CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    เรื่องแจ๊ซของผู้คงแก่เรียน -------------นายสามัญฯนำเสนอ

    ต้องขออภัยงานนี้ไม่ได้เขียนเองแต่เป็นของคุณ   บวรพงศ์ ศุภโสภณ
    เขียนไว้นานแล้วอ่านเล่นๆเป็นแนวทาง.......
    อ่านเฉยๆแก้กลุ้ม    อ่านๆเรื่อยๆ  ดูซิว่าได้อะไรมาบ้าง


    ******************************************************

    แม้ว่าโดยปกติของผู้เขียนนั้น ดนตรีแจ๊ซ (Jazz) จะไม่ใช่ดนตรีแนวโปรดเป็นอันดับหนึ่งแบบดนตรีคลาสสิก แต่ผู้เขียนเองยอมรับโดยดุษณีอยู่เสมอว่าแจ๊ซเป็นมรดกทางดนตรีชั้นเยี่ยมอีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น เป็นดนตรีที่เปี่ยมด้วยภูมิปัญญาอย่างมากโดยเฉพาะภูมิปัญญาในการด้นสด (improvisation) ที่ต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบแสดงออกอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ในขณะแสดง ซึ่งผิดกับดนตรีคลาสสิกที่โน้ตทุกพยางค์ได้ถูกเขียน จดบันทึกและเตรียมการแบบสำเร็จรูปเป็นอย่างดี การใช้ภูมิปัญญาด้นสดแบบที่เรียกกันว่า ad libitum นี่แหละจัดเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของดนตรีแจ๊ซที่ต่างจากดนตรีคลาสสิก

             ในประสบการณ์การชมดนตรีแจ๊ซของผู้เขียน (ซึ่งอาจจะไม่มากนัก) หลังจากจบสิ้นการแสดงแล้ว มักจะเกิดอาการ “หูดับ” เล็กน้อย และออกจะอ่อนเปลี้ยนิดหน่อยแม้จะไม่ใช่ผู้บรรเลงเอง ซึ่งถือเป็นอาการรับรสของดนตรีแจ๊ซที่ถ้าจะเปรียบเป็นอาหารก็ต้องบอกว่าอยู่ในอาหารประเภทที่รสชาติจัดจ้านและเผ็ดร้อน ผู้รับประทานคงต้องออกอาการกับบ้างหลังรับประทานเสร็จ แต่หลังจากชมการแสดงของวงดนตรีบิกแบนด์ (Big Band) ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ Westdeutsche Rundfunk (WDR) จากเมืองโคโลญจน์ เยอรมนี ที่มาเปิดการแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2545 นั้น ผู้เขียนกลับไม่มีอาการหูดับหรืออ่อนเปลี้ยแบบการฟังดนตรีแจ๊ซที่เคยผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นวงดนตรีบิกแบนด์ที่ดีมาก มีสไตล์การบรรเลงอันละเมียดละไมมีเสน่ห์ น่าฟัง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พวกเขาไม่จงใจจะบรรเลงแบบ “อัด” หรือ “ฉีด” ให้ผู้ฟังสะใจแบบแจ๊ซหรือบิกแบนด์ที่เราคุ้นเคยกัน

             การบรรเลงของวง WDR ในครั้งนี้ มีความพิเศษที่เรียกว่ายังไม่เคยพบเห็นมาก่อนในการแสดงดนตรีแจ๊ซในบ้านเรา เพราะว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการนำเอาบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมดมาบรรเลง และที่น่าจับตามองยิ่งไปกว่านั้นก็คือบทเพลงทั้งหมดนี้ประพันธ์ขึ้นโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากสีสันในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตไทย จากฝีมือการประพันธ์โดย ธอสเท็น วอลมันน์ (Thorsten Wollmann) นักเป่าทรัมเป็ทและผู้ประพันธ์ดนตรีหนุ่มวัย 36 ปี ชาวเยอรมัน ที่จบการศึกษาดนตรีในระดับปริญญาโท อีกทั้งยังมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยอย่างเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันอ่อนโยนแบบคนไทย จนสามารถกลั่นกรองประสบการณ์แนวคิดเหล่านี้ให้กลายเป็นบทเพลงแนวแจ๊ซชั้นยอดสำหรับวงดนตรีบิกแบนด์ที่เต็มไปด้วยสีสันทางเสียงอันหลากหลาย

             จะเป็นด้วยเหตุผลเพราะว่านี่เป็นสไตล์การบรรเลงและภาษาดนตรีแจ๊ซแบบสำนักเยอรมัน หรือว่าจะเป็นเพราะบทเพลงในรายการทั้งหมดนี้มีแนวคิดที่จะแสดงออกซึ่งสีสันของเมืองไทย ดังที่ตั้งชื่อบทเพลงในชุดนี้ทั้งหมดว่า “Colors of Siam”  หรือจะเป็นด้วยเหตุผลทั้งสองประการนี้ประกอบเข้าด้วยกันก็สุดแต่จะคาดคิด แต่ผลลัพธ์ก็คือผลงานชุดนี้กลายเป็นดนตรีที่ค่อนข้างงดงามและละเมียดละไมมากกว่าร้อนแรง และที่น่าสังเกตยิ่งไปกว่านั้นก็คือวิธีการเขียนเพลงของธ็อสเท็น วอลมันน์นั้นดูจะแฝงด้วยรากฐานแบบดนตรีคลาสสิกอยู่ไม่น้อย ทั้งความนุ่มนวล การใช้สีสันของเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชนิดเพื่อสร้างสีสันของบทเพลงให้มีความหลากหลาย  ซึ่งฟังดูแล้วไม่ห่างไกลจากเทคนิคการเขียนเพลงสำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตราเอาเลย หลายครั้งที่มีการใช้เทคนิคการสอดทำนอง (counterpoint) หลาย ๆ แนวเข้าด้วยกันอย่างน่าทึ่ง แสดงให้เห็นว่าเขา (วอลมันน์) อาจพอจะนับญาติห่าง ๆ ได้กับ J.S. Bach ได้ด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ จากประวัติการทำงานของเขาก็ยังบ่งบอกว่าเขามีประสบการณ์ช่ำชองในการเขียนเพลงให้กับวงออร์เคสตราและดนตรีประกอบภาพยนตร์มามากมาย เหตุผลทั้งหมดนี้พอที่จะทำให้เราสรุปได้ว่ารสชาติการบรรเลงในครั้งนี้อาจจะคล้ายกับการบรรเลงในรูปแบบ light orchestra พอสมควร ซึ่งคอดนตรีแจ๊ซแบบแฟนพันธุ์แท้หลายคนอาจจะไม่ค่อยสะใจนัก

             เพียงแค่บทเพลงแรกคือ Variations on a Thai Theme ที่นำมาเปิดรายการก็ทำให้ผู้ฟังหลายคนอดไม่ได้ที่จะต้องหันมามองหน้ากันด้วยความฉงนและอมยิ้มน้อยๆ เพราะแนวทำนองหลักที่นำมาใช้ในเพลงนี้ก็คือ “ขับไม้บัณเฑาะว์” ที่พวกเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และวอลมันน์ก็ดูจะเข้าใจความรู้สึกและรสนิยมของคนไทยได้ดีไม่น้อย ถึงแม้จะมีการผกผันพัฒนาแนวทำนองหลักในแบบ variations ที่หลากหลาย แต่เขาจะนำเอาแนวทำนองหลักมาวนย้ำกลับให้ได้ยินเป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแนวทำนองหลักขับไม้บัณเฑาะว์ที่ใช้เป็นตัวตั้ง (theme) กับแนวทำนองผันแปร (variation) ที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ สำหรับลีลาการเหวี่ยงหรือโยนจังหวะแบบ swing ในดนตรีบิกแบนด์ของเพลงนี้ดูจะไม่ชัดเจนหนักหน่วงแบบที่เคยฟังจากวงบิกแบนด์อื่น ๆ

             บทเพลงที่สองคือ Rainy Season (ฤดูฝน) นั้นดูจะไม่แตกต่างอะไรจาก tableau musical หรือ musical picture (ดนตรีบรรยายภาพ) ในทางดนตรีคลาสสิกเอาเลย วอลมันน์พำนักอยู่ในเมืองไทยนานพอที่จะเข้าใจถึงฤดูกาลทั้งสามที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน โดยเฉพาะฤดูฝนที่ยาวนาน นำมาซึ่งความชุ่มชื้นคล้ายกับเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมของสังคมไทย เขาใช้เสียงของกลุ่มเครื่องประกอบจังหวะ (percussion instruments) ในการสร้างสีสันของเสียงฝนตก และที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่งก็คือ ในช่วงกลางเพลง เสียงกบร้องยังเปลี่ยนมาใช้กลุ่มทรอมโบนใส่เครื่องลดเสียงหรือมิวท์ (mute) แทน ซึ่งก็ได้ความรู้สึกชัดเจนและสร้างสรรค์ นี่คือความเชี่ยวชาญของ “นักเขียนเพลง” ที่ช่ำชองในศาสตร์ด้านการจำแนกเสียงและประสมวง (orchestration) อย่างแท้จริง

             เรื่องของศิลปะการใช้สีสันทางเสียง (tone color) ในการเขียนเพลงของวอลมันน์ เป็นเทคนิคที่เขาช่ำชองมาก จากบทเพลง Rainy Season ที่บรรยายถึงสีสันแห่งฤดูฝน มาสู่บทเพลง Song for Janine ซึ่งวอลมันน์บอกว่าเขียนขึ้นสำหรับลูกสาวของเขาที่เกิดในเมืองไทย สีสันที่น่าสังเกตของเพลงนี้ก็คือการนำเอาขลุ่ยรีคอร์เดอร์ (recorder) มาใช้สร้างสีสันของเพลงกล่อมเด็ก (lullaby) ในช่วงต้นของเพลงด้วยแนวทำนองอันสดใสแบบเพลงสำหรับเด็ก ตามด้วยแนวทำนองที่บรรเลงด้วยแตรฟลูเกล ฮอร์น (flugel horn) อันแสนจะนุ่มนวลสบายหู นี่คือการสื่อภาพลักษณ์อันบริสุทธิ์ของวัยเด็กด้วยเสียงดนตรีที่ชัดเจน

             บทเพลงที่สี่ของรายการคือ Northern Thai Song เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้พวกเรา (ผู้ฟัง) อดไม่ได้ที่จะหันมามองหน้ากันด้วยรอยยิ้ม เพราะวอลมันน์นำเอาแนวทำนองเพลงฟ้อนเงี้ยวทางภาคเหนือที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วมาใช้เป็นแนวทำนองหลัก(theme)  บรรเลงด้วยกลุ่มแตร flugel horn ที่แสนจะนุ่มนวลคล้ายกับต้องการจะบ่งบอกถึงบุคลิกภาพอันสงบเยือกเย็นของวิถีชีวิตแถบภาคเหนือ ในตอนกลางเพลงวอลมันน์ไม่ลืมที่จะกลับมาระบายสีสันเดิมของบิกแบนด์ด้วยการเปลี่ยนบันไดเสียง (modulation) แนวทำนองฟ้อนเงี้ยวให้สูง จัดจ้านขึ้น และเปลี่ยนมาใช้กลุ่มทรัมเป็ทบรรเลงอย่างเจิดจ้าร้อนแรง

             คำว่าสีสันในบทเพลงนั้น นอกจากจะแสดงออกด้วยเสียงของเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ แล้ว ก็ยังแสดงออกด้วยเทคนิคทางการประสานเสียง (harmony) โดยใช้คอร์ด (chord) ที่ให้เสียงซึ่งแสดงความรู้สึกอึมครึม เคร่งขรึมในบทเพลง Pagodas (เจดีย์) อันสะท้อนถึงบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์และอิทธิพลทางพุทธศาสนาในประเทศไทย อีกบทเพลงหนึ่งในรายการที่น่าจะนำมากล่าวถึงก็คือเพลงพาหุรัดที่สะท้อนถึงภาพชุมชนแห่งนี้ ซึ่งมีผู้คนเชื้อสายอินเดียอาศัยอยู่ไม่น้อย วอลมันน์แสดงออกด้วยแนวทำนองคล้ายๆ กับดนตรีอาหรับ ซึ่งน่าจะหยิบยืมกลิ่นอายบางส่วนมากจากบทเพลง Caravan ที่แฟนดนตรีแจ๊ซรู้จักกันดี และยังใช้แนวเครื่องประกอบจังหวะอันโดดเด่นด้วยจังหวะแบบระบำแขกอย่างน่าสนใจ ฟัง ๆ ไปจนรู้สึกคล้ายกับว่านี่ใช่พาหุรัดหรือเปล่า แต่อาจจะเป็นการนำพาเราไปไกลจนถึงกรุง Bagdad เสียแล้ว เรื่องของการล้อเลียนภาพวิถีชีวิตวัฒธรรมในงานดนตรีนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดนตรีไทยเราก็ทำกันอยู่เสมอๆ ในด้านการแต่งเพลง  ซึ่งเราสังเกตได้จากเพลงไทยสำเนียงต่าง ๆ มากมายทั้งลาว, เขมร, จีน, แขก, ฝรั่ง

             หลังจบการแสดงแล้ว ในพิธีการมอบดอกไม้ให้กับศิลปิน เกิดบรรยากาศที่มีการสะดุดเกิดขึ้นเล็กน้อย เมื่อท่านเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยเตรียมนำช่อดอกไม้ไปมอบให้ศิลปิน โดยมีสาวๆชาวไทยช่วยเดินเรียงรายถือช่อดอกไม้ขึ้นไปยืนรอมอบบนเวทีนั้น บรรดาศิลปินท่านสำคัญๆในวง เดินตามบรรยากาศอันชื่นมื่นนั้นเข้าไปรับช่อดอกไม้จากมือของสาวๆ เหล่านั้นเสียเอง โดยไม่ผ่านการมอบจากมือท่านเอกอัครราชทูต  ด้วยความเข้าใจในแบบวัฒนธรรมฝรั่งที่ว่าดอกไม้กับผู้หญิงเป็นสิ่งคู่กัน ทำเอาท่านเอกอัครราชทูตต้องยืนเก้อเล็กน้อยบนเวที  บางครั้งความแตกต่างทางธรรมเนียมวัฒนธรรมก็อาจสร้างความเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ ได้แบบนี้เสมอ ซึ่งมิใช่เรื่องรุนแรงที่จะต้องมาตำหนิกัน

    จากคุณ : jazzez - [ 10 ต.ค. 48 23:49:06 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป