สตรีในวงการแฟชั่นชั้นสูง 7
มีเรื่องฮอตฮิตมาแซงอยู่เรื่อยๆ จนทำให้หัวข้อนี้ต้องชะงักไปบ้าง คงไม่ว่ากันนะคะ วันนี้ขอมาลุยกันต่อ ด้วยเรื่องของ ดอนนา คาแรน แฟชั่นดีไซเนอร์หญิงชาวอเมริกัน เจ้าของแบรนด์ DKNY (คำย่อของ DONNA KARAN NEWYORK = ดอนนา คาแรน นิวยอร์ก) ที่สาวทำงาน ชาวอเมริกันชื่นชอบอย่างล้นหลาม เพราะนอกจากผลิตภัณฑ์และ แบบเสื้อของเธอจะเก๋ไก๋แล้ว ราคายังไม่แพงอีกด้วย ผนวกเข้ากับเรื่องของ แอนนา วินทัวร์ บก.บริหารของนิตยสาร อเมริกันโว้ค (American Vogue) ผู้ทรงอิทธิพล
คาแรนเป็นความภาคภูมิใจของคนที่นั่นว่า ชาวอเมริกันไม่เห็นจำเป็นต้องง้อ หรือพึ่งพานักออกแบบชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียนก็สามารถอินเทรนด์ ได้อย่างหรูพอๆกับหญิงสาวชาวยุโรป สำนักงานของเธออยู่ที่ชั้น 1 ของอาคาร ณ เมดิสันอะเวนิว นิวยอร์ก, นิวยอร์ก ใกล้สวนหินเซน (Zen Rock Garden) กิจการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าของเธอเป็นไปด้วยดีตลอดมา เพราะได้ สตีเฟน ไวส์ สามี และอดีตหุ้นส่วนคนเก่งเป็นคนดำเนินงาน จนกระทั่งในปี 2001 สามีของเธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้เธอเสียใจมากจนกระทั่งต้องไปฝึกสมาธิและโยคะที่บาหลีอยู่นาน เพื่อให้ลืมเรื่องการสูญเสียสามีไป เมื่อลูกค้าและแฟนทักท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ เธอจึงต้องกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงนั้นเองที่งานสั่งซื้อสั่งตัดมีเข้ามามากจนทำไม่ทัน ส่วนมากเป็นเสื้อราตรี งานในช่วงนั้นดีเด่นด้วยคอลเลกชั่นชุดสีขาว เนื่องจากเธอได้ตัดเสื้อของตนเองในเวลากลางคืนก่อนวันงานวิวาห์ของลูกสาวในปี 2002 จนกระทั่งติดพันกลายมาเป็นคอลเลกชั่นหนึ่งที่สวยงาม เพราะใช้ผ้าไหมเจอร์ซี่สีขาวเช่นเดียวกับชุดของเธอ คาแรนได้รับการยกย่องว่า เป็นนักออกแบบเสื้อผ้าที่เข้าใจชีวิตเร่งรีบของผู้หญิงทำงานมาก แบบเสื้อที่ทำออกมาจึงได้รับความนิยม เพราะใช้สะดวกและเหมาะสมกับชีวิตประจำวัน
เมื่อถูกถามว่า ในโลกทำไมจึงมีนักออกแบบสตรีแค่หยิบมือเดียว เธอตอบว่า เป็นเพราะผู้หญิงเรามัวแต่ไปต่อสู้เพื่อสร้างผลงานการเป็นเมียและเป็นแม่ที่ดีเสียหมด ทำให้งานด้านการออกแบบไม่ค่อยจะรุ่งโรจน์มีชื่อเสียงเหมือนผู้ชาย หรือคนเพศที่ 3 ที่ทุ่มเทกายใจในงานนั้นเพียงอย่างเดียว
ส่วน แอนนา วินทัวร์ บก.บริหารของนิตยสาร อเมริกันโว้ค (American Vogue) นั้น เล่าลือกันว่าเป็นผู้ทรงอำนาจอิทธิพลอย่างมากในวงการแฟชั่นโชว์ ว่ากันว่ารันเวย์โชว์ (Runway Show) หรืออีกนัยหนึ่งการขึ้นเดินบนแคตวอล์ก (ปัจจุบันชาวแฟชั่นใช้คำว่า Runway แทน) จะเริ่มไม่ได้ถ้าเธอยังมาไม่ถึง นักออกแบบคนใดจะพบความสำเร็จ หรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับการชี้นิ้วของเธอ แฟชั่นในรูปแบบใดจะรุ่ง หรือร่วงขึ้นอยู่กับการควบคุมสั่งการของเธออีก แต่วินทัวร์ก็ประกาศว่า เธอใช้อิทธิพลนี้เพื่อสิ่งที่ดีงาม ไม่ใช่เอาสิ่งไม่ดีดูไม่มีอนาคต หรือการออกแบบที่แย่ๆมาเชิดชู ซึ่งนั่นคือส่วนดีของเธอ แต่ที่ผู้คนเบื่อหน่ายก็คือ ความมีนิสัย เจ้าแม่ เช่นท่าทางที่ดูลึกลับเย็นชา แบบผมและแบบเสื้อประจำตัวที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง
วินทัวร์เข้าเทกโอเวอร์สำนักพิมพ์ กองเด นาสต์ (Gonde Nast) ในปี 1988 ตั้งแต่นั้นมาเธอได้ปลุกปั้นและปรุงแต่งให้แมกกาซีนโว้คเล่มนี้โด่งดังเป็นอันดับ 1 ของอเมริกา เรียกว่า วางตัวอยู่เหนือนิตยสารแฟชั่นอื่นๆ ทั้งในด้านรูปแบบ เนื้อหา จำนวนพิมพ์ การวางตลาด และการเสนองานแฟชั่นของอเมริกา แฟชั่นของใครได้นำลงในโว้คเล่มนี้ล่ะก้อสามารถกล่าวได้ว่า ชักจะมีอันดับและมีอนาคต ขณะเดียวกันเธอก็พยายามสร้างอิทธิพลให้แก่โว้ค
อย่างต่อเนื่อง เช่นในปี 2003 เธอเข้าร่วม คณะกรรมาธิการนักออกแบบ แฟชั่นแห่งอเมริกา (Council of Fashion Designers of America) ในการหาทุนแต่ละปีมอบให้นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ พร้อมคำแนะนำในการดำเนินงาน นอกจากนี้เธอยังออกงานสังคมชั้นสูงและคอยชี้แนะ นักอุตสาหกรรมผู้ผลิตแฟชั่นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้าและอื่นๆ ซึ่งเธอบอกว่าอยากให้ผู้คนเข้าใจว่า นี่คือภารกิจและความรับผิดชอบของโว้คในเรื่องแฟชั่น ดังนั้นปีที่แล้วเธอได้บริจาคเงินทุน ในนามของโว้คในการเปิดห้องเสริมสวยที่คาบูล อัฟกานิสถาน และเมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายช็อกโลกที่เรียกว่า 9/11 เธออีกเช่นกันที่ลงมือทำทีเชิ้ตเกี่ยวกับ ตึกเวิลด์เทรด เป็นการประเดิมตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้เคราะห์ร้าย กับได้ทำประชาสัมพันธ์ชักชวนให้ผู้คนกลับไปช็อปปิ้งที่นิวยอร์กอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหลายแหล่ที่กล่าวมานั้นมิได้ทำเพื่อตัวเธอเอง แต่เพื่อให้โว้คมีส่วนสร้างความดีเพื่อประชาชนด้วย
จากคุณ :
Frappuccino_Drinks
- [
3 ธ.ค. 47 02:24:25
]