CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    เมื่อนายคลาสสิคนัดสาวแจ๊สดินเนอร์ – ปฏิสัมพันธ์แห่งสุดยอดแนวดนตรีสองกระแสจึงเริ่มต้นขึ้น(อีกครา): ภาค 2

    เมื่อนายคลาสสิคนัดสาวแจ๊สดินเนอร์ – ปฏิสัมพันธ์แห่งสุดยอดแนวดนตรีสองกระแสจึงเริ่มต้นขึ้น(อีกครา): คอนเสิร์ตคลาสสิคมีตแจ๊สครั้งที่ 2 # Session ที่ 2

    ผมถูกดึงกลับเข้าสู่บรรยากาศสบายๆในเซสชั่นที่ 2 ของการนัดพบกันของนัยคลาสสิคและยัยแจ๊ส โดยมี'จารย์นุออกมาทำหน้าที่พิธีกรแนะนำบทเพลงและเหล่าศิลปินคณาจารย์บนเวที บรรยากาศในฮอลล์เปลี๊ยนไป๋..จนผมแทบจะคิดว่า..นี่มันคนละงานกันหรือเปล่าหว่า..แต่ในแง่หนึ่งเป็นการดีที่ผู้ฟังจะรู้สึกผ่อนคลาย..หลังถูกเหล่าศิลปินในฝั่งนัยคลาสสิคที่ไม่ยอมพูดพร่ำ(เอาแต่)ทำเพลง ขึ้นมาก็โซ้ยๆๆๆกันจนจบเบรคแรกไปแบบไม่ได้ทักทายผู้ชมสักแอะ...และนี่คือบุคลิกความแตกต่างในสองสุดยอดแนวคีตศิลป์ที่สะท้อนออกมาตามบุคลิกของผู้เล่นดนตรีทั้งสอง ขณะที่นัยคลาสสิคค่อนข้างเคร่งขรึม ยัยแจ๊สกลับดูจะผ่อนคลาย ขี้เล่น และ"ฟรี"มากกว่า (แต่บทยัยแจ๊สจะจริงจังขึ้นมาในมู๊ดของฟรีฟอร์มแล้วละก็ ท่านเอ๋ย..ผมเองบางทีแม้รักเธอเป็นหนักหนาก็ยังต้องส่ายหน้าให้เป็นบางโอกาส)

    เริ่มทักทายผู้ชมด้วย miles away บทประพันธ์ของ'จารย์นุ ที่โทนดนตรีออกมาเนิบนาบในแบบโพสต์บ็อพคล้ายบทเพลงสไตล์วง Stone Head อย่างยิ่ง ผู้เล่นบนเวทีนอกจาก'จารย์นุ(เพียโน) 'จารย์โดม(เบส) 'จารย์ปริ๊นซ์(เทเนอร์แซ็ก) 'จารย์ฮง(กลอง) ก็มีอาจารย์โปรดอีกคน คนนี้ผมคุ้นเคยกับเสียงกีต้าร์แกดี เพราะตามดูมาหลายรายการแล้ว ที่เคยนั่งติดขอบเวทีดูจะๆก็ที่รร.โซฟิเทล สีลม อาจารย์คงจำได้.. สำเนียงและลูกเล่นสไตล์กีต้าร์แจ๊สร็อคของ'จารย์โปรดเป็นหนึ่งไม่มีสองในเมืองไทย อันนี้นั่งยันครับ แต่วันนี้เล่นบ็อพ..แนวนี้ก็เล่นได้ดี ผมยังชอบเพลง all the things you are ที่เคยฟัง'จารย์เล่นครับ

    ลีลา'จารย์นุที่นั่งพร่างพรมนิ้วบนแป้นเพียโนพร้อมๆกับส่ายเอี่ยวตัวใส่อารมณ์ทำให้ผมนึกถึงคีธ จาร์เร็ตที่แกทั้งเต้นและเล่นเพียโน ร้องอี๊ๆๆ แต่สำเนียงเพียโน'จารย์นุออกไปทางลุงบิล อีแว่นชัดเจน (ความจริงทั้งสามผู้ยิ่งใหญ่เพียโนแจ๊สในโลกปัจจุบัน ทั้งเฮอร์บี้ แฮนค็อก - ชิค โคเรีย และคีธ จาร์เร็ต ต่างได้รับอิทธิพลดนตรีจากลุงบิลมากันทั้งสามคน) ผมได้สัมผัสฝีมือ'จารย์ปริ๊นซ์หรือเจ้าคุณท่านของชาวเราแจ๊สคลับก็วันนี้ หลังจากพลาดไม่ได้ไปชมที่แซ็กผับในคราวที่เรานัดมีตติ้งกลุ่มเล็กกัน นี่พวกเรากำลังรอว่า..ว่าที่บัณฑิตคอมโพซิชั่นแจ๊สจะกลับมาประพันธ์เพลงงามๆให้ฟังกัน รีบๆจบนะ'จารย์... จบเพลงนี้..มิได้มีแต่เสียงปรบมือดังลั่นฮอลล์เท่านั้น แต่ในความอึกทึกของเสียงเปาะแปะยังสอดแทรกด้วยเสียงเป่าปากโห่ร้องหวีดวิ้วกันอีกด้วย นี่ก็เป็นอีกบุคลิกหนึ่งของผู้ฟังดนตรีคลาสสิคและแจ๊สที่มีต่อตัวเพลงแตกต่างกัน แม้จะมาจากผู้ชมคนเดียวกันก็ตาม (ผมเองยังร่วมแหกปากกับเขาเลย (ฮา...)

    บทเพลงที่สอง ของปู่เบิร์ด red cross ได้รับการนำมาแอเร้นจ์ใหม่ โดยผู้เล่นเป็นสองเซียนมือกีต้าร์แจ๊สในเมืองไทยอีกสองท่าน 'จารย์กอล์ฟแห่ง Stone Head (ที่ผมเคยเล่าถึงคุณกอล์ฟและวงนี้อย่างชื่นชม(จากใจจริง)มาแล้วครั้งหนึ่ง) อีกคนคือ 'จารย์วุฒิชัย ผู้ซึ่งผมเลยฟังแกเล่นครั้งแรกตอนไปเป็นมือกีต้าร์ให้คุณฟอร์ดหัวฟู ที่ภัทราวดีเธียเตอร์เมื่อหลายเดือนก่อน อาจารย์คงจะจำได้ว่าในวันนั้นขณะที่สาวๆทั้งฮอลล์เอาแต่กรี๊ดคุณฟอร์ดแทบสลบนั้น กลับมีกลุ่มคนหนุ่ม 4-5 คนปรบมือให้อาจารย์ดังลั่นทันทีที่โซโล่กีต้าร์สไตล์สวิงจบ ..นั่นแหละครับ คือพวกเราเอง แจ๊สคลับแฟรนไชส์เฉพาะกิจที่คัดเอาเฉพาะหนุ่มๆหน้าตาดี(ตรงไหน)ไปนั่งชม (ฮา...) ส่วนวันนี้อาจารย์ได้ปรับแต่งให้เสียงกีต้าร์ออกมาคล้ายเครื่องเป่า..ดีครับเป็นสีสันและมีรสชาติดี กลางๆเพลงมิสเตอร์เอสเตบัน อาจารย์พิเศษของภาควิชาได้โอกาสโชว์โซโล่กลองอย่างเต็มที่...และยาวเหยียดจนคุณโดมยิ้มเห็นฟันครบ 32 ซี่!

    มาถึงลีลาที่สามแล้วของยัยแจ๊สกับบทเพลง my foolish heart ในเวอร์ชั่นบราซิลเลี่ยน หนึ่งนั้นเพราะมิสเตอร์กิลเบิร์ต อาจารย์พิเศษด้านอคูสติกีต้าร์ของคณะทั้งชื่นชอบและซึมซับเอาซาวด์ลาตินมาตั้งแต่สมัยที่แกไปอยู่บราซิลมาหลายขวบปี เพลงนี้หากใครเป็นแฟนพันธุ์แพทแบบผม ก็คงจะต้องนึกไปถึงซาวด์ของ Pat Metheny Group ในช่วงที่ออกอัลบั้ม still life <talking> และ letter from home อย่างแน่นอน เพราะช่วงนั้นแพทมีมือเพอร์คัสชั่นสนับสนุนเป็นชาวบราซิล...Amrando Marcal เสียงร้องของมิสเตอร์กิลเบิร์ตมาในลีลา Mark Ledford และ David Blamires ผู้เป็น Backing Vocal ให้แพทในช่วงนั้น ยิ่งสำเนียงเพียโนของ'จารย์นุในเพลงนี้มันไปคล้ายลีลาและอารมณ์แบบ Lyle Mays มือเพียโนผู้เป็นเงาของแพทเข้าด้วย บรรยากาศเพลงมันเลยเป็นแพทกลุ่มจริงๆ แต่มีอจ.ทัศนาที่มาแจมด้วยการสีไวโอลิน ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางดนตรีของยัยแจ็สและนัยคลาสสิคอีกครั้ง อาจเพราะเพลงนี้จังหวะค่อนข้างตายตัว ไม่ค่อยมี Syncopated แบบเพลงอื่นๆ ทำให้ ความบรรสานสอดคล้องเกิดขึ้นได้ดี

    ยัยแจ๊สเปลี่ยนบรรยากาศไปมาเล่นในแนวฟิวชั่นบ้าง กับงานของวง Yellow Jacket ในเพลงเครื่องหมายการค้าของวง jacket town วงแม้นศรีได้มารวมตัวกันอีกครั้ง (ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนเป็น 'จารย์นุ-'จารย์อ้น-'จารย์โดม-'จารย์ฮง) เพลงนี้ก็สบายๆฟังเพลินๆถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ดี (แต่ความจริงวงนี้มีเพลง Revelation เป็นเพลงโปรดของผม ที่ถูก Robben Ford มือกีต้าร์บลูส์คนโปรดของผม ซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเล่นให้กับวงๆนี้ด้วย เอาเพลงนี้มาทำบรรเลงโซโล่กีต้าร์ในงานชุด talk to your daughter ที่ได้ทั้งไพเราะและแพรวพราวในลูกเล่นอย่างยิ่ง ลองหามาฟังสิครับ รับรองไม่ผิดหวัง)

    หลายคนอาจสังเกตได้ว่าสำเนียงเทเนอร์แซ็กของ'จารย์อ้นในเพลงนี้ยังเจือด้วยกลิ่นบ็อพที่แกถนัดอยู่มาก แต่หาก'จารย์อ้นจะลองฝึกนิสัยกรุ้มกริ่มดูบ้าง(เอาแล้วไหมล่ะ ไอ้แพท!) เสียงแซ็กของอาจารย์น่าจะสามารถขยายอาณาเขตมาในแนวหวานและเจ้าชู้แบบ David Sanborn ได้ด้วยครับ รับรองได้.. ถือเป็นการต่อเติมพื้นที่มาในอาณาจักรฟิวชั่นด้วยอีกแนวหนึ่ง แต่จะเจ้าชู้อย่างไรให้พอเหมาะพอดีไม่เสียงบุคลิกอาจารย์จนเกินงาม อันนี้อาจต้องปรึกษา'จารย์ปริ๊นซ์ เพราะลีลาการโพสต์กระทู้ของ "เจ้าคุณท่าน" ไม่เป็นสองรองจากใครในชมรมย่อยพญานาคราช ..ในชมรมใหญ่แจ๊สคลับของชาวเรา (ฮา....อีก)

    ก่อนจะเข้าสู่บทเพลงสุดท้ายของยัยแจ๊สเพลง Prime Directive ของน้าเดฟ ฮอลแลนด์ เพลงนี้'จารย์พงษ์ศิริที่โตมาจากนิสิตในภาควิชาได้โชว์ช่วงโซโล่บ้าง มีอนาคตครับ ลองได้ฝึกหาแนวทางของตัวเองให่ได้และมีรอบเที่ยวบินมากกว่านี้อีกสัก 4-5 ปี รับรองขึ้นมาถึงระดับสามเซียนที่เป็นอาจารย์คุณในคอนเสิร์ตนี้แน่ (แต่'จารย์ทั้งสามก็คงหนีไปอีกหลายช่วงตัว...เพราะประสพการณ์ทำให้เล่นได้ต่างกัน แม้ด้านเทคนิคจะได้พอๆกันก็ตาม นี่ยังไม่นับการประพันธ์เพลงที่ทำให้มือกีต้าร์ฝีมือดีหลายๆคนเกือบหายเข้ากรีบเมฆ ดูอย่าง stanley jordan ซิครับ ในทางเทคนิคการเล่นเขาไม่เป็นรองมือกีต้าร์อย่าง Pat metheny John scofield และ Bill frisell เลยแม้แต่น้อย แถมในความรู้สึกผม เขามีมากกว่าทั้งสามคนด้วยซ้ำ แต่เขาไม่สามารถประพันธ์เพลงงามๆได้เองและได้มากมายเท่าทั้งสามคน เขาเลยถูกทิ้งไปหลายช่วงตัว แม้แต่ Al di meola ก็เถอะ พักหลังๆก็มีแต่เทคนิคพระเจ้าของแกแล้วเท่านั้น ไอเดียถดถอยมานานหลายปี อัลบั้มหลังๆแฟนแจ๊สเลยไม่ค่อยเก็ต) ...นี่ผมเผลอไปสอนพระไตรปิฎกให้สังฆราชหรือเปล่าเนี่ย...อย่างคิดงั้นเลยนะครับถือว่าหยิบประเด็นเอามาคุยกัน เพราะจริงๆผมเล่นกีต้าร์ไม่เป็น (ฮา...) แต่มองจากมุมมองของผู้ที่ชื่นชอบฟังงานกีต้าร์แจ๊สเป็นพิเศษเท่านั้น เอาใจช่วยครับ ผมขออนุญาตยกตัวอย่างประกอบน่ะครับ มันเห็นชัดดี

    เพลงสุดท้าย แน่นอนว่ายัยแจ๊สกะนัยคลาสสิคต้องทิ้งทวนแสดงปฏิสัมพันธ์ของสุดยอดแนวดนตรีสองกระแสให้เป็นที่ประจักษ์ บทเพลงของหนึ่งในบรมครูสายคลาสสิค J,S, Bach ถูกหยิบมาเพื่องานนี้ เทียบกับเพลงเขมรไทรโยคที่ถูกนำมาใช้เพื่อการณ์นี้ของเมื่อปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่ามีความสอดประสานกันมากกว่าเดิมากๆๆเลยครับ สัมพันธภาพของนัยคลาสสิคกะยัยแจ๊สแนบแน่นขึ้นทุกปี ทำให้ผมทำใจว่าคงต้องแห้วยัยแจ๊สแน่เลย (ฮา...สุดท้าย) ปีหน้าฟ้าใหม่ผมจะแอบบดอดมาเฝ้าสังเกตการณ์นัดเดทของทั้งคู่อีก ไม่ยอมแพ้หรอก คอยดู๊!

    (ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับบัตรฟรีจากภาควิชาดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร ขอให้คำมั่นว่าชาวเราแจ๊สคลับจะเฝ้าติดตามและเป็นกำลังใจให้ต่อไปทุกๆปีครับ)

    จากคุณ : Younger Pat - [ 3 ธ.ค. 47 11:00:23 A:161.200.146.25 X:161.200.255.162 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป