Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    [Review]The Number 23 : การเดินทางของ 'กรรม'[Spoiler Alert]

    และก็มาถึงวันที่สองของเทศกาลสงกรานต์แล้ว สำหรับตัวของผม นักดูหนังแถว G ก็ไม่ได้ออกไปเตร็ดเตร่ที่ไหนเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องด้วยแฟนสาวต้องติดตามญาติๆไปช่วยงานบุญที่ต่างจังหวัด แน่นอน นี่เป็นโอกาสที่ไม่ได้วิ่งผ่านทางเข้ามาบ่อยนัก ที่จะได้มีเวลาว่างพักผ่อนและจัดแจงธุระปะปังของตนเอง รวมถึงได้รับรู้ถึงความ ‘โสด’ ที่ไม่ได้สัมผัสมาเป็นเวลานาน นั่นทำให้ผมไม่รอช้าที่จะละเลียดเวลาว่างรสเลิศด้วยการจัดแจงแต่งห้อง ปัดกวาดเช็ดถู เคลียร์งานที่คั่งค้าง และเอกเขนกอย่างเอื่อยเฉื่อยในช่วงบ่ายผ่านไปบนหน้าจอคอมพิวเตอร์กับหน้าต่างโปรแกรม MSN กับเพื่อนสมัย ม.ปลายคนหนึ่ง ที่พูดคุยสัพเพเหระตามประสาชายหนุ่ม ในขณะที่การพูดคุยกำลังออกรสชาติอยู่นั้นเอง ที่ผมเริ่มรู้สึกว่า ถ้าว่างๆ เช่นนี้ ออกไปชมภาพยนตร์สักเรื่องในบรรยากาศหัวเดียวกระเทียมลีบในโรงหนังอันมืดมิดดังเช่นที่เคยกระทำเป็นประจำก่อนหน้านั้น คงจะดีไม่ใช่น้อย ว่าดังนั้นก็บึ่งรถออกไปในทันที


    และเรื่องราวทั้งหลาย มันคงจะเป็นไปตามครรลองของชายอยากโสดที่นั่งละลายโมงยามอันแสนว่างของตนเองไปกับภาพยนตร์เช่นทุกครั้งไป ถ้าไม่ใช่ที่ว่า เรื่องราวที่ผมได้ตีตั๋วในเวลาบ่ายสามโมง 23 นาทีเพื่อเข้าไปรับชมนั้น คือ The Number 23 ผลงานชิ้นที่ 23 ของ Joel Schumacher ผู้กำกับมือทองที่เคยรังสรรค์ผลงานในดวงใจของผมอย่าง Phantom of the Opera และได้นักแสดงแถวหน้าของวงการอย่าง Jim Carey ที่พลิกบทบาทตัวเองครั้งสำคัญกับนาฏกรรมที่เป็นประหนึ่งภาคดัดแปลงของมหากาพย์ Faust เรื่องนี้  


    สำหรับ The Number 23 นี้ เริ่มต้นด้วยการบอกเล่าเรื่องราวจากปากของวอลเตอร์ สแปร์โรว์ (นำแสดงโดย Jim Carey และไม่ได้เป็นญาติกับแจ็ค สแปร์โรว์แต่ประการใด) ชายหนุ่มแสนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีภรรยา มีลูกชายวัยรุ่น มีการงานที่เรียบง่าย และชีวิตที่สุขสงบเฉกเช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆ ทั่วไป จนกระทั่งเมื่อภรรยาสาวได้ซื้อหนังสือนวนิยายเล่มหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิดให้กับเขา และมันก็คงจะเป็นเรื่องที่คู่สามีภรรยาที่รักกันพึงกระทำเฉกเช่นทั่วไปเป็นแน่แท้ ถ้าไม่ใช่ที่ว่า….


    นวนิยายเล่มนั้น คือ The Number 23 ที่จั่วหัวบนปกเอาไว้ว่า “สุดยอดนาฏกรรมแห่งความลุ่มหลง” ที่นำพาวอลเตอร์ไปสู่การผจญภัยอันแสนโลดโผนบนหน้ากระดาษของ “ฟิงเกอร์ลิง” ยอดตำรวจนักสืบที่พัวพันกับคดีลึกลับ ความลุ่มหลง กลอุบาย และ….ความตาย ที่เร้าใจตั้งแต่สายตาของเขาสัมผัสกับตัวอักษรแรกกันเลยทีเดียว


    ในสภาวการณ์เช่นนี้ ผมเชื่อว่าเราก็คงจะเคยผ่านมากันบ้างไม่มากก็น้อย กับความรู้สึกจำพวกที่ได้อ่านนิยาย ฟังเพลง ดูภาพยนตร์ แล้วรู้สึกว่ามันช่าง ‘คลับคล้ายคลับคลา’ หรือ ‘นี่ล่ะ ชีวิตของชั้นเลย’ ใช่หรือไม่ครับ? สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกประหลาดอันใดเลย กับการที่เราจะมีประสบการณ์ร่วมกับสิ่งๆ หนึ่งในขณะที่คนอื่นอาจจะไม่ได้ร่วมรับรู้หรือรับทราบด้วย และมันเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความลุ่มหลง’ ในระดับจิตไร้สำนึก และเริ่มสร้างแนวมาตรฐานความคิดยึดติดกับสิ่งหนึ่งๆ และตีความกันไปตามประสา ไม่ต่างอะไรกับคนที่เดินทางแห่ไปขูดเปลือกต้นไม้ มองดูฟองน้ำ กราบไหว้เจลลดไข้ แล้วตีความเป็นตัวเลขเอาไปซุ่มเสี่ยงแทงหวย ก่อนจะกลับมาสู่กระบวนการเดิมๆ อีกครั้ง และนี่คือสิ่งที่วอลเตอร์กำลังเผชิญหน้าอยู่ ความรู้สึกที่คลับคล้ายและส่วนที่ร่วมกันระหว่างเขาและนักสืบฟิงเกอร์ลิง เหล่านี้คือการเตรียมความพร้อมให้กับจิตใจเบื้องลึกเพื่ออ้าแขนเปิดรับกับอาการ ‘อุปาทาน’ ที่กำลังขยายตัวและรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ดังที่จะเห็นในช่วงตอนต้นจนถึงช่วงตอนกลางของเรื่อง ยิ่งตัวของฟิงเกอร์ลิงในหน้านิยายมีความคล้ายคลึงกับตัวของวอลเตอร์มากเท่าไหร่ ความลุ่มหลงอันนำไปสู่การเดินทางในวงจรอุบาทว์แห่งเลข 23 ของวอลเตอร์ก็ยิ่งทวีความเข้มข้นและใกล้ระดับวิกลจริตมากขึ้นเท่านั้น


    สำหรับตัวของผม ได้นั่งดูมาจนถึงบัดนี้ แม้ว่าตัวบท การวางปริศนา การกำกับภาพจะอยู่ในขั้นที่ดี ตื่นระทึกและให้ความรู้สึกถึง ‘ความมืดมิด’ ในสไตล์ฟิล์มนัวร์ขนานแท้ (ตำรวจนักสืบ สาวสวยเซ็กซี่สุดอันตราย การฆาตกรรมอำพราง ด้านมืดแห่งจิตใจ) และบทบาทการแสดงที่ฉีกแนวของ Jim Carey ที่เหนือชั้น (แม้อาจจะไม่เท่ากับตอนที่เขาเล่นในเรื่อง The Eternal Sunshine on a Spotless Mind ) เขาดูหล่อและเถื่อนโฉดอย่างได้ใจเอามากๆ ในบทของฟิงเกอร์ลิง และดูสุภาพใจดีในบทของวอลเตอร์ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคาดเดาความเป็นไปในช่วงสุดท้ายของเรื่อง และคิดรูปแบบเอาไว้แล้วบ้าง แต่แล้วเมื่อผมนั่งรับชมต่อไปจากกลางเรื่องจนถึงตอนจบ สิ่งที่ได้ตอกเข้าใส่หน้าจังๆ กลับไม่ใช่เรื่องของการอุปาทานหรืออะไรเลยแม้สักนิด แต่เป็นอะไรบางอย่างที่เป็นดั่งตัวแทนของ ‘ความลุ่มหลง’ ที่ฉาบเคลือบด้วยอารมณ์อันแสนมืดหม่นบางอย่างที่น่าสะพรึงกลัวเอามากๆ อย่างไม่อาจจะเทียบได้….  


    ความลุ่มหลงจนถึงระดับบ้าคลั่งในตัวเลข 23 ของวอลเตอร์ ทำให้เขาถลำลึกไปสู่การพยายามที่จะหาที่มาของนิยายเล่มนี้ ว่าเป็นใคร ที่เขียนชิ้นงานที่ราวกับถูกสาปจากนรก และกัดกินทำลายชีวิตและครอบครัวอันสงบสุขของเขาเข้าไปทุกขณะ เขาเริ่มตามร่องรอยเบาะแสที่หนังสือเล่มนี้ได้ทิ้งเอาไว้ ตั้งแต่การไล่อ่านจนถึงตอนสุดท้าย ตามรหัสไปรษณีย์ที่เหลือทิ้งเอาไว้ด้านหลัง ไปจนถึงการค้นหาปูมปริศนาเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่มีความคล้ายคลึงกับนิยายเล่มนี้ และเชื่อว่าจะนำไปสู่คำตอบที่ตามหา แต่ทั้งหมดนำไปสู่ความมืดแปดด้าน และความหวาดระแวงที่เพิ่มพูนขึ้นทุกขณะ ก็ทำไมจะไม่เป็นเช่นนั้น….


    เพราะคนที่เขียนหนังสือเล่มนี้….คือตัวของวอลเตอร์เอง…


    สำหรับตัวของผม แม้จะเคยคาดเดาถึงความเป็นไปในลู่ทางนี้มาไว้บ้างแล้ว แต่ก็ปัดมันทิ้งออกไปเป็นกรณีแรกๆ เพราะน้ำหนักรวมถึงเหตุผลในความเป็นไปดูเบาบางจางสนิทในเบื้องแรก แต่ก็เจ้าหนังสือนวนิยายปกแดงเล่มนี้ไม่ใช่หรือ ที่สะท้อนในทุกๆความหมายของ ‘ความลุ่มหลง’ ออกมาอย่างเด่นชัด ภาพของนักสืบฟิงเกอร์ลิง จะเห็นได้ว่าทั้งเท่ ขรึม แกร่งกร้าว มีสาวสวยเคียงข้าง ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการชดเชยปมด้อยอันเป็นผลจากวัยเด็กอันขาดหาย ความฝันที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม บาดแผลอันปวดร้าวจากอดีต ความรักที่ไม่สมหวัง ก่อนจะตามมาด้วยองค์ประกอบสำคัญในช่วงท้ายเรื่องอย่างการสารภาพบาปผิดที่ได้กระทำเอาไว้ นั่นคือการฆาตกรรมแฟนสาว ที่สะท้อนออกมาในนิยายในรูปแบบเดียวกัน และปิดฉาก ‘ตัวตน’ อันล้มเหลวด้วยการกระโดดตึกฆ่าตัวตายปิดท้ายรายการ


    มาจนถึงจุดนี้ ผมก็อดคิดไปเสียไม่ได้ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะสื่อถึงอะไร?


    ขอเท้าความกลับไปถึงช่วงที่ผมพูดคุยกับเพื่อนในหน้าต่าง MSN ในช่วงบ่ายกันสักนิดหนึ่ง เพราะมันได้ทิ้งคำพูดบางอย่างที่ประจวบเหมาะในเวลาและสถานการณ์เหล่านี้เสียจริงๆ เอาไว้ว่า…


    “คนเรามันถ้าตัดสินใจกระทำอะไรบางอย่างไป ก็ต้องยอมเผชิญหน้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและต้องทนรับกับความ ‘เชี่ย’ ของหนทางที่ตนเลือกไว้ด้วย”


    และก็ได้ความ ‘เชี่ย’ ในชีวิตนี่เอง ที่เป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการยึดติดและตัดสินใจแก้ปัญหาก่อนหน้านั้นของวอลเตอร์อย่างผิดๆนี่เอง ที่ทำให้เกิดเรื่องราวร้ายๆ ตามมา เขาจบเรื่องราวแย่ๆด้วยการฆาตกรรมและระบายมันออกในหน้ากระดาษ ก่อนจะจบชีวิตของตนเอง แม้จะรอดชีวิตจนความจำเสื่อม แต่มันก็ยังเป็นการหนีอย่างซ้ำซาก ทั้งที่ปมมันยังคงค้างคาไม่จบสิ้น


    แต่เขาอาจจะลืมความจริงข้อหนึ่งไปตรงที่ว่า เรื่องราวเช่นนี้ มันก็เป็นกันทุกคนไม่ใช่หรือ? มนุษย์เราต้องผ่านความผิดหวัง ความทุกข์ยาก ความสับสนนานัปประการ เพราะแน่นอนว่าบางสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น มันไม่เคยหายไปไหน อย่างน้อยก็ในใจของเรา อย่างกรณีของนิยายหมายเลข 23 นี้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับตัวแทนหรือปูมบันทึกของการกระทำ ‘เชี่ยๆ’ ที่วอลเตอร์ได้เคยกระทำเอาไว้ และไม่ว่าจะนานสักเท่าใด ท้ายที่สุด มันก็ต้องตามมาจนทัน


    ผมนั่งจมอยู่กับเก้าอี้ในโรงหนังหลังจากภาพยนตร์จบอยู่เป็นเวลานาน พลางนึกถึงเรื่องราวร้ายๆและความผิดพลาดที่ได้เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา หลายครั้งผมโทษว่าเป็นความผิดของเพื่อนฝูง ของผู้คน ของระบบ หลายต่อหลายครั้งผมวิ่งหนี หรือแม้กระทั่งการระบายลงหน้ากระดาษอย่างที่วอลเตอร์ได้กระทำลงไป แต่สุดท้ายความจริงก็วิ่งเข้าใส่หน้า เมื่อพบว่าทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่เกิดจากการกระทำของ ‘เรา’ แต่เพียงผู้เดียวล้วนๆ


    ในตอนสุดท้ายของหนัง วอลเตอร์เลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตายเป็นครั้งที่สองเพราะลูกชายของตนเอง และกลับมาสำนึกได้ว่า สิ่งที่เขากำลังจะทำลงไปนั้น แท้จริง คือการวนเวียนซ้ำกับปัญหาเดิมๆ และบรรจบวัฏจักรอุบาทว์แห่งตัวเลข 23 ที่เขาเคยหลีกหนีขึ้นมาอีกครั้ง และดังที่เราจะได้เห็น ภาพของฟิงเกอร์ลิงและตัวของวอลเตอร์ต่างสะท้อนความเป็นไปซึ่งกันและกันอยู่ภายใน ดูราวกับการกลับมาอีกครั้งของหนังสือนิยายที่เขาทิ้งค้างเอาไว้เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น เป็นการวิ่งตามทันของ ‘กรรม’ และ ‘โอกาสที่สอง’ เพื่อปรับชีวิตของชายหนุ่มที่แตกร้าวให้กลับมาสู่ครรลองที่ถูกที่ควร ด้วยการเข้ามอบตัวกับตำรวจ และพร้อมยืดอกรับกับความผิดที่ตนได้กระทำด้วยความยินยอมพร้อมใจ


    อันที่จริงแล้ว แม้ตัวหนังจะมีช่วงที่แผ่วๆ และจังหวะที่ให้เดาเรื่องได้บ้างในบางจุด แต่มันก็ทำให้ผมอดที่จะนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Secret Window หรือ The Machinist ที่ชูประเด็นเกี่ยวกับ ‘ความรู้สึกผิด’ และกระบวนการป้องกันตนเองจากความผิดบาปเหล่านี้ไปเสียไม่ได้ แต่ความต่างที่ทำให้ผมรู้สึกนิยมชมชอบ The Number 23 นั้น อาจจะอยู่ตรงที่หนังพยายามฉายกระบวนการต่างๆ และเปิดช่องทางให้กับตัวเอกได้กลับมาแก้ไข และเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ ที่ได้กระทำลงไป เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง


    เพราะมนุษย์เราเองก็เป็นเช่นนี้….การกล่าวโทษ มันคงทำได้ง่ายสะดวกดายยิ่งนัก แต่การยืนรับและเรียนรู้กับข้อผิดพลาดและ ‘คืนดี’ กับอดีตต่างหาก ที่ทำได้ยากเสียยิ่งกว่ายาก และยิ่งกับอนาคตที่มีความสุขของคนที่รักและห่วงใยคอยอยู่เคียงข้างด้วยนั้น สำหรับวอลเตอร์แล้ว ไม่ว่าจะลำบากยากเข็ญสักเท่าใด มันก็คงจะไม่หนักหนาสาหัสเกินไปนัก


    “มันก็คงเป็นเหมือนกับที่เขาบอกเอาไว้ ว่าตอนจบของเรื่องราวชีวิต มันคงไม่สวยงาม แต่ก็น่าจะพอรับได้อยู่น่ะ”



    ปล. มาลองนั่งคิดกันเล่นๆ ดู ก็พบว่าเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตของผม มีความเกี่ยวข้องกับเลข 23 อย่างน่าประหลาดจริงๆ ผมเกิดวันพุธ เวลาตีสอง (วันที่ 3 ของสัปดาห์ เวลาตี 2), รักครั้งแรกตอน ป.6 (2 คูณ 3) , ชีวิตบัดซบสุดๆ ตอน ม.5 (2 บวก 3) , ตัดสินใจซิ่วไปเรียนใหม่ตอนอยู่ปี 2 ขึ้นปี 3 หรืออย่างล่าสุด คำพูดของเพื่อนผมใน Chat Log ของ MSN เมื่อดูเวลาแล้ว มันเป็นเวลา ….. บ่ายสองโมง สิบห้านาที….

    จากคุณ : บ้าเกม - [ 16 เม.ย. 50 22:16:13 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom