| ชอบมาก ยอดเยี่ยม (57 คน) |
| ชอบ (31 คน) |
| เฉยๆ (6 คน) |
| ไม่ชอบ (0 คน) |
| ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (0 คน) |
| จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 94 คน |
... เลือกอ่านเรื่องนี้พร้อมรูปและรบกวนแสดงความเห็นเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=02-2006&date=26&group=1&blog=1
ข้อมูล: แม้หน้าหนังของเด็กหอจะเป็นหนังผี แต่นี่คือ หนังดราม่าที่พูดถึงมิตรภาพและการก้าวผ่านข้ามวัยของเด็กคนหนึ่ง โดยมีผีเป็นแค่องค์ประกอบ เป็นผลงานของ 1 ในทีมของผู้กำกับแฟนฉัน(ทรงยศ สุขมากอนันต์) ; โลเคชั่นในเรื่องที่เป็นโรงเรียนประจำส่วนใหญ่คือถ่ายทอดมาจาก โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชารวมไปถึงชื่อตัวละครในเรื่อง ที่เดาว่าผู้กำกับซึ่งเป็นศิษย์เก่าเช่นกัน เอามาจากชื่อศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของโรงเรียน ; โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา เป็น โรงเรียนประจำที่มีทั้งเด็กประจำและเด็กไป-กลับ มีอาณาเขตหลายร้อยไร่ได้ชื่อว่า เป็นอุทยานการศึกษา เพราะรายล้อมไปด้วยความเป็นธรรมชาติ เป็นโรงเรียนชายล้วนมีนักเรียนหญิงเฉพาะตอนมัธยมปลาย
...ผมไม่พลาดเด็กหอแน่นอน เพราะนี่คือหนังที่ทำให้ผมได้หวนนึกถึงชีวิตสมัยเรียน จะพลาดได้อย่างไรในเมื่อโรงเรียนเก่าของตัวเองได้เป็นพระเอกทั้งที
...การกลั้นลมหายใจอธิษฐานขณะข้ามแม่น้ำบางปะกง สนามบาสที่เรียงติดกันเกือบสิบสนาม ทิวสนข้างถนนในโรงเรียน ผมทรงนักเรียน เสื้อเชิ้ตแขนสั้นกางเกงขาสั้นสีน้ำเงิน ตึกเทโอฟานและสระว่ายน้ำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือ Nostalgia สำหรับผมที่ไม่ว่าหนังจะดีหรือเลวอย่างไรก็ตั้งใจไว้แล้วว่าต้องยอมเสียเงินเข้าไปดู
...เด็กหอ กระตุ้นเร้าคอหนังผีอย่างผมได้ตั้งแต่หนังตัวอย่างที่ชวนให้คอหนังสยองขวัญต้องอยากรู้ว่า หนังมีผีหรือไม่ และ ตอนจบเป็นอย่างไร
เด็กหอ คือ คำที่ใช้แทนเด็กนักเรียนประจำที่พ่อแม่มาฝากไว้ที่โรงเรียน และ จะมารับกลับบ้านในวันหยุด ชาตรี ต้องกลายมาเป็นเด็กหอคนหนึ่งอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวเมื่อพ่อของเขาตัดสินใจ ส่งเขาเข้าไปอยู่โรงเรียนประจำในจังหวัดชลบุรี
ภายใต้สีหน้าเคร่งเครียดของชาตรีไม่มีใครรู้ว่าชาตรีคิดอย่างไร แต่คนดูจะได้เห็นแต่แรกแล้วว่า มีบางสิ่งเคลือบแคลงเกี่ยวกับการถูกส่งมาอยู่โรงเรียนประจำของชาตรี ที่โรงเรียนแห่งนี้มีเรื่องราวชวนขนหัวลุกเป็นเรื่องเล่าจากเด็กหอที่อยู่มาก่อน เช่น เรื่องเด็กกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย แม่บ้านของโรงเรียนคนสวยที่ผูกคอตาย ผีคนแก่ที่เดินวนเวียนในหอนอน ฯลฯ บรรยากาศที่น่ากลัวไม่น่าไว้วางใจมาพร้อมกับเหตุการณ์แปลกๆที่ชาตรีพบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูปราณี ที่ใครต่อใครลือกันว่าเธอมีความหลังที่ดำมืด
ตั้งแต่ชาตรีมาอยู่ที่นี่ เขาไม่เคยรับโทรศัพท์ที่พ่อโทรมา วันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่เหล่าเด็กหอยินดีปรีดาที่จะได้กลับบ้านแต่เขากลับไม่อยากกลับไปอยู่บ้าน ความสัมพันธ์ของพ่อกับชาตรีห่างเหินกันมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นความเย็นชา แม้พ่อจะพยายามเท่าไหร่ ชาตรีก็ไม่ตอบสนองใดๆ
การอยู่หอนี่เองทำให้ชาตรีได้รู้จักกับวิเชียร เพื่อนร่วมหอที่พาเข้าออกจากความโดดเดี่ยวและพาเขาไปพบกับความจริงของ ตำนานหอชวนขนหัวลุกที่เล่าต่อกันมา นอกจากความสัมพันธ์ของชาตรีและวิเชียรแล้ว ยังมีอีกสองความสัมพันธ์ที่เหมือนปมผูกไว้รอการคลี่คลาย คือ ความสัมพันธ์ของพ่อของชาตรีกับความผิดที่รอการให้อภัย และ ชาตรีกับความโกรธที่ปิดกั้นความสัมพันธ์ กับความสัมพันธ์ของครูปราณี กับ ความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ และ วิเชียร
... การถูกส่งมาอยู่โรงเรียนประจำ สำหรับเด็กบางคนเข้าใจว่า มันหมายถึง การดัดสันดาน การลงโทษ การรังเกียจ ในขณะที่ผู้ใหญ่อาจมีเจตนาแค่ว่า เป็น การฝึกให้มีวินัย ต้องการให้เข้าโรงเรียนดีๆ
เหตุการณ์เดียวแต่การแปลความ หรือ การรับรู้ของมนุษย์ (perception) เราแตกต่างกันไปได้หลายอย่าง ในหนังแสดงแง่มุมนี้หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบุคลิกของครูปราณี การฆ่าตัวตายที่สระน้ำ การรับรู้ที่ถูกบิดเบือนไปตามผู้ส่งสารและคืบคลานไปแบบปากต่อปากขยายความให้ความจริงผิดเพี้ยนไปได้ แม้แต่ความรู้สึกไม่มีตัวตนของชาตรี หากพิจารณาดีๆแล้ว บางทีมันไม่ใช่เพราะคนอื่นที่ทำให้เขาไม่มีตัวตน แต่เป็นเพราะเขาเองที่ตัดตัวเองทิ้งออกจากคนอื่นๆ
คนบางคนมองสังคมหรือคนรอบตัวมีปัญหา โดยลืมไปว่า หลายครั้งก็เป็นเพราะตัวเองที่ไม่เคยปรับตัวหรือสนใจคนอื่น เหมือนกับที่ วิเชียรบอกกับชาตรี ว่า ให้รู้จัก "เห็นคนอื่นอยู่ในสายตาบ้าง"
ความรู้สึกโดดเดี่ยวของเขาในครอบครัวที่แสดงออกใน ความคิดของเขา ดูตรงข้ามกับที่เราเห็น เพราะเราจะเห็นว่า ถึงพ่อจะมีความผิดจากการลักลอบมีชู้กับสาวใช้ แต่พ่อของเขาก็พยายามที่จะแก้ตัวและขอการให้อภัยจากเขา แม่และน้องต่างก็สนอกสนใจและให้ความรักเอาใจใส่เป็นอย่างดี เมื่อมาถึงโรงเรียนเพื่อนๆอาจจะมีลองเชิงบ้างแต่หลายคนก็เข้ามาหามาพูดคุยกับชาตรี ดังนั้นการที่ตัวชาตรีคิดว่าโดดเดี่ยวอาจไม่ใช่เพราะเป็นจริงแต่เกิดจากการรับรู้ (perception) ของตัวเขาเอง เป็นเพราะตัวชาตรีเองต่างหากที่ปิดตัวเอง
Spoiler Alert : ความเห็นถัดจากนี้ มี การเฉลยจุดสำคัญในเรื่อง
ตรงข้ามกับ วิเชียร ที่ความโดดเดี่ยวของเขาเกิดขึ้นจริง เขาถูกรังเกียจหวาดกลัวจากคนอื่น เพราะ สถานภาพ ผี ที่เขาเป็นอยู่ เขาไม่สามารถหลุดพ้นกับการวนเวียนอยู่ในชาติภพนี้โดยไม่อาจหลุดพ้นไปไหน ความเป็นผี ของวิเชียร ก็เปรียบได้เหมือนปมด้อยของเด็กๆหลายคนทุกวันนี้ มันทำให้ผมนึกถึงเพื่อนสมัยเรียนที่ถูกแกล้ง ถูกล้อไม่มีเพื่อนคบ เพราะตัวเองตัวเตี้ย มีความพิกลพิการ ฯลฯ น่าเสียดายที่ภาพลักษณ์ภายนอกเหล่านี้ถูกนำขึ้นมาเป็นตัวขัดขวางมิตรภาพ เพราะหากต่างฝ่ายต่างเปิดใจเข้าหากัน ก็จะพบว่า โลกนี้จะเลวร้ายอ้างว้างเพียงใด ขอเพียงมีเพื่อนสักคนที่เข้าใจ เราก็สามารถอยู่ในโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุข
...วิเชียร บอกประโยคหนึ่งที่น่าคิดว่า ผี ก็เหมือนกับ คนที่โดดเดี่ยว ตรงที่ ทั้งคู่เป็นการมีชีวิตอยู่อย่างเหมือนไม่มีตัวตน คนในสังคมเราทุกวันนี้ต่างมีชีวิตกันเบียดเสียดเดินชนกันทุกวี่วัน แต่สำหรับบางคนมันก็ยังทำให้เหมือนอยู่เพียงลำพัง ไม่มีใครสนใจใครจนไม่ต่างอะไรกับชีวิตที่ไร้ตัวตน
ความเป็นผีของวิเชียร ทำให้เขาถูกตัดขาดจากโลกมนุษย์ ถ้าจะมีใครมองเห็นก็กลัวหรือหนีหาย เขาจึงมีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หากย้อนกลับไปตอนมีชีวิต ความเป็นคนของวิเชียรก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน เมื่อถูกทิ้งไว้ให้ตายกลางสระว่ายน้ำ ผลจากเหตุการณ์นั้นทำให้ทุกหกโมงเย็นเขาต้องกลับจมน้ำตายในสระครั้งแล้วครั้งเล่าทุกวัน
เพื่อน คือ สิ่งที่ทำให้ การอยู่อย่างไม่มีตัวตนของ ชาตรี และ วิเชียร มี ตัวตน
สิ่งที่ช่วยปลดปล่อยวิเชียรจากความโดดเดี่ยวและเวียนวนในความตายคือ มิตรภาพที่ได้รับจากชาตรี และ สิ่งที่เปิดประตูชาตรีจากการกักขังตัวเอง คือ มิตรภาพที่เขาได้รับจากวิเชียร
... ผลดีที่ส่งต่อตามมาคือการสามารถปลดครูปราณีออกจากความเข้าใจผิดที่ติดอยู่กับแผ่นเสียงตกร่องและความรู้สึกผิดมาหลายปี และ ปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธที่ขวางกั้นของชาตรีกับพ่อไว้ด้วยกัน
...พล็อตที่มีอยู่ในมือทำให้ เด็กหอ ถีบตัวเองออกจากหนังผีทั่วๆไป เป็นหนังดราม่าที่มีผีอยู่ในเรื่อง ต้องชมคนที่คิดพล็อตเรื่องนี้ขึ้นมา การผูกโยง ความมีตัวตน + มิตรภาพ +ผี +ความผิดในใจ และ การก้าวข้ามผ่านวัย(coming of age) เข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ทิ้งน้ำหนักไว้ที่ไหนจนมากเกิน หนังฉีกตัวเองออกไปจากแนวหนังซ้ำๆที่มีมาในช่วงหลังๆนี้ อารมณ์ของหนังทำออกมาได้อย่างนุ่มนวลแฝงอารมณ์ขันที่ใส่อยู่เป็นระยะๆ
...พล็อตหรือโครงเรื่องที่แข็งแรงนี้พอพล็อตถูกขยายออกมาเป็นบทหนัง หลายจุดที่ทำให้ผมยังรู้สึกว่ามันอธิบายได้ไม่ดีพอ ตัวอย่างพล็อตรองในส่วนความสัมพันธ์พ่อ ลูก เป็นส่วนที่ผมชอบมาก เสียดายที่การคลี่คลายความสัมพันธ์ของพ่อกับชาตรีที่ให้ทั้งสองคนกลับมาดีกันได้อย่างด่วนสรุปง่ายๆเกินไป และ ไร้คำอธิบายเหมือนด่วนสรุปเพื่อจะจบเรื่องราว ประเด็นอื่นๆ เช่น หลังกระต่ายตายแล้วฟื้นเสร็จจู่ๆชาตรีก็วิ่งไปที่สระว่ายน้ำ หรือ จะเป็นตอนท้ายที่เพื่อนๆอยู่ๆก็รู้วิธีช่วยชาตรีกันขึ้นมาเองเฉยๆ ฯลฯทั้งหลายทั้งหมดนี้มันเกิดจากตัวละครคิดขึ้นมาได้เอง ซึ่งดูขาดความน่าเชื่อถือไปพอสมควร หนังขาดจุดเชื่อมโยงที่ดีในการอธิบายเหตุและผลของการกระทำ
...การเล่าเรื่องของหนังทำได้ไม่คงเส้นคงวา หากเหมือนรถก็เหมือนรถที่บางช่วงขับเคลื่อนเดินไปข้างหน้า แต่บางช่วงรถก็จอดอยู่กับที่เฉยๆชวนให้ง่วง บางช่วงขับช้า(ช่วงแรกๆ ช่วงหนังที่ฉายบนจอในเฉลิมกว้าง)บางช่วงขับเร็ว(ช่วงท้ายที่อยู่พระเอกคิดได้วิ่งไปช่วยเพื่อนที่สระ ช่วงคลี่คลายตอนท้ายในหลายๆเหตุการณ์) บางช่วงที่หนังเหมือนจับเอาฉากสวยๆหลายฉากมาต่อกันแต่ดูแล้วมันไม่ต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกับอารมณ์ของหนังด้วยที่ผมเองรู้สึกว่าหลายฉากที่ซาบซึ้งกินใจแต่มันไม่ปะติดปะต่อกันตลอดเรื่อง
...อย่างไรก็ดี เด็กหอ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า หากผู้สร้างใส่ใจในรายละเอียดทุกด้าน จุดอ่อนหลายจุดก็สามารถถูกลืมๆไปได้ ยิ่งถ้าคนดูสามารถอินไปกับอารมณ์ของหนัง สิ่งที่ดึงคนดูไปได้จนจบคืออารมณ์ของหนังนั่นเอง
ผู้กำกับ ทรงยศ สุขมากอนันต์ (ศิษย์เก่าโรงเรียนในหนัง ผมเองก็ได้แต่สงสัยจังว่าเป็นรุ่นพี่หรือรุ่นน้องของตัวเอง) หนึ่งในทีมผู้กำกับ 'แฟนฉัน' แยกมากำกับเดี่ยวเป็นเรื่องแรก ยังคงสืบทอดเอกลักษณ์นี้ต่อเนื่องมาได้ไม่แพ้ เพื่อนสนิท ที่เป็นงานกำกับเดี่ยวของทีมเดียวกัน นั่นคือ หนังแสดงให้เห็นได้ชัดเจนถึงการเอาใจใส่ในรายละเอียด ประณีตในตัวงาน เช่น การถ่ายภาพและบันทึกเสียงที่โดดเด่นมาก การคัดตัวนักแสดงเล่นกันได้ดี น้องแน็คจากแฟนฉันยังคงมือไม่ตก เช่นเดียวกับ จินตหรา สุขพัฒน์ ที่มารับบทคุณครูผู้มีความหลังลึกลับ ที่เด่นเป็นพิเศษคือเด็กหนุ่มที่มารับบท วิเชียร ซึ่งสีหน้าแววตาเล่นออกมาได้มีมิติกว่าน้องแน็คเสียด้วยซ้ำ รวมถึงบทพ่อของชาตรีที่ออกมาไม่มากก็เล่นได้ดี
ตัวหนังที่ออกมาในแนวดราม่า + การก้าวข้ามผ่านวัย เป็น อีกหนึ่งหนังไทยแนวนี้ที่หายไปนาน และ การมาของเด็กหอ ถือว่าให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจแถมมีความคิดสร้างสรรค์ด้วยการผนวกความเป็นหนังผีเข้าไปด้วย เพียงแต่ว่า จากหนังตัวอย่างที่เสนอตัวเองเป็นหนังผีเต็มตัว อาจทำให้คนดูที่คาดหวังประมาณอารมณ์สยองขวัญสั่นประสาทต้องผิดหวัง ฉากชวนตกใจจากผีหลอกออกเท่าที่เห็นในหนังตัวอย่างไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น
ส่วนดราม่าของหนังทำออกมาได้ดีมากในหลายฉากหากมองเป็นฉากๆไป โดยเฉพาะคนดูยิ่งถ้าเคยมีประสบการณ์ร่วมเหมือนในหนังแล้วจะพบว่าหนังถ่ายทอดอารมณ์ชวนให้ถวิลหาอดีตได้ดีเหลือเกิน แค่ฉากนั่งบนแท้งค์น้ำตอนท้ายกับเพื่อนๆมันก็ทำให้ผมเหมือนตัวเองเด็กลงไปเป็นช่วงเวลานั้นอย่างไม่รู้ตัว ส่วนบรรยากาศผีออกหลอกหลอนที่มีอยู่น้อยในหนังนั้นก็น่ากลัวมิใช่เล่น แต่หากผู้กำกับคิดจะไปกำกับหนังผีเต็มตัว คงจะดีหากหนังลดความจงใจใส่พิรุธ หรือ ลดการใส่ความน่าสงสัยเกินเหตุเข้าไปในหนัง แล้วให้หนังเล่าไปข้างหน้าอย่างเนิบช้าด้วยตัวมันเอง ตัวอย่างที่หนังจงใจเช่น สีหน้าสาวใช้ตอนเอาของขึ้นท้ายรถ สีหน้าของน้องแน็คที่ดูลึกลับตลอดเวลา สีหน้าวิเชียรที่ตกใจตอนมองไม่เห็นใคร (ไม่รู้จะตกใจเพื่ออะไรเพราะตัวเองก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นผี) ฯลฯ มันทำให้เดาได้ง่ายเกินไปและดูไม่เป็นธรรมชาติ
(มีต่อ)
แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 49 14:59:58
แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 49 12:53:47
จากคุณ :
"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
- [
28 ก.พ. 49 12:49:03
]