Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    The Darjeeling Limited เรื่องแย่ๆในชีวิต

    สปอยล์พอประมาณ ช่วยอ่านกันหน่อยน่ะจ๊ะ

    ผมชอบ หนังของ เวส แอนเดอร์สัน
    ไม่ใช่ซิ จริงๆแล้วผมชอบโลกของ แอนเดอร์สันมากกว่า…
    โลกของเขาไต่อยู่บนเส้นบางๆ ระหว่าง ความเป็นจริง กับความเพ้อฝันแบบแฟนตาซี
    ดูคล้าย เรื่องเล่าต่อๆกันมาที่ผิดเพี้ยน มากกว่าจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น
    ทุกองค์ประกอบในหนังของแอนเดอร์สัน ถูกประดิดประดอยอย่างประณีต
    ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ประกอบฉาก เพลงประกอบ สไตล์ของภาพ มุมกล้อง
    ดูราวกับทุกองค์ประกอบมีหน้าที่ของมัน โดยเขาใช้ทุกอย่างที่ปรากฏบนจอ เพื่อบอกเล่าเรื่องราว
    ในโลกใบนี้ แม้แต่ผ้าปูที่นอน ก็ดูเหมือนมีอะไรบางอย่างอยากเล่าให้เราฟัง...

    ภาพในหนังของแอนเดอร์สัน เป็นเหมือนภาพนิ่งจากโปสการ์ดสวยๆ ขณะเดียวกันเขาก็รักการแพนกล้อง แม้ในบางฉาก
    มีตัวละครหลายตัวปรากฏอยู่ และสิ่งที่พบเห็นเสมอ คือการใช้ภาพสโลว์ เวลาที่ต้องการเน้นเหตุการณ์ไหนเป็นพิเศษ
    ผมคิดเอาเองว่ามันให้ความรู้สึกเหมือนการอ่านหนังสือ  ค่อยๆพลิกหน้ากระดาษทีละหน้า เพื่อซึมซับความรู้สึกของตัวละคร และ สถานการณ์ต่างๆ

    โลกของแอนเดอร์สัน จึงเหมือนศิลปะของการจัดวาง เข้ารูป ไม่ใช่การ อิมโพรไวส์ไหลลื่น เหมือนงานของ หว่องการ์ไว หรือ กรอดี้  แต่ก็นั่นแหละ...มันมีเสน่ห์เฉพาะตัว ที่น่าหลงใหล

    ตัวละครที่โลดแล่นอยู่ ก็มีบุคลิกแปลกประหลาด บ่อยครั้งทำในสิ่งที่เหลือเชื่อ ดูโง่ๆ ตลกและยากต่อการเข้าใจ  ที่สำคัญล้วนเคยกระทำในสิ่งที่เลวร้าย แต่แอนเดอร์สันไม่เคยตัดสินตัวละครเหล่านั้น เขาพูดถึงวีรกรรมเลวร้ายต่างๆของตัวละคร เหมือนเรื่องธรรมดาทั่วไป ไม่ได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ เพียงแต่แสดงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำ และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการให้อภัย เหมือนภาพสะท้อนความไม่สมบูรณ์แบบของคนบนโลก

    ใครบ้างไม่เคยทำอะไรแย่ๆ ? คุณเคยไหม ? ผมทำมันบ่อยเลยล่ะ...

    ………………………………………………………………………

    ตั้งแต่เป็นที่กล่าวขวัญในฝีมือจาก Rushmore และได้รับคำชื่นชมล้นหลามกับ The Royal Tenenbaums ดูเหมือนว่า
    แอนเดอร์สัน จะพบกับสไตล์หนังของตัวเอง ผลงานหลังจากนั้น จึงอยู่ใน ร่องรอย และ ขนบในแบบที่เป็น ลายเซ็น
    ของ แอนเดอร์สันไม่ผิดเพี้ยน ทั้งเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของ ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว จนดูต่อกันเป็น "ไตรภาค"
    เชื่อมโยงกันได้ งานของเขาในช่วงหลังๆจึงถูกนักวิจารณ์ฝรั่งนินทา ว่ามันซ้ำซาก และวนเวียนอยู่กับเนื้อหาเดิมๆ

    แต่นักเล่าเรื่องบางคน ทำหนังมาเกือบทั้งชีวิต ก็ยังหาสไตล์ของตัวเองไม่เจอ...


    ทำไมพวกเขาไม่รักกัน ?


    ถ้าThe Royal Tenenbaums พูดถึงพ่อผู้ไม่เอาไหน ที่ไม่เคยคิดจะใส่ใจคนในครอบครัว การพยายามกลับมา
    สานสัมพันธ์กับเมียและลูกๆอีกครั้ง ก็เป็นไปเพียงเพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกวัดรอยเท้า  

    The Life Aquatic With Steve Zissou เล่าถึงนักสำรวจถ่ายทำสารคดีท้องทะเลสุดเก๋า วัยใกล้ปลดเกษียณ
    ที่วันหนึ่ง ลูกที่เขาไม่เคยคิดว่ามี ปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า เป็นเสมือนหลักฐานยืนยันความเลวร้ายที่ทำไว้ในอดีต จนทำให้
    เจ้าตัวเกิดหวั่นไหว

    2 เรื่องข้างต้น แอนเดอร์สันใช้ตัวละครที่เป็นพ่อเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง แต่ The Darjeerlng Limited ผลงาน
    ล่าสุด โฟกัสเรื่องราวไปที่ตัวละคร 3 คนพี่น้อง กับเหตุการณ์ 1 ปีหลังการจากไปของคนเป็นพ่อ ซึ่งไม่ว่าจะหน้าตาหรือกระทั่งโลงศพของเขาคนดูก็ไม่มีโอกาสได้เห็น  แต่แม้จะกลายเป็นผี พ่อยังคงมีอิทธิพลต่อ ทุกตัวละครในเรื่อง และครั้งนี้ดูจะหนักหน่วงกว่าครั้งก่อนๆ

    ..........................................................................

    ฟรานซิส , ปีเตอร์ และ แจ๊ค 3 พี่น้อง ตระกูล วิทมอร์ กลับมาพบกันอีกครั้งใน ทริปการเดินทางในอินเดียบนขบวนรถไฟที่มุ่งสู่ “ ดาจิริ่ง ” เมืองท่องเที่ยวอันโด่งดังทางตอนเหนือของอินเดีย อยู่ใกล้ชายแดนธิเบต แวดล้อมด้วยภูมิประเทศอันสวยงาม จากแนวเทือกเขาหิมาลัย  แผนการทั้งหมดนี้มาจาก ฟรานซิสพี่ชายคนโต ที่มีนิสัยหลายอย่างได้รับอิทธิพลมาจากแม่ เขาให้คำอธิบายกับน้องๆว่า นี่คือการเดินทางของจิตวิญญานบนเส้นทางอันศักดิ์สิทธิ์ ที่จะช่วยสานสัมพันธ์อันดีในหมู่พี่น้อง ซึ่งไม่เจอหน้ากันเลย 1ปีเต็มหลังการจากไปของพ่อ  แต่เหตุผลจริงๆที่ซ่อนเร้นอยู่ คือความต้องการที่จะพาน้องๆเดินทางไปเยี่ยมแม่  หลังจากสืบทราบมาว่า แม่มาบวชเป็นแม่ชีที่นี่ และการที่ไม่ยอมบอกเหตุผลที่แท้จริงให้ทุกคนรู้ ก็เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครยอมร่วมเดินทางในครั้งนี้ เพราะยังโกรธที่แม่ไม่ยอมไปร่วมในงานศพพ่อ

    ต้นแบบแรกของลูกทุกคน ก็คือพ่อและแม่ การได้รับความเอาใจใส่ ถนุถนอมห่วงใย ทำให้ลูกรับรู้ว่านี่คือคนที่รักเรา คอยปกป้องดูแล และไม่มีทางทำร้ายเราได้ เมื่อลูกๆรับรู้ว่า พ่อกับแม่หมดรักซึ่งกันและกัน จึงเป็นสิ่งที่ทำใจยอมรับได้ยาก มันเป็นเหมือนการอกหักครั้งใหญ่ในชีวิต ทิ้งบาดแผลไว้ในจิตใจ ตามหลักจิตวิทยา หากลูกๆไม่ได้รับคำอธิบายที่ดีพอ พวกเขาอาจเกิดความสับสนในจิตใจ เป็นไปได้ว่าจะเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรืออาจคิดไปว่าถ้าพ่อกับแม่หมดรักซึ่งกันและกันได้ วันหนึ่งก็อาจจะไม่รักพวกเขาเช่นกัน สุดท้ายอาจเลยเถิดถึงขั้นกล่าวโทษตัวเอง ที่ไม่อาจกอบกู้สถานการ์ณได้

    ภาพแฟลชแบ็คสั้นๆ เล่าเหตุการณ์ในระว่างการเดินทางไปงานศพพ่อ ของ 3 พี่น้อง เห็นพวกเขาพยายามดิ้นรนในการที่จะนำรถคันโปรดของพ่อ ที่เสียอยู่ในอู่ซ่อมรถไปในงาน ทั้งๆที่รู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ คล้ายกับต้องการทำบางอย่างเพื่อพ่อเป็นครั้งสุดท้าย แต่ผมกลับรู้สึกว่าพวกเขากำลังประวิงเวลาจนวินาทีสุดท้าย เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้พบกับแม่ในงานศพพ่อ ลึกๆในใจพวกเขา อาจจะพอจะคาดเดาได้ว่าแม่จะไม่มาปรากฏตัวในงานครั้งนี้   สิ่งที่ทำจึงเป็นเพียงแต่กำลังรอคอยแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่ และสุดท้ายสิ่งที่พวกเขากลัวก็เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่ความจริงทีว่าแม่ไม่มางานศพพ่อ แต่คือความจริงที่ว่าพ่อกับแม่เลิกรักกันแล้ว...

    บางครั้งคนที่เรารัก ก็ทำร้ายเราได้มากที่สุด
    การที่แม่ไม่ไปร่วมงานศพของพ่อ จึงเป็นสิ่งที่พี่น้องวิทมอร์ 3 คน ยากจะทำใจ
    จะโกรธแม่ หรือรู้สึกผิดหวังในตัวพ่อ ไม่ว่าทางใดก็ดูเหมือนมีแต่ความเจ็บปวด...

    หลังงานศพพ่อผ่านไป พอจะกล่าวได้ว่า 3 คนพี่น้อง ใช้ชีวิตอย่างล่องลอย เต็มไปด้วยความสับสน ขัดแย้งในตัวเอง
    ปีเตอร์อยากหย่าร้างกับแฟนสาว อาจเป็นเพราะเขาสูญสิ้นศรัทธาต่อสถาบันครอบครัว แต่เธอดันมาท้องเสียก่อน ทำให้เขาไม่รู้จะจัดการกับความสัมพันธ์นี้อย่างไร แจ๊คผิดหวังจากความรัก  แต่ขณะเดียวกันเขาก็แสวงหามันไม่หยุดหย่อน เหมือนจะชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป ทั้งๆที่รู้ว่ามันทดแทนกันไม่ได้ หนังสือที่พยายามเขียน ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องตัวเอง หนังให้รายละเอียดเพิ่มเติมตรงนี้ เมื่อปีเตอร์ ได้อ่านงานเขียนของน้องชาย เขาถึงกับร้องไห้ออกมา อาจเป็นไปได้ว่า เขาเข้าใจและสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละครในเรื่อง

    ฟรานซิส พึ่งผ่านประสบการณ์เฉียดตายมา เป็นเรื่องแปลกที่เวลาคนเราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากถึงขีดสุด สิ่งแรกๆที่จะนึกถึง มักจะเป็น คนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ คนรัก ญาติพี่น้อง ดังนั้นการรอดตายครั้งนี้อาจทำให้เขาคิดอะไรบางอย่างได้ จึงพยายามกอบกู้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และยังหวังลึกๆ กับคำอธิบายที่เขาอยากได้ยิน จากปากแม่

    เมื่อ 3 คนพี่น้องพบกัน มองภายนอกพวกเขาเหมือนจะรักใคร่กลมเกลียวกันดี แต่ตลอดการเดินทางของ ทริปประสานใจ ครั้งนี้ ( ชื่อไทยน่ารักมาก ) ได้เผยให้เห็นความสัมพันธ์ในหมู่พี่น้องที่แท้จริง พวกเขาไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน   พี่ไม่ให้เกียรติน้อง น้องก็ไม่ยอมรับพี่ ทะเลาะเบาะแว้งไปจนถึงถึงขั้นทุบตีกัน และแต่ละคนต่างอวดอ้างการเป็นลูกรักของพ่อ มาคุยข่มคนอื่นอยู่เสมอ ซึ่งถ้าเรามองเพียงรูปลักษณ์ภายนอกของพี่น้องทั้งสามคน เราอาจพบร่องรอยบางอย่าง...

    นี่เป็นพี่น้องที่แตกต่างทางกายภาพกันอย่างสิ้นเชิง พี่ชายคนโตผมสีทอง คนกลางผมดกดำผอมสูงชะลูด ส่วนน้องคนเล็กเตี้ยติดดิน ดูยังไงก็ไม่เหมือนพี่น้อง ! พวกเขาดูเหมือนเพื่อนกันมากกว่า ซึ่งบางทีมันอาจจะอธิบายปูมหลังความล้มเหลวของครอบครัวนี้ได้ในมุมหนึ่ง


    แก้ที่ตัวเราง่ายกว่า...


    หลังจากการเดินทางที่ค่อนข้างสมบุกสมบัน ที่พาพวกเขาไปพบกับเหตุการ์ณต่างๆมากมาย  และส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในจิตใจค่อนข้างมาก พวกเขาก็ได้พบกับแม่ และเวลาที่สามพี่น้องรอคอยก็มาถึง

    “ ทำไมแม่ไม่ไปงานศพพ่อ ” ปีเตอร์อดรนทนไม่ไหว จนต้องเอ่ยถามออกไป

    “ ก็เพราะแม่ไม่อยากไป ”     แม่ตอบเรียบๆ แต่ชัดเจนว่าเธอรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ  


     เหมือนความหวังสุดท้ายของพวกเขาดับวูบลงตรงหน้า …

    “ บางทีการที่เราพูดอะไรในใจ มันจะเปิดเผยตัวตนของเราได้ดีที่สุด ”

     ทุกคนนั่งล้อมวงกัน และทำในสิ่งที่แม่บอก...

    โลกยังคงหมุน ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ไม่มีใครอยากจะพบกับความผิดหวังในชีวิต สิ่งที่ดีที่สุด  เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวัง คือการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้  ท้ายที่สุด ทั้งพ่อ แม่ และใครต่อใครบนโลกใบนี้ ก็ไม่อาจเป็นในสิ่งที่เราคาดหวังได้เสมอไป...

    ………………………………………………………………………

    The Dajeeling Limited โดดเด่นด้วยสัญลักษณ์ ที่มีอยู่มากในหนัง ซึ่งไม่ยากเกินสำหรับการตีความ ไม่ว่าจะเป็น
    ขบวนรถไฟ กระเป๋าเดินทาง พิธีศพ การเกิด การตาย และอีกมาก โดยมีปรัชญาศาสนาตะวันออก ที่ว่าด้วยเรื่อง ของกรรมแฝงอยู่ ทั้งหมดนี้สอดประสานกลมกลืนไปกับเนื้อเรื่อง ของหนังได้อย่างลงตัว แต่ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆของผู้กับกับฯ แอนเดอร์สันเล่ามันผ่านๆ คนดูนึกได้ก็ได้ คิดไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เหมือนครั้งแรกที่ฟรานซิสบอกน้องๆว่า “ นี่เป็นการเดินทางของจิตวิญญาณ ” คุณเชื่อในสิ่งที่เขาบอกหรือไม่ ? เพราะประเด็นสำคัญที่แอนเดอร์สันต้องการสื่อถึงคนดูมากที่สุด น่าจะอยู่ในฉากแรกและฉากสุดท้ายของหนัง

    แอนเดอร์สันยังคงพูดถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว อิทธิพลของพ่อและแม่ที่มีต่อลูกๆ ข้อคิดง่ายๆแต่ทำยาก  และย้ำอย่างชัดเจนอีกครั้ง ว่าความรักจะคงอยู่และดำเนินต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้จักการให้อภัย เป็นเสมือนภาคขยาย ของ The Royal Tenenbaums และ The Life Aquatic With Steve Zissou  ผมเดาเอาว่าน่าจะเป็นภาคจบ ของไตรภาค นิทานสำหรับผู้ใหญ่ชุดนี้ เพราะถ้าพูดถึงตัวตนของผู้กำกับ ที่เป็นเด็กบ้านแตกคนหนึ่ง แอนเดอร์สัน ทำ 2 เรื่องแรกเหมือนการไถ่บาปให้พ่อ และ เรื่องนี้เขาเหมือนจะทำเพื่อเพื่อนร่วมอุดมการ์ณ ( บ้านแตก ) ในการที่จะตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในครอบครัว

    ระหว่างการเดินทางกลับ เพื่อไปขึ้นรถไฟ แจ๊คพูดขึ้นมาว่า
    “ฉันเคยสงสัยว่าเราสามคนจะเป็นเพื่อนกันได้ไหม ถ้าไม่ใช่ในแบบที่เป็นพี่น้องกัน”
    ผมคิดว่าเขาพูดเพราะรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ...

    เพราะชีวิตคนเราไม่ได้เจอแต่เรื่องดีๆ  ตลอดเส้นทางของชีวิตมีทั้งเรื่องดีและเรื่องร้ายให้เราได้พบเจออยู่เสมอ
    สิ่งหนึ่งที่จะอยู่ติดตัวกับเราไปตลอดเส้นทางของชีวิต คือ ความทรงจำ
    และถ้าไร้ซึ่งความทรงจำชีวิตคนเราก็ไม่มีความหมาย
    คุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของความทรงจำ คือเราไม่สามารถเลือกที่จะจำหรือลืมเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้
    หลายครั้งที่เรื่องบางเรื่องอยากจำกลับลืม อยากลืมกลับจำ

    ดีที่สุด... คือพยายามนึกถึงแต่เรื่องดีๆเวลาคิดถึงใครบางคน...

     
     

    จากคุณ : มาเฟียไซเบอร์ - [ 18 พ.ค. 51 15:03:20 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom