ความคิดเห็นที่ 1
ตอนที่ 2 : รักแห่งสยาม กับ ความเป็นหนังรัก
จนถึงตอนนี้ผมได้ดู รักแห่งสยาม ไปแล้วสองรอบ ในบรรยากาศที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง รอบแรกนั้นคนดูเต็มโรงและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เสียงกรี๊ดกร๊าดจึงกระหึ่มโรงแทบแตก ส่วนรอบหลังผมลงทุนแหกขี้ตาตื่น (ต้องใช้คำนี้จริงๆ) ไปดูรอบที่เช้าที่สุด ปรากฏว่าคนดูประมาณ 10 กว่าคน ผมรู้สึกดีมากที่ได้สัมผัสกับบรรยากาศทั้งสองแบบ แบบแรกนั้นทำให้รู้สึกถึง พลังมวลชน ส่วนแบบหลังทำให้ผมได้ใช้สมาธิกับหนังมากขึ้น
เมื่อได้ดู รักแห่งสยาม อีกรอบหนึ่ง ผมได้ค้นพบความจริงที่ว่าหนังเรื่องนี้มีรายละเอียดอยู่สูงมาก และเหมาะอย่างยิ่งที่จะชมเป็นรอบที่สอง (อย่างที่ทราบกันดีว่า ปกติแล้วผมดูหนังแค่รอบเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะถ้าเป็นในโรง) ผมต้องยอมรับเลยว่า ผู้กำกับ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล นั้นเก่งกาจจริงๆ เห็นได้เลยว่าเขาพิถีพิถันกับแต่ละส่วนในหนัง (เขาเหมาทั้งกำกับ เขียนบท ตัดต่อ แต่งเพลงประกอบ) อีกอย่างที่ชัดเจนก็คือ มะเดี่ยวมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในหนังทุกเรื่อง (ไล่มาตั้งแต่ คน ผี ปิศาจ, 13 เกมสยอง จนมาถึง รักแห่งสยาม ที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ) ผมว่าสาเหตุสำคัญก็คือ รักแห่งสยาม เป็นหนังที่มะเดี่ยวอยากจะทำมากที่สุด ถือเป็น หนังส่วนตัว ของเขา และที่สำคัญเขามี passion อย่างแรงกล้าจะทำมันออกมา
ต้องสารภาพว่าในการดูหนังรอบที่สองนั้น ผมรู้สึกอินกับหนังมากกว่าเดิม และเสียน้ำตาให้กับหนังมากกว่าการดูรอบแรก ยกตัวอย่างเช่น ในการดูรอบแรก ผมไม่รู้สึกอะไรกับตัวละคร อาม่า มากนัก แต่พอดูอีกรอบ ผมร้องไห้ตั้งแต่ 10 นาทีแรกของหนัง ผมตระหนักรู้ว่าอาม่าเป็นตัวละครที่ Powerful ต่อหนังมากๆ หรือพูดได้อีกแบบหนึ่งว่าเป็นตัวละครที่เป็นจุดเริ่มของทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะอาม่านี่เองที่ได้ปลูกฝังเรื่อง การแต่งเพลงให้กับคนที่เรารัก กับตัวละครมิว ดังนั้นพอกลับมาดูอีกรอบ ผมจึงรู้สึกว่าฉากที่มิวกับอาม่าเล่นเปียโนด้วยกัน แล้วกล้องแพนไปจับรูป อาม่ากับอากงสมัยยังหนุ่มสาวนั้นเป็นฉากที่ทรงพลังมาก
คำพูดของอาม่ายังสะท้อนด้วยว่า รักแห่งสยาม มีความเป็นศิลปิน (Artistic) อยู่ในตัวสูงมาก ตามคาแร็กเตอร์ของผู้กำกับมะเดี่ยว จุดนี้สะท้อนผ่าน มิว ที่แต่งเพลงถึงโต้ง อย่างน้อย 2 เพลง (รู้สึกบ้างไหม, กันและกัน) ผมคิดว่าหนังประสบความสำเร็จมากในการใช้ เพลง สื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร โดยปกติแล้วผมมักมีปัญหากับการใช้เพลงประกอบ (หมายถึง เพลงที่มีคำร้อง) ในหนังไทย (หรือกระทั่งหนังฮอลลีวูด) อยู่เสมอ เพราะเพลงเหล่านั้นมักโผล่มาอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (และพูดตามตรงผมยังมีปัญหากับเนื้อเพลงไทยหลายๆเพลงที่มีเนื้อหา ชัด หรือ ฟูมฟาย จนเกินไป) ในขณะที่รักแห่งสยาม เลือกจะ present เพลงด้วยฉากในห้องซ้อม หรือการแสดงคอนเสิร์ต จึงทำให้ความรู้สึกขัดใจของผมไม่หลงเหลืออีกต่อไป
นอกจากความสามารถในการแต่งเพลง (ทั้งเนื้อร้องและทำนอง) ของมะเดี่ยวแล้ว การเรียงลำดับเพลงในหนังก็มีความต่อเนื่องมาก (ต่างจากหนังหลายเรื่อง ที่ชอบใส่เพลงมาแบบ ซี้ซั้ว และมีความมุ่งหมายเพียงแค่ว่าจะเค้นอารมณ์คนดูในตายคาจอ) อย่างเพลงแรก Ticket ที่พูดถึง การเดินทาง ก็ใช้ในฉากที่มิวกับโต้งต้องจากลากัน + การเปลี่ยนเวลาจากอดีตมายังปัจจุบัน, เพลง รู้สึกบ้างไหม ที่มีคำร้องท่อนแรกว่า อาจจะดูเนิ่นนาน อาจจะผ่านมาแสนไกล ที่เราต่างคนต่างเดินต่างไปในวันนั้น ก็เป็นเพลงที่มิวได้แรงบันดาลใจจากการได้พบกับโต้งอีกครั้งหลังจากไม่ได้เจอกันหลายปี, เพลง คืนอันเป็นนิรันดร์ ใช้ในฉากที่พาเราไปเห็นภาพของตัวละครทั้งหลายในหนังว่าในค่ำคืนนั้นพวกเขากำลังผจญกับความทุกข์อย่างไร และ เพลง กันและกัน ที่มิวแต่งให้กับโต้งเพื่อสื่อความในใจ ซึ่งผมมีข้อสังเกตว่า ในฉากแรกของเพลงนี้ (งานปาร์ตี้บ้านโต้ง) ผมรู้สึกว่ามิวกำลังร้องเพลงให้โต้งฟัง แต่ในฉากที่สอง (คอนเสิร์ตที่ลานหน้าสยามดิส) ให้ความรู้สึกว่ามิวกำลังร้องเพลงนี้ให้กับ คนดู ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า เพลงรัก เหล่านี้เองที่มีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้ รักแห่งสยาม เป็นหนังที่น่าประทับใจ ซึ่งความดีงามที่เกิดขึ้นนั้นคงมาจากเรื่องง่ายๆ ที่ว่ามะเดี่ยวเขาแต่งเพลงรักเหล่านี้ด้วยความรัก (เหมือนที่ในเพลง กันและกัน บอกไว้ว่า อยากให้รู้ ว่าเพลงรัก ถ้าไม่รักก็เขียนไม่ได้)
นอกเหนือจากรายละเอียดต่างๆ ที่สัมผัสได้มากขึ้นแล้ว ผมก็ยิ่งแน่ใจคำพูดของตัวเองว่า รักแห่งสยาม เป็นที่มีธีมหลัก (main theme) ว่าด้วย ความรัก ผมคิดว่าหนังพูดถึงความรักในหลากหลายรูปแบบ และ universal มากๆ ไม่ว่าจะเป็น ความรักแบบชาย-หญิง, ความรักแบบชาย-ชาย, ความรักในครอบครัว, ความรักระหว่างเพื่อน, ความรักแบบฉาบฉวย, ความรักที่เกิดจากความลุ่มหลง (obsession) (ในตัวละครของหญิง), ความรักที่เป็นการครอบครอง (possession) (โดนัท) ซึ่งผมคิดว่าหนังทำได้ ถึง ในทุกมิติ (แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนที่ 1 ว่า อคติต่อความรักแบบชาย-ชาย ทำให้คนดูบางกลุ่มมิอาจรับรู้ถึงมิติอื่นๆของความรักในหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง)
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่า ความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหนังเรื่องนี้ก็คือ ความรักของแม่
ความรักของแม่นั้นถูกถ่ายทอดผ่านตัวละคร สุนีย์ ซึ่งรับบทโดย สินจัย เปล่งพานิช ผมคิดว่ามะเดี่ยวตัดสินใจถูกมากที่เลือกสินจัยมารับบทนี้ เพราะสินจัยก็เป็นแม่ในชีวิตจริง และหลายประเด็นในหนังก็พ้องกับชีวิตของเธอ นั่นเองจึงทำให้สินจัยมอบการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอแก่หนังเรื่องนี้ (ถ้าหากสินจัยไม่ได้รางวัลนักแสดงหญิงจากเวทีไหนเลย ผมจะขอฆ่าตัวตาย)
หนังออกแบบตัวละครของสินจัยได้ดีมาก มีอยู่สองฉากใหญ่ๆ ที่เอื้อให้สินจัยสามารถอาละวาดโวยวายจนกลายเป็นนางร้ายได้ (อย่างที่เราเห็นๆกันว่า ตลอดเกือบ 20 ปีหลังมานี้สินจัยอยู่ในวงการละครโทรทัศน์มากกว่า หรืออย่างล่าสุดกับการแสดงละครเวที บัลลังก์เมฆ ที่ต้องใช้การแสดงแบบเล่นใหญ่ตามธรรมชาติของสื่อนั้นๆ) ฉากแรกก็คือ ตอนที่สุนีย์บอกให้มิวเลิกคบกับโต้ง (ที่เราไม่รู้สึกเลยว่าสุนีย์รังเกียจมิว) ส่วนอีกฉากก็คือ ตอนที่โต้งไม่กลับบ้าน จนสุนีย์ต้องขับรถออกมาตามหากลางดึก (สุนีย์ได้สูญเสียลูกสาวไปคนหนึ่งแล้ว เธอย่อมไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก) แต่เมื่อสุนีย์กลับบ้านมาพบลูกชายนอนหลับอยู่บนเตียง สิ่งที่เธอทำคือ วางโทรศัพท์มือถือของลูกเบาๆ ที่ข้างเตียง และเดินจากไปอย่างเงียบๆ (ฉากนี้เป็นหนึ่งฉากที่ผมและเพื่อนหลายๆคน ร้องไห้กันชนิด เบรคไม่อยู่)
มีอีกหลายฉากที่สินจัยทำได้ยอดเยี่ยมกับการแสดงออกทางสีหน้า (facial expression) (ซึ่งเราไม่ค่อยพบการแสดงแบบนี้ในละครไทยหรือหนังไทยนัก) โดยฉากที่ดีที่สุดน่าจะเป็นฉาก ต้นคริสต์มาส ที่สุนีย์สั่งให้โต้งเอาตุ๊กตาติดไปบนต้นคริสต์มาส เมื่อโต้งถามซ้ำๆหลายครั้งถึงตำแหน่งที่จะติด เธอก็หงุดหงิดใส่ลูกชาย แต่แล้วโต้งพูดเสียงอ่อยๆ กับเธอว่า ก็เดี๋ยวถ้าโต้งติดไปแล้วไม่ถูกใจแม่ แม่ก็จะว่าโต้งอีก (เพียงประโยคสั้นๆ นี้ทำให้เรารู้เลยว่าหลังจากที่แตงหายไป สุนีย์เลี้ยงดูลูกชายเธออย่างไร และโต้งเติบโตมากับครอบครับแบบไหน) สุนีย์นิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนจะพูดกับลูกชายว่า เลือกสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับตัวเอง พลางยื่นตุ๊กตาผู้ชาย, ผู้หญิงให้ ในที่สุดโต้งตัดสินใจเลือกตุ๊กตาผู้ชาย เราเห็นได้ว่าสุนีย์อึ้งไปแวบหนึ่ง ก่อนที่จะยิ้มและยอมรับกับการตัดสินใจของลูก และมองเขาบรรจงติดตุ๊กตาตัวนั้นด้วยสายตารักใคร่
ถึงแม้ฉากดั่งกล่าวจะเป็นการอุปมา (อย่างคมคาย) ถึงการเลือกเพศสภาพของตัวโต้ง แต่ในฉากที่โต้งพูดกับมิวว่า เราคงคบเป็นแฟนกับมิวไม่ได้หรอกนะ...แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักนายนะ ทำให้เราเห็นได้ว่าถึงโต้งอาจจะไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเอง เป็นอะไร แต่โต้งก็แน่ใจในความรู้สึกที่ตัวเองมีต่อมิว อย่างไรก็ดี โต้งก็เลือกที่ทำเพื่อแม่มากกว่า โดยโต้งยอมที่จะไม่คบกับมิวเพื่อให้แม่สบายใจ ฉากที่โต้งกลับบ้านมาเจอแม่ แล้วทั้งคู่กอดกัน เป็นฉากที่ดีมากอีกฉากหนึ่ง กล้องจับภาพทั้งสองฝั่ง ทั้งสีหน้าของสุนีย์ และสีหน้าของโต้ง โดยสำหรับโต้งนั้น เป็นสีหน้าที่ยากจะบรรยาย มันก็ปนด้วยความรู้สึกเสียใจที่ต้องปฏิเสธหัวใจตัวเอง แต่ก็ระคนด้วยความดีใจ/สบายใจ ที่ตัวเองได้ทำอะไร เพื่อแม่ แล้ว
เราจึงเห็นได้ว่า ความรักของแม่ ในหนังเรื่องนี้ มีพลังมหาศาลตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ในตอนต้นเรื่อง ตัวละครอาม่า (ซึ่งเปรียบเสมือน แม่ของมิว) ก็ทำให้มิวแต่งเพลงเพื่อคนที่รัก ส่วนในตอนท้าย ตัวละครของสุนีย์ก็ทำให้โต้งยอมเสียสละเพื่อแม่ของตัวเอง หลังจากเห็นว่าแม่เสียสละเพื่อเขาและครอบครัวมาทั้งชีวิต (ซึ่งแสดงไว้ในฉากที่โต้งเดินเข้าไปถามแม่อย่างสั้นๆ แต่กินใจว่า เหนื่อยมั้ยแม่)
ครอบครัวของโต้งเป็นครอบครัวชนิดที่สามารถแตกสลายได้อย่างง่ายดาย และตกอยู่ในสภาพตายทั้งเป็น เพราะการที่แตง หายสาบสูญ ไป ถือเป็นทรมานยิ่งกว่าความตายเสียอีก (เพราะการที่คนที่เรารักหายไป มันทำให้เราตกอยู่ในเส้นแบ่งระหว่างความคิดว่าเขายังอยู่หรือเขาอาจจะตายไปแล้ว) สุนีย์เป็นผู้คอยแบกรับปัญหาทั้งหมดในบ้าน (อย่างที่เห็นชัดที่สุด เธอต้องดูแลผู้ชายถึงสองคน นั่นคือ สามี และลูกชาย) จนบางครั้งเธออาจจะทำอะไรที่ทำร้ายจิตใจคนในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว แต่นั่นก็เพราะว่าเธอรักครอบครัวของเธอ เพียงแต่ความรักของเธอบางทีก็ทำร้ายคนอื่น และย้อนกลับมาทำให้เธอเองต้องเจ็บปวด
แต่ก็คงเหมือนกับในจดหมายที่จูนเขียนไว้ว่า ไม่มีความรักอะไรที่มากเกินไปหรอก ที่จริงผมเองก็ไม่เชื่อในคำพูดนี้ 100% แต่ผมเชื่อว่ามันจริงแน่ๆ สำหรับความรักของแม่ มันเป็นความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ
ประเด็นสุดท้ายจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือว่า โดยปกติแล้วผมเป็นคนที่ระมัดระวังกับการใช้คำว่า รัก อยู่มาก ผมแทบจะไม่เคยพูดนี้ออกมาจากชีวิตเลย แม้แต่กับเพื่อน แฟน คนรัก หรือคนในครอบครัว แต่ รักแห่งสยาม ทำให้ผมรู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ตัวเองจะลดทลายกำแพงที่ปิดกิ้นไม่ให้พูดคำนี้ออกมา
ว่าแล้วก็นึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันก่อน ผมพูดเล่นๆ กับเพื่อนทาง MSN ว่า ไม่ว่ากรูจะถูกคนมองว่าเกย์ หรืออาจจะถูกเพื่อนเลิกคบ แต่ถ้ามันทำคนไปดูหนังเรื่องนี้ กรูก็ยอม เพื่อนผมรู้สึกแปลกใจ (อาจจะเพราะปกติแล้วผมไม่ค่อยชื่นชมหนังกระแสหลักอย่างออกหน้าออกตาขนาดนี้) และถามผมว่าทำไมต้องทำถึงขนาดนี้
ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายเหตุผลยืดยาวอะไรอีกต่อไปแล้ว ผมตอบกลับไปเพียงสั้นๆว่า
I just LOVE The Love of Siam. Thats all.
จากคุณ :
merveillesxx
- [
28 พ.ย. 50 02:45:40
]
|
|
|