CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    Tchaikovsky เจ้าแห่งบัลเล่ต์

    http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=historyandphilosophy&group=9
     


    ถ้าเอ่ยถึงTchaikovky  ภาพที่ปรากฏในหัวของผู้ฟังเป็นภาพแรกก็คือการเต้นบัลเล่ต์อันอ่อนช้อย ของนักเต้นหนุ่มสาวพร้อมกับจังหวะเพลงที่แสนจะนุ่มนวล แต่บาดหัวใจถ้าใครมีความรู้หน่อยก็จะบอกว่าเป็นบัลเล่ต์ที่ชื่อ Swan Lake หรือว่า Nutcracker แต่ความจริงแล้วไชคอฟ สกี้ไม่ได้มีฝีมือเพียงแค่เพลงประกอบบัลเล่ต์เท่านั้นหากมีเพลงทุกประเภทเท่าที่คีตกวีระดับโลกพึงจะมี

            (ภาพของ ไชคอฟสกี้)
         
         คีตกวี ผู้นี้มีชื่อเต็มๆ ว่า Pyotr Ilyich Tchaikovsky  (Pyotr คือ Peterนั่นเอง)  เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1840 ณ เมืองKamsko-Votkinsk ของรัสเซีย พ่อเป็นวิศวกรเหมืองแร่และแม่ซึ่งมีเชื้อสายฝรั่งเศสและเป็นภรรยาคนที่สองของพ่อ  ตามธรรมดาของคนจะเป็นคีตกวีเอกของโลก ก็ต้องเก่งตั้งแต่วัยเด็ก  ไชคอฟสกี้เริ่มหัดเล่นเปียโนตั้งแต่อายุห้าขวบ จนเมื่อเติบใหญ่ก็เรียนทั้งกฏหมายควบคู่ไปกับดนตรี ที่ โรงเรียนดนตรี Peterburg Conservatory (ก่อตั้งโดย Anton Rubinstein) ระหว่างปี 1861-65 และได้เป็นอาจารย์สอนทฤษฎีทางดนตรีที่ Moscow Conservatory  

       ในช่วงนั้นเองไชคอฟสกี้ได้ตกหลุมรักกับนักร้องเสียงโซพราโน่ (เสียงสูงที่สุดของผู้หญิงในโอเปร่า) แต่เธอกลับไปแต่งงานกับคนอื่นทำให้คีตกวีของเราอกหักเป็นที่สุด (ความจริงมีการแฉทีหลังว่าไชคอฟสกี้ยังชอบผู้ชายอีกด้วย นัยว่าเป็นเสือไบ)  ในเวลาต่อมามีสาวน้อยนามว่า Antonina Milyukova พร่ำเขียนจดหมายเพื่อขอความรักจากเขา จนในที่สุด ไชคอฟสกี้ก็แต่งงานกับเธอในปี 1877 ทั้งที่ตัวเองก็ยังไม่แน่ใจตัวเอง  ผลปรากฏออกมาคือความหายนะสำหรับคนทั้งคู่  สองอาทิตย์หลังจากแต่งงาน  ไชคอฟสกี้ถึงกลับพยายามฆ่าตัวตายโดยการเดินลงไปในแม่น้ำ (แต่ไม่สำเร็จ) และภายใน6 อาทิตย์ทั้งคู่ก็แยกทางกันแต่ไม่เคยหย่ากันอย่าเป็นทางการจนทั้งคู่เสียชีวิต      ต่อมาไชคอฟสกี้ก็ยังไปตกหลุมรักกับแม่หม่ายผู้มั่งคั่งนามว่า Nadezhda von Meck ผู้ให้การอุปถัมน์แก่ไชคอฟสกี้ผ่านเงินหกพันรูเบิ้ลต่อปี  แต่ที่น่าประหลาดคือ ถึงแม้คนทั้งสองจะเขียนจดหมายโต้ตอบกันถึง 1,200 ฉบับ(ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นการวิจารณ์ดนตรีของไชคอฟสกี้ด้วย)ในช่วงเวลาแค่สามปี  แต่ทั้งแม่หม่ายลูกติดกับคีตกวีได้พบกันเพียงสองครั้งเอง โดยที่ในสองครั้งนั้นก็ไม่ได้คุยกันแม้แต่น้อย (ฝรั่งเรียกว่าเป็น Platonic Love หรือความรักที่ไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยว แต่พฤติกรรมเช่นนี้ไม่น่าจะเรียกว่าความรักเลย)
        แต่แล้วหลังปี 1890 เม็กก็เลิกติดต่อกับไชคอฟสกี้อย่างทันที มีการสันนิฐานว่าเธออาจจะรู้ว่าถึงรสนิยมของการเป็นชายรักชายของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้เธอยังวางแผนจะให้ลูกสาวคนหนึ่งของเธอแต่งงานกับไชคอฟสกี้  แผนการเลยพังพาบไป  แต่กระนั้นไชคอฟสกี้ก็ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมจากทั่วยุโรปและอเมริกา
      ไชคอฟสกี้ถึงแก่กรรมในปี  1893 ภายหลังจากที่ได้เปิดการแสดง Symphony หมายเลขหก ชื่อว่าPathétique (ทำนองเศร้ามาก ถือว่ามาจากก้นบึ้งของหัวใจผู้แต่งซึ่งกำลังทุกข์ทรมาณใจอย่างแท้จริง ) เป็นครั้งแรก   ศพของเขาถูกฝังในสุสาน  Tikhvin ใน กรุง St.Petersberg  
         การเสียชีวิตของไชคอฟสกี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ลึกลับ ซับซ้อนและเป็นที่ถกเถียงกันมาก ตามความเข้าใจของคนทั่วไป คือเขาเสียชีวิตจากอหิวาตกโรค เพราะไปกินน้ำที่ไม่ไม่ได้ต้ม กระนั้นเองมีการสังเกตว่าในงานศพของเขา แขกที่มาก็ก้มลงจูบที่มือ(ตามธรรมเนียมของฝรั่ง) เพื่ออำลาเป็นครั้งสุดท้ายโดยไม่รังเกียจแต่ประการใด ทั้งที่อหิวาตกโรคในสมัยนั้นเป็นโรคระบาดที่น่ากลัว  และจนมาเมื่อปี 1980 นี่เองที่มีนักประวัติศาสตร์นามว่า Aleksandra Orlova  ได้เขียนหนังสือเสนอทฤษฎีว่า แท้ที่จริง ไชคอฟ สกี้ฆ่าตัวตายจากการกินสารหนู  เพราะว่าเพื่อนๆที่เคยเรียนโรงเรียนกฏหมายเดียวกับเขาได้ยืนกรานให้เขาฆ่าตัวตาย เพราะมีผู้ใหญ่ในสังคมรัสเซียกำลังจะฟ้องร้องไชคอฟสกี้ในฐานะไปพัวพันกับหลานชายของตน อันจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียนกฏหมาย ความจริงการเป็นเกย์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไรเพราะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลแต่สังคมของรัสเซียที่เคร่งศาสนาคริสต์นิกายออร์โทด็อกซ์ ในศตวรรษที่สิบเก้ากลับเห็นตรงกันข้าม
       ผลงานของไชคอฟสกี้นอกจากที่เคยได้เกริ่นมาแล้วยังมีบัลเล่ต์เรื่อง โฉมงามผู้นิทรา(Sleeping Beauty) อุปรากรเรื่อง  Eugene Onegin สร้างมาจากนิยายของพุชกิ้นและ The Queen of Spades  นอกจากนี้เขายังแต่ง Symphony ถึง หกบทที่มีทำนองออกไปทางชาตินิยม เช่นเดียวกับ  Piano Concerto หมายเลขหนึ่งซึ่งถือว่าได้รับความนิยมและยกย่องที่สุดในบรรดา Piano Concerto ทั้งหลาย (อาจจะยิ่งกว่าของ Beethoven และ Mozart เสียด้วยซ้ำ) ทั้งนี้ยังไม่นับ Violin Concerto  ในD major Op ที่ 35ซึ่งมีความเป็นอมตะพอๆ กัน  ไชคอฟสกี้ยังมีงานแบบ Orchestra ที่น่าจดใจสำหรับชาวโลกอีกเช่น Romeo and Juliet, Overture-Fantasy  ซึ่งไชคอสกี้ได้รับอิทธิพลจากกวีของเช็คสเปียร์ และ 1812  Overture ซึ่งเป็นงานเพลงที่แต่งเพื่อฉลองการมีชัยของกองทัพรัสเซียเหนือกองทัพของพระเจ้านโปเลียนในปี 1812 ในการแสดงโดยเฉพาะกลางแจ้งจะมีการยิงปืนใหญ่จริง ๆเพื่อประกอบเพลงด้วย
         
            (หลุมฝังศพของไชคอฟสกี้)

    จากคุณ : Johann sebastian Bach - [ 1 ก.ย. 48 23:00:54 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป