CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    เลียบท่าพระจันทร์ สู่ขวัญกำสรวลสมุทร

    เลียบท่าพระจันทร์
    สู่ขวัญกำสรวลสมุทร
    นายยางสน..คนบางขวาง
    1 กุมภาพันธ์ 2548


    บ่ายอ่อนตะวันรอนหากยังร้อนแดดแผดเผาระยับเหงื่อ กระทาชายใจหนุ่มดุ่มเดินเร่งท้าวก้าวผ่านเข้าเขตขัณฑ์ปริมณฑล ที่ครั้งหนึ่งเคยสิงสถิตย์เป็นสถานศึกษาตำราชีวิต

    ผู้คนมากมายจากไปพร้อมกระดาษเปื้อนหมึกเพียงหนึ่งแผ่น หากแต่มีคนอีกหมื่นแสน ที่ไม่ยอมถูกย่ำเหยียบริดรอนวิถีแห่งอิสระชน ฝากฝังใจ แม้แต่ร่างกายตนไว้ ณ ผืนดินเล็กๆแห่งนี้

    เด็กน้อย ชาย หญิง ศิษย์ดนตรีที่จากศาลายาวิ่งตามหน้ารื่นตื่นตากับตึกรามโอ่อ่า อีกสาวหนุ่มปัญญาชนที่กำลังกรี๊ดกร๊าดสาดภาษาผู้ซึ่งซ่อนกายอยู่ในอาภรณ์หรูหราน้อยชิ้นตามสมัย

    ครั้นผ่านคณะนิติศาสตร์ จึงสาดโค้งขาขวิดแทรกร่างผ่าสังเวียนผ้าใบใกล้ๆชุมนุมเพาะกายหายวับเข้าไปในตึกโรงยิม

    บนชั้นสาม ประตูไม้เก่ากรอบคล้องเหล็กขัดปิดขวางร่างกายอีกสายตา ฝุ่นฝ้าจับกระจกบานใหญ่หากไม่มืดมัวเกินมองเห็น ระนาดรางที่เคยตี ฆ้องที่เคยหนอดหน่อง กลองทัดแสนหนักที่เคยขึ้นบ่า

    คิดถึง “อกทะเล” ที่ครูเขียว (กมล ปลื้มปรีชา) เคี่ยวเข็ญ...

    วันนี้ไม่มีครู....พรุ่งนี้ก็สายเกินไปแล้วจริงๆ...

    วิ่งลัดตัดสนามฟุตบอล ที่ๆเคยใช้เวลามากกว่าในห้องเรียน ทะลุออกตรอกประตูผู้คนพลุกพล่าน ร้านรวงพะยี่ห้อทุนนิยมข้ามชาติผุดขึ้นแทนร้านเฮีย ร้านโก เป็นที่โก้หร่านหดหู่ใจ

    วณิพกหนุ่มใหญ่ไล่นิ้วพลิ้วทำนองร้องลำขยำสายโลหะเก่งกล้าท้าเสียงเพลงทุนนิยมแห่งยุคสมัย เพียงเพื่อแลกเศษเงินดำเนินชีวิต สถิตย์ร่างข้างเคียงสินค้าห่าเหวราคาแพงที่ถูกอนาคตของงชาติยื้อยุดฉุดชิงเป็นเจ้าของ

    ที่มุมหนึ่งของความพลุกพล่าน ร้านเล็กๆร้านหนึ่งยังคงซ่อนตัวอยู่อย่างสง่างาม หญิงร่างเล็กคนนั้นในร้านเผยยิ้มที่คุ้นเคย ร้องทักอย่างแม่นยำแม้วาระสุดท้ายที่พบเจอจะเนิ่นนานกว่า 10 ปี

    แล้วความหลังพรั่งพรู ตู้เหล็กเล็กคับร้านที่เคยผ่านมือซนยามรื้อค้นเทปยังมั่นคงตรงที่เดิม

    ขอบคุณสำหรับมิตรภาพที่ไม่เคยเปลี่ยน ขอบคุณสำหรับ โปสเตอร์ที่(จะ)เก็บไว้ให้ ขอบคุณที่เป็นเปิดประตูสู่โลกกว้างให้กับน้องๆของ “...พี่น้อง...(ท่าพระจันทร์)..” อีกหลายคน

    เวลาไม่คอยท่าจึงใส่ตีนหมาตบเกียร์ห้าพาร่างลัดเลียบตึกโดม ทะลุผ่านบ้านเก่าชาว “สิงห์แดง” เลียบรั้วแนวกำแพงวิทยาลัยนาฏศิลป์ ยินเสียงปี่โหยแหบแปลบพิลึก กระทั่งถึงตึกใหญ่ที่ใครๆเรียกกันว่า “โรงละครแห่งชาติ”

    ศูนย์สังคีตศิลป์ ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ กรมศิลปากร ชวน ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ควง โครงการเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีก หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน จัดรายการศูนย์สังคีตศิลป์สัญจร ครั้งที่ 17 " สู่ขวัญกำสรวลสมุทร ขุดอดีตอันดามัน "ขึ้นในวันสุดท้ายของเดือนมกราคม เพื่อการระลึกถึงซึ่งเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้น

    ภายในโรงละคร มิตรรักแฟนเพลงยืนนิ่งสงบใจอุทิศให้แด่ผู้สูญเสีย

    จากนั้นรายการแรก “ยาขม” ของพ่อยกแม่ยกรุ่นใหญ่ก็ได้เริ่มขึ้น

    การ เสวนา "อดีตอันดามัน ปัจจุบันกำสรวลสมุทร" ฉุดประเด็นโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาตร์),ดร.กุสุมา รักษมณี (ผู้เชี่ยวชาญวรรณคดีไทย),อ.มยุรี วีระประเสริฐ (คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร),ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ( คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์),คุณธนู แนบเนียร (ผู้ประสานงานฯ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย) และดร.นฤมล อรุโณทัย (สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

    เดินสำรวจตรวจสถานการณ์ทั้งหน้า ใน เรื่อยไปกระทั่งหลังโรงได้สักเพลาหนึ่งจึงมาสะดุดหยุดอยู่ดูสาวหนุ่มในเครื่องแบบนักเรียน สับเปลี่ยนทำหน้าที่ทวารบาลเข้มแข็งทะมัดทะแมง

    น้องนุ่ม เอกนาฏศิลป์ น้องออย เอกซอด้วง น้องนุ๊ก เอกซออู้ น้องกวาง เอกละคร ซ่อนร่างแฝงกายภายใต้เครื่องแบบวิทยาลัยนาฏศิลป์ ยินเสียงใสไขข้อข้องทำนองว่า อาสาสมัครมาทำงานเก็บบัตรชมการแสดง อีกมีหน้าที่แจ้งตำแหน่งแห่งที่นำพาผู้ชมมายังที่นั่ง ทุกครั้งที่โรงละครแห่งชาติมีการแสดงโดยมิได้แบ่งว่าจะเป็นไทยเทศ แม้จะดูเล็กน้อยกับเศษเงินร้อยบาทต่อหนึ่งรอบ ที่มอบให้กับพวกเขาและเธอทั้ง 17 คน หากแต่ละทุกช่วงเวลาของชีวิตคือการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ ซึ่งบางครั้งไม่สามรถหาซื้อได้

    “น้า น้า วันนี้พี่เบิ่ง มาตีระนาดรึเปล่าคะ” สาวน้อยหนึ่งในนั้นถวิลถามถึงคุณทวีศักดิ์ อัครวงษ์ มือทรง “นายศร” ในภาพยนตร์โหมโรง

    ...ถามถึงหนุ่มอื่นพอทำเนา แต่ที่มาเรียกเรา “น้า” ก็เป็นอันว่าจบการสนทนาแต่เพียงเท่านี้..

    โหมโรงคลื่นกระทบฝั่งดังกระหึ่มขึ้น เป็นสัญลักษณ์แห่งการประโคมโหมไห้ระลึกถึง จากการรวมวงรวมใจในนาม “ลุ่มเจ้าพระยา” เบื้องขวาเป็นวงดุริยางค์สากล คนกรมศิลป์ ผินมาทางซ้ายล้วนรุ่นลายคราม นักระนาดเอกนามครูพินิจ ฉายสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ มาดสุขุม คนทุ้ม ครูกาหลง พึ่งทองคำ คนฆ้องผิวคล้ำคมคาย ครูสมชาย ดุริยะประณีต เป็นอาทิ

    คลื่นลมโหมกระหน่ำ ทำนองเพลงรวนซวนเซกันไปบ้าง คงเพราะเหินห่างว่างเว้นเล่นซ้อมร่วมกัน ซึ่งก็คงไม่สำคัญไปกว่าเจตนาที่มาเทน้ำใจ

    จากนั้นจึงตามด้วยเพลงนางนาค 2 ชั้น บรรเลงตามแนวทางที่สังคีตาจารย์สำคัญได้บันทึกไว้ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยทำนองระนาดเอก และฆ้องวงใหญ่ ใช้ ไวโอลิน 1 และ 2 บรรเลง ส่วน วิโอลา อีก เชลโล โชว์ทางฆ้องวงเล็กและระนาดทุ้ม อุ้มเสียงเสนาะของคนฆ้องสำคัญบ้านบางลำพู “ครูหมัด” สมชาย ดุริยะประณีต

    ต่อด้วยหมอขวัญ ครูกัญญา โรหิตาจล ชวนลูกสาว สุภางค์พักตร์ เต๊ะอ้วน มา“สู่ขวัญ อันดามัน” คมคำของ พิ่จิตต์ (คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ)

    “ ขวัญเอย ขวัญหาย
    กระจัดกระจาย แตกตื่น คลื่นสังหาร
    จมทะเล เร่หลง ดงกันดาร
    นางนาค ฆ้องขาน ก้องมณี
    ขวัญเอย ขวัญมา
    คืนสา กลสู่ บายสรี
    หยัดอยู่ สู้สร้าง พลังพลี
    ให้มี สันติภาพ อาบโลกเอย “

    “กล่อมเห่ อันดามัน” เสียงสวรรค์ของครูสมชาย ทับพร ฟ้อนเสียงทำนอง เห่ฉิมพลี ที่พระพรภิรมย์ และครูบุญยงค์ เกตุคง บรรจงเรียบเรียงไว้ ร้องรับปี่พาทยืไม้นวมรวมนักดนตรี ก่อนที่จะจากลาในเพลงทะเลบ้า หรือที่ชาวประชารู้จักในชื่อเพลง รักจางที่บางปะกง

    ช่วงที่สอง เรียกเสียงกรี๊ดในใจได้อึงมี่ เหตุที่กวีขวัญใจจะออกมาร่ายคำ “สู่ขวัญกำสรวลสมุทร" เริ่มจาก เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ถัดมาคือ กวีซีไรท์ ไพวรินทร์ ขาวงาม ตามติดปิดท้ายด้วย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ (นี้และชาติไหนๆ)

    “น้ำมาชีวาหมด น้ำลดบทกวีดนตรีผุด” บุรุษสุดที่รักคนหนึ่งรำพึงเสียงอยู่บนเวที อ.อานันท์ นาคคง ชงประเด็นก่อนจะเข็นรายการต่อไปมาบรรณาการ

    ละครเทพนิยาย "กำเนิดธรณีกำสรวลสมุทร" นำแสดงโดย ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พร้อมศิลปิน กรมศิลปากร ร้อยลำคำกลอนร่อนภาษาโดย อ.เสรี หวังในธรรม อีกทั้งยังได้ อ.วันทนีย์ ม่วงบุญ ควบคุมการแสดง ส่วนคนปี่พาทย์ราดฆ้องที่จับจองเวทีเล็กด้านขวา ที่เห็นหน้าก็มี “พี่เจี๊ยบ”สุรพงษ์ โรหิตาจล คนทุ้ม ครูไชยยะ ทางมีศรี อีก ครูอารีย์ นักดนตรี มาตีฆ้องวงใหญ่

    กระทั่งล่วงเวลาสายันต์ตะวันรอน จึงจรจากพรากกลับไปก่อนตอนกลางเรื่อง

    บนโต๊ะยาวหน้าโรงละคร ตู้เหล็กรับบริจาคสมทบทุนหนุนชีวิตอีกพันหมื่นที่ต้องยืนหยัดต่อสู้กับชะตาชีวิต ปิดกระดาษคาดทับมิอาจคะเนนับจำนวนเงินได้...

    ... อย่างไรเสียก็คงไม่สำคัญมากไปกว่าการก่อให้เกิดความตระหนักในการเรียนรู้จากความผิดพลาด....

    .. เพียงแต่เราจะฉลาดที่จะจดจำ เข้าใจ และเริ่มต้นก้าวใหม่อย่างเคารพและซื่อสัตย์ต่อตนเองและธรรมชาติ หรือเปล่าก็เท่านั้น..





    สูจิบัตร จัดแจกเป็นบรรณาการ โดย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

    “ขวัญเอย ขวัญมา สู่ขวัญกำสรวลสมุทร ขุดอดีตอันดามัน”
    ศูนย์สังคีตศิลป์สัญจร ครั้งที่ 17
    ณ โรงละครแห่งชาติ วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2548

    ภาพปก ลูกปัดแก้วมีรูปหน้าคนและมีลายดอกกับดวงตราประทับ มี อายุราว พ.ศ.800 พบที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่,จำนวน 79 หน้า

    สึนามิของชาวเล (นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์),มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน และสุวรรณภูมิ (สุจิตต์ วงษ์เทศ),บรรพชนคนภาคใต้ “ศรีวิชัย” ในสยาม (สุจิตต์ วงษ์เทศ),ทะเลอันดามัน ในพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ (สุจิตต์ วงษ์เทศ),สู่ขวัญด้วยเพลงนางนาค (สุจิตต์ วงษ์เทศ),กำเนิดธรณีกำสรวลสมุทร (บทละครเทพนิยายเรื่องนางปาปา หรือพระอินทร์สำนึกผิด ของ เสรี หวังในธรรม)





    รายชื่อนักดนตรี-นักร้อง
    1. ครูกาหลง พึ่งทองคำ (อายุ 76 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    2. ครูพินิจ ฉายสุวรรณ (อายุ 72 ปี ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    3. นายสมชาย ดุริยประณีต (อายุ 65 ปี) จังหวัดสมุทรปราการ
    4. นายเผชิญ กองโชค (อายุ 64 ปี) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    5. นายพัฒน์ บัวทั่ง (อายุ 59 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    6. นายชาตรี อบนวล (อายุ 53 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    7. นายวินัย มั่นวิชาชัย (อายุ 53 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    8. นายสุทัศน์ แก้วกระหนก (อายุ 48 ปี) จังหวัดกรุงเทพมหานคร
    9. นายธีระ ภู่มณี (อายุ 47 ปี) จังหวัดปราจีนบุรี
    10. นายสุวรรณ โตล่ำ (อายุ 45 ปี) จังหวัดนครสวรรค์
    11. นายสมพงษ์ พงษ์พรหม (อายุ 43 ปี) จังหวัดลพบุรี
    12. นายยงยุทธ เต๊ะอ้วน (อายุ 42 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    13. นายชัยยศ เต๊ะอ้วน (อายุ 40 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    14. นายสมจิตร สมพงษ์ (อายุ 40 ปี) จังหวัดราชบุรี
    15. นายสุริยะ ชิตท้วม (อายุ 39 ปี) จังหวัดสมุทรปราการ
    16. นายไชยชนะ เต๊ะอ้วน (อายุ 39 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    17. นายบัญชาศักดิ์ พงษ์พรหม (อายุ 29 ปี) จังหวัดสมุทรปราการ
    18. นายสุรพงษ์ โรหิตาจล (อายุ 36 ปี) จังหวัดกรุงเทพมหานคร
    19. นายมงคล ชะเอม (อายุ 35 ปี) จังหวัดนครปฐม
    20. นายอรรณพ ดำนิล (อายุ 32 ปี) จังหวัดปทุมธานี
    21. นายชัยยันต์ คลังศรี (อายุ 31 ปี) จังหวัดตาก
    22. นายสกล บุญศิริ (อายุ 30 ปี) จังหวัดกรุงเทพมหานคร
    23. นายปรีชา นุชทรัพย์ (อายุ 30 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    24. นายธเนตร แสวงศิลป์ (อายุ 27 ปี) จังหวัดพิษณุโลก
    25. นายหาญณรงค์ ทองงาม (อายุ 27 ปี) จังหวัดชลบุรี
    26. นายธรพัชร์ ทับดี (อายุ 26 ปี) จังหวัดนครนายก
    27. นายชาญชัย เดชแจ่ม (อายุ 25 ปี) จังหวัดสุพรรณบุรี
    28. นายนุกูล ทัพดี (อายุ 23 ปี) จังหวัดนครนายก

    รายชื่อนักร้อง

    29. ครูกัญญา โรหิตาจล (อายุ 65 ปี) จังหวัดนนทบุรี
    30. น.ส. สุภางค์พักตร์ เต๊ะอ้วน (อายุ 38 ปี) จังหวัดนนทบุรี

    จากคุณ : นายยางสน - [ 5 ก.พ. 48 17:04:26 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป