CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ดูแล้วมาคุยกัน ... 12 เกมสยาม +13 เกมสยอง , มันไม่ใช่แค่เกม / {พรุ่งนี้จะไปแจกลายเซ็นต์ในงานมหกรรมหนังสือเน้อ }

      ชอบมาก ห้ามพลาด (13 คน)
      ชอบ (10 คน)
      เฉยๆ (3 คน)
      ไม่ชอบ (1 คน)
      ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (1 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 28 คน

     46.43%
     35.71%
     10.71%
     3.57%
     3.57%


    manพรุ่งนี้ “หนังสือรัก” ผลผลิตร่วมของเฉลิมไทย(หนัง) สวนลุม(ความรัก) และห้องสมุด(หนังสือ) ของ จขกท. และ ตัว “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” จะไป อยู่ข้างหน้าคุณ พบเพื่อนๆที่งานมหกรรมหนังสือ ที่บูธ W19 ทางสนพ.เขาจัดให้ไปแจกลายเซ็นช่วง 13.30 – 16.00 น. ใครว่างแวะเวียนมาทักทาย มาคุยกันได้เน้อ ถึงจะพูดไม่ค่อยเก่ง แต่พรุ่งนี้ก็ขอเซ็นหมดใจฮ่าฮ่าฮ่า (แล้วหัวค่ำก็แดงเดือดต่อ)




    ... อ่านเรื่องนี้พร้อมรูปประกอบ , อ่านความเห็นเพื่อนคนอื่นๆ และ เชิญชวนมาแสดงความเห็นเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=10-2006&date=14&group=1&blog=1


    exclaim กฎของการการอ่านบทความนี้ : 13 ข้อต่อไปนี้ คุณสามารถเลือกอ่านและเลือกหยุดอ่านได้ด้วยตัวเอง โดย ข้อ 12 มีการเฉลยจุดสำคัญในหนังเรื่อง 12 และ ข้อ 13 มีการเฉลยจุดสำคัญในหนังเรื่อง 13

    1.

    ...บทความครั้งนี้ต้องขอบคุณ คุณรบชนะ จากเว็บพันทิป ที่แอบเห็นผมพร่ำเพ้อรำพันถึงการอดดู 12 ในโรงผ่านทางหน้าแรกของblog จึงส่งมิตรภาพแนบมาเป็นแผ่น 12 พร้อมการ์ตูนจิตหลุดและหนังสือ มีชีวิตที่คิดไม่ถึง ของคุณดังตฤณ มาให้ เพื่อต้องการให้รีวิวถึง 13 ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

    2.

    วันก่อนรุ่นน้องในบล้อกผู้น่ารักถามว่า 13 เป็นหนังแนวไหน ผมตอบไปว่า 13 เป็นหนังแนวสยองและเขย่าขวัญ พร้อมเสียดสีสังคม ภายใต้การเล่าเรื่องเหมือนเล่นเกมส์ที่ตัวละครต้องผ่านด่านทีละด่าน ก่อนที่จะไปจบสุดท้ายในข้อ 13 ซึ่งสะท้อนความเสื่อมทรามและเสื่อมโทรมของสังคมปัจจุบัน ยุคที่เขาว่ากันว่า เรากำลังอยู่ในยุคดิจิตอล ยุคที่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปไกลในระดับนาโนเทคโนโลยี แต่ เราจะได้เห็นว่าจิตใจมนุษย์กลุ่มหนึ่งก็ยังคงตกต่ำและดำมืดอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง

    ในกลุ่มหนังไทยแนวนี้ 13 จัดอยู่ในกลุ่มแนวหน้า หนังมีจุดอ่อนอยู่บ้างในตอนท้ายกับการเล่าเรื่องบางช่วงที่ดูยืดๆเล็กน้อย แต่ 13 ก็เป็นความลงตัวและยอดเยี่ยมในหนังแนวสยองปนเขย่าขวัญที่จะเอาไปฉายโชว์ต่างประเทศได้อย่างไม่อายใคร และไม่ทำให้คนดูต้องรู้สึกเบื่อหรือหงุดหงิดรำคาญใจว่าทำไมตัวละครถึงทำอะไรโง่ๆ เช่น เดินไปหามีดที่ตั้งบนโต๊ะแล้วล้มตัวไปให้มีดเสียบเพียงเพื่อให้มีฉากโหดๆในหนัง

    3.

    โลกของภูชิต โลกของเราทุกคน

    ภูชิต (น้อย วงพรู) เซลล์แมนขายเครื่องดนตรี เขาอยู่ในสปีชี่ส์มนุษย์เงินเดือนที่ตกเป็นทาสของระบอบเงินผ่อนและบัตรเครดิต เขาเป็นเหมือนพนักงานออฟฟิซทั่วไปที่กินเงินเดือน หมื่นห้า แต่ดันเลือกผ่อนมาสด้า 3 นอนคอนโดชั้นดี พร้อมมี โนเกียรุ่นใหม่ล่าสุดควบบลูทูช นั่นทำให้ เขาต้องคอยจัดการหนี้บัตรเครดิตที่วิ่งไล่ขวิดทุกสิ้นเดือน และมันคือ ชะตากรรมที่เขาเองเป็นคนเลือก

    การใช้ชีวิตอย่างขาดสติบนพื้นฐานของสังคมทุนนิยมของภูชิต เป็นตัวอย่างของคนหลายๆคนที่เราอาจเดินชนบนฟุตบาธในกรุงเทพและในหลายๆเมืองใหญ่ พวกเขาเหล่านี้ล้วนต้องเล่น เกมชีวิต ที่ยากลำบากอยู่แล้วในแต่ละเดือนที่ต้องเอาชีวิตให้รอด

    แต่แล้ววันหนึ่ง วันที่เขาสูญเสียงาน วันที่เขาถูกยึดรถ วันที่เขาค้างค่ามือถือ วันที่แม่โทรศัพท์มาขอค่าเทอมของน้อง คือ วันเดียวกับที่ 13 ก้าวเข้ามายื่นข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธได้

    เกม 13 ข้อที่มีรางวัลเป็นเงิน 100 ล้านบาท หากผ่านการทำตามโจทย์ได้ครบทั้ง 13 ข้อ

    เป็นใครเห็นโจทย์ที่เย้ายวนเช่นนี้ก็ยากที่จะปฏิเสธได้ลง แต่ เมื่อโจทย์นั้นทวีความรุนแรงและท้าทายต่อความรับผิดชอบชั่วดีของเรา เราเลือกจะขายวิญญาณและความดีในจิตใจให้กับเงินรางวัลตรงหน้าได้มากแค่ไหน แค่ฆ่าแมลงวัน แค่แกล้งเด็กร้องไห้ หรือ ไปไกลถึงการฆ่าคน


    4.

    ทุกเกมในชีวิต ภูชิตเป็นคนเลือก

    13 ไม่ได้ทำให้ชีวิตของภูชิตย่อยยับ 13 เป็นเหมือนกับปีศาจหรือซาตานที่เพียงมายื่นข้อเสนอ แต่ คนที่ตัดสินใจว่าจะ ทำ หรือ ไม่ทำ คือตัวมนุษย์ผู้นั้นเอง

    ดังนั้นแม้หนังเรื่อง 13 จะเหมือนกับ Saw หรือ Cube ตรงที่ตัวละครในหนังต้องเล่นเกมเอาชีวิตเป็นเดิมพันจาก ใครบางคน แต่ ตัวละครจากหนัง Saw หรือ Cube ไม่มีสิทธิเลือกว่าจะเล่นหรือไม่เล่น พวกเขาจำเป็นต้องเล่นเพื่อเอาชีวิตรอด ตรงข้ามกับ ภูชิต ที่มีสิทธิเลือกหรือหยุดเกมเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ

    13 จึงเป็นเหมือน บททดสอบท้าทายระหว่าง กิเลสความต้องการ (Id) กับ ศีลธรรม(Superego) ในใจคน

    ตัวละคร สมบัติ ดีพร้อม ที่รับบทโดยหม่ำในหนังเรื่อง เฉิ่ม กล่าวประโยคหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจจิตใจมนุษย์ได้ดีขึ้นนั่นก็คือ "ความดีนั้นยังคงทน ตราบที่ใจคนไม่อ่อนแอ”

    เกราะกำบังที่คอยป้องกันไม่ให้คนถูกกิเลสตัณหาเข้าครอบงำ มักจะอ่อนแอในวันที่คนๆนั้นรู้สึกว่า ชีวิตกำลังตกที่นั่งลำบาก และ รู้สึกหมดทางสู้ รู้สึกว่าไม่มีทางออกให้กับชีวิต

    มนุษย์เราเมื่อถึงจุดอับ เมื่อจนตรอก เรามักคิดว่า ชีวิตไม่มีทางเลือก ความคิดเช่นนี้มักพาไปสู่การฆ่าตัวตาย ทำร้ายคนอื่น ฉกชิงวิ่งราว เพราะคิดว่า ไม่มีทางเลือกอื่นๆที่ดีไปกว่านี้

    แต่ไม่จริงหรอกที่ มนุษย์ไม่มีทางเลือก เราทุกคนมีทางเลือกในชีวิตเสมอ เพียงแต่ ทางเลือกนั้นอาจไม่ถูกใจเราเท่านั้นเอง

    ภูชิต สามารถเลือกได้ที่จะไม่เล่นเกม เขาเลือกได้ที่จะหยุดเกมไว้แต่ต้น เพียงแต่ ทางเลือกนั้นเขาต้องแลกกับความลำบากมากขึ้น ต้องเหนื่อยมากขึ้น กับการทำงานหาเงิน ต้องยอมทนใช้ชีวิตขึ้นรถเมล์และผ่อนหนี้บัตรเครดิต ต้องยอมบากหน้าไปบอกแม่ว่าไม่มีเงินส่งกลับบ้าน

    เขาเลือกได้ แต่หลายคนมองว่า เส้นทางนี้ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเราอยากได้แต่ทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการในใจ(need) และ นั่นจึงทำให้ ซาตานมาหามนุษย์ได้ง่ายขึ้น เหมือนที่ 13 บอกไว้ก่อนหน้านี้ใน 12 แล้วว่า ไม่ต้องตามหาเขา แต่เมื่อถึงเวลา 13 จะมาหาเอง


    5.

    สังเกตได้ว่า คนที่มีพื้นฐานศีลธรรมหรือมีจิตใจมั่นคง มักไม่อ่อนไหวไปง่ายๆกับการถูกยั่วยวนด้วยกิเลสที่วิ่งเข้ามา แม้ว่าจะมีความต้องการมากเพียงใด ดังนั้นมนุษย์ส่วนใหญ่มักจะไม่พ่ายแพ้ง่ายๆทีเดียว แต่มนุษย์มักจะสูญเสียเกราะกำบังแห่งความดีนี้ ด้วย วิธีการของซาตานที่เรียกว่า “หยวนๆ”

    การหยวนๆ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางพฤติกรรมของมนุษย์ ในลักษณะ desensitization หมายความถึงการที่เรายอมต่ออะไรเล็กๆน้อยๆที่เป็นเรื่องผิด การยอมในเรื่องเล็กๆทำให้เรารู้สึกผิดน้อยๆ แต่เมื่อผ่านไปบ่อยขึ้น ความรู้สึกผิดเล็กๆนี้ก็จะชาชิน และ สุดท้ายก็จะกลายเป็นชินชาจนไม่รู้สึกอะไร และ มันก็จะเริ่มรุกคืบไปเป็นอะไรที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามมาด้วย ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่ก็จะค่อยๆละลายหายไปเรื่อยๆเช่นกัน

    ไม่ต้องดูอื่นไกล แต่ โจทย์13 ข้อในเกมส์ที่ถูกกำหนดมานั้น จะเห็นว่า บททดสอบแรกๆเริ่มต้นด้วยอะไรที่ง่ายๆ แต่ ในความง่ายนั้นมันก็มีการละลายความรู้สึกผิดไปทีละน้อยอย่างไม่รู้ตัว ตั้งแต่เกมส์แรกกับภารกิจ ฆ่าแมลงวัน สิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ มันเป็นแค่สัตว์ตัวเล็กๆที่ไม่มีความหมาย การตายของมันจึงทำให้ภูชิตไม่ต้องรู้สึกผิดมากมาย แต่อย่าลืมว่า ในเวลาปกติ หากแมลงวันไม่ได้มาตอมหรือสร้างความรำคาญ เราคงไม่รุกรานไปตีมันเล่นๆ

    การตามติดมาด้วย การกินแมลงวัน นั่นก็คือการละลายความรู้สึกเคารพเกรงใจตัวเอง และ ก็ตามมาด้วยโจทย์ข้อที่ง่ายแต่ชัดเจนว่า เกราะกำบังจิตใจของภูชิต เริ่มอ่อนแอไปทุกที เมื่อเขาต้องเข้าไปทำให้เด็กร้องไห้ เขากำลังจะกลายเป็นผู้กระทำเต็มตัว และเด็กเหล่านั้น ก็กำลังจะเป็นเหยื่อสังคมเหมือนเขา ที่ถูกกระทำมาทั้งชีวิตดั่งที่หนังแฟลชแบคให้เห็น ถัดจากนี้ ก็คงไม่ต้องสงสัยว่า ภูชิตจะไปได้ไกลแค่ไหน

    ปมในอดีตเป็นอีกหนึ่งจุดอ่อนของภูชิต และ เป็นจุดอ่อนของมนุษย์ทุกคน เช่น ปมรู้สึกด้อย(inferiority complex) ของ ภูชิต เมื่อถูกกระตุ้นก็ทำให้เขากล้าที่จะกินอาหารในโจทย์เพื่อเอาชนะและได้เงินรางวัล และ ปมในจิตใต้สำนึกนี้เอง หากเราไม่เคยตระหนักรู้ตัว เราก็มักจะถูกกระตุ้นให้ต้องทำในสิ่งผิดๆได้ง่ายๆอยู่ร่ำไป


    6.

    และนั่นคือ จุดที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ 13 ไม่ใช่หนังตะบี้ตะบันวิ่งไล่แทงกันให้เลือดล้นจอ หรือเป็นแค่เกมส์ผ่านด่านไปทีละด่านเหมือน cube แต่ 13 แอบซ่อนการสะท้อนปัญหาสังคมผ่านโจทย์แต่ละข้อ ผ่านเรื่องราวและตัวละคร เราจะเห็นได้เลยว่า ตัวละครในเรื่องที่มีบทบาทในหนัง ล้วนมีลักษณะร่วมเหมือนกัน นั่นคือ ถ้าไม่ใช่

    -คนที่ถูกลืม คนที่ถูกทอดทิ้ง เช่น กี้ ปู่ชิว ภูชิต (กี้ เล่นเกมส์จนหายไปนานลือกันว่าตาย แต่เพื่อนกลุ่มเดียวกันแท้ๆกลับไม่มีใครใส่ใจ ,

    ปู่ชิวตายไปแล้วเป็นสิบวัน แต่ญาติอยู่ใกล้กันแค่เอื้อมกลับไม่มีใครเอะใจหรือสงสัยสะท้อนถึงว่า ช่วงที่มีชีวิตอยู่ของแกก็ไม่มีใครคงไม่มีใครแคร์ ,

    ภูชิตถูกเมินจากคนรักเก่า ถูกมองอย่างเหยียดหยามในร้านอาหารตอนโจทย์ข้อ 5 และเจ้านายก็ไม่สนใจว่าเขาจะตั้งใจทำงานแค่ไหนเพราะเขาไม่มีความหมายเมื่อไม่ทำยอดได้ดั่งเป้า)

    ก็จะเป็น

    - คนที่เป็นปัญหาสังคม (นักเรียนช่างกลกลุ่มชอบมีเรื่อง / แก๊งมอเตอร์ไซค์ซิ่งกวนเมือง / ผู้ชายที่ชอบซ้อมผู้หญิง)

    หนังสะท้อนสภาพสังคมปัจจุบันที่เราต่างมีชีวิตตัวเองแบบต่างคนต่างอยู่ และ ต่างรับรู้แค่เรื่องของตัวเองจนไม่สนใจใคร รวมทั้งถ่ายทอดมุมมืดในสังคมให้เราได้รับรู้ ลามไปถึงถึงมุมมืดในใจคน แถมยังอุตส่าห์มีการแอบเสียดสีบุคคลสำคัญในฉากตีแมลงวันอีกต่างหาก

    7.

    13 ดัดแปลงมาจากตอนหนึ่งในการ์ตูนชื่อ จิตหลุด ของสนพ.วิบูลย์กิจ เขียนโดยฝีมือนักเขียนไทยนามว่า เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ซึ่งมาร่วมเขียนบทใน13 ด้วย ภูชิตในการ์ตูนต่างออกไป เขาไม่ได้มีพ่อเป็นฝรั่งในวัยเด็ก ,ไม่มีเรื่องของกี้ , ไม่มีตัวละครฝ่ายดีอย่างอิม อชิตะ และ ฉากสุดท้ายหรือเกมส์ข้อ 13 จัดขึ้นในห้องส่ง โดยมีผู้ชมนั่งลุ้นกันสดๆ กับบทสรุปของการกระทำที่เหมือนกัน แต่ต่างกันตรง ตัวละครสุดท้ายคือยายแก่ๆคนหนึ่ง ในการ์ตูนเล่มนี้ยังมีอีกหลายๆตอนที่คนเขียนขายไอเดียในแนวคล้ายคลึงกับ 13 ได้อย่างน่าสนใจ และ ผู้เขียนเองก็ทิ้งท้ายไว้ในเล่มว่า หากมีใครสนใจสร้างเป็นหนังเขาก็พร้อมจะขยายเนื้อเรื่องต่อ นั่นจึงนำมาสู่ 12 และ 13


    8.


    12 และ 13 เป็นผลงานของผู้กำกับ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับที่แจ้งเกิดมากับการทำหนังสั้น เขาแสดงให้เห็นการพัฒนาของชิ้นงานมากขึ้นไปกว่าเรื่องก่อน คนผีปีศาจ อาจจะชวนให้กดดันได้มากกว่ากับการเล่นในเนื้อที่จำกัด แต่ คนผีปีศาจ สำหรับผมแล้วมันให้ความรู้สึก ยืดยาวเกินไป หนังยังไม่ค่อยกระชับอีกทั้งการหยิบจับประเด็นทางสังคมในตอนนั้นมาเล่นก็ยังดูตรงไปตรงมาเกินไปนิด ในขณะที่ 13 ลงตัวมากกว่า ความเป็นหนังยาวของ 13 ทำออกมาได้ดีกว่า คนผีปีศาจ และ 13 ก็ทำให้คนดูรู้สึกสนุกอย่างต่อเนื่องไปจนจบมากกว่า



    9.

    น้อย วงพรู เล่นเป็น ภูชิต พระเอกของเรื่องได้กลมกลืนเสมือนเป็นตัวละครตัวนั้นจริงๆ ต้องชมคนที่เลือกเขามารับบทนี้ด้วย แค่เห็นและแค่พูด ความเก็บกดอดทนก่อนที่จะระเบิดออกมา น้อย ทำให้คนดูเชื่อกับการแสดงที่ดูจริงใจเสมือนถ่ายทอดอารมณ์ออกมาจากตัวตนของเขาจริงๆ ฉากระล่ำละลักละล้าละลังเช่นในเกมส์ที่ 8 กับเก้าอี้ตัวนั้นหลังกระหน่ำฟาดลงไป อารมณ์ของเขาเองทั้งโกรธทั้งผิดหวังทั้งน้อยใจ แต่ก็ยังรักและเป็นห่วงในตัวแฟนเก่า เป็น ฉากที่เขาเล่นได้ดีมากๆฉากหนึ่ง นอกจากนี้ อิม – อชิตะ ก็ได้โอกาสโชว์ฝีมือให้เห็นว่าเธอเป็นได้มากกว่าผีหรือตัวละครบ้าๆบอๆ


    (มีต่อ)

    แก้ไขเมื่อ 21 ต.ค. 49 10:24:12

    จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" - [ 21 ต.ค. 49 10:19:15 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com