Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    โลงต่อตาย : Death is Beautiful

    ผมไม่อาจออกหน้าปกป้องผู้กำกับเอกชัย  เอื้อครองธรรม  ได้ว่าผลงานชิ้นใหม่เรื่องนี้สมบูรณ์ไร้รอยตำหนิ  โชคดีที่ผมไม่ใช่พวก  Perfectionist  จึงยังเหลือคำชมเป็นการปลอบใจโดยเฉพาะความรู้สึกสั้นๆ  ว่าโลงต่อตายเป็นหนังที่ผมชอบ

    หากใครเคยอ่านธรรมะมาบ้างโดยไม่ต้องถึงขั้นศึกษาลึกซึ้ง  คงเข้าใจความคิด  “การตายก่อนตาย”  มาพอสมควรและอาจเห็นว่าประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่  แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโลงต่อตายคือครั้งแรกที่ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในรูปแบบภาพยนตร์

    โลงต่อตายว่าด้วยความหวาดกลัวและความน่าขยะแขยงต่อสภาวะธรรมชาติที่เรียกว่า  “ความตาย”  ความกลัวที่ถูกแสดงออกชัดผ่านสัญลักษณ์ของผีอันเป็นรูปแบบความกลัวสากล  ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่ความเข้าใจและยอมรับได้ในท้ายที่สุด  จุดเปลี่ยนของความคิดจากที่เคยต้านทานเป็นยอมรับ  คือความตายของอวิชชาสู่การรู้แจ้งก่อนที่กายเนื้อนี้จะตายลงจริงๆ

    โดยเนื้อเรื่องแล้ว  การนอนโลงก่อนตายและการบรรจุศพใส่โลงเมื่อตายลงแล้วจริงๆ   สอดคล้องกับความคิด  “การตายก่อนตาย”  อย่างเหมาะเจาะสวยงาม  แต่โลงต่อตายเรื่องนี้ก็ไม่ได้ขับเน้นการนอนโลงให้มีความหมายลึกขึ้นยิ่งกว่าการนอนโลงสะเดาะเคราะห์ธรรมดาๆ  

    หนังแสดงแนวคิดเชิงบวก  Death  is  beautiful  หรือความตายเป็นสิ่งสวยงามเข้างัดข้อกับความเชื่อฝังหัวว่าด้วยความรักตัวกลัวตายของมนุษย์  การชื่นชมความงามของภาวะธรรมชาติแบบนี้เป็นทัศนะที่เห็นกันไม่บ่อยนักในหนังไทยและโลงต่อตายก็สื่อออกมาได้ค่อนข้างสวยงามดังข้อความคิดที่เกริ่นไว้ข้างต้น

    หนังเล่าเรื่องความเชื่อของคนไทยในการนอนโลงสะเดาะเคราะห์เพื่อต่อชีวิตให้กับตนเองตลอดไปถึงบุคคลอันเป็นที่รัก  ทว่าชีวิตหลังการตายหลอกนั้นยังมีความน่ากลัวย้อนกลับมาหลอกหลอนให้ต้องทุกข์ใจหนักไปกว่าเก่า  เหมือนว่าชีวิตที่เหลือไม่มีแล้วซึ่งความน่าอภิรมย์ใดๆ  เป็นการมองมุมกลับของ  Life  is  Beautiful  หรือการมีชีวิตคือสิ่งสวยงามอย่างชัดเจน  

    หนังเดินเรื่องคู่ขนานระหว่างคริส  ( อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม  กับชื่อในหนังที่อดคิดไม่ได้ถึงแง่มุมทางศาสนา ) หนุ่มไทยซึ่งแฟนสาวชาวญี่ปุ่นชื่อมาริโกะ ( อากิ ชิบูย่า ) กำลังอยู่ในอาการโคม่า  และเรื่องของซู ( คาเรน ม็อค )  นักโภชนาการสาวชาวฮ่องกงที่พบว่าตนเองเป็นมะเร็งก่อนเข้างาน วิวาร์กับแฟนหนุ่มชื่อแจ็ค ( แอนดรู ลิม )  ในสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากับความตายและไม่มีอะไรต้องเสีย  คริสและซูร่วมพิธีนอนโลงซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย  คนหนึ่งทำเพื่อคนที่รักในขณะที่อีกคนทำเพื่อตนเอง  หนังชี้ให้เห็นว่าผลข้างเคียงของพิธีกรรมนั้นไม่แตกต่างกัน  พร้อมเฉลยชั้นเชิงในการเล่าเรื่องที่เล่นแง่มุมกับเงื่อนเวลาในตอนท้ายได้น่าสนใจ

    จุดด้อยของโลงต่อตายคือการพยายามเป็นหนังผีทั้งที่ผู้กำกับไม่ได้ศรัทธาต่อแนวทางนี้อย่างจริงใจ  ต่างจากสองผู้กำกับชัตเตอร์ฯ  ซึ่งผลงานที่ผ่านมาเห็นอย่างชัดเจนถึงจังหวะจะโคนการจับอารมณ์คนดูได้อยู่มือ  เล่นกับความหวาดระแวงที่ผู้ชมสร้างขึ้นภายใต้การชี้นำของหนังอย่างได้ผล  ไม่รู้เป็นพรสวรรค์หรือเทคนิคส่วนตัวแต่ผมถือว่าพวกเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้

    โลงต่อตายขาดจุดยืนที่มั่นคงระหว่างทางแพร่งของเรื่องดราม่าและผี  เราจะเห็นความไม่แน่ใจตลอดเวลาฉายที่เดินเรื่องแบบกั๊กๆปล่อยๆ  ประมาณน้องตุ้มใน Beautiful  Boxer  ที่ไม่ชัดเจนว่าตัวเองจะยืนอยู่ฝั่งไหนของสังเวียนดี  ความเป็นดราม่าหรือแง่มุมทางศิลปะของผู้กำกับถึงวันนี้คงไม่มีใครสงสัย  แต่การจับงานให้เหมาะกับตัวก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความสามารถที่มีนั้น  ผมเชื่อในความคิดที่ว่า  Anyone  can  cook จากหนังการ์ตูนเรื่องโปรด  Ratatouille  แต่ผมกลับไม่เชื่อว่าผู้กำกับที่ดีจะต้องทำหนังได้ดีในทุกแนว

    นักแสดงหลักทุกตัวทำหน้าที่ได้สมบทบาท  จะขัดใจอยู่บ้างก็ตัวประกอบทั้งหลายที่สวยหล่อเกินธรรมชาติ  แย่งความเด่นของตัวหลักให้เลือนลงอย่างน่าเสียดาย  ผมคิดว่าหน้าตาเกรดนี้ไม่เหมาะกับหนังที่ผูกโยงตัวเองกับเรื่องราวทางไสยศาสตร์นัก  มันต้องหน้าตาแบบสัปเหร่อหรือศพนอนรอเผาในเมรุนั้นที่แหละเหมาะสุดๆ  แล้วกับหนังในอารมณ์นี้
    หนังจัดแสงโทนเย็นอย่างจงใจ   (นึกถึงแสงในหนังของเอกชัย  เอื้อครองธรรมโดยเฉพาะ Beautiful  Boxer  ซึ่งเด่นมากจนเรียกว่าแสงก็ยังเล่าเรื่องได้  เป็นความขัดแย้งรุนแรงของโทนร้อนและเย็นที่ปรากฏซ้อนกันในตัวน้องตุ้ม  น้ำเงินและแดงที่เข้ากันดีกับสีของกีฬามวย  แต่เมื่อสองสีนั้นผสมกันเองกลับกลายเป็นสีของสถาบันรักร่วมเพศไปซะงั้น…  จุดนี้ถือเป็นข้อได้เปรียบของ    ผู้กำกับละครเวทีที่เอาทั้งศาสตร์ของแสงมาใช้ในหนังได้อย่างลงตัว)  สีฟ้า  น้ำเงิน  ไปจนถึงสีดำที่บางครั้งให้อารมณ์ยะเยือกชวนสยอง  บางครั้งก็ทำให้รู้สึกถึงการรำงับของกิเลสสู่ความสงบเย็นในจิตใจ

    ฉากจบของโลงต่อตายทำให้ผมนึกถึงเรื่อง  American  Beauty  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เป็นภาพกลีบกุหลาบแดงฉานที่ร่วงปนอยู่กับเถ้ากระดูกซึ่งถูกจัดวางเป็นรูปมนุษย์  สื่อข้อความสุดท้ายสรุปหนังทั้งเรื่องว่าความตายตามวาระนั้นเป็นสิ่งสวยงาม

    หนังโฟกัสตาลปัตรอันสุดท้ายที่เขียนข้อความ  “หนีไม่พ้น”  ไว้ในฉากนอนโลงสะเดาะเคราะห์หมู่ครั้งยิ่งใหญ่  ทั้งที่ทุกคนรู้ว่านั่นคือสัจธรรมแต่เราก็ยังคงหนีตายและยื้อกันทุกทางเพื่อให้วาระนั้นถอยห่างออกไปให้ไกลที่สุด  เรายินดีและรักชีวิตที่อยู่ด้วยความกลัวตาย  ?  ทั้งกลัวความตายของตนเอง  กลัวความตายของคนที่เรารัก

    ผมไม่อาจคิดแทนคนที่รู้ตัวว่ากำลังจะตายได้ว่าเขาควรจะต้องรู้สึกอย่างไร  ขนาดทำใจยอมรับความจริงว่าบุคคลอันเป็นที่รักได้จากโลกนี้ไปแล้วยังเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง  ความคิดที่ว่า  “ความตายเป็นสิ่งสวยงาม”   ไม่ว่าใครก็คงพูดได้ถนัดปากและเข้าใจได้ไม่ยากนักในยามมีสติ  แต่เมื่อต้องยืนเผชิญหน้ากับความตายของตัวเองจริง ๆ  ความเข้าใจที่เคยมีต่อความคิดนี้อาจต่างออกไปอย่างสุดขั้ว

    ฉากจบของโลงต่อตายเป็นตัวแทนที่ดีของความตายหรือการสิ้นสุดที่แสนจะสวยงาม     หวังว่าวันนึงเราจะเข้าใจมันอย่างถ่องแท้และดับความกลัวนั้นลงได้ก่อนที่ความตายจริงๆ  จะมาเยือน

    จากคุณ : beerled - [ 25 ส.ค. 51 19:32:10 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom