Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ++ จากข่าวในตอนนี้ + กรณี A Beautiful mind :หมอมั่วหรือไม่ "บ้า" หรือ "ไม่บ้า" ดูอย่างไร และ ตัดสินอย่างไร ++

    กระทู้นี้ ไม่ขอตัดสิน ข่าวในตอนนี้นะครับ เพราะ ไม่รู้ข้อเท็จจริงอาการใดๆ และ ถึงต่อให้รู้ ผมก็ไม่มีสิทธิเอามาตั้งกระทู้อยู่ดี / และ ความเห็นด้านล่าง ขอให้ วิเคราะห์คนในข่าว กระทู้นี้จะไม่วิเคราะห์หรือ analyze ตัวบุคคลใดๆทั้งสิ้นนะครับ เพราะ มันไม่สมควร เนื่องจาก เขาเป็นตัวตนเป็นคนจริงๆ ไม่ใช่ตัวละครในหนัง


    ... เพียงแต่ ได้อ่านกระทู้พบว่า หลายคนยังเข้าใจผิด เลยถือโอกาสขอหยิบยก "ประเด็น" ที่น่าสนใจ มาให้ข้อมูล ด้วยคิดว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับอาการทางจิตน้อยเกินไป เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิต ฯลฯ ความไม่เข้าใจไม่รู้จักโรคนี่เอง ทำให้เราสูญเสียคนรู้จักคนใกล้ตัวไปแล้วหลายคน เพราะคิดว่าสุดวิสัยทั้งที่อุบัติการณ์นั้นป้องกันได้ เช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายคนฆ่าตัวตาย หรือ ฆ่าคนในบ้านไปด้วย เพราะอาการป่วยโดยเราไม่ทันรู้หรือคิดถึง  หรือ คนป่วยทางจิตไปยิงคนอื่นทำให้คนบริสุทธิ์ต้องตายไป เพราะ อาการป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา

    หากเรารู้จักอาการเจ็บป่วยทางจิตมากขึ้น ปัญหาที่เกริ่นข้างต้นก็น่าจะลดน้อยถอยลง และ คงไม่มีกรณีเช่นนี้ ที่ คนที่สงสัยหรืออาจเป็นผู้ป่วยจริง ต้องมาขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่ง จนสร้างความเสียหาย ชนิดที่ว่า ไม่ว่า 'ตำรวจ' หรือ 'ญาติ' จะเป็นฝ่ายถูก สุดท้ายแล้ว คนที่เสียหายมากที่สุดคือ 'เจ้าตัว'

    ...ขอถอดหมวก “ภาพยนตร์” ออกซักหนึ่งกระทู้ ทำตัวเป็นนักวิชาการซักกะหน่อย

    ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจตรงกันก่อนว่า ‘บ้า’ คืออะไร

    บ้า หรือ อาการทางจิต (Psychotic) นั้น ทางการแพทย์ที่ใช้วินิจฉัย เราจะใช้ในกรณีอาการที่หลุดออกจากกรอบความจริง (out of reality) เช่น มีอาการ หูแว่ว , ภาพหลอน , หลงผิดหวาดระแวง , พฤติกรรมผิดมนุษย์มนา เช่น ยืนด่าศาลพระภูมิด้วยภาษาต่างดาว หรือ แก้ผ้าวิ่งหน้าพารากอน ฯลฯ แพทย์ไม่นิยมใช้คำว่า บ้า กับคนไข้ เพราะ คำๆนี้มันกินความหมายกว้างไปและยังเป็นการตีตราให้กับคนไข้ดูน่ารังเกียจในสังคม

    ตัวอย่างอาการระแวง  ... คนเราปกตินั้น ระแวงได้ เช่น กลัวคนมาขโมย กลัวเงินหาย แต่ อาการระแวงหลงผิด จะ ค่อนข้างยึดติดและหลุดจากความเป็นจริง เช่น

    “ผมคิดว่าหนังสือที่ผมเขียนขึ้นมา ต้องโดน Mr Fusion ขโมยลิขสิทธิ์ไปแน่ๆ เนื่องจากเห็น Mr Fusion แกชอบเขียนตอบกระทู้ว่า เข้ามาดู อยู่เรื่อยๆ ซึ่งมันต้องเป็นโค้ดลับที่หมายถึง การ เข้ามาดู เนื้อหาในหนังสือของผม แล้วเอาไปตีพิมพ์ใหม่เป็นของตัวเอง ชัวร์ๆร้อยเปอร์เซ็นต์ แถมยังมีรูป man ก่อนตอบทุกครั้งแสดงว่า แกต้องติดกล้องหรือไม่ก็ส่งคนแอบตามผมมาด้วยแน่ๆ”

    ...ดังนั้น แพทย์จะวินิจฉัยว่าใครเป็นโรคจิต ก็ย่อมต้อง มีอาการทางจิต

    แต่ เรามักคุ้นเคยกับอาการทางจิตแบบจ๋าๆ ที่เห็นในละคร เช่น เสียสติฟั่นเฟือน ทำท่าเอ๋อๆพูดคนเดียว คลั่งเมายาบ้าถือมีดจี้คอตัวประกัน ฯลฯ ความจริงนั้น ยังมีอาการที่หลากหลายกว่าที่เห็นแต่ไม่ได้นำเสนอในหนังในละคร เพราะ มันไม่ชัดไม่น่าสนใจ

    อาการทางจิต เป็น อาการของโรคหลายโรค เช่น โรคจิตเภท โรคหวาดระแวง โรคอารมณ์แปรปรวนชนิดมีอาการทางจิต ฯลฯ

    ...ไม่ว่าใครต่อใครก็ป่วยเป็นโรคนี้ได้ ตั้งแต่ คนขับสามล้อ วิศวกร หมอ ไปจนถึงประธานาธิบดี ไม่ว่าการศึกษาจะสูงแค่ไหน ก่อนหน้านี้จะมีหน้ามีตาเพียงใด ไม่ได้บ่งบอกว่า คนๆนั้นจะไม่ป่วย มิหนำซ้ำ ถ้าอาการไม่หนัก พวกเขาเหล่านั้นก็จะดูภายนอกปกติดี ทำงานได้ อย่างเช่น จอห์น แนช จากที่เราเคยดูในหนัง A Beautiful mind ที่แม้ว่าจะหูแว่ว มีภาพหลอน เรียกได้ว่ามีอาการทางจิตเต็มๆ ก็ยังสามารถไปสอนและคิดค้นทฤษฎีสำคัญๆได้

    ...ยิ่งถ้าเป็นโรคหลงผิด (delusional disorder) ยิ่งวินิจฉัยยากมาก เพราะ จะมีอาการหลงผิด(delusion หรือ fixed false believe)อย่างเดียว และคิดเป็นระบบ(systematized) ดูน่าเชื่อถือ แต่ ไม่ปรากฎอาการอื่นให้เห็น  ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติแค่ความคิด

    เช่น บางคนหลงผิดว่าอีกฝ่ายมารักตนทั้งที่เขาไม่ได้มีทีท่าเลยก็เลยตามตอแย ปีนบ้าน จะเข้าไปข่มขืน เพราะ คิดว่า การปิดไฟของบ้านสาวเจ้าคือสัญญาณบอกให้เข้าไปได้ หรือ หลงผิดแบบคิดว่าสามีมีเมียน้อย เพราะสังเกตว่าผู้หญิงโต๊ะข้างๆกินข้าวกับไข่เจียว เป็น สัญญาณบ่งบ่อกว่า นัดแนะกันไปโรงแรม

    ...พอพ้นจากความคิดพวกนี้ คนไข้กลุ่มนี้ก็จะกลับมาใช้ชีวิตปกติ เราเข้าไปคุย ถ้าไม่ได้ตรงกับปมอาการป่วยที่เจ้าตัวหลงผิดอยู่ เราก็จะไม่เห็นอาการผิดปกติใดๆ


    questionคำถามที่พบบ่อยจากกรณีข่าวในตอนนี้


    1.เขายังไปทำงานเป็นหมอตรวจคนไข้ได้ เขายังนั่งขายส้มตำหน้าปากซอยได้ เขายังไปทำงานสอนหนังสือเป็นครูได้ หรือ ผู้ป่วยบางคนยังทำงานบัญชิได้ บางคนยังพูดรู้เรื่อง บางคนยังทำเรื่องทางการเงินได้ พวกเขาเหล่านี้ ไม่ ‘ป่วย’ มั้ง ?

    คำตอบ :
    ไม่จำเป็นเลยครับ เพราะ อาการป่วยทางจิตนั้นมีหลายประเภท บางประเภท เช่น โรคหวาดระแวง หรือ Delusional disorder จะมีอาการแค่มีความคิดหลงผิด หวาดระแวง แต่ ด้านอื่นๆของคนๆนั้นยังปกติ ไอคิวยังดี อารมณ์ก็ปกติ พูดคุยเหมือนคนทั่วไป ยิ่งถ้า ผู้ป่วยเป็นคนฉลาด ยิ่งดูยากมากว่า ป่วย และ แน่นอนว่า เจ้าตัวไม่ยอมรับว่า ป่วย

    การวินิจฉัยจึงจำเป็นต้องอาศัยจากการตรวจของแพทย์ และ ประวัติของคนใกล้ชิด เพราะคนภายนอกไม่อาจจะรู้ได้เลย


    2.ไม่เห็นคลั่งอาละวาดเลย จำเป็นต้องนำมารักษาตัวในรพ.หรือไม่ ?

    คำตอบ :
     เกณฑ์รับเข้ารพ.ที่สำคัญที่สุดคือ อาการของผู้ป่วยเสี่ยงต่อทำร้ายตัวเอง เช่น ยืนริมระเบียงบ่นอยากตาย , มีเสียงแว่วบอกให้ไปรับใช้พระเจ้าด้วยการยิงตัวตาย ฯลฯ  หรือ มีอาการที่เสี่ยงต่อทำร้ายผู้อื่นครับ เช่น  หวาดระแวงจนต้องพกมีดสปาร์ต้าติดตัว เดินไปไหนมาไหนพกปืนไว้ด้วย หรือ วางแผนฆ่าคนที่สงสัยว่ากำลังติดตาม กรณีเช่นนี้ การตัดสินใจนำเข้ารพ.นั้นถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะ หากหวาดระแวงมากจนไปทำร้ายใครขึ้นมา คนที่เดือดร้อนคือผู้บริสุทธิ์ที่เป็นเหยื่อครับ และ คนผิดคือ แพทย์ ที่วินิจฉัยได้แล้ว แต่ดันทะลึ่งปล่อยกลับบ้านไป


    3.หมอฮั้วได้อ๊ะป่าว หมอหวังอยากได้เงินหรือเปล่า ?

    คำตอบ :
    ไม่ต้องกลัวเรื่องฮั้ว ไม่ฮั้วของหมอครับ เพราะการวินิจฉัยก็ยังต้องอาศัย ผลของนักจิตวิทยา อีก ซึ่งโกหกไม่ได้อยู่แล้ว แถมกรณีแบบนี้ อาจต้องใช้หมอมากกว่าหนึ่งคนอีกต่างหาก

    ...อีกทั้งถ้าต้องการฟ้องร้องในกรณีทรัพย์สิน เพื่อ หาคนรับผิดชอบใช้สิทธิหรือมีผู้พิทักษ์ดูแล ยังไงก็ต้องขึ้น ศาล ให้เป็นคนตัดสิน และก็ย่อมตามมาด้วย การสืบพยาน ฯลฯ คนตัดสินสุดท้ายว่าจะคนไข้จะมีสิทธิในทรัพย์สินหรือไม่ ไม่ใช่ หมอ ครับ


    4.ถ้าคนไข้บอกว่า “ฉันไม่ป่วย” เชื่อได้หรือไม่ ?

    คำตอบ :
    .. ใช้ตัดสินไม่ได้ครับ เพราะ ผู้ป่วยหลายคนป่วยแต่ไม่ยอมรับว่าป่วย อย่างคนแก่ๆที่ป่วยเป็นสมองเสื่อมเป็นโรคหลงลืม ยังไม่รู้เลยว่าป่วย และ ไม่ยอมรับด้วยว่าตัวเองหลงลืม คนป่วยทางจิตที่ไอคิวดีมากๆก็เช่นกัน บางคนหาเหตุผลและตอบได้ดี เพราะไม่ยอมรับว่าอาการของตัวเองคืออาการป่วย


    5.ถ้าไม่บ้า อยู่รพ.จิตเวชจะบ้าขึ้นมาได้หรือไม่ ?

    คำตอบ :
    ไม่มีทางครับ ยกเว้นมีแนวโน้มจะเป็นอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้น เจ้าหน้าที่ หมอ หรือ พยาบาล ในรพ.ก็ บ้า กันหมดแล้ว ยาที่ใช้รักษาคนไข้จิตเวช ไม่ทำให้คนธรรมดาบ้าได้หรอกครับ และ รพ.ก็มีระบบที่มีหมอหรือพยาบาลมีทีมดูแลมากกว่าหนึ่งคน จะมาหยอดยาให้บ้าในรพ.นั้น มีแต่ในหนังครับ


    6.ทำไมไม่ให้ คนอื่น เข้าพบ มีพิรุธนี่หว่า ?

    คำตอบ :
    ... สิทธิในการเข้าเยี่ยมคนไข้ เป็นของ ญาติสนิทสายตรงเช่น พ่อแม่ เป็นคนตัดสินครับ คนอื่นๆไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนหากไม่ได้รับสิทธิอนุญาติ หรือ ไม่มีหมายศาล ไม่มีสิทธิไปซักไปคุยกับคนไข้ครับ สิทธิข้อนี้เพื่อประโยชน์ต่อตัวคนไข้เอง ไม่งั้น ใครอยากเข้าก็เข้าได้คงวุ่นน่าดู เกิดมีญาติห้าสาย เพื่อนหกกลุ่ม แต่ละฝ่ายก็คิดว่าตัวเองถูกจะเอาคนไข้ออกมาดูแล ยิ่งวุ่นกันตาย


    questionคำถามเพิ่มเติมจากความเห็นด้านล่าง


    7.สารเสพติดเป็นสาเหตุของอาการทางจิตได้หรือไม่ ?

    คำตอบ :
    ชัวร์ครับ สารเสพติดหลายชนิดทำให้มีอาการทางชนิดได้ ไม่ต้องดูอื่นไกล เช่น ยาบ้า ฯลฯ ถ้าผู้ป่วยมีอาการจากการใช้ยา แพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นจากยา แต่ ถ้า ยาหมดฤทธิ์ไปแล้ว แต่ยังมี อาการอยู่ นั่นแปลว่า ยาอาจไปทำลายสมองถาวร จนทำให้ คนๆนั้น เกิดมีอาการเป็น โรคจิตถาวร ตามไปด้วยเช่นกัน


    8.หมอวินิจฉัยผิดได้ป่าว ?

    คำตอบ :
    มีโอกาสเกิดขึ้นได้แน่นอนครับ หมอก็เหมือนอาชีพอื่นๆ ย่อมมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดได้ แต่ การวินิจฉัยว่า 'มีอาการทางจิต' ทั้งที่เจ้าตัว 'ไม่มี' นั้น โอกาสเกิดได้น้อยมาก  การวินิจฉัยผิดโรคนั้นจะเป็นไปได้มากกว่า สรุปง่ายๆคือ

    โอกาสวินิจฉัยผิดว่า 'ป่วย' ทั้งที่ 'ไม่ป่วย' นั้นน้อยมากๆ ส่วนใหญ่ข้อผิดพลาดจะมาจาก วินิจฉัยว่า 'ปกติ' ทั้งที่ 'ป่วย' มากกว่า

    เพราะ อาการมักแสดงออกชัดเจน แต่ โอกาสวินิจฉัยผิดโรค มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า เพราะ อาการของโรคหนึ่งๆนั้น มีต้นเหตุหลายอย่าง เช่น ปวดหัว เป็นได้ทั้ง หวัด มะเร็ง ไมเกรน ฯลฯ อาการทางจิตก็เช่นกัน เป็นได้ทั้ง โรคจิต โรคหวาดระแวง โรคซึมเศร้า ฯลฯ

    แถมยิ่งเป็นข่าวแบบนี้ เกิดขึ้นในรพ.รัฐใหญ่ๆแบบนี้ ไม่มีใครมามุบมิบผลการวินิจฉัยได้แน่นอนครับ และ ต้องมีหมอมาร่วมวินิจฉัยมากกว่าหนึ่งแน่นอนครับ


    9. อาการเมายาบ้าเป็นโรคจิต กับ โรคจิตชนิดหวาดระแวงอาการเหมือนกันหรือไม่

    คำตอบ :
    พบเหมือนกันได้ครับ


    10.ทำไม ไม่ให้ คนในข่าว ออกมาให้สัมภาษณ์

    คำตอบ :
    ถ้าในขณะนี้ รับรักษาตัวในรพ.แล้ว การไม่ให้ออกมาสัมภาษณ์ออกสื่อเป็นเรื่องที่ถูกต้องแน่นอนครับ

    ลองคิดดูว่า ถ้าพ่อแม่หรือลูกของเรา 'ป่วยจริง' แต่มีคนมาบอกว่าไม่ป่วย ทำเรื่องฟ้องตำรวจจะกระชากความจริง เราจะยินดีหรือไม่ ที่จะให้พ่อแม่หรือลูกมาออกทีวี ถึงรู้ว่าฝั่งของเราจะถูกก็ตาม

    เพราะการออกทีวีนั้น สมมติว่า ถ้าไม่ป่วยก็คงโอเคไม่เป็นไร แต่ถ้าป่วย ก็เท่ากับออกมาแสดงอาการให้คนอื่นเห็น เป็นการทำให้อับอาย หรือ ทำให้เสียชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก ใครจะรับผิดชอบครับ คนที่บอกให้ออกทีวีจะรับผิดชอบชื่อเสียงที่เสียหายได้หรือไม่ หากเขาป่วยจริงและต้องมาแสดงอาการเจ็บป่วยออกทีวีต่อคนเป็นล้าน

    ดังนั้น หากต้องการสอบสวนไต่สวนหาความจริง ก็ปล่อยให้ไปเป็นตามกระบวนการ นั้นถูกต้องแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องออกมาสัมภาษณ์ให้ ประชาชนพิสูจน์ เพราะ หน้าที่วินิจฉัยคือ แพทย์ ส่วนหน้าที่พิสูจน์สืบสวนคือตำรวจ และ หน้าที่ตัดสินสุดท้ายคือ ศาล

    ประการสำคัญ โรคทางจิตเวชหลายโรค รักษาแล้วหายขาดได้ ครั้นพอหายขาดแล้วมาพบว่า ตอนที่ป่วยนั้นถูกนำมาปู้ยี่ปู้ยำขึ้นข่าวหน้าหนึ่งแบบนี้ เป็นใครก็ต้องเจ็บปวดครับ

    ปัญหาคือสื่อบางสื่อ ยังไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิผู้ป่วย ยังไม่เข้าใจเรื่องของอาการทางจิต และ ยังมักง่ายคิดว่า ข่าวนี้ ขายได้ ก็เลยสนุกมือขายข่าวกันแทนที่จะปล่อยให้กระบวนการสืบสวนเป็นไปตามทางของมัน แล้วนำเสนอข้อเท็จจริง


    11.ไม่เครียดป่วยได้หรือไม่ ไม่มีสาเหตุหรือภาวะกระตุ้นจะป่วยได้จริงหรือ

    คำตอบ :
    ไม่เครียดก็ป่วยได้ครับ  ภาวะเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคซึมเศร้า , โรคจิตเภท , โรคหลงผิด , โรคย้ำคิดย้ำทำ ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้โดย ไม่จำเป็นต้อง มีความเครียดเสมอไปครับ เช่น ไม่จำเป็นต้อง พ่อด่า หมาตาย ยายต่อย เมียน้อยทิ้ง ฯลฯ ก็สามารถมีอาการหรือป่วยได้ เพราะ โรคเหล่านี้นั้น เกิดจาก ภาวะความแปรปรวนหรือผิดปกติ ของ สารสื่อประสาทในสมอง (ด้วยเหตุนี้ การไม่รักษาเรื้อรัง จะมีส่วนทำให้สมองฝ่อเหี่ยวและเซลล์สมองตายลงได้เรื่อยๆ)

    ในขณะเดียวกัน การมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ใช้ยาเสพติด , เครียด , นอนไม่หลับ ฯลฯ ก็จะเป็น ปัจจัยเสริมที่เพิ่มโอกาสป่วยหรือกำเริบซ้ำได้มากขึ้นไปอีกครับ


    12. ถ้าผมป่วย แต่ผมไม่อยากรักษา ผมไม่ยอมนอนรพ.ผมเป็นเจ้าของชีวิต และ สิทธิคนไข้เป็นของผม ใครจะมาทำอะไรผมได้

    คำตอบ :
    ในยามเจ็บป่วยกรณีสูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ เช่น โรคจิตในบางระดับ โรคสมองเสื่อม ฯลฯ สิทธิในการเลือกรักษาหรือไม่ ไม่ใช่ที่ตัวคนไข้แต่เป็นที่ญาติสายตรง

    ในทางกฎหมาย สัญญาต่างๆที่คนไข้ทำขณะป่วยจึงสามารถถูกยกเลิกได้ หากเกิดว่าในตอนนั้น ผู้ทำสัญญาไร้ความสามารถ เช่น ผมป่วยเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน อยาก แจกบ้านแจกทอง ผมถอนเงินของครอบครัวทั้งหมดเพื่อไปเซ็นสัญญาซื้อที่แถวหนองหมาว้อ จ่ายเขาไปไร่ละร้อยล้าน หากตรวจพบว่า ทำสัญญาในขณะที่ป่วย สัญญานั้นถูกยกเลิกเป็นโมฆียะครับ

    สิทธิในการรักษาไม่สามารถปล่อยให้เจ้าตัวได้หากเจ้าตัวนั้น ไม่รู้ตัว เพราะจะเกิดผลร้ายแรงตามมา

    ยกตัวอย่าง

    หากหมอป่วยเป็นโรคจิตไม่ยอมรักษา ปล่อยให้ไปผ่าไตคนไข้เล่นๆเพื่อความเชื่อผิดๆ เช่น จะสะสมไตไปแลกแสตมป์ทองของ 7-11 ย่อมส่งผลร้ายแรงตามมา

    หากผู้พิพากษาเป็นโรคจิตไม่ยอมรักษา ผลการตัดสินออกมาก็ขาดความน่าเชื่อถือ


    13. ซวยละซิ จากข้อ 12 เกิดมีคนวางแผนหลอกคนปกติ เข้ารพ. แล้วรวมหัวกันให้ประวัติเท็จ หรือ หลอกหมอ คนปกติ มิซวยเหมือนในหนังหรอกหรือ

    คำตอบ :
    การวินิจฉัยจากแพทย์นั้น มิได้อาศัยเฉพาะประวัติจากญาติอย่างเดียวครับ ยังต้องอาศัยการตรวจทางจิตวิทยาโดยแพทย์เองที่ศึกษามา และ ต้องสังเกตอาการบวกประวัติรอบด้าน อีกทั้ง หากเป็นกรณีเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ยังจะต้องมีการตรวจด้วย แบบทดสอบทางจิตวิทยา โดย นักจิตวิทยา ซึ่ง ยากที่ผิดพลาดได้

    แต่ถึงแม้เราเห็นในหนัง สมมติว่า มี หมอผู้ร้าย ร่วมมือกับญาติด้วย ก็ไม่ต้องกลัวครับ เพราะ สุดท้ายแล้วคนตัดสินว่า ไร้ความสามารถ หรือไม่ มิใช่หมอ แต่เป็น ศาล เมื่อต้องขึ้นศาล แล้วก็ใช่ว่า ความเห็นของหมอคนนั้นเพียงคนเดียวจะเป็นสิทธิขาด ยังมีการต้องไต่สวนโดยทนายและกระบวนการยุติธรรมอีกมาก หรือ หากมีคนไม่มั่นใจจะขอให้ หมออีกคนเป็น 2nd opinion ก็ยังได้

    question มีคำถามเพิ่มเติมน่าสนใจครับ จากกระทู้ด้านล่างที่หยิบยกหนังที่มีประเด็นการรักษาทางจิตมาตั้งคำถามที่น่าสนใจ

    ผมยอมรับว่า หมอมีเลวได้ เจ้าหน้าที่โหดๆเลวๆแบบในหนังนั้นมีได้ แต่ หนังไม่ใช่ตัวแทนที่นำเสนอระบบดูแลสุขภาพจิตของภาพรวม หนังบางเรื่องเป็น หนังที่ดี แต่สร้างภาพระบบดูแลคนไข้สุขภาพจิต หรือ ตัวคนไข้ ให้น่ากลัว เพราะ ส่วนใหญ่ หนังจำต้องใส่สีสันปั้นเรื่องให้มี conflict จึงจะสนุก

    หากหนังที่สร้างภาพ เจ้าหน้าที่รพ.ใจดีเข้าอกเข้าใจคนไข้ทุกประการ , หมอพยาบาลรับฟังและพร้อมจะดูแลไข้ตลอดเวลา หนังมันก็คงไม่สนุกเท่า หนังอย่าง Gothica (แหะๆ ซึ่งก็ไม่ค่อยหนุกเท่าไหร่นะ) / One Flew Over the Cuckoo's Nest ฯลฯ ที่เราจะเห็น ภาพเจ้าหน้าที่เหี้ยมๆรุมกระทำคนไข้ ภาพการช็อคด้วยไฟฟ้าที่ทำเสร็จแล้วเอ๋อ หรือ ภาพแกล้งยัดเข้ารพ.เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว ฯลฯ



    14.หมอก็คือมนุษย์ การที่หมอจะเอาบรรทัดฐานของหมอ หรือ สังคมจะเอาบรรทัดฐานที่ตัวเองอยู่ มาตัดสินคนบางคน ที่ประพฤติไม่เหมือนตัวเองว่า เป็นคนบ้า มนุษย์เราถือดีอย่างไรกัน มนุษย์มิใช่พระเจ้านะ ที่จะมาตัดสินคนอื่น ?

    คำตอบ:
    "บ้า หรือ ไม่บ้า หมอถือสิทธิ์อะไรมาตัดสิน" เป็นคำถามที่น่าสนใจและเชื่อว่าคนเป็นหมอเองคงไม่ทันคิด

    หากเราใช้คำว่า 'บ้า' ผมคิดว่า เราอาจจะพูดคุยไม่ตรงกัน เพราะ มันเป็นคำที่กินความหมายกว้าง ทั้งในเชิงการแพทย์ หรือ ในเชิงสังคมวิทยา ฯลฯ เพราะ คนยืนยิ้มหน้าบ้านเราอาจจะคิดว่า "เฮ้ย ทำอะไรบ้าๆ" แต่เขาอาจไม่ป่วย หรือ คนชอบใส่เสื้อสีแดงคู่กางเกงสีดำเข้างานราตรีสโมสร เราอาจมองว่า "แต่งตัวแบบนี้ ท่าจะบ้า" แต่ว่า เขานั้นไม่ได้ป่วย คนสองคนนี้ ถ้าหมอไปยืนชี้นิ้วบอกว่า "ไอ้บ้า" หมอคนนั้นแหละ ท่าจะบ้า

    "บ้า" ในทางการแพทย์ ทั้งที่เป็นข่าวและที่อยู่ในโรงพยาบาล หมายถึง "มีอาการป่วย"

    ...ดังนั้นถ้าจะบอกว่าใคร "ป่วย" หรือ "ไม่ป่วย" คนที่สามารถตัดสินได้ดีที่สุดคือ หมอ ไม่ใช่ ปัญหาที่สังคม ที่เสียงส่วนใหญ่ หรือ ใครก็ได้จะมาตัดสิน

    เช่นกันครับ เวลาผมสร้างบ้าน คนที่บอกว่า ผิดหรือไม่ผิดหลักโครงสร้างคือ วิศวกร หรือ ตอนผมเป็นนักเรียน คนที่บอกว่าผมผ่านหรือสอบตก คือ ครู

    วิศวกร กับ ครู มีสิทธิอะไรมาตัดสินผม สิทธินั้นย่อมมาจากวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาและผ่านประสบการณ์จนสำเร็จหลักสูตร

    แพทย์ หรือ จิตแพทย์ ก็เช่นกัน พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ยืนดูแล้วบอกจากความรู้สึก หรือ ดูแล้วรู้สึกว่าคนไข้มีอาการเหมือนในหนัง แล้วด่วนสรุปว่า "อุวะฮะฮะ คนนี้บ้า"

    จิตแพทย์ นั้น คือ การเรียนต่อหลังจากเรียนแพทย์ครบ 6 ปี จบเป็นแพทย์ทั่วไป แล้วจึงค่อยมาเรียนต่อเฉพาะทางอีกเป็นเวลา 3 ปี และ 3 ปีนี้เองที่เป็นช่วงเวลาในการฝึกอบรมเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เหมือน หมอโรคหัวใจ หมอโรคระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ

    กระบวนการวินิจฉัย มิใช่การ มองๆ คุยๆ ดมๆฮ่าฮ่าฮ่า แล้ววินิจฉัย แต่ จำเป็นต้อง ซักประวัติและประเมินสภาพจิตอย่างมีขั้นตอนและใช้เวลา ร่วมกับประวัติของคนใกล้ตัว ดังนั้น ถ้ามีคุณยืนยิ้มเพราะคิดถึงแฟนอยู่หน้ามาบุญครอง ไม่ต้องกลัวว่า จะมีหมอมาบอกว่า บ้า เพราะ หมอจะไม่วินิจฉัยด้วยเหตุแค่นั้น

    ไม่ต้องกลัวว่า หมอจะมองคนสะสมมีดว่า บ้าหรือหวาดระแวง ไม่ต้องกลัวว่า หมอจะมองว่าคนร้องไห้เพราะแฟนทิ้ง เป็น โรคซึมเศร้าต้องกินยา

    การวินิจฉัยโรคใดโรคหนึ่งนั้น ตัวหมอเองต้องใช้วิชาชีพที่เรียนมาเพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยอย่างละเอียดรอบคอบเช่นกัน


    15.แล้วจะใช้เกณฑ์ไหน ว่าใครสมควรเข้านอนรพ. เขาหรือเธอป่วยจนเป็นอันตรายจริงหรือไม่

    คำตอบ:
    คำถามนี้ ดูเหมือนจะตอบง่าย แต่ความจริงตอบยากครับ

    จริงๆแล้ว การซักประวัติโดยจิตแพทย์จะมีการประเมินอยู่แล้วว่า “ความคิดฆ่าตัวตาย” หรือ “ความคิดทำร้ายหรือฆ่าคนอื่นนั้น” มีความรุนแรงในระดับไหน

    เพราะ คนคิดฆ่าตัวตายทุกคนไม่ได้จำเป็นต้องนอนรพ. หรือ ไม่ได้หมายความว่า วางแผนอยากตายเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ บางคนอาจเป็นแค่ความรู้สึกตัดพ้อหรือท้อแท้ชั่วคราวก็เป็นได้

    ดังนั้น หมอจึงต้องอาศัยการซักประวัติจากผู้ป่วย และ ประการสำคัญจากญาติ

    อย่าลืมว่า เวลาเราดูข่าว หรือ ดูหนัง เรามองในสายตาคนนอก จากมุมของบุคคลที่สาม มุมของคนที่ไม่ได้เดือดร้อน แต่หากเราเป็นผู้ที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ไม่ว่าจะในฐานะหมอหรือคนในครอบครัว เราจะพบว่า คนที่เชื่อถือได้ที่สุด หากคนไข้ไม่ยอมรับว่าป่วย ย่อมเป็นคนใกล้ชิดในบ้าน ไม่ใช่ คนที่เจอคนไข้แค่ตอนทำงาน หรือ ตอนไปดูหนัง

    และคนที่ต้องเจ็บปวด หวาดกลัว ทุกข์ทรมาน กับ อาการป่วยของคนไข้นั้น ก็คือคนในบ้านหรือคนต้องดูแล

    ตัวอย่าง : ถ้าเราเองมีญาติในบ้านมีอาการป่วย เช่น พี่สาวพูดคนเดียว พึมพำโต้ตอบกับเสียงแว่ว แต่ ยังพอไปทำงานได้ อยู่ที่ทำงานก็นั่งพิมพ์งานหน้าคอม พอกลับมาบ้าน ก็เอามีดมาลับวันละสองสามหน ล่าสุดซื้อปืนมาเก็บไว้เรียบร้อยแล้ว ถามเหตุผลก็ตอบว่า “เพราะพระวิษณุมาบอกว่า คนในบ้านเป็นปีศาจมาอวตาร จำเป็นต้องฆ่าให้พ้นกรรม แล้วทุกคนจะมีความสุข “

    คุณจะทำอย่างไร โน้มน้าวเท่าไหร่เขาก็ไม่ฟัง เพราะมันไม่ได้ทำง่ายๆแค่บอกว่า อย่าไปเชื่อ หรือ อย่าไปฟัง และ เขาคิดว่าตัวเองปกติดี ชวนไปรักษารพ.ก็ตอบว่า “ตรูไม่ไป”

    จะถามเพื่อนที่ทำงานรึ ก็ไม่ได้ประวัติมากมาย แค่บอกว่า บางทีเห็นยิ้มๆคนเดียว ไม่เคยบอกเพื่อนว่า จะฆ่าใคร (เพราะเนื้อหาของอาการนั้นเกี่ยวกับ การฆ่าคนในบ้าน)

    กรณีเช่นนี้ จะตัดสินว่าเป็นอันตรายหรือไม่ ย่อมต้องอาศัยจากคนใกล้ชิดที่สุด ร่วมกับ การประเมินจากแพทย์เองด้วยว่า ผู้ป่วยอันตรายจริงหรือไม่

    แต่ด้วยจุดอ่อนหรือช่องโหว่ของตัวกฎหมาย จึงไม่ยังไม่มีกฎหมายสิทธิบังคับรักษาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งหากยังคงขาดกฎหมายตรงนี้ ปัญหานี้จะสืบต่อเรื้อรังต่อไป

    เช่น

    ...หากลองถอดตัวเองจากการเป็นผู้ดูเรื่องราวคนอื่น แต่ ถ้าคุณเป็นญาติของคนไข้เสียเอง หรือ เป็นญาติคนไข้ข้างต้น คุณจะทำอย่างไร

    ถ้าคุณจะพาไปหาหมอก็ไม่มีใครรับรักษาในรพ. หมอต้องรอให้ญาติไปขอหมายศาลมาก่อน เพราะ กลัวว่าจะถูกคนไข้โทรตามทนายมาฟ้อง ละเมิดสิทธิคนไข้

    ในฐานะญาติสนิทที่เสี่ยงต่ออันตราย คุณจะทำอย่างไร ?

    ใครควรจะตัดสินว่า ใครคนใดคนหนึ่งควรเข้าพักรักษาตัวในรพ. ถ้า แพทย์ไม่มีสิทธิ เราต้องไปขอหมายศาลก่อนทุกครั้งหรือไม่ หากจะนำญาติเข้าพักรพ. หรือ หากญาติเราป่วย แต่ดูปกติในสายตาคนนอก แล้ววันหนึ่งกลับมาเห็นนั่งขัดปืนพูดกับเสียงแว่วในบ้านเหมือนทุกๆวันว่า 'ได้เลยจ๊ะ จอร์จ เดี๋ยว ซาร่าห์ จะฆ่าล้างบัญชีให้หมดบ้าน ตามคำแนะนำของเธอ' เราจะต้องรอไปขอหมายศาลก่อนหรือไม่จึงจะนำคนไข้เข้ารักษาได้

    เป็นคำถามที่ยังรอบทสรุปที่ชัดเจนในเชิงกฎหมาย


    16.ผมไม่ป่วย ผมไม่ได้ซึมเศร้า ผมไม่ได้ย้ำคิดย้ำทำ ไม่เชื่อหมอ ไม่รักษามีอะไรปะ

    คำตอบ:
    ...ขอย้ำว่าหมอไม่มีสิทธิบังคับให้ยอมรับหรือรักษาแน่นอนครับ สิทธิในการตัดสินใจ ก็ขึ้นกับ เจ้าตัวแต่ละคนครับ เมื่อคุณกลับไปแล้ว หมอก็จะปิดแฟ้ม ไม่ได้ไปบอกใครต่อ และ ไม่ต้องกลัวว่าหมอจะไปบอกเจ้านาย หรือ น้องชาย เพราะ หมอไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น หากเจ้าตัวไม่อนุญาติ ถือว่าผิดร้ายแรงในการละเมิดสิทธิคนไข้

    ถ้าหมอบอกว่าป่วย เป็น โรคซึมเศร้านะ หรือ ย้ำคิดย้ำทำนะ หรือ โรควิตกกังวลนะ แต่เจ้าตัวเองนั้นไม่ยอมรับยืนยันว่าไม่ต้องการรักษา หรือ ฉันไม่ป่วย แล้ว อาการนั้นไม่ได้ส่งผลทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายใคร หมอไม่มีสิทธิ บังคับรักษา ครับ เจ้าตัวสามารถเดินปร๋อออกจากห้องตรวจแล้วไปตีตั๋วดู บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ต่อได้เลยครับ


    question คำถามเพิ่มเติมจากความเห็นด้านล่างน่าสนใจครับ

    17.ต้อง 'บ้า' จึงจะไปพบจิตแพทย์ใช่หรือไม่ , ฉันไม่ได้เครียด ทำไมต้องพบจิตแพทย์

    คำตอบ:
    ...ความเข้าใจเดิมที่ว่า คนมาหาจิตแพทย์ คือ คนบ้า หรือ ต้องเครียดเท่านั้น เป็น ความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง และ เป็นความเข้าใจผิดมาช้านาน และ เป็นความเข้าใจผิดที่ทำให้หลายๆคนต้องทุกข์ทรมานอยู่แรมปี จนหลายคนตัดสินใจตัดช่องน้อยแต่พอตัวเพราะไม่อาจทนต่ออาการเจ็บป่วยของตัวเอง หรือ นึกน้อยใจที่คนรอบข้างไม่เข้าใจ

    การไปหาจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่า บ้า ไปหาจิตแพทย์ไม่ได้แปลว่าเป็น จิตเภท

    ยังมีอาการเจ็บป่วยอีกจำนวนมาก ที่เป็นโรคทางจิตเวช แต่ คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก หรือ กลัวว่า ถ้าไปหาจิตแพทย์หมายถึงเป็นบ้า

    นั่นทำให้

    หลายคนทนทุกข์กับอาการกินแล้วล้วงคอ นึกว่าเป็นนิสัยไม่ดี แต่แก้เท่าไหร่ก็ไม่หาย พยายามลดน้ำหนักจนใกล้เสียชีวิต ซึ่งความจริงคืออาการป่วยจากโรค กลุ่ม Anorexia หรือ Bulimia

    หลายคนใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม เป็นพักๆ ไปหาหมออายุรกรรมมาหลายหนตรวจทุกอย่างปกติ หมอแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์ไม่กล้ามาเพราะคิดว่าไม่ได้เครียด ทั้งที่อาการนั้นอยู่ในกลุ่มโรคที่เรียกว่า Panic disorder ซึ่งอาการบางครั้งอาจไม่สัมพันธ์กับความเครียดได้

    หลายคนร้องไห้ทุกวันโดยไม่มีสาเหตุ กลางคืนนอนไม่หลับ รู้สึกเศร้าหดหู่ตลอดวันติดๆกันมาเป็นอาทิตย์ๆ น้ำหนักลด เบื่อไปหมดทุกอย่าง เพื่อนบอกว่า 'อย่าคิดมาก' แต่มันก็ไม่ช่วยอะไร โดนมองว่าเป็นคนขี้สำออย ขี้น้อยใจ ใช้ชีวิตแบบไม่ชิวๆซะบ้างเลย ความจริงแล้วอาการที่เป็นนั้นเกิดจาก ความไม่รู้ เขาเหล่านั้นไม่เคยรู้จัก โรคซึมเศร้า จึงต้องทรมานเช่นนี้อยู่เป็นแรมปี

    หลายคนมีลูกมีหลาน ซน อยู่ไม่นิ่ง เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ตกแล้วตกอีก นึกว่าลูกโง่ นึกว่าลูกขี้เกียจ ตีจนไม้เรียวหักจนลูกเริ่มหันไปติดปังย่า หรือว่า โตมามีปมด้อย คอยตอบหรือตั้งกระทู้ล่อเป้าเกรียนไปวันๆฮ่าฮ่าฮ่า เพราะที่ผ่านมาไม่อยากเรียน เรียนไปก็ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องก็โดนตี ทั้งที่อาการของเด็กที่เรียนหนังสือไม่ได้เหล่านี้อาจเป็น โรคสมาธิสั้น หรือ LD ซึ่งดีขึ้นได้ หากพามารักษา

    ฯลฯ

    ... ทัศนคติและความเข้าใจที่มีต่อจิตแพทย์และการรักษาในอดีต ยังมีในเชิงลบและมีความเข้าใจน้อยเกินไป หลายๆคนจึงต้องทนทุกข์กับอาการป่วยตลอดมา อาจเป็นเพราะ เราคุ้นกับคำว่า จิตเวช หรือ จิตแพทย์ ก็นึกว่าต้องเป็นโรคทางจิตใจ ต้องเครียด ต้องบ้า ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันพบว่า แทบทุกโรคของจิตเวช ล้วนอธิบายได้ด้วยความผิดปกติของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สมอง สารสื่อประสาท ฮอร์โมน ฯลฯ ซึ่งมาเกี่ยวข้องกันร่วมเป็นสาเหตุของโรค

    น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะเข้าใจ อาการเจ็บป่วยทางจิตใจหรือจิตเวชมากไปกว่าเดิม



    idea.... ดังนั้น ช่วงนี้ เรารอดูผลการวินิจฉัยกันต่อไปดีกว่าครับ อย่าเพิ่งด่วนวิตกกังวลว่า จะเป็นแผนการของหมอกับญาติร่วมมือกัน รอดูผลวินิจฉัยสุดท้ายว่าอะไรคืออะไร เพราะ แค่จากหน้าข่าวตอนนี้ มันไม่ได้บอกเลยว่า ตัวอาจารย์นั้นป่วยหรือไม่ป่วย

    คนที่ตัดสินได้ดีที่สุดในตอนนี้คือ หมอเจ้าของไข้ และ ทีมผู้รักษา ครับ


    ป.ล. เขียนวิชาการนี่ยากวุ้ย ต้องแก้บ่อยกว่าเขียนถึงหนังอีกhaha

    แก้ไขเมื่อ 06 มี.ค. 50 20:19:45

    แก้ไขเมื่อ 06 มี.ค. 50 16:21:19

    แก้ไขเมื่อ 03 มี.ค. 50 22:14:55

    แก้ไขเมื่อ 03 มี.ค. 50 21:09:34

    แก้ไขเมื่อ 03 มี.ค. 50 20:53:22

    แก้ไขเมื่อ 03 มี.ค. 50 20:12:49

    แก้ไขเมื่อ 03 มี.ค. 50 18:50:29

    แก้ไขเมื่อ 02 มี.ค. 50 01:10:35

    แก้ไขเมื่อ 01 มี.ค. 50 19:42:30

    แก้ไขเมื่อ 01 มี.ค. 50 19:09:31

    แก้ไขเมื่อ 01 มี.ค. 50 19:03:46

    แก้ไขเมื่อ 01 มี.ค. 50 11:16:20

    แก้ไขเมื่อ 01 มี.ค. 50 11:13:26

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 19:10:44

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 12:25:14

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 11:03:07

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 07:58:16

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 00:58:49

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 00:50:54

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 00:47:27

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 00:43:13

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 50 00:30:08

    จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" - [ 28 ก.พ. 50 00:23:00 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom