CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    บทวิจารณ์ : " 13 " แน่ใจหรือว่าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกม?

    สปอยนะครับ ( โทษทีที่รีบตั้งกระทู้ ไม่ได้ใส่ว่าสปอย ขออภัยด้วย )

    ---------------------------








    บอกกล่าว :

    - ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับผู้มีอายุต่ำกว่า 13 ปี เนื่องด้วยเนื้อหาที่รุนแรง มีฉากโหดๆ ดิบๆ และคำสบถมากมาย

    - ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่มองว่าโลกเป็นสิ่งสวยงามและผู้ที่เชื่อว่าคนดียังมีที่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะสวนทางกับความเชื่อของคุณอย่างสิ้นเชิง

    -----------------------

    " คุณเชื่อมั่นในความฝันและอุดมการณ์ที่ดีใช่ไหม? ถ้าผมให้เงินคุณ แล้วให้คุณทิ้งสิ่งนั้นที่คุณเชื่อไปล่ะ คุณจะเอาไหม? "

    ผมเชื่อแน่นอนว่าถ้าอยู่ดีๆ ใครก็ไม่รู้ หรือแม้แต่คนที่รู้จักก็เถอะ หากมาถามแบบนี้ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงจะตอบผู้ถามไปว่า

    " ไม่มีทาง ผมเป็นคนดี ผมไม่ทำเรื่องบ้าๆ แบบนั้นเด็ดขาด "

    แน่ล่ะครับ ใครๆ ก็คงจะต้องตอบแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าวันที่มีคนมาถามแบบนี้ เป็นวันที่คุณสิ้นหวังที่สุดล่ะ?

    " ย้ำอีกครั้งนะครับ ตอนนี้แฟนคุณมีผัวใหม่ หล่อกว่า รวยกว่า แถมคุณยังตกงาน ค้างค่าเช่าห้อง แม้แต่เพื่อนๆ ของคุณก็ตีจากคุณไปหมด แต่ถ้าคุณเชื่อเรา คุณจะก้าวข้ามวันที่สิ้นหวังนี้ ไปสู่ผู้ชนะและมีอำนาจตลอดกาล เพียงแค่คุณทำตามที่เราบอก จะเอาไหมครับ? "

    เอาล่ะสิครับ! ถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ คุณยังจะศรัทธาในอุดมการณ์ หรือความฝันที่สดใสอีกไหม

    และนั่นแหละครับ คือ Concept ที่มาของภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขานกันมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าฉายเสียอีก ภาพยนตร์ที่ถูกก่นด่าตั้งแต่กอง PR ใช้การประชาสัมพันธ์แบบแปลกๆ ที่เอาภาพข่าวอาชญากรรมมาทำ Teaser แล้วก็บอกว่ามันเป็นแค่ " เกม "

    ครับ นี่ล่ะครับ เรื่องของ " 13 เกมสยอง " หนังที่ทุกคนกล่าวถึง ณ วันนี้

    ผมไม่เคยได้อ่านการ์ตูนต้นฉบับ หรือแม้แต่หนังสั้น " 12 " ผมก็ไม่ได้ดู ดังนั้นหลังจากที่ผมดู " 13 " จบแล้ว บางเรื่องผมก็ยังงงๆ อยู่ แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่ผู้สร้างต้องการนำเสนอ ซึ่ง " กัด " โลกยุคใหม่ได้อย่างรุนแรงมากทีเดียว

    " ภูชิต! ลูกเอ๊ย ถ้าอยู่ในเมืองหลวงมันลำบากก็กลับมาเถอะ ถึงเราจะไม่รวย แต่เราก็อยู่อย่างมีความสุขได้ "

    " ไม่เป็นไรครับแม่ๆ อะไรๆ กำลังจะดีขึ้นแล้วนะครับ "

    สำหรับชีวิตของ " ภูชิต " หนุ่มหน้าจืดที่ท่าทางไม่มีพิษภัยกับใคร ชีวิตก็ซ้ำๆ ซากๆ เดิมๆ อยู่กับการเป็นเซลล์ขายเครื่องดนตรี แต่ใครจะรู้ ว่าชีวิตคนๆ นึง จะตกต่ำได้ถึงขีดสุด ขนาดที่จะต้องยอมขายวิญญาณให้ปีศาจกันทีเดียว ผมไม่ได้พูดผิดหรอก เมื่อวันนึง โทรศัพท์ลึกลับก็โทรมาหาเขา พร้อมกับเงื่อนไขที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล

    " 13 ข้อ 100 ล้าน "

    นี่ล่ะครับ เสียงกระซิบจากปีศาจที่เรียกว่า " เงิน " และ " ความโลภ " หลังจากที่ภูชิตถึงทางตันตามเกมแห่งทุนนิยมไปเสียแล้ว ตรงนี้ ผกก. ใช้สัญลักษณ์ผ่านบทสนทนา โดยคำว่า " เมืองหลวง - เมืองกรุง " แทนโลกแห่งเกม การต่อสู้ แข่งขันเพื่อความร่ำรวย ส่วนคำว่า " ชนบท - ต่างจังหวัด " แทนความยากจน แต่ในความยากจน สิ่งที่ยังมีคือความสุข สงบ และสามัคคีของชุมชน อันเป็นสิ่งที่คนชาวเมืองโดยเฉพาะเมืองหลวงไม่มี ( Comment : พ่อของผมทำงานการประปา สมัยก่อนออกไปเก็บค่าน้ำทำให้ผมทราบความจริงที่ว่า สังคมเมืองนั้นแม้บ้านติดกันยังไม่รู้จักหรือสนิทสนมกัน แต่สังคมชนบทนั้นหมู่บ้านเดียวกันรู้จักกันหมด )

    แน่ล่ะครับ คนที่เคยเป็นคนดี เชื่อมั่นในความดีอย่างภูชิต แต่เมื่อเจอสถานการณ์รุมเร้าแบบนี้ ก็สติแตกได้เหมือนกัน และแล้วก็ถูกท้าทายให้เล่นเกม แล้วเขาก้ตอบตกลง

    ต่อจากนี้ ชีวิตของเขาคือเกม และโจทย์ต่างๆ ในแต่ละข้อ ผู้สร้างได้ใส่สัญลักษณ์ให้เราตีความกันไปเรื่อยๆ ทุกข้อ ซึ่งผมจะมองในมุมของคนที่สนใจการเมือง ( ผมเรียนรัฐศาสตร์ ) ดังนั้นอาจจะไม่ตรงกับการตีความของหลายๆ คน ก็ขออย่าได้ว่ากันนะครับ

    โจทย์ข้อที่ 1 - 2 กำจัดสิ่งไร้ค่า ( ฆ่าแมลงวัน - กินแมลงวัน )

    2 ข้อแรกนี้ดูเหมือนง่าย และไม่มีสาระใช่ไหมครับ? แต่เปล่าเลย แค่ข้อแรกผู้สร้างก็ใส่สัญลักษณ์ไปแล้ว นั่นคือ " แมลงวัน " อันหมายถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ไร้ค่า อย่างที่รู้ๆ กัน ภูชิตเป็นผู้ชายที่ดี ไม่มีพิษภัย นิสัยอ่อนโยน แต่ในภาวะบีบคั้น ปีศาจได้ครอบงำเขาโดยเริ่มจากด้านมืดง่ายๆ ด้วยการทำให้เขาฆ่าสิ่งเล็กๆ นี้ แน่นอนว่าเราๆ ท่านๆ ในอ่านบทความของผมนี้อาจจะรู้สึกไม่แปลกอะไร เพราะพวกเราตบยุง บี้แมลงวัน ตีแมลงสาบกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่ Sensitive กับจริยธรรมอย่างมาก นี่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แล้วภูชิตก็เลือกที่จะทำ เพื่อก้าวไปสู่โจทย์ข้อต่อไป

    แต่เดี๋ยวก่อน ผมได้ข้ามประเด็นสำคัญไปอย่างหนึ่ง บทสนทนาระหว่าง " ตอง " รุ่นน้องของภูชิตที่เพิ่งจบมหา'ลัยคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ภูชิตรู้ว่าตองมีพรสวรรค์ด้านการร้องเพลงและดนตรี แต่ตองกลับเลือกที่จะทำงานตามที่เรียนทั้งที่ไม่ได้ชอบเท่าไร หากแต่ว่าถูกพ่อบังคับ นี่คือสัญลักษณ์นำเรื่องอีกจุดหนึ่ง เพราะเชื่อกันเถอะครับ เราๆ ท่านๆ ที่ทำงาน - เรียนกันอยู่ทุกวันนี้ แน่ใจหรือว่าได้เรียน ได้ทำงานตามที่เราชอบเราใฝ่ฝัน หรือว่าเรียน ทำงานเพราะรายได้ หรือเพราะทางบ้านบงการกันแน่?

    และผมยังสะใจอีกอย่าง ฉากที่ภูชิตชกหน้าคุณเปรม พนักงานอีกคนที่บังอาจมาตัดหน้าเขาในการขายของ ทำให้ภูชิตต้องตกงาน ถามว่าทำไมผมถึงสะใจ เพราะว่าไอ่การค้าขายแบบไร้จริยธรรม ไร้คุณธรรมแบบนี้ผมรังเกียจที่สุด ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริง เราพบว่าคนแบบนี้มันเยอะเหลือเกิน

    " เอาล่ะครับ คุณได้สั่งเสียกับคนในนี้เรียบร้อยแล้ว สำหรับโจทย์ต่อไป เราจะไปเล่นข้างนอกกัน "

    โจทย์ข้อที่ 3 - 4 บอกลาความสงสาร ( ทำร้ายเด็ก - ข่มเหงคนพิการ )

    โจทย์ทวีความรุนแรงขึ้นมาทีละนิด สัญลักษณ์ประจำโจทย์ทั้งสองข้อนี้คือ " ความสงสาร " ใช่ครับ ปีศาจผู้กระหายเลือดจะต้องไร้ซึ่งความสงสาร และเด็กกับคนพิการคือสัญลักษณ์แห่งนั้น หากภูชิตกระหายตามที่ปีศาจกำหนดจริง ก็ต้องทำให้เด็กร้องไห้ และแย่งเงินคนพิการมาให้จงได้ ในตอนแรกจิตใจที่ดีงามไม่ยอมให้เขาทำ แต่ด้วยจิตวิทยาของผู้สร้างเกม ในที่สุดเขาก็ทำจนได้ ปีศาจได้กัดกินใจของเขาไปอีกเสี้ยวหนึ่งแล้ว

    โจทย์ข้อที่ 5 รับประทานความสกปรก ( กินขี้หมาสดๆ )

    โจทย์ข้อนี้เป็นที่โจษจันกันมากกับความสะอิดสะเอียน เมื่อภูชิตถูกสั่งให้กินขี้หมาสดๆ ในภัดตาคารหรูๆ ท่ามกลางสายตาของพวกคนรวยจำนวนมาก สัญลักษณ์ของโจทย์ข้อนี้ " ขี้หมา " หมายถึงของต่ำ หรือแปลนัยๆ ได้ว่า " การละทิ้งเกียรติ - ศักดิ์ศรี " ตรงนี้หากใครจำได้ หนังจีนเรื่อง " เจาะเวลาหาจิ๋นซี " จะมีฉากหนึ่งที่มีบทพูดว่า " กฏข้อสองของมือสังหาร ต้องไร้ซึ่งศักดิ์ศรี " แล้วก็บังคับให้ลูกศิษย์ของคนที่พูดลงไปแช่ในบ่อที่มีแต่ปัสสาวะเหม็นๆ บ่อลึกและมีปัสสาวะท่วมสูงถึงหน้าอกคนลงไปแช่ และเมื่อรวมกับคำที่ผู้สร้างเกมพยายามยั่วยุที่ว่า " ถ้าคุณผ่านมันไปได้ ต่อไปคุณจะบังคับให้คนอื่นกินของสกปรกกว่านี้ก็ยังได้ " บวกกับสายตาที่เหยียดหยามของคนในร้านนั่นแหละครับ เมื่อคุณทิ้งเกียรติและศักดิ์ศรีไปแล้ว คุณจะทำได้ทุกวิถีทางเพื่อให้ตนอยู่เหนือทุกคน แม้จะไร้ซึ่งจริยธรรม - คุณธรรมเท่าไรก็ตาม น่าเศร้าที่โลกแห่งทุนนิยม การกระทำแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีใครบอกว่าผิดอะไร

    โจทย์ข้อที่ 6 ชกแบบหมาจนตรอก ( สู้กับเด็กช่างกลเพื่อแย่งโทรศัพท์อันเป็นคำใบ้ต่อไป )

    อย่างที่รู้ๆ กัน เราไม่คิดว่าคนหน้าจืดอย่างภูชิตจะบ้าดีเดือดเป็นกับเขาด้วยใช่ไหมครับ แต่คนโบราณมีคำกล่าวว่า " อย่าทำให้หมาจนตรอก ไม่งั้นคุณอาจจะเจอกับเรื่องที่คาดไม่ถึง " แน่ละครับ ในเมื่อบททดสอบเรื่องเกียรติและศักดิ์ศรี คนที่ยึดมั่นอย่างภูชิตยังผ่านมาได้ แล้วทำไมกับไอ่สวะที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแบบนี้เขาจะจัดการไม่ได้ หลังจากที่โดนข่มเหงในวัยเด็ก และต้องมายอมเจ้าพวกนี้อีก พอโดนมากๆ ความเก็บกดก็ถูกปลดปล่อย เด็กช่างกลุ่มนั้นเกือบตายเพราะลูกบ้าของ " ชายที่ไม่ได้เรื่อง " แค่คนเดียว ไม่ใช่เพราะภูชิตเป็นนักบู๊หรอกนะครับ แต่สำหรับคนที่คาบเกี่ยว มีชีวิตเป็นเดิมพัน ถอยคือตายสถานเดียว คนแบบนี้ทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ทำให้เขาทำได้ทุกอย่าง แม้แต่ความคิดที่จะฆ่าคนอันเป็นเรื่องอำมหิตในสายตาคนธรรมดาทั่วไป ( สังเกตได้จากคนแถวนั้นที่มาห้ามไม่ให้ภูชิตฆ่าเด็กช่างที่ถูกเขาฟาดจนสลบ )

    ( มีต่อ )

    แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 49 13:29:03

    จากคุณ : TonyMao_NK51 - [ 8 ต.ค. 49 12:44:37 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com