ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ "รักแห่งสยาม" โดยที่ไม่ทราบมาก่อนเลยว่ามีประเด็นชายรักชาย
เพราะจากการโปรโมตของทางค่าย ทำให้เข้าใจว่าหนังรักวัยรุ่น ที่อาจจะมีการไขว้คู่เท่านั้นเอง
แต่ไม่คิดเลยว่า เมื่อได้เข้าไปชมแล้ว ภาพยนตร์สร้างความสะเทือนใจแก่ผมอย่างมาก
ค่อนข้างจะทำให้ผมรู้สึกตรงกันข้ามกับความตั้งใจที่จะไปชมภาพยนตร์ใสๆ รักวัยรุ่น
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ล้วนเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับผมหลังจากได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้
เพื่อนๆจะได้ใช้เป็นอุทาหรณ์เกี่ยวกับผลกระทบจากสื่อ การเลียนแบบในหนัง
และต้องเรียกร้องให้ผู้ผลิต ผู้กำกับ นักแสดง ออกมารับผิดชอบต่อการกระทำของตนต่อสังคม
____________________________________________
ดังที่หลายคนออกมายี้แหวะ กับฉากม้าหินเร้นรัก ที่มีการแสดงของวัยรุ่นชายม.ปลาย "หน้าตาดี" สองคนจูบกันอย่างดูดดื่ม
และกล่าวโทษว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อเยาวชน ในการแสดงออกถึงความรักก่อนวัยอันสมควรในที่สาธารณะ
ทั้งยังเป็นตัวอย่างให้เยาวชนที่ได้ชมภาพยนตร์เกิดการเลียนแบบ ขัดต่อวัฒนธรรมไทยอันดี
ผมซึ่ง(น่าจะ)ยังอยู่ในฐานะ "เยาวชน" ซึ่งอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต จึงมีความรู้สึกสับสนต่อสังคมอันปั่นป่วนในเวลานี้
ทั้งนี้เนื่องจากสังคมไทยเสมือนอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นเดียวกัน สังคมเมืองหลวงอย่างกรุงเทพที่วุ่นวายสับสน
วิถีชีวิตของผู้คน วัฒนธรรม สังคมและการเมือง ได้เดินมาถึงทางแยกซึ่งเกิดจากแรงผลักทั้งภายในและภายนอกจนก่อเกิดพลวัตรอันยุ่งเหยิง
แรงขับภายในนั้นเกิดจากประเพณี,วิถีชีวิตอันเกิดจากรากฐานสังคมเกษตรกรรม ครอบครัวใหญ่ วัฒนธรรมท้องถิ่น
ความเป็นไทยในระบบศักดินาเจ้าขุนมูลนาย แบบปากว่าตาขยิบทำอะไรต้องมิดชิด รู้จักเกรงอกเกรงใจ
แรงขับภายนอกนั้นเกิดจากการแข่งขัน ความเป็นสากล และเสรีนิยมอย่างยิ่งยวดในสังคมอุตสาหกรรม ในโลกวัตถุนิยม
ความเป็นสากลที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเพศ ที่สามารถแสดงออกความรักได้หากไม่ได้ไปละเมิดผู้ใด
สองวิถีทางที่ถาโถมอยู่ในสังคมทำให้เกิดความไม่ลงรอยระหว่างฐานคิดจากคนโลกยุคเก่าอนุรักษ์นิยมและคนโลกยุคใหม่เสรีนิยม
ผู้ใหญ่ในสองโลกต่างคนก็ต่างยัดเยียดความคิดของตนกรอกเข้าสู่อายตนะการรับรู้ของเด็กๆว่าควรเดินตามแบบไหน
แก้ไขเมื่อ 20 ก.พ. 51 03:54:33
แก้ไขเมื่อ 20 ก.พ. 51 03:40:09