Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    [บทวิจารณ์] Happiness : เศษสุขส่วนทุกข์

    Happiness : เศษสุขส่วนทุกข์
    โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

    หนังเรื่อง Happiness ของเฮอร์จินโฮเข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ที่โรงหนังลิโด้ โดยฉายเพียงวันละสองรอบ และคาดว่าคงออกจากโรงในเร็ววันนี้ ซึ่งว่ากันตามจริงแล้วในระดับนานาชาติกระแสของ Happiness ก็ค่อนข้างเงียบเหมือนกัน โดยมีสาเหตุมาจากความแรงของหนังร่วมชาติอย่าง Secret Sunshine ของลีชางดอง

    Happiness เล่าถึง ยองซู หนุ่มเพลย์บอยที่ทั้งเที่ยวหนักดื่มหนักจนโรคตับแข็งถามหา เขาตัดสินใจไปพักฟื้นที่ศูนย์บำบัด (แต่โกหกเพื่อนๆ และแม่ว่าไปเมืองนอก) ที่นั่นเขาได้พบกับ อึนฮี หญิงสาวที่อยู่ที่นี่มาได้ 8 ปีแล้ว (เธอเป็นโรคเกี่ยวกับปอด ทำให้เหนื่อยง่ายกว่าปกติ) ทั้งคู่เริ่มสานสัมพันธ์กัน และตกหลุมรักกันในที่สุด

    ถึงแม้หนังเรื่องล่าสุดของเฮอร์จินโฮจะไม่มี ‘ฤดู’ อยู่ในชื่อ (อย่าง Christmas In August, One Fine Spring Day หรือ April Snow) แต่ธีมของ ‘ความรักที่ผิดที่ผิดเวลา’ ยังคงอยู่ในหนัง อย่างที่รู้กันว่าความรักระหว่างผู้ป่วยเป็นข้อห้ามอันดับแรกๆ ของสถานพักฟื้นใดก็ตาม อย่างที่ผู้อำนวยการศูนย์พูดกับอึนฮีว่า “เธอก็ป่วย เขาก็ป่วย แล้วใครจะดูแลใคร” แต่แน่นอนว่าทั้งยองซูและอึนฮีก็ยืนยันจะเข้าสู่ความสัมพันธ์กึ่งต้องห้ามแบบนี้ ในที่สุดทั้งสองก็ตัดสินใจออกจากศูนย์พักฟื้น และไปอยู่บ้านเดียวกัน โดยใช้ชีวิตอย่างสมถะ

    ถึงจะมีหน้าหนังเป็นหนังเมโลดราม่า แต่จะว่าไปแล้วโครงสร้างของ Happiness ก็ดูมีอะไรเซอร์ๆ เหมือนกัน กล่าวคือ หนังแบ่งเป็น 2 ช่วงอย่างชัดเจน โดยครึ่งแรกนั้นพูดถึงความสัมพันธ์ของยองซูและอึนฮีที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น หนังในช่วงนี้เน้นให้อารมณ์ที่อิ่มเอมใจแก่ผู้ชม ประกอบกับฉากหลังที่เป็นต้นไม้อันร่มรื่นในชนบทยิ่งทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย ว่าไปแล้วศูนย์ฟันพื้นแห่งนี้ก็เหมือนโลกในอุดมคติแบบกลายๆ

    ส่วนครึ่งหลังของหนัง เล่าถึงช่วงที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองค่อยๆ พังทลายลงไป เมื่อแฟนเก่าและเพื่อนเก่าของยองซูมาเยี่ยมเขาที่บ้าน และทำให้เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ฉันเหมาะกับชีวิตแบบนี้จริงๆ หรือ?’ ในที่สุดเมื่ออาการดีขึ้นจนเกือบหายขาด ยองซูก็ตัดสินใจลาจากอึนฮี กลับไปใช้ชีวิตแบบคนเมืองอีกครั้ง และเข้าสู่วงจรชีวิตแบบเพลย์บอยตามเดิม

    พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ หนังส่วนแรกพูดถึง ‘ความสุข’ (Happiness) ส่วนครึ่งหลังพูดถึง ‘ความเศร้า’ (Sadness)

    การใช้โครงสร้างแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาตามมา นั่นคือ มันเหมือนการเอาหนังคนละเรื่องมาต่อกัน อารมณ์ของหนังจึงไม่ไหลลื่นเท่าที่ควร นอกจากนั้นหนังแต่ละช่วงก็มีปัญหาในตัวมันเอง อย่างครึ่งแรกหนังก็ดูเหมือนจะมองโลกในแง่ดีเกินไปหน่อย เช่น การที่ผู้อำนวยการยอมให้ยองซูกับอึนฮีออกจากศูนย์ไปใช้ชีวิตด้วยกันอย่างง่ายดาย หรือภาพที่ยองซูมาใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน (แบกกระสอบ, ทำฟาร์ม, เก็บสมุนไพรกิน) ก็เป็นอะไรที่ดูไม่น่าเชื่อนัก

    ส่วนครึ่งหลังมีปัญหาในแง่การตัดต่อ (ที่แย่กว่าครึ่งแรกอย่างเห็นได้ชัด) เพราะในช่วงท้ายเฮอร์จินโฮตัดสลับฉากร้องไห้ใหญ่ๆ ให้เราดูต่อกันถึง 3-4 ฉาก ซึ่งมันทำให้หนังดูล้นและฟูมฟายจนเกินไป ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เพราะมันทำให้ Happiness มีแนวโน้มจะเป็นแค่ ‘หนังเกาลีธรรมดาๆ’ อีกเรื่องหนึ่ง (ประเภทนางเอกเป็นลูคีเมียตายตอนจบ) อย่างที่ค่ายหนังในบ้านเราพยายามจะโปรโมต

    โดยรวมแล้ว Happiness เป็นหนังที่ค่อนข้างน่าผิดหวัง และถ้าพูดแบบใจร้ายหน่อยก็คือ ดูเหมือนว่าเฮอร์จินโฮยิ่งทำหนังก็ยิ่งจะฝีมือตกลงเท่านั้น

    อย่างไรก็ดี โครงสร้างแบบสองส่วนที่ว่าก็ไม่ได้ถูกใช้อย่างลอยๆ มีความเป็นไปได้ว่าเฮอร์จินโฮกำลังใช้มันเพื่อเสียดสีลักษณะของมนุษย์ที่หลงอยู่ในความสุขตรงหน้า จนลืมมองถึงความทุกข์มากมายที่จะตามมาภายหลัง (ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาไปกินบุฟเฟต์ตามร้านต่างๆ เราก็มักจะกินๆๆ เข้าไป โดยลืมนึกถึงความทรมานจากอาการอิ่มเกินพิกัด)

    คู่ของยองซูกับอึนฮีก็ติดกับดักแบบนี้เหมือนกัน เพราะพวกเขาคิดว่าทั้งคู่ต้องเป็นคนที่ใช่ซึ่งกันและกันอย่างแน่นอน พวกเขาคิดว่าการอยู่ด้วยกันจะทำให้ชีวิตมีความสุข โดยลืมนึกถึง (หรือตั้งใจจะไม่นึกถึง) เงื่อนไขและผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา เพราะฉะนั้นชื่อไทยเดิมของหนังที่ว่า ‘เศษหนึ่งความสุขส่วนล้านความเศร้า’ จึงเป็นชื่อที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้มาก (ส่วนชื่อใหม่อย่าง ‘หนึ่งความสุข ความเศร้าไม่ต้องพูดถึง’ ก็บิดเบือนหนังไปเลย)

    Happiness ยังถามคนดูถึง ‘นิยาม’ ของความสุขอยู่ตลอดเรื่อง อย่างในฉากที่อึนฮีตัดสินใจไล่ยองซูออกจากบ้าน เธอพูดว่า “ฉันเคยคิดว่าอยู่กับคุณแล้วจะมีความสุข แต่ตอนนี้ไม่แล้ว จากนี้ไปฉันจะมีความสุขด้วยตัวของฉันเอง” แต่อึนฮีจะมีความสุขจริงๆ หรือเปล่า เพราะในขณะที่เธอมีความสุขเพราะยองซูออกไปจากชีวิต แต่เธอก็มีความทุกข์เพราะไม่มีเขาอยู่ในชีวิตแล้วเช่นกัน (ฟังดูแอบเสิร์ด แต่นี่แหละคือชีวิตมนุษย์)

    ในอีกฉากหนึ่งที่น่าเศร้ามาก คือตอนที่ยองซูกลับไปคบกับแฟนเก่า ทั้งคู่เพิ่งกลับมาจากงานปาร์ตี้ และยองซูถามเธอว่าสนุกมั้ย เมื่อเธอตอบด้วยสีหน้าร่าเริงว่าใช่ เขาก็ตะคอกใส่เธอว่า “เธอเรียกว่าชีวิตแบบนี้ว่าสนุกเหรอ!” เธอเงียบไปพักหนึ่ง และตอบด้วยน้ำเสียงเย้ยหยันว่า “ไม่ ไม่เลย”

    หรือถ้าพูดให้ถึงที่สุด Happiness อาจจะกำลังถามเราด้วยว่า การได้พบกับใครสักคนที่คิดว่าใช่ แต่เขาคนนั้นกำลังจะตาย นี่มันเรียกว่าความสุขหรือเปล่า เพราะนี่คือสิ่งที่เราพบได้ในหนังเกาหลีเกือบทุกเรื่อง (จะเรียกว่า ‘มายาคติแห่งหนังเกาหลี’ ก็ยังได้)  

    ที่จริงแล้วสิ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดีคือ การแสดงภาวะก้ำกึ่งระหว่างความสุขกับความทุกข์ นั่นคือ ตอนกลางๆ เรื่องที่ยองซูกำลังใคร่ครวญว่าจะอยู่กับอึนฮีต่อไป หรือจะกลับไปหาแฟนเก่า หนังแสดงความอึดอัดตรงนี้ได้ดีมาก มันทำให้ยองซูก็ไม่ดูเป็นพระเอกจนเวอร์ และดูเป็นตัวละครที่มีมิติ

    ฉากที่ดีที่สุดของหนังก็อยู่ในอารมณ์แบบนี้เหมือนกัน มันคือฉากที่ยองซูและอึนฮีไปเที่ยวสวนสนุก หลังจากที่เพิ่งทะเลาะกันไปชุดใหญ่ อึนฮีมองยองซูที่กำลังเล่นเครื่องเล่นจากข้างล่าง เธอยิ้มให้เขา แล้วจากนั้นเธอก็ร้องไห้

    หนังเปิดกว้างให้เราคิดว่าทำไมอึนฮีถึงร้องไห้...เธออาจจะดีใจที่เห็นคนรักมีความสุข เธออาจจะรู้ว่ายองซูจะกำลังจะจากเธอไปแล้ว หรือเธออาจจะรู้สึกว่าเวลานี้มันช่างมีค่าเหลือเกิน แต่มันคงอยู่กับเธอไม่นานนัก

    เราไม่รู้ว่าทำไมเธอถึงร้องไห้ แต่เรารู้ได้ว่าบางทีความสุขกับความทุกข์ก็มีเพียงเส้นแบ่งบางๆ กั้นอยู่

     
     

    จากคุณ : merveillesxx - [ วันเนา (14) 02:36:19 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom