Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์

    เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ทางเจ้าของกระทู้ได้ไปพบเนื้อหาเกี่ยวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ฉายในโรงภาพยนตร์ และน่าจะเป็นความรู้ที่สมบูรณ์เท่าที่พบมา จึงขออนุญาตเจ้าของเนื้อหาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ http://www.thaifilm.com ในชื่อนามแฝงว่า น. หนามเตย ซึ่งอ้างจาก http://www.geocities.com/CapitolHill/Lobby/5101/song16.htm  อีกที (ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชื่อเจ้าของกระทู้ของผมนะครับ แค่เหมือนกันเท่านั้น) และ http://www.thaicine.com รวมไปถึงเจ้าของภาพฟิล์มที่นำมาให้ดูกัน ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ

    มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งสำหรับการแสดงมหรสพทุกชนิดนั่นคือ จะต้องพร้อมใจกันแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการยืนตรงต่อบทเพลงสรรเสริญพระบารมี เฉกเช่นเดียวกับในโรงภาพยนตร์ ก่อนที่หนังจะฉาย

    หลายคนอาจจะยังไม่ทราบมาก่อนว่า ช่วงระยะเวลาของการยืนสงบนิ่งต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา เพียงแค่นาทีกว่า ๆ นี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย

    คุณโดม สุขวงศ์ จาก หอภาพยนตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลว่า ธรรมเนียมการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย น่าจะมีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 5 เมื่อเริ่มมีการตั้งโรงภาพยนตร์แล้ว โดยเฉพาะโรงหนังญี่ปุ่นหลวง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ถาวรแห่งแรกในสยาม และเป็นโรงแรกที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ประดับตราแผ่นดิน

    ธรรมเนียมนี้อาจได้แบบอย่างมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมืองสิงคโปร์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในปกครองของอังกฤษ มีการฉายพระบรมรูปพระราชินีอังกฤษและบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี คือเพลง “God Save the Queen ; ก็อด เซฟ เดอะ ควีน” เมื่อจบรายการฉายภาพยนตร์ ให้ผู้ชมยืนถวายความเคารพ

    เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสชวา เมื่อ พ.ศ. 2439 มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บรรจบกัน 2 ประการ คือ ได้ทอดพระเนตรประดิษฐกรรมผลิตภาพยนตร์ที่พระตำหนักเฮอริเคนเฮาส์ เมืองสิงคโปร์ และการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญจักรพรรดิมาลาแก่ผู้แต่งทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีถวาย ชื่อ มิสเตอร์ ยี.เอช. แวนสัชเตเลน ที่เมืองดยกชาการ (อ่านว่า ดะ-ยก-ชา-การตา) หรือจาร์การตาในปัจจุบัน
    เมื่อเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว พระองค์โปรดเกล้า ฯ ให้ มิสเตอร์ เฮวุดเซน ครูแตรทหารมหาดเล็ก แต่งทำนองเพลงคำนับรับเสด็จอย่างเพลง God Save the Queen โดยพระราชทานทำนองเพลงที่นายแวนสัชเตเลนแต่งให้ นายเฮวุดเซนได้นำทำนองเพลงนั้นมาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นใหม่จนเป็นต้นเค้าของทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ใช้อยู่ โดยบทที่บรรเลงในปัจจุบัน สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศานุวัดติวงศ์ ทรงนิพนธ์คำร้อง ส่วนทำนองประพันธ์โดย นายปโยตร์ สซูโรฟสกี้ ชาวรัสเซีย

    ต่อมา ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงแก้คำในวรรคสุดท้าย จาก “ดุจจะถวายชัย ฉะนี้”  เป็น “ดุจจะถวายชัย ไชโย” และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2456

    เพลงสรรเสริญพระบารมีนี้เอง ที่ภายหลังเมื่อมีภาพยนตร์เข้ามาฉายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนังเงียบ ซึ่งจะต้องมีแตรวงหรือวงเครื่องสายผสมทำการบรรเลงดนตรีประกอบการฉาย วงดนตรีดังกล่าวจึงได้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความเคารพเมื่อภาพยนตร์ฉายจบ โดยในช่วงแรก ๆ เป็นการบรรเลงแต่เพียงอย่างเดียว ต่อมาจึงมีผู้ผลิตกระจกที่เป็นพระบรมรูปของพระเจ้าแผ่นดิน หรือ แลนเทิร์น สไลด์ (Lantern Slide) โดยทำการฉายกระจกพระบรมรูปพระเจ้าแผ่นดินขึ้นบนจอด้วย และถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมทั่วทุกโรงภาพยนตร์ในสยาม โดยมิได้มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด แต่ในที่สุดก็มีระเบียบออกมาบังคับใช้ เมื่อ พ.ศ. 2478 พอเข้าสู่ยุคภาพยนตร์เสียงในฟิล์มแล้ว โรงภาพยนตร์ทุกโรงก็ยังคงฉายสไลด์พระบรมรูปและเปิดแผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี

    จากคุณ : หนามเตยแมน - [ 2 ธ.ค. 50 13:11:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom