Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    Ratatouille : มันต่างกันน่ะ...ระหว่างขุดคุ้ยกับไขว่คว้า

    แน่นอนว่า Ratatouille เป็นหนังการ์ตูนที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ชมเด็กๆ เป็นสำคัญ  แต่ทว่าผู้ใหญ่อย่างเราจะดูถูกหนังเรื่องนี้ไม่ได้เลยโดยเฉพาะในส่วนของบทภาพยนตร์  มันไม่ได้ถูกเขียนด้วยสติปัญญาที่ไร้เดียงสาหากแต่เป็นระดับอัจฉริยะ  ทั้งงดงามและลุ่มลึกเสมือนผลงาน     ดราม่าหวังรางวัลเลยทีเดียว  

    ทั้งๆ ที่แอนนิเมชั่นเรื่องนี้ของ ค่ายพิกซ่าร์ มีดีอยู่เกินตัว  แต่จากภาพหนังตัวอย่างที่ปล่อยออกมาก่อนฉาย  กลับเป็นไปอย่างเรียบง่ายและถ่อมตน  ถือเป็นอีกหนึ่งข้อดีที่ความบันเทิงของ Ratatouille  ถูกซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิดภายใต้ฝาชีของการตัดต่อ    ก่อนที่จะยกมาเสิร์ฟผู้ชมและอวดรสชาติชั้นเลิศเมื่อตอนได้สัมผัสเรื่องราวของหนังทั้งหมด  ช่างแสนอิ่มตาอิ่มใจและมากถึงขั้นสะเทือนอารมณ์ได้ในหลายๆ ฉาก  ความรู้สึกแบบเดียวกันกับที่เคยชมการ์ตูนญี่ปุ่นจากค่ายจิบลิกลับมาเยือนผู้เขียนอีกครั้งจากการได้รู้จักกับ Ratatouille  เรื่องนี้
    ผู้กำกับปรุงแต่งเรื่องราวของหนังได้อย่างกลมกล่อม  ถึงรสชาติและมีรสนิยม  งานด้านภาพและเสียงน่าจะเรียกได้อย่างเต็มปากว่างดงามไร้ตำหนิ ( ในมาตรฐานปัจจุบันของงานประเภทนี้)  บทบาทของตัวละครที่ค่อยๆ เร่งระดับความสำคัญขึ้นจนกระทั่งผูกพันกับผู้ชมได้ในที่สุดอันนำไปสู่ฉากตอนท้ายเรื่องที่ทรงพลัง  เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทีมผู้สร้างซึ่งอยู่เบื้องหลังที่ร่วมกันผลักดันแต่ละนาทีของเรื่องราวเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่นี้ให้สำเร็จลงได้อย่างน่าชื่นชม

    เรื่องราวว่าด้วยชีวิตของเจ้าหนูเรมี่ที่มีนิสัยแหกคอกไม่ชอบกินเศษอาหารและขยะ  มันมีรสนิยมเลิศหรูและปรารถนาว่าวันหนึ่งจะเป็นพ่อครัวชื่อดังแห่งกรุงปารีสให้ได้   เหมือนกับ  เชฟออกัส  กุสโต้  พ่อครัวผู้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เรมี่   เรมี่สนใจการทำอาหารเหมือนเขากำลังตกหลุมรักศิลปะแขนงนี้เข้าอย่างจังจนถึงขั้นถอนตัวไม่ขึ้น  เขาเฝ้าลองผิดลองถูกจับโน่นผสมนี่เพื่อฝึกฝนวิธีการปรุงอาหารให้อร่อย  จนวันหนึ่งเรมี่ก็ได้เป็นเจ้าของตำราอาหารของกุสโต้  เขาคว้าตำราเล่มนี้มาจากหญิงชราที่น่าจะไม่เคยเปิดอ่านมันเลยด้วยซ้ำ  เรมี่พยายามศึกษาการทำอาหารจากตำราจนจำได้ขึ้นใจในทุกสูตร  เหมือนเขาเตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อที่โอกาสการพิสูจน์ฝีมือจะมาถึง  ( ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการหาความรู้จากการอ่านหนังสือสามารถเปลี่ยนชีวิตเราได้...)

    เชฟออกัส  กุสโต้  ผู้วายชมน์ กลายเป็นภาพในจินตนาการของเรมี่ที่ยังคงโลดแล่นอยู่ในชีวิตเขาเสมือนกุสโต้ยังมีตัวตนอยู่จริงๆ  เป็นจินตนาการผู้คอยชี้แนะให้ลงมือ  ยับยั้งเมื่อทำผิดและปลอบโยนให้กำลังใจ  ศิลปะในการพูดของจินตนาการกุสโต้  เปี่ยมพรสวรรค์ไม่แพ้การปรุงอาหารของเขา  หลายครั้งที่ผู้ชมจะรู้สึกว่าเหมือนกำลังได้รับการสั่งสอนจากครูผู้รู้ซึ้งชีวิตเป็นอย่างดี  ( ทั้งที่กุสโต้เป็นเพียงแค่ตัวการ์ตูน )
    กุสโต้ไม่เพียงเคยสร้างสรรค์อาหารให้มีรสชาติเลอเลิศเท่านั้น  ความสามารถด้านการพูดให้กำลังใจของเขาก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะสร้างชีวิตคนให้ดีขึ้นมาได้เช่นกัน  ดูได้จากผลงานการเปลี่ยนคนที่เคยผ่านชีวิตแย่ๆ มาก่อนอย่างเด็กไร้บ้าน นักโทษขี้คุก  ผู้หญิงที่ถูกเหยียดเพศ  กุสโต้สร้างโอกาสใหม่ให้พวกเขาโดยปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้ที่น่าจะเรียกได้ว่ามีความผิดเพี้ยนอยู่ในรสแห่งชีวิตนี้ได้กลับมามีชีวิตที่กลมกล่อมเยี่ยงคนปกติอีกครั้ง
    บุคคลชายขอบเหล่านี้    มีบทบาทสำคัญอยู่ในครัวของภัตตาคารกุสโต้  จิตใจที่เปิดกว้างของกุสโต้เป็นที่มาจากคติพจน์ที่เจ้าหนูเรมี่ยึดมั่นเป็นสรณะว่า  “Anyone  can  cook”  (ไม่ว่าใครก็ทำอาหารได้ทั้งนั้น)

    หลังจากเรื่องราวได้จับพลัดจับผลูให้เจ้าหนูเรมี่ได้มาเป็นมิตรแท้ต่างสายพันธุ์กับหนุ่มน้อยชื่อว่า ลิงกวินี่  เด็กชายไร้ฝัน ไร้พรสวรรค์และดูเหมือนจะไร้ชีวิตชีวาในหลายๆ พฤติกรรม ลิงกวินี่มาทำงานเป็นเด็กเทขยะให้ภัตตาคารกุสโต้ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่คนใหม่ผู้มีบุคลิกต่ำเตี้ยไม่แตกต่างจากรสนิยมของเขา  พ่อครัวตัวเล็กคนนี้แอบซ่อนแผนการใหญ่ที่จะฮุบกิจการภัตตาคาร  กุสโต้เป็นของตน  แล้วเปลี่ยนรูปแบบร้านไปผลิตอาหารแช่แข็ง  ( จำหน่ายอาหารสำเร็จรูปประเภทเดียวกับอีซี่โกที่เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังทำอยู่ )

    จากความเซ่อซ่าของลิงกวินี่บวกกับความช่วยเหลือที่สามารถของหนูน้อยเรมี่        ทำให้นักวิจารณ์อาหารชื่อดังเข้าใจผิดว่าลิงกวินี่คือพ่อครัวผู้มีรสมือเป็นเลิศ  ชื่อเสียงของลิงกวินี่ภายใต้ความสามารถของเรมี่ดังกระฉ่อนไปไกลจนกระทั่งนักวิจารณ์อาหารชื่อดังที่สุดของเมืองชื่อว่า อีโก้ ต้องมาขอท้าชิม
    อีโก้เป็นนักวิจารณ์อาหารที่เงียบขรึม  เย็นชา  และดูเหมือนไร้อารมณ์เป็นที่สุด  แต่กระนั้นเขาก็เป็นคนที่เปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ด้านการทดสอบอาหาร  ก่อนการทดสอบของอีโก้จะมาถึง  ปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ก็ระดมประดังกันเข้ามาพาให้เรื่องราวของหนังต้องเดินเข้าสู่ภาวะความ ตึงเครียดและกลายเป็นจุดวิกฤติ  ก่อนที่จะคลี่คลายออกด้วยความฉลาดและน่ารักเป็นที่สุด  ทั้งยังฝากฉากจบที่ทรงพลังให้ผู้ชมได้กลับไปคิดต่อเป็นการบ้านหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจบันเทิงใน     โรงภาพยนตร์แล้ว...
    “มันต่างกันน่ะ...ระหว่างขุดคุ้ยกับไขว่คว้า”  เจ้าหนูเรมี่คงคิดเช่นนั้นจึงได้ทำเช่นนั้นและเป็นเช่นนั้น  โดยฐานะของตัวมันเองที่เป็นเพียงแค่หนู  สัตว์สกปรกผู้ต่ำต้อย  เรมี่อาจหาญคิดฝันเกินตัวและเดินตามความฝันนั้นไปด้วยความมุ่งมั่นและอดทน  ฝ่าด่านความยากลำบากต่างๆ นานาแต่ที่ถือเป็นอุปสรรคใหญ่สุดคงได้แก่คำสบประมาทของผู้เป็นพ่อ  ว่าให้เจียมตัวในความนึกฝันและสำเหนียกอยู่ตลอดว่าตัวเองนั้นเป็นใคร  โชคดีที่เสียงปรามาสของพ่อยังไม่ดังไปกว่าเสียงให้กำลังใจจากจินตนาการของกุสโต้  เรมี่เดินตามความฝันของตัวเคียงข้างไปกับภาพจินตนาการที่สมมุติขึ้นมาเองจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด  
    เรมี่เกลียดการขุดคุ้ยเศษซากขยะเหลือทิ้งเหมือนที่พวกหนูชอบทำกัน  อาหารที่หนูประทังชีวิตล้วนมาจากเศษเดนเหลือกินจากผู้อื่น  เรมี่เลือกที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ต้องการขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง  เขาจึงเลือกกินเฉพาะอาหารที่ตัวเองเป็นผู้ปรุง   แทนที่จะต้องไปขุดคุ้ย  เจ้าหนูเรมี่ของเรามันเลือกที่จะไขว่คว้า...

    มีภาษาภาพยนตร์ปรากฏอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้และแตกออกได้เป็นหลากหลายประเด็น  แต่ที่เด่นจริงๆ คงเป็นเรื่องความสำเร็จที่ต้องสร้างเอง (ไขว่คว้า) แทนการฉกฉวยความสำเร็จของ    ผู้อื่นมาอย่างมักง่าย (ขุดคุ้ย)  ประเด็นนี้  นอกจากจะสื่อผ่านพฤติกรรมหลักของพวกหนูขี้ขโมยแล้ว  ยังสื่อผ่านพ่อครัวตัวเล็กที่คิดจะฮุบกิจการภัตตาคารที่กุสโต้สร้างมาด้วยหัวจิตหัวใจ   ,  ชื่อเสียงที่ลิงกวินี่ได้รับก็เช่นกัน  มันเป็นความสำเร็จของผู้ที่อยู่เบื้องหลังซึ่งก็คือเจ้าหนูเรมี่นั่นเอง  , มรดกที่  ลิงกวินี่ได้รับจากพินัยกรรมของผู้เป็นพ่อก็เป็นเพียงความสำเร็จของบรรพบุรุษ  หาใช่ความสำเร็จที่ลิงกวินี่สร้างขึ้นมาด้วยตัวเองไม่  รวมไปถึงการหาชื่อเสียงของเหล่านักวิจารณ์อาหารที่โด่งขึ้นมาจากงานสร้างสรรค์ของคนอื่น
    อีกนัยยะหนึ่งที่เหน็บแนมและกะเทาะเปลือกความเป็นฝรั่งเศสได้ถึงแก่นนั่นคือ  มหานครอันหรูหราของเหล่าศักดินาชนชั้นผู้ดีแห่งนี้  มันถูกสร้างขึ้นจากน้ำแรงของชนชั้นไพร่ทาสผู้ยากจน ( สื่อผ่านชื่อ Ratatouille ที่เป็นผักต้มคล้ายๆ จับฉ่ายซึ่งเป็นอาหารของคนจนในฝรั่งเศส)
    ก่อนที่หนังจะเลี่ยนไปกับความสำเร็จของเจ้าหนูเรมี่ที่เป็นซะยิ่งกว่าแฟนตาซี  (ทั้งๆที่เป็นหนังการ์ตูนอยู่แล้ว) ความฉลาดของผู้เขียนบทและผู้กำกับได้แก้รสให้หนังกลับมามีความหนักแน่นขึงขังอีกครั้งในตอนท้ายของเรื่อง  โดยใช้ตัวละครของอีโก้  นักวิจารณ์อาหารผู้เคร่งเครียดเป็นเครื่องมือหลัก  อันทำให้ Ratatouille ได้ทำหน้าที่สะท้อนชีวิตในอีกมิติหนึ่งให้ผู้ชมได้เห็นถึงอีกมุมมองที่แตกต่างออกไปของความสำเร็จ
    อีโก้ผู้สูงส่งและยิ่งใหญ่  บริโภคอัตตาของตัวเป็นอาหารหลัก  ความสำเร็จในชีวิตของอีโก้นั้นได้มาอย่างไร  หนังไม่ได้กล่าวถึง  หากแต่นำเสนออีกแง่มุมของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วแต่กลับลืมกำพืดของตัวเอง  ลืมความเรียบง่ายของชีวิต  ลืมความทรงจำอันงดงามในอดีตเพียงเพราะมัวหลงชื่นชมความสำเร็จของตนในปัจจุบัน  

    ปลายปากกาวิจารณ์ที่หล่นกระทบพื้นเมื่ออีโก้ได้ลิ้มรสชาติของ Ratatouille  อันเป็นอาหารคนจน  คือภาพที่แสนงดงามในหนังเรื่องนี้  อัตตาถูกปล่อยวาง  ลิ้นที่เคยจ้องจับผิดได้รับการผ่อนคลาย  รสชาติที่อีโก้สัมผัสนั้น  ผู้เขียนเชื่อว่ามันไม่ใช่อาหารที่อร่อยที่สุดในชีวิตของเขาหรอก  ( ก็เป็นนักชิมมือพระกาฬซะระดับนั้น) แต่อย่างหนึ่งที่มั่นใจได้อย่างแน่นอน  อาหารคำนั้นทำให้อีโก้มีความสุขอย่างที่สุด  เพราะมันได้ทำหน้าที่เปิดเผยพลังอันมีอิทธิพลมหาศาลต่อความเป็นเขาในปัจจุบัน  เป็นพลังที่ซุกซ่อนอยู่ภายในซอกมุมของจิตใจเขา  เสมือนหนูตัวเล็กๆ ที่นานแล้วยังไม่เคยโผล่ออกมาปรากฏตัว...

    หนังเรื่อง Ratatouille นี้ถูกสร้างด้วยกรรมวิธีไม่ต่างไปจากการปรุงอาหาร  มีการผสมรสที่แตกต่างกันอยู่เป็นระยะๆ ทั้งตลกขบขัน  ตื่นเต้น  และบรรยากาศของความรัก  คลุกเคล้ากันจนลงตัวและกลมกล่อม  ภาพที่ลงหมอกพอสวยงามแลดูชวนฝัน  ดนตรีประกอบนุ่มนวลละมุนหูที่คลอเบาๆ อยู่ตลอดเรื่องสร้างความรู้สึกร่วมเหมือนผู้ชมกำลังนั่งทานข้าวอยู่ในภัตตาคารหรูของฝรั่งเศส  


    หนังเรื่องนี้ยังพาลให้ผู้เขียนนึกถึงหนังเรื่อง Sideway ของ อเล็กซานเดอร์ เพย์  ขึ้นมา   ตะหงิดๆ ที่เคยเน้นภาพและงานดนตรีในลักษณะนี้ซึ่งให้อารมณ์เหมือนผู้ชมได้ร่วมดื่มไวน์ไปกับตัวละครในเรื่องด้วย ( เบลอภาพนิดๆ แบบชวนฝันหน่อยๆ)
    Ratatouille จบลงด้วยความสุขตามสูตรอย่างที่ควรจะเป็น  ผู้ชมอาจไม่รู้สึกจริงจังอะไรนักกับภาพเชฟกุสโต้ที่โลดแล่นเป็นจินตนาการอยู่ในหัวของเจ้าหนูเรมี่เพราะมันก็แค่ความเพ้อเจ้อของหนูหลงทางที่ต้องอยู่ตัวเดียว  เหมือนกับที่อาจไม่ค่อยรู้สึกอะไรนักกับการที่เจ้าหนูเรมี่ต้องมาคอยเจ้ากี้เจ้าการอยู่บนหัวของลิงกวินี่เวลาทำอาหารนอกเสียจากความตลกขบขันที่ได้จากภาพเหล่านั้น  แต่เชื่อเถอะว่า  ในหัวของเรามีเจ้าตัวแบบนี้อาศัยอยู่จริงๆ  บางวันมันก็นอนเซา  บางวันมันก็ลุกขึ้นมาเต้นคึกคักสนุกสนาน  ลองยกมือขึ้นไปแหวกผมที่กลางศรีษะของคุณดูซิ!
    แล้วจะเจอว่ามี “ความฝัน”อาศัยอยู่ในสมองของมนุษย์เราทุกคน  เพียงแค่จะเก็บซุกซ่อนมันไว้ตลอดไปหรือจะเริ่มทำให้มันกลายเป็นความจริงซะที...............

    จากคุณ : beerled - [ 27 ส.ค. 50 12:42:21 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom