CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangGameRoom


    ยอดชายนาย Thelonious Monk ยาวนะครับ

    [b]Thelonious Monk : The composer of modern jazz (1947-1982)[/b]

    แต่ก่อนที่จะพูดถึง high priest องค์นี้ของเหล่าชาวแจ๊ส ผมเอาเกร็ดเล็ก ๆ มาฝากหน่อยดีกว่าเกี่ยวกับ classic jazz trio ที่ประกอบด้วย เปียโน กลอง และเบส ถึงแม้ว่าจะใช้ชื่อว่าคลาสสิค รูปแบบทรีโอนั้นไม่ได้เกิดในยุคต้น ๆ ของแจ๊สอย่างที่ชื่อมันเป็น กว่าจะได้เกิดมาในยุคแรกก็กลับเป็นกีตาร์ก่อนที่จะมีวันของกลอง ซึ่งจริง ๆ แล้วรูปแบบนี้ผู้บุกเบิกก็คือ Nat King Cole ที่หลาย ๆ คนคงคุ้นชื่อกันดี ก่อนที่นักเปียโนชื่อดังอีกท่านที่เลียนแบบรูปแบบดังกล่าวไปใช้ แต่ก็จนกระทั่งปี 1944 ที่ Errol Garner ได้นำกลองมาทดแทนกีตาร์เป็นรายแรก และท่านที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแห่ง jazz trio ได้แก่ Oscar Peterson ที่เล่นมาแล้วทุกแบบทั้งกีตาร์และกลอง และนี่คือที่มาของ classic jazz trio

    [IMG]http://www.pbs.org/jazz/images/biography/t_monk.jpg[/IMG]

    เอ้า มาเข้าเรื่องกันดีกว่า เรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ถามตัวเองว่าช้าเกินไปไหม Monk เริ่มเล่นดนตรีตอนอายุปาเข้าไปยี่สิบกว่า ๆ จนกระทั่งได้มาเล่นให้กับวงประจำของ Minton’s ตั้งแต่ปี 1940 ซึ่งถ้าจะอ่านย้อนกลับไปนิดนึงจะเห็นว่าเป็นแหล่ง hang out ของนักดนตรีผู้ให้กำเนิดบีบ็อป แต่สิ่งที่สร้าง Monk ขึ้นมาไม่ใช่สถานที่ทำงานแห่งนั้น แต่เป็นความสามารถแบบล้วน ๆ ในการประพันธ์ของเขา เพลงที่ดังที่สุดของเขาถูกนำไปอัดครั้งแรกในปี 1944 โดย Cootie Williams ดังก่อนที่เขาเองจะมีอัลบั้มของตัวเองที่ใช้ชื่อ Genius of modern music ในปี 1947 ในเวลานั้นเขามีอายุได้สามสิบปี นับว่าค่อนข้างช้าสำหรับอัลบั้มแรกของตัวเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาได้ฝากไว้เปลี่ยนแปลงแจ๊สไปตลอดกาล อ้อ เจ้าเพลงดังที่ว่าคือ Round Midnight ครับ คงอ๋อกันเป็นแถว ๆ นะครับ ว่าทำไมถึงได้ไปเป็นชื่อหนัง ทำไมหนังเรื่องดังกล่าว ในขณะที่ขยายชีวิตสมมุติของนักดนตรีหลาย ๆ ท่านแล้ว จะยังต้องมีดนตรีหลักมาชื่อบทประพันธ์ของ Monk และทำไม Herbie Hancock ผู้รับผิดชอบในการเรียบเรียงสำหรับหนังเรื่องนี้ถึงได้เกร็งมากถึงขนาดนั้น (เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ครับ ถ้าใครไม่เคยฟังก็ขอให้เชื่อผมไปก่อนละกัน)

    เพลงของเขา สไตล์ของเขานั้น ไม่ง่ายนักที่จะเข้าใจ บางครั้งต่อเนื่อง บางครั้งตะกุกตะกัก ประกอบไปด้วยสีสันที่แปลกประหลาดดุจดังเช่น ภาพนามธรรม หากแต่ว่าความสวยงามที่มีแค่พอเพียงที่จะโผล่มาให้เห็น ให้เข้าใจ ได้โดยที่ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ จากเสียง และสีสันที่ไม่น่าจะทำความเข้าใจได้ ไม่มีใครรู้ว่าทำไม และทำได้อย่างไร และด้วยความที่ประหลาดอย่างนี้ อัจฉริยะผู้นี้อยู่ในเงามืดเป็นเวลานานกว่าที่จะถูกค้นพบซึ่งนั่นก็จนกระทั่งเขาได้ออกชุดช่วงที่เป็น Brilliant Corners, Monk’s Music ที่ถือว่าเป็นสุดยอดของเขา การร่วมงานของเขากับ John Coltrane ในปี 1957 เมื่อถึงเวลานั้นไม่มีอะไรจะหยุดเขาไว้ได้แล้ว แม้กระทั่งนิตยสาร Time ยังต้องลงเขาบนหน้าปก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เจอกันบ่อย ๆ สำหรับนักดนตรีแจ๊ส เขาทัวร์ทั่วโลก แม้จะเกิดมาในยุคบ๊อป และบีบ็อปมีผลต่อสไตล์ของเขาน้อยมาก เขามีโลกที่เป็นส่วนตัวที่แจ๊สในที่สุดเข้าใจ และหลงใหล ไม่ว่าคุณจะฟังแจ๊สไหน ๆ อยากนักที่จะหลีกเลี่ยงงานของเขา ที่กลายเป็นกระดูกสันหลังของ modern jazz เรียกได้ว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของแจ๊ส อัลบั้มไหนเหรอก็เริ่มที่ สองสามอัลบั้มที่พูดถึงก่อน ถ้าไม่ชอบ ก็ไปฟังเพลงของเขาที่คนอื่นเล่นก็ได้ ยังไงก็หนีไม่พ้นอยู่ดี

    เนื่องจาก Monk เล่นเปียโนแปลก ๆ อยากที่จะบอกว่าเพราะ แต่อยากที่จะบอกว่าไม่เพราะ ความคิดประหลาด ๆ ของเขาทำให้ไม่มีนักเปียโนไหนอีกแล้วที่เล่นสไตล์แบบนี้ แต่ถ้าจะหาจริง ๆ นักเปียโนอีกคนที่คล้าย ๆ มาในแนว Monk ก็น่าจะเป็น Andrew Hill ถ้าชอบก็ลองขุด ๆ ขึ้นมาฟังบ้างก็ได้ แต่แผ่นดี ๆ หายากหน่อย Point of Departure เป็นแผ่นที่น่าสนใจสำหรับเขาครับ

    เอ้า สรุปกันอีกที แผ่น Monk ก็ Brilliant Corners, Monk's Music, ถ้าง่าย ๆ หน่อยก็ Monk & Coltrane แผ่น Underground ก็ดีครับแต่ไม่ค่อยมีของ

    [IMG]http://www.budpowelljazz.com/images/life_img/bud_monk_paris.jpg[/IMG] Thelonious Monk and Bud Powell

    วันนี้ผมมาฝากอีกนิดหนึ่งนะครับ เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับ นักประพันธ์/นักเปียโนยุคบ๊อปที่ดูเหมือนจะทำให้หลาย ๆ คนงง สองคนนี้มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งกว่าที่เราได้เห็นจากงานที่เขาออกมา เนื่องจากเป็นนักเปียโนทั้งคู่ Monk และ Bud แทบไม่ได้มีแผ่นร่วมกันเลย แต่อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของเขานั้นมากเหลือครับ Monk เป็นคนที่เอาคอขึ้นเขียงรับรองความสามารถของ Bud กับทุก ๆ คน จน Bud นั้นดังก่อนที่ Monk จะดังเสียด้วยซ้ำ และเพลงดังของ Monk ที่อัดโดย Cootie Williams นั้น มิใช่ใครก็ Bud เป็นคนเล่นเปียโนถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูก credit ไว้ก็ตาม Monk ถึงกับเอ่ยปากว่าถ้าจะมีใครเล่นเปียโนงานประพันธ์ของเขาได้อย่างที่เขาอยากให้เป็นก็ต้องเป็น Bud นี่แหละ เพราะความประหลาดของฮาโมนิคที่ Monk ใช้ จะถูกตีความได้อย่างดี และเสริมได้อย่างเหมาะเจาะด้วยความรู้สึกอัจฉริยะทางฮาโมนิค และ ความสามารถในการแต่งทำนองที่สวยงามไปพร้อม ๆ กัน และ ที่ Bud ถูกตำรวจตีหัวก็เพราะเข้าไปช่วย Monk ในกรณีที่เขาบอกว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ดังนั้น มีหลาย ๆ ท่านจะแนะนำให้ฟังงานของ Monk ผ่านฝีมือของ Bud ครับผม

    [b]พักหายใจ[/b]

    ถึงตอนนี้ผมยากจะขั้นบทความนิด ๆ หน่อย ๆ ก่อนจะขึ้นยุคที่ค่อนข้างเป็นยุคที่ผมชอบเป็นพิเศษ ถ้าใครที่ติดตามผลงานผมมาตลอดแล้วคอยสังเกตุ ตัวปีที่อยู่ด้านหลังของหัวข้อจะพอเห็นว่าปีนั้นออกจะเหลื่อมล้ำกันอยู่บ้าง นั่นมีสาเหตุหลาย ๆ อย่าง ก่อนอื่นตัวเลขปีนั้นไม่ได้เป็นปีเกิดปีตายของนักดนตรี ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปีที่นักดนตรีท่านนั้น หรือแนวดนตรีแนวนั้นค่อนข้าง active ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ตัวเลขเหล่านั้นออกจะเหลื่อมล้ำกันอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามโดยคร่าว ๆ แล้วผมก็จะเรียงการเขียนตามลำดับการเกิดอยู่นิด ๆ แต่ไม่ได้แปลว่าจบบทความที่หนึ่งแล้วเกิดบทความที่สอง ไม่ได้แปลว่าสิ้นอาร์มสตรองแล้วค่อยเกิดกูดแมนเป็นต้น มันจะมีช่วงที่คาบเกี่ยวกันอยู่บ้าง ครับ ๆ ผมรู้ว่าคุณรู้แล้ว แต่ก็อยากจะย้ำไว้ตรงนี้อีกครั้ง เพราะในยุคที่จะมาถึงจะนับว่าเป็นยุคที่แจ๊สมีความสมบูรณ์มากที่สุดที่เราน่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุค reneissance ของแจ๊สได้เลยทีเดียว และในแต่ละบทความที่ผมจะเขียนในต่อไปนั้น มันจะมีความคาบเกี่ยวกันอย่างมาก ถึงขนาดว่าในหลาย ๆ บทความที่จะแยกออกไปตามแนวเพลง ตามรายชื่อนักดนตรีที่สำคัญนั้น เรียกได้ว่าอาจจะเกิดขึ้นในวันเดียวกันได้เลยครับ ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราต้องค่อย ๆ เปิดใจนิด ๆ ว่าสิ่งที่จะได้อ่านต่อ ๆ ไปนี้ เริ่มเป็นเหตุการณ์ที่เดินไปพร้อม ๆ กันเป็นเส้นขนานอย่างใดอย่างนั้นเลย

    เอ้ามาสรุปความกันนิด ๆ ตามสูตรของผมโดยทั่วไปแล้วประวัติของแจ๊สจะเริ่มประมาณแถว ๆ 20's ที่ส่วนใหญ่จะพูดถึง Rag Time ไปเรื่อยจนถึง ODJB จนกระทั่ง 30's เราเริ่มคุยถึง Buddy Bolden, King Oliver, Armstrong ไปเรื่อย ๆ จนมาถึง Big Band และ Swing พอมายุค 40's ก็เป็นยุคของบ๊อปที่เพิ่งเขียนจบไปหมาด ๆ และที่จะกล่าวกันต่อไป สิบปีก็ผ่านไปไวเหมือนโกหก ยุค 50's จะเป็นยุค Cool แจ๊สเริ่มจากเพลงบลูส์ มาบรรเลง มาเป็นเพลงที่มีการอิมโพรไวซ์ด้วยฝีมืออาร์มสตรอง Benny Goodman และอีกหลาย ๆ Band ทำให้แจ๊สเป็นสมัยนิยมในตอนนั้น และย้ำด้วย Duke Ellington ซึ่งได้ขยายมีเดียมของแจ๊สเป็นอีกหลายเท่าตัว เป็นบรรเทิงของชนหมู่มาก ของเหล่า who is who ในสมัยนั้น ๆ จนกระทั่งกลุ่มนักดนตรีหัวใหม่มารวมกันที่ Milton's แล้วเปลี่ยนแจ๊สเป็น technical show case ผู้ฟังเริ่มเปลี่ยนจากพระเจ้า แจ๊สเปลี่ยนจากงานตลาดไปเป็นงานศิลปะชั้นสูงขึ้น ผู้ฟังขณะนี้เริ่มเป็นเพียงผู้สังเกตุการณ์ การคุยกันอย่างเมามันของนักดนตรีด้วยภาษาที่สุดยอดยากที่จะเข้าใจ แต่ความเท่ห์และแนวมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าในแง่ของมหาชนนั้นตอนนี้แจ๊สเสียไปทีละนิดละนิดแล้ว แต่ความแนวนั้น ความเท่ห์นั้นมันเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ

    เอาล่ะครับพร้อมกันรึยัง ถ้าพร้อมแล้ว ช่วยยกมือกันหน่อย

    จากคุณ : Nattapong - [ 22 ก.พ. 48 12:00:20 A:203.113.77.100 X: ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป