CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    อาชีพสื่อมวลชนสมควรต้องมีการสอบใบประกอบวิชาชีพ และถูกถอนใบอนุญาตหากทำผิดหรือไม่?

      สมควร เพราะเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสาธารณชน (30 คน)
      ไม่สมควร เพราะเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน (0 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 30 คน

     100.00%
     0.00%


    เวลาที่คนพูดถึงคนในแวดวงสื่อมวลชนนั้น มักเรียกรวมๆว่า”สื่อ” แต่หากจำแนกเป็นตัวละครแยกย่อยออกไป ก็จะประกอบไปด้วยกลุ่มคนต่างๆ คือ นักข่าว,กองบรรณาธิการ และนายทุนครับ

    ซึ่งตัวละครต่างๆนี้แสดงบทออกมาสู่สายตาของ”มวลชน”เป็นผลสุดท้าย ผมเลยขอให้ท่านมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกับคนเหล่านี้ดังนี้ครับ

    นักข่าว ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆจบใหม่ครับ อาจจะจบสายตรง เช่น นิเทศน์ศาสตร์,วารสารศาสตร์,สื่อสารมวลชน ก็ได้ หรือไม่จบมาสายตรงเลยก็ได้ ที่แน่ๆก็คืออาชีพนี้ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เหมือนวิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร แต่หากใครอยากจะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมวิชาชีพสื่อต่างๆ เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็สมัครได้ แต่สมาคมฯก็ไม่ได้มีอาญาสิทธิ์เหมือนแพทยสมาคม หรือสภาการอาชีพอื่นๆที่ต้องคอยให้ใบอนุญาต หรือถอนใบอนุญาตคุณ ดังนั้นการที่คุณจะเข้าจะออกจะเจริญก้าวหน้าหรือตกงาน จึงขึ้นอยู่กับต้นสังกัดของคุณเป็นหลัก หรือกล่าวโดยง่ายคือขึ้นอยู่กับเจ้านายของคุณที่เป็นบรรณาธิการ(เทียบกับบริษัททั่วไปก็คือผู้จัดการ) หรือนายทุนสื่อนั้นๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องฝากเนื้อฝากตัวกรายๆกับแหล่งข่าวของคุณไปด้วย

    พวกเรา สื่อมวลชนเรียกคนพวกนี้ว่า"นักข่าวสนาม"ครับ อาจจะอยู่ประจำโรงพักมั่ง,กระทรวง, ทบวง ,กรม ถ้าสำคัญมากก็ประจำสภา ประจำทำเนียบรัฐบาล ประจำพรรคการเมืองต่างๆ

    หากแยกย่อยออกไปก็จะมี"สาย"หลักๆครับ เช่น นักข่าวสายการเมือง,นักข่าวสายเศรษฐกิจ,นักข่าวสายอาชญากรรม ถ้าแยกย่อยลงไปอีกก็จะมีสายตำรวจ,สายทหาร,สายบันเทิง,สายกีฬา,สายตลาดหุ้น,สายอสังหาริมทรัพย์,สายยานยนต์,สายสังคม,สายศิลปวัฒนธรรมฯลฯ

    หน้าที่นักข่าวสนามที่ว่านี้ก็คือทางกองบรรณาธิการ(คือต้นสังกัดของนักข่าว)จะให้ออกไปวิ่งอยู่ในสนาม หรือปักหลักตามที่ได้รับมอบหมาย ช่วงหลังๆมานี้อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่งเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย เช่น ทำเนียบรัฐบาลก็จะให้ประจำรังนกกระจอก เป็นต้น คอยจดคอยสัมภาษณ์คอยเอาไมค์จ่อปาก"แหล่งข่าว" แล้วก็ส่งข่าวเข้าไปยังกองบรรณาธิการ

    สำหรับคำถามที่จะถามนั้น นอกจากจะถามกันไปตาม"กระแส"ข่าวช่วงนั้นๆแล้ว ก็ยังต้องถามตามที่ทางบรรณาธิการหรือ"โต๊ะข่าว"(ย่อมาจากคำว่าหัวหน้าโต๊ะข่าว ที่เป็นหัวหน้าโดยตรงของนักข่าวสนาม)มีคำสั่ง หรือมี"แอสซายน์"(assign)มา พอได้คำตอบจากแหล่งข่าวมาแล้วก็จะรายงานเข้าไปยังกอง บก.หรือโต๊ะข่าว ทั้งการส่งประเด็นทางโทรศัพท์,ส่งโทรสาร(สมัยโบราณ),ส่งทางเมล์ หรือถ่ายทอดทั้งสดทั้งแห้ง(กรณีเป็นสื่อวิทยุหรือทีวี) ในสมัยนี้ก็เลยเกิดการcopyกันส่ง แทบทุกสำนักข่าว สำนวนเหมือนกันหมด เรียกกันว่า”นักข่าวDrive A”คือมีคนหนึ่งพิมพ์ไว้ในไดรฟ์เอ พรรคพวกที่เหลือก็แค่มาก็อปส่งเมล์เข้าไปกองบก.ของตัวเอง...สมัยโบราณมีการ"ลอกข่าว"กัน ก็ยังพอสำนวนต่างกันมั่ง

    อย่างไรก็ตามสำหรับนักข่าวที่ทำงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวน(investigative news)เขาก็ไม่สุกเอาเผากินอย่างนี้นะครับ มีทำการบ้านค้นคว้ากันหนักเอาการ แต่น้ำดีที่ว่านี้ก็มีหาตัวได้น้อย ส่วนใหญ่เลยมักจะได้รางวัล”อิศรา อมันตกุล”ในวันนักข่าว ที่พวกเราเรียกด้วยความภาคภูมิว่า”รางวัลพูลลิซเซอร์”

    นักข่าวสนามดูจะไม่มีอิทธิพลอะไรชี้นำสังคมหรอกครับ เพราะบางคนก็ไม่ต่างจาก”เครื่องอัดเทปเดินได้”หรือเป็นกระทั่งนักข่าวdrive Aแค่นั้น ส่วนที่ไปมีอิทธิพลคือตอนส่งเข้าไปถึงโต๊ะข่าว หรือกองบก.แล้ว โดนทางสื่อต้นสังกัดเล่นแร่แปรธาตุซะมาก

    แต่อย่างไรก็ดีใช่ว่านักข่าวสนามจะไม่มีอิทธิฤทธิ์เลยทีเดียว สิ่งนี้เรียกกันว่า”ซองขาว”ครับ หากเป็นสมัยโบร่ำโบราณทางด้านแหล่งข่าวซึ่งอยากให้ช่วยเชียร์ หรือช่วยให้ไม่ต้องลงข่าวนั้นก็เล่นกันตรงๆคือให้เงินใส่ซองขาวกันดื้อๆ สมัยต่อมาก็พัฒนามากขึ้นตามลำดับ อย่างการ”แจกหุ้นจอง”ให้กับนักข่าวสายหุ้นสายเศรษฐกิจ และเสนอให้กับโต๊ะข่าว หรือบก.กันไปเลย

    นอกจากนั้นก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติอีกอย่างคือการพานักข่าวไปเที่ยว เอ๊ย!ดูงานเมืองนอก พร้อมกับให้Pockage Money ใช้จ่ายระหว่างไปเที่ยวเมืองนอก ของทั้งนักการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ การให้ด้วยเสน่ห์หาหรือให้กันด้วยความเกรงใจดังกล่าวก็กลายเป็นเรื่องที่สร้างระบบอุปถัมภ์กันต่อมา

    นอกจากนั้นก็เป็นการดูแลในเรื่องของส่วน ตัวเช่นไปจองรถให้ ขึ้นบ้านใหม่ก็เอาเครื่องเสียงแพงๆไปให้ เอาเงินไปช่วยงานแต่งงาน หรือนักการเมืองผู้ใหญ่ก็ไปเป็นประธานงานแต่งงานให้พร้อมแจกซอง จนกระทั่งรูปแบบปัจจุบันพัฒนาไปถึงขั้นเขียนหนังสืออัตชีวประวัติ  เขียนผลงานให้  

    หลังๆมานี้ก็เลยเป็น”รายได้ก้อนโต”มากกว่าเงินเดือนจากต้นสังกัด เพราะนักข่าวสนามที่ไม่ใช่พวกเด็กๆ แต่เป็นพวกเก๋าสนาม อยู่มานาน รากงอก กลายเป็นขาใหญ่ประจำทำเนียบ ประจำสภา ประจำกรมตำรวจ ประจำกระทรวงต่างๆ เข้ามาเหมาทำหน้าที่”ที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์”ให้กับแหล่งข่าว

    การรับจ้างทำประชาสัมพันธ์เข้ามารับงานในกระทรวง หรือหน่วยงานที่นักข่าวขาเก๋าสิงอยู่นั้น โดยอาศัยความเป็นสื่อ ทำให้หน่วยงานในองค์กรเกรงใจ และว่าจ้าง บางครั้งที่ไม่ได้งาน ก็จะฟ้องรัฐมนตรี จนอาจต้องเปลี่ยนบริษัททำพีอาร์มาแล้ว ดังนั้นนักการเมือง หรือผู้ใหญ่ในหน่วยงานนั้นก็เรียกว่าจ่ายเกินคุ้ม เพราะข่าวที่ออกไปสู่สื่อมวลชน ก็จะเต็มไปด้วยข่าวพีอาร์ หรือข่าวประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐมนตรี บางทีมี”เคลียร์”ให้เสร็จสรรพในกรณีที่สำนักข่าวไหนทำท่าจะเสนอข่าวด้านลบ

         
    สื่อสายข่าวการเมือง โดยเฉพาะสายทำเนียบ และรัฐสภา ต่างก็มีสถานะและบทบาทในฐานะกุนซือที่คิดสร้างข่าว หรือพีอาร์ให้กับนักการเมือง หรือรับเคลียร์ข่าวให้กับนักการเมือง หรือผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย และทำท่าว่าจะเป็นรายได้หลักมากกว่าเงินเดือนประจำ พักหลังๆมานี้พรรคพวกของผมถึงขั้นไปเป็นผู้อำนวยการวอร์รูมให้กับคมช.กันเลยทีเดียว

    อย่างไรก็ดี นักข่าวน้ำดี หรือนักข่าวไส้แห้งที่กินอุดมการณ์ก็ใช่ว่าจะไม่มี เพียงแต่หลังๆชักจะกลายเป็น”แกะขาว”ในวงการเข้าไปทุกที...ดังนั้นจุดเริ่มต้นของข่าวที่เป็นกันอย่างนี้ ความหวังว่า”สื่อ”ที่มาถึงมือของ”มวลชน”ผู้รับสารจะถูกต้อง ปราศจากอคติ และเป็นกลาง จึงเป็นความหวังลมแล้งเต็มทีหละครับ

    จากคุณ : ภราดรภาพ - [ 12 มี.ค. 51 14:47:47 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | PanTown.com | BlogGang.com