Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    [Retro Review]Yiyi : a one and a two[Spoiler!]

    Yiyi :: เราจะ ‘ก้าวข้าม’ ผ่านเวลานี้ไปด้วยกัน
    โดย นักดูหนังแถว G
    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
    iมีคนเคยกล่าวไว้ว่า ชีวิตของคนเรา แบ่งออกได้เป็นสามส่วน....

    ช่วงต้น....ช่วงกลาง....และช่วงปลาย....

    ทุกช่วง ต่างต้องเผชิญหน้ากับจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ และต้องก้าวข้ามผ่านมันไปให้ได้ เพื่อเดินหน้า และเติบโตต่อไป....

    แต่จะมีสักกี่ครั้ง ที่ทั้งสามช่วงเวลาสำคัญของชีวิต.....

    จะถูกนำเสนอออกมาได้อย่างซื่อตรง เด่นชัด และพร้อมเพรียงกัน....

    เช่นครั้งนี้....

    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
    มันไม่เป็นการง่ายนักที่จะหาภาพยนตร์เรื่องใดที่สามารถฉายให้เห็นแง่มุมด้านต่างๆ ของชีวิตที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องระหว่างกันได้อย่างชัดเจน และครอบคลุม ท่ามกลางรูปแบบการเล่าเรื่องที่ส่วนใหญ่เน้นหนักไปยังเรื่องราวของแต่ละบุคคลมากกว่าสังคมองค์รวม แต่กระนั้น Yiyi ภาพยนตร์ดราม่าไต้หวันจากผลงานการกำกับของ Edward Yang ในปี 2000 นั้น กลับร้อยเรียงความคลาคล่ำทั้งหลายให้กลายเป็นบทกวีที่แสนจะเรียบง่าย ที่ฉายให้เห็นภาพของตระกูลเจียน ครอบครัวชนชั้นกลางแห่งไทเป อันประกอบไปด้วยสมาชิกห้าคนคือ N.J. พ่อ และหัวหน้าครอบครัว , หมินหมิน แม่ , ถิงถิง ลูกสาวคนโตวัยมัธยม , คุณย่า และหยางหยาง ลูกชายคนเล็กวัยแปดขวบ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย และปัญหาที่แตกต่างกันออกไปได้อย่างซื่อตรง และผ่านสายตาที่เป็นกลางมากที่สุดเรื่องหนึ่ง


    หนังเปิดเรื่องในงานแต่งงานของน้องเขยของ N.J. กับสะใภ้คนใหม่ ในวันอันสดใสแสงแดดสาดส่อง ทั้งหมดดูจะเป็นเรื่องปกติสามัญที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วๆ ไป แต่ท่ามกลางความปกติทั้งหลายนั้น ในเวลาไม่นาน มันกลับมีสภาวะบางอย่างที่ค่อยๆก่อตัวเป็นความอึดอัดในใจของผู้ชม ทั้งสะใภ้คนใหม่ที่ไม่สู้จะเป็นที่ยอมรับของครอบครัว หยางหยาง ลูกชายคนเล็กที่มักถูกกลั่นแกล้งจากเด็กสาวญาติๆของตน ไปจนถึงปัญหาสุขภาพของคุณย่าขั้นร้ายแรงที่ทำให้ต้องเป็นอัมพาตนอนนิ่งอยู่บนเตียง


    และจากจุดเริ่มต้นเหล่านี้เอง ที่ Edward Yang ใช้มันเพื่อนำผู้ชมไปสู่ประเด็นหลักใหญ่ที่เกิดขึ้นในตระกูลเจียน ที่แม้จะเกี่ยวข้องกับคน ‘ทุกคน’ ที่เกี่ยวข้องกันแบบแบ่งรับแบ่งสู้ แต่ถ้าสังเกตกันให้ดีๆ เราจะพบว่า เรื่องราวหลักๆ จะถูกแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มดังต่อไปนี้


    กลุ่มแรก :: เรื่องราวของ N.J. หัวหน้าครอบครัว ที่ต้องเผชิญหน้ากับความสับสนในภาระการงานของตน ความเป็นตัวกลางระหว่างน้องเขยกับน้องสะใภ้ จนถึงการกลับมาพบกันอีกครั้งของเขากับเชอรี่ รักเก่าที่ร้างลาจากกันเมื่อ 30 ปีก่อน


    กลุ่มที่สอง :: เรื่องราวของถิงถิง ลูกสาวคนโต ที่ต้องรับมือกับปัญหาความรักที่เธอต้องเลือกระหว่างลิลลี่ เพื่อนสาวข้างห้อง กับหมูตอน ชายหนุ่มสุดหล่อแฟนของลิลลี่ที่เธอแอบมีใจให้ รวมถึงความรู้สึกผิดที่มีต่อความป่วยไข้ของคุณย่า


    กลุ่มที่สาม :: เรื่องราวของหยางหยาง ลูกชายคนเล็ก กับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณครู และเด็กผู้หญิงที่คอยกลั่นแกล้ง ที่เขาต้องเผชิญหน้าในทุกช่วงเวลาที่อยู่ที่โรงเรียน


    มาถึงตรงนี้ สิ่งที่น่าสนใจใน Yiyi นอกเหนือไปจากงานด้านภาพที่ Edward Yang เน้นการถ่ายแบบ Long-Shot และใส่เสียงที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่อัดทับเพื่อสร้างสภาวะที่เสมือนจริงของเหตุการณ์นั้น ลำดับการเล่าเรื่องของมันก็มีความพิเศษในตัวเอง กล่าวคือ แม้ว่าทั้งสามกรณีที่เกิดขึ้น จะมีชีวิตจิตใจและมีความเป็นตัวตนของมันเอง แต่มันก็เป็นการยากถึงยากมาก ที่จะแบ่งทุกสิ่งให้เป็นเอกเทศขาดออกจากกัน ประหนึ่งว่าทั้งสามเรื่องราว แม้จะแตกต่างกันในทั้งสถานที่และเวลา แต่ก็มีคุณลักษณะบางประการที่เป็นประหนึ่งจุดร่วม ทั้งฉากที่ N.J. กับเชอรี่ไปเที่ยวด้วยกันที่ญี่ปุ่น (เนื่องด้วยภาระหน้าที่การงานของฝ่ายชาย) ตัดสลับกับถิงถิงและหมูตอนที่ออกเดทกันเป็นครั้งแรก ภาพความสัมพันธ์ของน้องเขยกับแฟนเก่า ไปจนความสัมพันธ์อันประหลาดระหว่างหยางหยางกับเด็กสาวที่โรงเรียน (แบบกึ่งรักกึ่งแกล้ง) ทั้งหมดที่ปรากฏให้เห็น ทำให้อดสงสัยไปเสียไม่ได้ ว่าสารที่ Edward Yang ต้องการจะสื่อออกมาจากผลงานชิ้นนี้ คือสิ่งใดกันแน่


    โดยฉับพลัน ในฉากหนึ่งของการออกเดทของถิงถิงกับหมูตอน ณ โรงภาพยนตร์ ที่มีโปสเตอร์ของหนังเรื่อง Wild Wild West และ Analyze This นั้น ก็ทำให้ผมได้พบกับคำตอบนั้นโดยทันที



    เรื่องราวของภาพยนตร์เกิดในปี 1999....



    ตัวเลขนี้มีความสำคัญอย่างไร? สำหรับคนที่เคยผ่านช่วงเวลารอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 20 และ 21 นี้ คงจะพอทราบกันดีว่าช่วงหนึ่งปีสุดท้ายนั้น มีความผันผวน และความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่างมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จนถึงเรื่องราวเพี้ยนๆ ตั้งแต่คำทำนายของนอสตราดามุส ความหวาดระแวงที่มีต่อปัญหา Y2K มันเป็นช่วงเวลาที่มีสีสันและน่าประหวั่นพรั่นพรึงไปในคราวเดียวกัน


    และเมื่อย้อนกลับมาดูที่ความเป็นไปในสากลโลก ที่มีการปะทะของเรื่องราวต่างๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ความต่างทางวัฒนธรรม ปัญหาด้านเชื้อชาติ จนถึงการแสวงหาอัตลักษณ์ในระดับปัจเจก เราจึงพอจะสรุปได้ว่า นาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่องราวทั้งสามของตระกูลเจียนแห่งหมู่เกาะไต้หวัน แท้จริง คือภาพสะท้อนของผู้คนที่ดำเนินชีวิตไปในยุคเปลี่ยนผ่านของแต่ละสมัย ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน อย่างวิกฤติวัยกลางคนของ N.J. หัวหน้าครอบครัว แท้จริง คือสภาวะความไม่แน่นอนที่ถูกสะสมมาตั้งแต่การสิ้นสุดของขบวนการบุปผาชน (อ้างอิงจากการบอกเล่าในเรื่อง นับย้อนไปสามสิบปี ก็น่าจะประมาณปี 1969) เรื่องราวของถิงถิง ลูกสาวคนโต ก็เป็นสภาวะ Coming of Age ของคนที่อยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ หรือแม้แต่หยางหยาง เด็กชายวัยแปดขวบ ก็เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวข้ามไปสู่ศตวรรษถัดไป


    แต่ท่ามกลางความสารพันแห่งปัญหาที่รุมเร้า ของผู้คนต่างกาละ ต่างเทศะนั้น Edward Yang ก็เลือกใช้ตัวหนังในการบอกเล่าแนวทางความคิด และทัศนคติของเขาที่มีต่อผู้คนยุคเปลี่ยนผ่านได้อย่างละเมียดละไม หลากหลายประหนึ่งส่องผ่านกล้องคาไลโดสโคป เป็นกลาง ไม่พิพากษาตัดสิน ปราศจากความฟูมฟาย หลายครั้งมันเรียบง่ายจนเกือบจะเข้าข่ายน่าเบื่ออย่างเต็มกำลัง แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามันต่างมีจุดมุ่งหมาย และสัมพันธ์กันอย่างน่าประหลาด ทั้ง N.J. ที่เลือกสอนให้ลูกชายค้นพบความจริง ‘อีกด้าน’ ผ่านกล้องถ่ายรูป และเลือกที่จะปล่อยความสัมพันธ์เก่าให้จบสิ้นลง ถิงถิงที่ยอมกล้ำกลืนฝืนทนกับความรักที่ไม่สมหวังและเรียนรู้มันทั้งน้ำตา หรือหยางหยางที่ได้เลือกถ่ายภาพ ‘ท้ายทอย’ ที่เขาถือเป็นความจริงอีกด้าน รวมถึงค้นพบอีกความรู้สึกที่จะก้าวข้ามวัยเด็กสู่ความเป็นวัยรุ่น (ในฉากห้องฉายวิดีโอที่ใช้ภาพได้เนียน~~~มากๆ) เมื่อผนวกรวมกับเรื่องราวปลีกย่อยของกรณีอื่นๆ สิ่งต่างๆ ที่กล่าวไป ก็ยิ่งเฉิดฉาย และเด่นชัดขึ้นอีกเป็นเท่าตัว


    Yiyi ปิดฉากลงด้วยความตายของคุณย่าเจียน และภาพงานศพอันเรียบง่าย ในวันฟ้าใสแดดอ่อนๆ ไม่แตกต่างอะไรกับฉากแรกของเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่เรา ในฐานะผู้ชม ได้รับรู้ไว้แล้วนั้น คือความเปลี่ยนแปลงที่ก่อกำเนิดขึ้นในใจของทุกคนในตระกูลที่เกี่ยวข้องกัน มันอาจจะไม่ใช่บทสรุปที่ยิ่งใหญ่ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างราบเรียบ จบสงบอย่างราบคาบ เป็นเพียงการเคลียร์หัวใจของตนเอง เพื่อหลับตา และตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับฟ้าวันใหม่ได้อย่างไม่เหลือความกังวลใจใดๆ มาคอยถ่วงรั้งไว้ ซึ่งน่าจะเป็นสาระและหัวใจสำคัญที่ Edward Yang ต้องการบอกผ่านผู้ชมของเขาที่จะก้าวข้ามผ่านไปสู่ศตวรรษที่ 21 ในผลงานดราม่าสะท้อนภาพชนชั้นกลางแห่งกรุงไทเประดับคุณภาพเรื่องนี้ก็เป็นได้
    +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
    ฉากก่อนสุดท้าย ภายในห้องนอนของสองสามีภรรยา N.J. และหมินหมิน นั่งพูดคุยหลังจากไม่ได้พบหน้ากันมาเกือบหนึ่งอาทิตย์เต็มๆ....

    “ในหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น….ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย” N.J. กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ เจือควันบุหรี่สีจาง ทั้งที่มันช่างต่างกับความเป็นจริงที่วิ่งผ่านสายตาของเรา ในฐานะผู้ชม ตลอดสามชั่วโมงเสียเหลือเกิน.....

    แต่ถ้าอ้างอิงจากคำพูดของโอตะ โปรแกรมเมอร์ชาวญี่ปุ่นที่กล่าวว่า เราต่างเป็นคนใหม่ในเช้าของทุกๆวันนั้น......

    มันคงเป็นความจริงอย่างถึงที่สุด.....

    บางที มันอาจจะไม่เคยมีอนาคตอยู่มาตั้งแต่แรก....

    มีเพียงอดีต และปัจจุบัน.....

    อดีตที่ให้เราได้เรียนรู้ มุ่งไปสู่วันพรุ่งนี้ที่จะกลายเป็นปัจจุบัน และปัจจุบัน และปัจจุบัน.....





    ที่เราต้อง ‘ก้าวข้าม’ ผ่านเวลานี้ไปด้วยกัน.....เพียงเท่านั้น.....จริงๆ

    แก้ไขเมื่อ 07 ก.ค. 51 12:21:33

    แก้ไขเมื่อ 07 ก.ค. 51 12:21:05

    จากคุณ : บ้าเกม - [ 7 ก.ค. 51 12:17:33 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom