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร (Board) ในองค์กรที่เป็นบริษัทมหาชนนั้น เป็นเรื่องเสี่ยง และต้องระมัดระวังหากลูกหลานเหล่านั้นไม่มีความสามารถพอและนิสัยไม่ดี แต่ในฝรั่งเศสเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะคนภายในบริษัทพูดกันว่า อาร์โนลต์ไม่สนใจในเรื่องนี้แต่ประการใด เขาสามารถทำได้เพราะเขาถือหุ้นอยู่ถึง 65% และได้ลงทุนในธุรกิจนี้ 48% หากจะนับแดลฟีนด้วย ก็เท่ากับคนในตระกูลอาร์โนลต์ได้เป็นบอร์ดในบริษัทนี้ 3 คน ใน 16 คนแล้ว คือคุณปู่ คุณพ่อ และตัวเธอด้วย แดลฟีนสามารถแสดงความสามารถของลูกผู้หญิงได้เต็มที่ และเปิดโอกาสให้หุ้นส่วนอื่นๆพิสูจน์ได้ถึงความสำเร็จของเธอ เพราะการวางตัวเธอไว้ในตำแหน่งดังกล่าว เท่ากับเป็นการแสดงสัญญาณว่า เธอจะต้องขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนคุณพ่อในวันหนึ่งข้างหน้า แต่คงอีกนานมาก เพราะขณะนี้แบร์นาร์ด์มีอายุแค่ 54 ปีเท่านั้น ดูตัวอย่างฌ็อง อาร์โนลต์ คุณปู่ของเธอที่อายุยืนถึง 83 ปี แล้ว แต่ท่านยังมาประชุมทุกนัด
อีกประการหนึ่ง น่าจะเป็นการส่งสัญญาณ อีกหน่อยบริษัท LVMH อาจถูกตระกูลอาร์โนลต์ซื้อกิจการไปแล้วบริหารโดยคนในครอบครัว ซึ่งหลายบริษัทไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบางครั้งพนักงานต้องเอาอกเอาใจประจบเจ้าของบริษัทเพื่อความอยู่รอดของตนเอง แทนที่จะมุ่งทำเพื่อความเจริญขององค์กร บางบริษัทใช้อารมณ์ในการบริหาร ท้ายที่สุดก็ไปไม่รอด
แต่ LVMH เป็นตัวอย่างที่ดีของบริษัทที่มีความมั่นคง ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน สินค้าของบริษัทได้รับความนิยมในทุกยุคทุกสมัย และขายดีมาโดยตลอด พนักงานและหุ้นส่วนมีความมั่นใจในการบริหารงาน หากจะย้อนกลับไปดูเส้นทางที่สวยงาม และยืนหยัดยาวนานกว่า 100 ปีที่ผ่านมา
หนังสือ คนดังอะราวนด์เดอะเวิลด์ (ราชวงศ์) เล่ม 1 วางตลาดแล้ว ส่วนเล่ม 2 ที่กำลังจะตามมาคือเรื่องสามัญชนคนดังระดับโลกที่น่าสนใจจากหลายวงการ ตั้งแต่ชนชั้นสูง ดารา ไปจนถึงนักธุรกิจชื่อดัง อ่านบทบาทของพวกเขา เราจะได้มีความรู้พอๆกับผู้คนอีกซีกหนึ่งของโลก...
จากคุณ :
Frappuccino_Drinks
- [
3 ธ.ค. 47 02:17:50
]