CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    << ดูแล้วมาคุยกัน ... Deja vu , เอ๊ะ เราเคยเจอมาก่อนหรือเปล่า >>

      ชอบมาก ห้ามพลาด (14 คน)
      ไม่ชอบ (0 คน)
      เฉยๆ (2 คน)
      ไม่ชอบ (0 คน)
      ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (0 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 16 คน

     87.50%
     0.00%
     12.50%
     0.00%
     0.00%


    เลือกอ่านเรื่องนี้พร้อมรูป อ่านความเห็นอื่นๆ และ เชิญชวนมาเป็นหนึ่งในความเห็นเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&group=1&month=12-2006&date=10&blog=1

    ...ถ้าปีหน้าผู้สร้างหนังยังคิดพล็อตใหม่ๆไม่ได้ สิ่งที่คนเขียนบทหรือผกก.ควรทำมากที่สุด คือ หยิบ Deja vu มานั่งดูแล้วศึกษาว่า การนำพล็อตเก่าๆตัดต่อมายำใหม่ให้สร้างสรรค์โดยไม่ใช่ การลอกเลียนหรือใช้ของเก่าแบบสิ้นคิด ต้องทำอย่างไร

    เพราะทุกอย่างในหนังเรื่องนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่คนดูเคยเห็นมาก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเจาะเวลาหาอดีตเพื่อช่วยคนสำคัญ อย่างใน Frequency หรือ การย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ในอดีตแล้วส่งผลกระทบต่อปัจจุบันโดยอ้างอิงทฤษฎี The Butterfly effect จากหนังชื่อเดียวกันกับทฤษฎี หรืออย่างใน A sound of thunder

    เรียกได้ว่าถึงรู้สึกว่าคุ้น ประมาณว่า เอ๊ะ เราเคยเจอประเด็นนี้มาก่อนแล้วหรือเปล่าหว่า แต่เมื่อหนังยังสามารถขยักปมบางอย่างไว้ให้คนดูได้ลุ้นแบบมีชั้นเชิง บทหนังรู้จักผูกเรื่องราวชวนให้น่าสนใจทิ้งคำใบ้ให้ต้องติดตาม ผู้กำกับรู้จักที่จะเร่งเร้ากดดันจังหวะให้ตื่นเต้น

    แม้จะเป็นของเก่า ก็ยังเล่าได้สนุกเหมือนใหม่อยู่ดี กว่าจะรู้ตัวว่า เคยดูมาแล้ว กว่าจะคิดได้ว่า หนังมีช่องโหว่อย่างไร ก็ต่อเมื่อหนังจบแล้ว

    ถ้าทำได้เช่นนั้น คนดูจะไม่รู้สึกหรอกว่า เฮ้ย นี่มันเลียนแบบเรื่องนั่นนี่หว่า หรือ เอ นี่เราเคยดูนี่หว่า แต่อาจจะรู้สึกแค่ว่า เอ๊ะ นี่มัน D&eacute;j&agrave; vu หรือเปล่านะ

    Deja vu มีความหมายถึง ปรากฏการณ์ที่ประสบเหตุการณ์ตรงหน้าแล้วรู้สึกราวกับว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แถมยังกลายมาเป็นมุกตกยุคสมัยที่ถูกใช้บ่อยๆเวลาจีบสาว กับ ประโยคที่ว่า เอ๊ะ เราเคยเจอกันมาก่อนหรือเปล่านะ และ หนังตัวอย่างของ Deja vu ก็หยิบมุกนี้มาใช้ได้อย่างเก๋ไก๋ทีเดียว

    ในตอนแรกผมเข้าใจว่า ชื่อหนัง Deja vu จะหมายถึง อำนาจพิเศษของพระเอกที่สามารถใช้พลังจิตช่วยคลี่คลายคดี คล้ายๆกับ พระเอกในการ์ตูนเรื่อง ไซโคเมเทอร์ เอจิย์ กลับกลายเป็นว่า หนังไม่ได้ใช้ Deja vu เพื่อมาอธิบายเหตุการณ์ แต่หนังใช้เหตุการณ์ในเรื่องเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่สำหรับอธิบายที่มาของ Deja vu ว่า มันอาจไม่ใช่ปรากฎการณ์ของจิตใจอย่างที่เคยเข้าใจกันมา

    ...สังเกตว่าหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็ดูเหมือนฮอลลีวูด จะเกรงๆและเกร็งๆในการนำเสนอภาพวินาศกรรมหมู่ ก่อนที่เราจะได้เห็น ฉากนี้แบบ จะๆสมจริงๆอีกครั้งใน ฉากเปิดเรื่อง ของ Deja vu ที่เรือล่องแม่น้ำเกิดระเบิดพังพินาศพร้อมกับพรากชีวิตผู้คนทั้งทหารเรือและเด็กๆ กว่า ห้าร้อยชีวิต กลางแม่น้ำ โดยฝีมือของ ผู้ก่อการร้ายที่ทางตำรวจยังหาร่องรอยไม่ได้

    เจ้าหน้าที่ ดั๊ก คาร์ลิน (เดนเซล วอชิงตัน) พระเอกของเรื่องผู้มีความสังเกตสังกา ในฐานะเจ้าถิ่นหรือคนในท้องที่ ค่อยๆแกะรอยหลักฐานตามสัญชาตญาณ นำให้เขาไปพบศพหญิงสาวปริศนา ที่ลอยมากับสายน้ำแต่ดูเหมือนว่า จะเป็น ศพที่เกิดจากการอำพรางคดี ที่ผู้ร้ายทำเนียนให้เหมือนว่า ตายพร้อมเรือระเบิด ความฉลาดเฉลียวของเขาทำให้เขาถูกดึงตัวเข้ามาร่วมกับทีมสอบสวน และ พาเขาไปพบกับเครื่องมือใหม่สุดแสนไฮเทคล่าสุดที่ชื่อว่า สโนไวท์

    สโนไวท์ คือ ชื่อเครื่องมือ ที่ย่นช่วงเวลาสองช่วงให้มาบรรจบกัน นั่นคือ ทำให้เวลาในอดีตมาปรากฎตรงหน้าเวลาปัจจุบัน เราจึงสามารถเห็นชีวิตของใครก็ได้ ที่ไหนก็ได้ภายใต้รัศมีที่กำหนดไว้ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลา สี่วันที่แล้ว แต่ เราทำได้แค่มองโดยไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้ เพราะมันเป็นเหตุการณ์ในอดีต

    การมีข้อจำกัดที่ว่า เห็นย้อนหลังได้แค่ สี่วัน และ การดูแต่ละครั้งเห็นได้แค่ครั้งเดียว (จะกดปุ่มค้างจะกรอย้อนกลับไม่ได้) เป็นจุดสำคัญที่หนังเล่นได้สนุกได้มาก เพราะตัวละครและคนดูจะไม่สามารถย้อนเวลาได้ดั่งใจ แต่ต้องอดทนรอให้ผ่านไปสี่วันก่อน จึงจะรู้ความจริง และ นั่นทำให้ตัวละครในหนังต้องตัดสินใจทำอะไรให้คุ้มที่สุดเป็นการพิสูจน์ความฉลาดของบทหนังไปพร้อมๆกัน

    ผลของการมี สโนไวท์ ทำให้ทีมสืบสวนนี้ต้องโฟกัสหาตำแหน่งสำคัญที่คิดว่า คนร้ายเดินผ่านและลอบมาวางระเบิด แต่นั่นหมายความว่า ทุกคนต้องรอให้เวลาผ่านไปก่อน สี่วัน จึงจะเห็นหน้าคนร้าย


    ดั๊ก ทนไม่ได้ที่จะนั่งดูเฉยๆปล่อยเวลาผ่านไป เพราะเขาเกิดปิ๊งกับเหยื่อฆาตกรรมที่เป็นสาวงามหลังจากเฝ้ามองชีวิตเธอผ่านจอมอนิเตอร์ย้อนอดีต แถมตัวเขาเองยังรู้สึกคุ้นเคยกับบางรายละเอียดหลักฐานที่ดูเหมือนว่า ตัวเขาจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเธออย่างแปลกประหลาด เขาจึงขออาสาพาตัวเองข้ามผ่านทะลุเวลาไปยังอดีต โดยอาศัยเครื่องมือชิ้นนี้ ทั้งที่ยังไม่เคยมีการทดลองกับสสารใดๆมาก่อน เพื่อช่วยชีวิตนางเอกของเรื่อง

    ...และนับจากนี้ คือ ความยากและทะเยอทะยานของหนังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะใช้ทฤษฎีทั้งเรื่องรูหนอน มิติคู่ขนาน และ ย้อนเวลา มาทำให้คนดูต้องขบคิดและใช้สมองอย่างหนัก จนเราไม่ทันสังเกตว่าหนังมีช่องโหว่ตรงไหนเพราะมัวแต่นั่งไล่เรียบเรียงเรื่องราวตรงหน้าที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับผม ที่ตอนดูมัวแต่นั่งงงว่า พระเอกจะใส่แว่นไล่ผู้ร้ายไปทำไม ในเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อสี่วันโน้น ก่อนที่จะค่อยๆเข้าใจว่า เขาขับรถเพื่อไล่ไปหาแหล่งกบดาน เป็นต้น


    ...ใจจริงตอนแรกก็หวั่นๆเมื่อเห็นชื่อผู้กำกับเป็น โทนี่ สก็อต ทั้งที่แต่เดิมนั้น ชื่อนี้กับหนังแอคชั่นคุณภาพอย่าง Enemy of the State และ Crimson Tide รวมไปถึง Top gun เป็นเครื่องหมายการันตีว่าจะได้ดูหนังแอคชั่นชั้นดีมีสไตล์และมีคุณภาพ

    ก่อนที่งานชิ้นหลังๆของเขาทำให้ผมเมาไปกับลีลาการถ่ายทำหวือหวาจัดจ้านเกินหน้าเกินตาเนื้อหา อย่างใน Man on Fire หรือจะเป็น หนังสั้นตอนที่เขากำกับใน The hire ที่เวียนหัวเป็นที่สุด กับ การตัดต่อหนังแบบฉับๆๆหรือสีสันแสบตาพร้อมเหวี่ยงกล้องเป็นว่าเล่น จนเมื่อผมเห็นตัวอย่างหนังเรื่องแล้วของเขาอย่าง Domino ก็ตัดสินใจบอกผ่านโดยไม่ต้องคิดนาน เพราะไม่อยากไปเมาหนังในโรง

    น่ายินดีเมื่อเห็น โทนี่ สก็อต กลับมาใส่ใจในตัวบท มากกว่า สไตล์ Deja vu ไม่ได้โชว์เก๋าถ่ายภาพเหนือชั้นอย่างไม่จำเป็น

    ...หนังใช้ประโยชน์จากลูกเล่นอันแพรวพราวของ โทนี่ สก็อต ได้อย่างพอดิบพอดีเหมือนกับตอน Enemy of the State และ Spy game (ผมเป็นคนกลุ่มน้อยที่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ แต่สังเกตดีๆก็เหมือนจะออกอาการโชว์ลีลาแล้ว เพราะจะเห็นได้ว่า บางฉากหนังหมุนรอบตัวเองบ่อยมากทั้งที่ฉากนั้นตัวละครนั่งคุยกันเฉยๆ) เพราะ เทคนิคการถ่ายทำที่หวือหวาของเขาสร้างความตื่นเต้นให้กับหนังอยู่เป็นระยะๆ เช่นฉาก การขับรถควบสองช่วงเวลา หรือ ซีนไหนที่ไม่มีแอคชั่น หนังก็เหมือนมีอะไรขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอด หรือจะเป็น ฉากระเบิดเรือ ก็ทำออกมาได้สมจริงมาก และ ดูเป็นงานสเกลใหญ่สมกับอยู่ในการดูแลของเจอรี่ บรั๊คไฮเมอร์

    แถมยังมีความน่าสนใจตรงที่ว่า ฉากระหว่างคู่พระ-นาง แม้จะเป็นเพียง จอภาพ(นางเอก)กับคน(พระเอก) โทนี่ สก็อต กับ ตากล้อง ก็ถ่ายทอดอารมณ์นุ่มนวลโรแมนติกออกมาได้ชวนเชื่อจนคนดูคล้อยตาม พฤติกรรมสู้เพื่อเธอ ของพระเอกอย่างไม่รู้ตัว

    ...ในส่วนนักแสดง เดนเซล วอชิงตัน ทำหน้าที่ได้ในระดับมาตรฐาน และ น่าหมั่นไส้ได้ดีในฉากกวนโอ๊ย ที่เล่นร้ายได้ดูแสบสนิท(ศิษย์ส่ายหน้า) คือ จิม คาวีเซล ที่สีหน้าแววตาดูชั่วอย่างหลงผิดชนิดได้ใจ


    มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ชวนให้สงสัยในการปรากฎตัวเป็นนักแสดงสมทบไร้ความสำคัญ ทั้งที่ปกติตัวเขานั้นมากับฉายานักแสดงอีโก้สูงผู้เลือกแต่บทพระเอกเด่นๆอย่าง วาล คิลเมอร์

    ซึ่งบางคนที่ดูหนังเรื่องนี้ อาจสงสัยในตอนจบหรือในระนาบเวลาของหนังว่าตกลงมันเป็นอย่างไร มันขาดเหตุผลหรือไม่ แต่ผมกลับสงสัยเพียงแค่ข้อเดียวคือ วาล คิลเมอร์ เลือกมารับบทที่แสนจะธรรมดาในเรื่องนี้เพราะอะไร (เพราะขนาดเรื่องล่าสุดที่รับบทนักสืบเกย์ใน Kiss Kiss Bang Bang ก็ยังเป็นบทสมทบที่เด่นจนแทบจะขโมยซีน โรเบิร์ต ดาวนี่ จูเนียร์)



    exclaim Spoiler alert ถัดจากนี้ ตัวอักษรเอียง เฉลยและถกถึงจุดสำคัญและตอนจบของเรื่อง หากยังไม่อยากรู้ ข้ามไปอ่านต่อที่ความเห็น 1 ได้เลยครับ




    ...ตอนจบของหนัง เสียดายตรงหนังเลือกที่จะสรุปแบบ ฮอลลีวู๊ดฮอลลีหวูด ไปหน่อย กับบทลงเอยอย่างสวยงาม จนต้องตามมาด้วย ข้อขัดแย้งในใจเพราะหากอ้างอิงทฤษฎีว่าเราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ หรือ ถ้ายิ่งพยายามเปลี่ยนก็จะยิ่งยุ่งเหยิง แต่พอลองคิดสะระตะอีกที หนังก็อุดช่องโหว่ตรงนี้ด้วยคำพูดตัวละครคนหนึ่งในหนังแล้วว่า

    หากเปรียบเวลาเหมือนแม่น้ำสายหนึ่ง เราย้อนไปขัดขวางต้นน้ำ ไม่ได้แปลว่า สายน้ำสายเดิมจะเปลี่ยนแปลง แต่มันอาจทำให้เกิดแม่น้ำสายใหม่ โดยที่สายเก่าก็ยังดำเนินอยู่ต่อไป

    เช่นเดียวกัน การย้อนเวลาของ ดั๊ก อาจทำให้เป็นเช่นนี้

    นั่นคือถ้ายอมรับในทฤษฏี โลกคู่ขนาน

    แม่น้ำสายเดิม ก็เปรียบได้กับ โลก A ซึ่งดำเนินต่อไปข้างหน้าโดยที่ นางเอกตายไปแล้ว + เรือระเบิดไปแล้ว >> พระเอกถูกส่งย้อนเวลาไป แล้วก็ตายจากระเบิดในโลกอดีต โลก A ใบนี้ พระเอกหายสาบสูญจากการย้อนเวลา >> คดีปิด >> ผู้ร้ายถูกดำเนินคดี นางเอกเป็นศพเช่นเดิม

    โลกอีกใบคือ โลก B โลกที่เกิดจาก การที่พระเอกจากโลก A เข้ามาขัดขวางผู้ร้ายทัน >> พระเอกจากโลก A ถูกระเบิดตายไป เรือไม่ระเบิด >> ผู้ร้ายถูกจับ >> พระเอกในโลก B มีชีวิตอยู่เดินมารับนางเอกแล้วขับรถออกไปด้วยกัน แล้ว พระเอกในโลก B นั้นคุ้นเคยกับเหตุการณ์ตรงหน้า สมกับชื่อหนังที่ว่า Deja vu

    ไม่ว่าจะโลก A หรือ โลก B เครื่องมือสโนไวท์ก็ยังมีอยู่ต่อ เพียงแต่ในโลก B ไม่ได้ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีเท่านั้น และ โลกสองใบนี้นั้นก็ดำเนินต่อไปโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เหมือน แม่น้ำคนละสาย

    แต่ หากหนังจะไม่เลือกจบแบบนี้ และ ยังคงยึดมั่นกับหลักการที่ว่า มนุษย์เปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ ไม่ว่าจะเข้าไปแก้ไขอย่างไร ผลสุดท้ายยังคงเหมือนเดิม มิหน้ำซ้ำอาจกระทบรุนแรงยิ่งกว่า ปานประหนึ่งว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ทำให้ผมแอบคิดเล่นๆถึงตอนจบของหนังว่า

    หากกำหนดให้พระเอกเองเป็นตัวการที่นำรถติดระเบิดไปติดใต้ท้องเรือโดยไม่ได้ตั้งใจเหมือนในฉากขับรถลงทะเล ส่งผลให้ เรือระเบิดอยู่ดี ผู้ร้ายรอดตายกลับมาฆ่านางเอกทิ้งเหมือนศพที่เห็นตอนต้น แล้ว บังเอิญพระเอกถูกคนพบเห็นก่อนขึ้นเรือหรือโดยกล้อง ก่อนที่ เครื่องมือ สโนไวท์ จะย้อนอดีตเห็นหน้าพระเอกเป็นหลักฐานพยานชวนให้ได้ข้อสรุปว่า พระเอก คือ คนที่วางระเบิด แล้ว ผู้ร้ายก็ลอยนวลไปตาม destiny ที่ตัวเองพูด หนังคงทำร้ายจิตใจแต่ชวนจดจำน่าดู กับ ผลพวงของการดึงดันเข้าไปแก้ไขอดีตและฝืนธรรมชาติของมนุษย์



    (มีต่อ)

    แก้ไขเมื่อ 12 ธ.ค. 49 15:18:10

    แก้ไขเมื่อ 12 ธ.ค. 49 12:22:03

    จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" - [ 12 ธ.ค. 49 12:19:08 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com