CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    +++ ดูแล้วมาคุยกัน ... ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค1 , ไทยจะสิ้นชาติไม่ใช่เพราะใคร หากมิใช่เพราะไทยด้วยกัน +++

      ชอบมาก ห้ามพลาด (48 คน)
      ชอบ (41 คน)
      เฉยๆ (13 คน)
      ไม่ชอบ (1 คน)
      ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (4 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 107 คน

     44.86%
     38.32%
     12.15%
     0.93%
     3.74%


    ... เลือกอ่านบทความนี้พร้อมรูป อ่านความเห็นเพื่อนๆคนอื่น และ เชิญชวนมาพูดคุยแสดงความเห็นเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=01-2007&date=22&group=1&blog=1


    ว่ากันว่า...

    ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนชั้นดีที่คนยุคปัจจุบันจะเรียนรู้ โดยเฉพาะความผิดพลาดทั้งหลายแหล่ หากเพียงรู้จักที่จะจดจำและนำมาทำให้ดีกว่า เพื่อที่ว่าจะไม่เดินย่ำซ้ำรอยเดิม

    แต่ ส่วนใหญ่ มนุษย์ ก็มักจะหลงลืม เพราะ ความเป็นมนุษย์นี่เอง ที่ยังมีความโลภ ความต้องการเอาตัวรอด ความอยากเป็นใหญ่ ความไม่ไว้วางใจ ฯลฯ จึงทำให้ ปัญหาไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยไปก็ยังคงอยู่ และ ก็เป็นปัญหาเดิมๆเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป เช่น

    ปัญหาคนขายชาติที่ชักนำพม่าเข้ามาเผาทำลายเมือง ก็เปลี่ยนไปเป็น การปล่อยให้ชาวต่างชาติมายึดครองบริษัทยึดครองที่ดินหรือโกงกินประเทศ

    ปัญหาการแก่งแย่งชิงบัลลังค์ ก็เปลี่ยนไปเป็น การเอาชนะแย่งชิงเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยมิได้คิดคำนึงถึงประโยชน์สุขของพวกเขาแต่อย่างใด

    ปัญหาเหล่านั้นในอดีตนำไทยไปสู่การสูญสิ้นอิสรภาพ บ่งบอกว่า

    ไทยพ่ายแพ้ไม่ใช่เพราะพม่า แต่ว่ามาจากความแตกแยกและขาดความสามัคคีคนไทยด้วยกัน


    การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ไม่ได้มาจากพม่าเก่งกว่า แต่ มาจากการทรยศขายชาติของคนไทยด้วยกันเพื่อหวังลาภยศ และ ความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจของคนไทยด้วยกันเองโดยเฉพาะในชนชั้นปกครอง นำไปสู่ความแตกแยก เป็นชนวนเริ่มต้นของการเสียกรุง นั่นก็บ่งบอกอีกว่า


    ไทยจะสูญสิ้นได้ ไม่ใช่เพราะใคร หากไม่ใช่เพราะมือคนไทยด้วยกันเอง ที่ไม่จับมือเพื่อประเทศชาติแต่แย่งยื้อกันเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน


    และจากประโยคสำคัญที่ตัวละครพระองค์ดำกล่าวว่า


    "ราชวงศ์ใดจะรั้งแผ่นดินก็หาสำคัญไม่ ขอเพียงให้สยามได้ปกครองสยาม"


    จากหนังตัวอย่างอาจทำให้ไม่รู้สึกอะไรมากนัก แต่เมื่อหนังจบลง มันทำให้รู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับคำพูดของพระองค์ดำ กับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อใดก็ตามหากเราได้ยินประโยคนี้ นั่นหมายความว่า เราได้สูญสิ้นแผ่นดินไปเรียบร้อยแล้ว จนน่ากลัวว่า หากความแตกแยกยังเกิดขึ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินใดประเทศใด วันข้างหน้า ประโยคเช่นนี้ย่อมไม่อาจหลีกหนีได้พ้น


    ...พระองค์ดำถูกนำไปเลี้ยงดูโดยบุเรงนอง เสมือนตัวประกันที่ฝั่งพม่าจะไว้วางใจว่าคนไทยจะไม่แข็งขืน

    ...อิสรภาพในชีวิตของพระองค์ดำ ถูกจองจำไปพร้อมกับ อิสรภาพของชาติไทยที่ถูกช่วงชิงในเวลาถัดมา

    หากการมาของพระองค์ดำมาในฐานะเชลยหรือทาส ก็อาจจะยังดีเสียกว่า เพราะ การมาในฐานะเสมือนลูกของบุเรงนอง ยิ่งทำให้เขาเป็นเป้าหมายของความเกลียดชัง โดยเฉพาะในสายตาของคนพม่า

    …ภาคหนึ่งจากสามภาคของ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จบลงตรงการตัดสินใจปลดตรวนและต่อสู้เพื่อสร้างอิสรภาพให้กับตัวเองของพระองค์ดำ ก่อนที่ภาคถัดมาที่เราจะได้พบกับการปลดปล่อยอิสรภาพให้กับชาติไทย


    manผมยังจำได้ว่า ...

    สุริโยไท ผลงานชิ้นล่าสุดของท่านมุ้ย คือ งานที่ชวนผิดหวัง เพราะหนังทำให้ผมมีอาการเบื่อกระสับกระส่ายขณะนั่งดู ลุ้นว่าเมื่อไหร่จะจบเสียที หนังมีปัญหาของการเล่าเรื่องที่จะเป็นสารคดีก็ไม่ใช่ จะไปเป็นหนังพีเรียดที่ดีก็ไปไม่ถึง เพราะหนังพยายามจะใส่รายละเอียดและเน้นความสมจริงมาก ทุกสิ่งนั้นล้นเกินไปในเวลาที่มีอยู่ จนสิ่งที่หายไปคือ “ความสนุก”

    หนังยังมี การแสดงที่เต็มไปด้วยโอเวอร์แอคติ้งของนักแสดงมีฝีมือหลายๆคนจนน่าผิดหวัง และ การขนดาราดังๆมารวมตัวกันแต่กลับไม่สามารถเกลี่ยบทบาทให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น เหมือนพวกเขามาเดินชนกันในหนังใหญ่ๆ ทำให้การจดจำตัวละครเป็นเรื่องยากสำหรับคนดู มีเพียงบทท้าวศรีสุดาจันทร์ที่ฝากบทบาทได้โดดเด่นและน่าจดจำ

    ข้อดีและเป็นจุดเด่นของ สุริโยไท คือ การได้เห็นภาพของชาติไทยในยุคโบราณที่เราไม่มีวันมีโอกาสได้เห็นนอกจากภาพวาดหรืองานเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องราวกับชีวิตในวังและประเพณีสมัยก่อน ต้องยอมรับว่า ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างสำหรับการสร้างหนังประวัติศาสตร์ชาติไทยโดยเฉพาะเรื่องราวในวัง หากไม่ใช่ท่านมุ้ย คนไทยก็คงไม่มีโอกาสได้ดูภาพอดีตได้ละเอียดเท่านี้ หากนับว่านี่เป็นงานพีเรียดระดับมหากาพย์เรื่องแรกของคนไทย ถือได้ว่าทำได้ดีพอสมควร แต่ถ้าไม่พิจารณาว่าชิ้นแรกชิ้นหลัง สุริโยไท ยังเป็นงานที่มีจุดอ่อนชัดเจนเห็นชัดน่าผิดหวัง


    manผมยอมรับว่า ...

    สุริโยไท เป็นเหตุให้ ผมไม่ได้อยากไปดู นเรศวร เท่าไหร่นัก ดูเหมือนว่า ท่านมุ้ย จะไม่เหมาะกับหนังสเกลใหญ่ในระดับมหากาพย์เช่นนี้เพราะเมื่อเทียบกับหนังของท่านที่ผมเคยดู ไม่ว่าจะเป็น มือปืน คนเลี้ยงช้าง หรือ เสียดาย ล้วนมีความลงตัวและเข้มข้นกว่ามากนัก การเลือกไปดู ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่ใช่เพราะเป็นหนังที่อยากดูมากกกก แต่ไปดูเพราะความรู้สึกว่า ต้องดู ถ้าไม่ได้ดูก็คงไม่รู้จะเขียน blog ไม่รู้จะคุยอะไรกับใคร

    ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทำการบ้านสองประการ ก่อนเข้าโรงหนัง

    1.อ่านเบื้องหลังจากในหนังสือเพื่อจำหน้าว่าใครเป็นใคร (ผมมีปัญหาอย่างมากเวลาดูหนังสงครามแล้วตัวละครเปื้อนฝุ่นจนทำให้จำใครไม่ได้)

    2. ซื้อ”ชาชัก”ก่อนขึ้นโรงหนังไปหนึ่งแก้วป้องกันอาการง่วงกำเริบเหมือนตอนดูสุริโยไท

    หลังจากดูหนังจบผมพบว่า การบ้านข้อ 2 ไม่จำเป็น


    ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช... ดีกว่าที่ผมคาดไว้พอสมควร ไม่ชวนให้ต้องง่วงหรือทนกระสับกระส่าย แม้ภาคนี้ค่อนข้างไปทางดราม่ามากกว่าแอคชั่น ก็ยังไม่น่าเบื่อ ท่านมุ้ยดูเหมือนจะศึกษาหาจุดด้อยของงานชิ้นก่อนและถมจุดอ่อนที่เคยมี จนหนังเรื่องนี้พัฒนาขึ้นกว่าเดิมมากและมีความชวนติดตามมากกว่า สุริโยไท

    ...การแบ่งตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นสามภาคเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะ ทำให้สามารถเน้นรายละเอียดในส่วนสำคัญโดยไม่ต้องพยายามรีบเร่งยัดข้อมูลทุกอย่างภายในสามชั่วโมงเหมือนกับเรื่องที่แล้ว

    เราจะเห็นว่า บทหนังสามารถกระจายลดหลั่นความสำคัญให้กับตัวละครและทำให้แต่ละตัวนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับ สุริโยไท ที่อาจเต็มไปด้วยตัวละครมากมาย ผมกลับประทับใจเพียงแค่คนเดียว(ท้าวศรีสุดาจันทร์) แต่ใน ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งตัวละครในเรื่องน้อยกว่า ผมเองกลับประทับใจกับตัวละครได้หลายคน ไม่ว่าจะเป็น

    พระองค์ดำ ... นักแสดงเด็กคนนี้ดูมีรัศมีพลังในตัวมากพอชวนเชื่อให้ว่า เขาจะเติบโตขึ้นมายิ่งใหญ่ เป็น สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในอนาคต แววตาของความเด็ดเดี่ยวโดยยังมีบุคลิกนิสัยของเด็กคนหนึ่งเหมือนเด็กทั่วไป ที่ยังรักสนุกรักเล่นทำให้เขาดูเนียนไปกับบทนี้ได้ดี

    มณีจันทร์ ... เล่นได้สดใส เซี้ยวสมวัยได้ใจคนดู สังเกตจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากในโรงทุกครั้งที่เธอออกมา

    และ

    พระเจ้าบุเรงนอง ... การแสดงของสมภพ เบญจาธิกุล เป็นดาวเด่นของหนังภาคนี้อย่างแท้จริง การแสดงถึงความช่างพูดช่างเจรจาพาทีผสมกับความเจ้าชู้กรุ้มกริ่มอย่างมีระดับ (มีโรงไหนไม่หัวเราะตอนตอบพระสุพรรณกัลยาว่า “หรือเพราะพี่นั้นหล่อ” แล้วเดินจากไปแบบเท่สุดฤทธิ์) ตัดสลับกับภาพความเข้มแข็งเอาจริงของนักรบ ทำให้เราเชื่อได้เลยว่า ความยิ่งใหญ่ของเขามิได้มาโดยโชคช่วย ตัวบทเองก็มีส่วนช่วยส่งการแสดงของเขาด้วย ในการที่ไม่สร้างภาพให้ บุเรงนอง เป็น ดาวร้ายไร้มิติ ไม่ทำให้คนพม่าเป็นผู้ร้ายในสายตาคนดู มิหนำซ้ำเรายังอดมิได้ที่จะชื่นชมความเป็น คนจริงและความสุภาพบุรุษในตัวเขาอีกต่างหาก

    ...ในส่วนขององค์ประกอบอื่นที่เห็นนอกจากนักแสดงเช่น เครื่องแต่งกาย , ตัวฉาก , งานโปรดักชั่น ฯลฯ เรียกได้ว่าสามารถไปโชว์ต่างชาติได้ไม่อายใคร เพียงแต่ ไม่เข้าใจว่า เพราะอะไรหลายฉากพอถ่ายทอดออกมาเป็นภาพรวม เช่น ตัวเมือง , ฉากรบ ฯลฯ มุมกล้องกลับไม่สามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่เหมือนกับที่เคยได้เห็นในสุริโยไท

    ... กระนั้นก็ดีแม้หนังจะได้รับการถมจุดอ่อนมาแล้วจากสุริโยไท แต่หากจะมีจุดอ่อนมันก็ยังคงอยู่จุดเดิมๆ ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าหนังของท่านมุ้ยที่เป็นหนังจับประเด็นสังคมเล่าเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆหรือเรื่องราวที่ไม่ต้องใส่ใจกับรายละเอียดภายนอกมากมายอย่างหนังประวัติศาสตร์ ท่านมุ้ยจะทำได้ดีกว่า แต่พอหนังต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นๆมากขึ้น มีการบ้านต้องทำมากขึ้น เช่น เรื่องราวของการสร้างฉากให้สมจริง , เครื่องแต่งกายในสมัยโบราณ , ประเพณีและการพูดสมัยอยุธยา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หนังเก็บข้อมูลได้แม่นยำแต่ก็ทำให้ เรื่องของ”คน”อ่อนลงไปด้วย

    ...สังเกตได้จาก หนังทำได้สนุกชวนติดตามในช่วงเวลาที่หนังโฟกัสไปที่เรื่องราวของคนไม่กี่คนหรือตอนที่เรื่องราวไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ช่วงพระองค์ดำกำลังเติบโตเรียนรู้ ซึ่งมีตัวละครสำคัญแค่ไม่กี่คนรายล้อม เป็นช่วงเวลาที่หนังดูสนุกเพลิดเพลิน แต่เมื่อหนังเล่าเรื่องช่วงที่คลาคล่ำไปด้วยตัวละครหลายๆคน เช่น สมเด็จพระมหาธรรมราชา , สมเด็จพระมหินทร์ราช , เสนาบดี ฯลฯ หรือ เป็นฉากที่มีประเพณีมีรายละเอียดของสิ่งที่ไม่ใช่”คน” หนังจะเล่าเรื่องได้ไม่หนักแน่นชวนติดตามเท่า และมีจุดสะดุดตาให้เห็นหลุดมาอยู่เรื่อยๆ

    จุดสะดุดเหล่านั้นมักเป็นเรื่องของ "ความไม่เป็นธรรมชาติ" เช่น การสนทนาของตัวละครบางตอน ที่จากประโยคของคนหนึ่งตัดจบปุ๊บแล้วไปต่ออีกคนหนึ่งต่อกันเป็นพรืดดูไม่เป็นปกติของคนเวลาพูดคุยสนทนากัน และ บางฉาก เช่น ฉากฝ่ายเหล่าเสนาบดีประชุมวางแผนกันที่ใช้เทคนิคตัดบทพูดคนนึงไม่จบแล้วไปต่ออีกคนนึง ถึงแม้ว่าจะเป็นการโต้เถียงและแสดงความเห็นก็ตาม แต่จังหวะที่เราถกเถียงกันทั่วไปมันไม่ใช่แบบนี้ มันดูตลกและดูเป็นการแสดงตามบท

    รวมไปถึง ฉากแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าตัวละครที่ดูไม่สมจริงเลย มีให้เห็นเป็นระยะ เช่น ฉากล่อกแล่กไปมาของข้าราชบริวารตอนเข้าประชุมแล้วมีสงครามจนท้องพระโรงสะเทือน ดูการแสดงท่าตกใจก็รู้สึกได้เลยว่า นี่เป็นการแสดงแกล้งตกใจ หรือ ฉากแสดงความตกใจของพระสุพรรณกัลยาเมื่อเห็นตัวละครตัวหนึ่งถูกโทษหนัก ปัญหาไม่ได้อยู่ตรงท่าเอามือปิดปากแต่เป็นจังหวะการแสดงตอนนั้นที่เหมือนสั่งมาจนขาดความเป็นธรรมชาติ ฯลฯ



    (มีต่อ)

    แก้ไขเมื่อ 23 ม.ค. 50 09:58:17

    จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" - [ 23 ม.ค. 50 09:40:42 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com