Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    เปลี่ยนแฟนเหรอ...แลงงงงง

    มาช่าเค้าพูดว่าอะไรคะ ?
    ทีแรกคิดว่าตัวเองฟังไม่ดีเอง พยายามฟังหลายทีแล้ว ว่าเค้าพูดว่าอะไร
    จนมาค้นกระทู้ในห้องนี้ ถึงได้เพิ่งเข้าใจวันนี้เอง ว่าเธอหมายถึงคำว่า แรง
    แต่เจ้าของกระทู้ฟังกี่ทีๆ ก็แน่ใจว่าเธอไม่ได้ออกเสียง ร เรือ เลย

    คนทำโฆษณา วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ข่าว และสื่อต่างๆ ที่มิได้เอ่ยถึง ช่วยกันเข้มงวดเรื่องการออกเสียงภาษาไทยและการใช้ภาษาไทยหน่อยได้ไหมคะ

    ทุกวันนี้ภาษาไทยเราก็วิบัติไปมากแล้ว

    ดิฉันจะบ่นให้ฟัง

    การสะกดคำผิดโดยตั้งใจ - หัวจัย, ทัมมัย, ปัยหนัย, เปนงัย, อาราย, ด้ายเรย, รักเทอ, จิงหลอ, เด๋วนะ ฯลฯ  เรื่องนี้แพร่หลายเหลือเกิน เป็นตัวอย่างที่เห็นและจับต้องได้ชัดเจนมากที่สุดในบรรดาการใช้ภาษาไทยผิดๆ คงต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ในโรงเรียนครูต้องเข้มงวดเรื่องนี้ให้มาก หรือเด็กอาจจะเขียนส่งครูถูก แต่เอามาใช้ทั่วๆ ไปผิด ก็คงต้องเน้นย้ำว่ามันไม่ได้ดีเลย ไม่เท่เลย แต่เป็นการทำลายภาษา ใครเห็นคนใกล้ตัวใช้ผิด ก็คงต้องช่วยกันเตือน


    การใช้คำสลับกันระหว่างคะ กับค่ะ - เกิดกับกลุ่มผู้หญิงมากกว่าผู้ชายแน่นอน เพราะผู้หญิงคงใช้สองคำนี้บ่อยกว่า ใช้คะเป็นค่ะ (ขอบคุณนะค่ะ, สบายดีไหมค่ะ, ทำไงดีค่ะ), ใช้ค่ะเป็นคะ (สวัสดีคะ, ขอบคุณคะ, ไม่เป็นไรคะ) เรื่องนี้ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เล็ก ปัญหาคือเรื่องการผันวรรณยุกต์ ในความคิดเดิมของดิฉัน กลุ่มคนที่ใช้คำสบสนระหว่างคะกับค่ะ น่าจะเป็นเด็กๆ รุ่นใหม่ ประมาณชั้นประถม มัํธยมที่ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ หรือเป็นเด็กนักเรียนอินเตอร์ที่ไม่คุ้นเคยการใช้ภาษาไทย แต่สิงที่ดิฉันตกใจคือ บรรดาน้องๆ ที่ดิฉันรู้จัก ซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หลายแห่งในไทย ทั้งของรัฐและเอกชน ทั้งภาคไทยและภาคอินเตอร์ ล้วนแต่ใช้คำเหล่านี้สบสนปนเปทั้งสิ้น ดิฉันไปพบจากใน hi5 ของเพื่อน ซึ่งน้องๆ เหล่านี้เข้ามา comment เช่น หวัดดีคะพี่... สบายดีไหมค่ะ เมื่อไหร่จะได้เจอกันค่ะ อย่าลืมมางานหนูนะค่ะ ขอบคุณคะ ที่ยกตัวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเหมารวมว่าเด็กยุคใหม่จะเป็นแบบนี้ทุกคน เพราะผู้ใหญ่ที่ใช้ผิดก็มี แต่อย่างที่บอกก็คือ ดิฉันตกใจว่าคนที่ใช้คะกับค่ะผิดนี้ มีอยู่เยอะเหลือเกิน แถมยังเป็นคนใกล้ตัวเรา ผ่านการศึกษาตามระบบการศึกษาของไทยมาเหมือนๆ กับเรา ที่ก็น่าจะได้อ่านหนังสืออยู่บ่อยๆ และคุ้นเคยกับภาษาไทยเป็นอย่างดี แต่พวกเขายังใช้กันไม่ถูกต้องเลย แล้วเราจะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไรกันดี


    การบัญญัติคำศัพท์ใหม่ๆ ออกมามากมาย - เรื่องนี้พอเข้าใจและรับได้ เพราะภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แม้มันจะมีคำว่า เด็กแว๊น, เด็กสก๊อย, ส่งแฟ๊กซ์, งานเข้า, ให้ว่อง, ชิมิ, ซักเรื่อง, ไม่ไหวจะเคลียร์ ฯลฯ ก็เอาเถอะ หากมันจะช่วยจำกัดความหมายได้เห็นภาพของสิ่งสิ่งหนึ่งได้ และช่วยให้มีอรรถรสในการพูดคุย ก็จะพยายามยอมรับ เพราะนี่ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ ได้ แต่เอาเป็นว่าใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูกก็แล้วกัน และพอถึงเวลาใช้จริงๆ ก็แยกแยะให้ถูกแล้วกันนะ ว่าเมื่อไหร่ควร เมื่อไหร่ไม่ควร


    การใช้คำผิดที่ผิดเวลา – จากกระแสละครนางทาส ในขณะที่แฟนละครช่องเจ็ดนั่งเช็ดน้ำตาสงสารอีเย็นนั้น อีป่วนจากเรื่องเดียวกันก็พาประโยค “แต่ก็มิได้นำพา” มาให้ติดหูกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ผลมาจากคนเขียนบทที่อยากให้เกิดเป็นคำติดปากเหมือนคำว่า “แม่ไม่ปลื้ม” จากละครเรื่องขิงก็ราข่าก็แรง (คนเขียนบทคนเดียวกัน) จึงใส่ประโยคนี้เข้าไปในทุกฉากที่มีอีป่วนโผล่หน้ามา จนโดนกระแสในอินเตอร์เน็ตด่าว่า”บ่อยเกินไป” เรื่องพูดบ่อยคงไม่เป็นไร หากใช้ถูกต้อง แต่นี่อยู่ดีๆ นึกจะพูดก็พูด จนเสียความหมายไปหมด คนดูเองก็คงงงเช่นกันว่ามันแปลว่าอะไรกันแน่ แต่คนไม่งงก็มี คือเอาไปใช้เลย อยากพูดเพราะมันฮิต มันเป็นกระแส แปลว่าอะไรฉันไม่สน ซึ่งน้อยคนนักจะเข้าใจจริงๆ ว่าคำว่า “มิได้นำพา” นั้น แปลว่าอะไร และใช้เมื่อไหร่จึงจะถูกต้อง หลายคนทราบแล้ว แต่ใครยังไม่รู้ก็ตามมาจะบอกให้ฟัง

    นำพา เป็นคำกริยา แปลว่า เอาใจใส่, เอิ้อเฟื้อ, ช่วยธุระ, ใช้ในประโยคปฏิเสธว่า ไม่นำพา (ที่มา: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

    ดังนั้น มิได้นำพา หรือ ไม่ได้นำพา หรือไม่นำพา นั้น ถ้าให้ตีความง่ายๆ ก็คือ ไม่เอาใจใส่ นั่นเอง คือ ไม่ว่าอีป่วนจะพูดยังไง คุณสาลี่ก็ไม่ได้เอาใจใส่ หรือสนใจในสิ่งที่อีป่วนบอก อีป่วนจึงต้องพูดกับตัวเองว่า "แต่ก็มิได้นำพา"

    ยังมีหลายคำที่เข้าข่ายกรณีใช้คำผิดประเภท พวกสำนวนไทยก็มากที่นำไปใช้กันผิดๆ ต้องต้องแก้ที่ตัวผู้ใช้นั่นแหละ ว่าศึกษาข้อมูลมาดีก่อนจะพูดออกไปหรือไม่ และผู้ฟังหากทราบว่าผู้พูดใช้ผิด ก็ควรช่วยแก้ไข (ถ้าเป็นฐานะเพื่อนกันนะ ถ้าเป็นเจ้านายหรือผู้ใหญ่ ไปแก้ไขท่านก็คงไม่เหมาะ อย่างนั้นเรียกว่าหักหน้า) โดยดูตามจังหวะ เวลา และโอกาสที่เหมาะสมเองก็แล้วกัน


    การอ่านออกเสียงคำผิด เช่น คำว่า "โฆษณา" ที่ก็ถูกหยิบยกนำมาตั้งเป็นกระทู้ถกเถียงกันยาวหลายสิบความเห็น ในความเห็นแรกๆ หลายคนมั่นใจมาก ว่าอ่านว่า โค-สะ-นา จนดิฉันก็เริ่มสับสนตามไปด้วย ต่อมาอีกหลายความเห็นเชื่อว่าอ่านออกเสียงได้ทั้งสองอย่าง คือ โค-สะ-นา และ โคด-สะ-นา แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า ต้องออกเสียงว่า โคด-สะ-นา ซึ่งดิฉันเองก็ไม่อยากเห็นหลายๆ คนพยายามแก้ตัวว่ามันอ่านได้ทั้งสองอย่างเพียงเพราะว่าคนจำนวนมากใช้กันผิดๆ จึงยัดเยียดใส่คำผิดให้เป็นคำถูกเสียให้ได้ คือถ้าคำไหนมันอ่านได้ทั้งสองอย่าง ทางราชบัณฑิตยสถานก็จะระบุมาให้เองอยู่แล้ว เช่น โภชนาการ อ่านได้ทั้ง โพ-ชะ-นา-กาน และ โพด-ชะ-นา-กาน เป็นต้น

    เรื่องการอ่านออกเสียงให้ถูกต้องนี้ หากท่านไหนสนใจ และอยากร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทย รวมทั้งร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องนั้น ดิฉันขอแนะนำหนังสือ “อ่านอย่างไร และเขียนอย่างไร” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ราคาเล่มละ ๑๐ บาท ถูกมากเมื่อเทียบกับสาระข้างใน เป็นเล่มเล็กๆ กว้าง ๑๐ ซม, สูง ๒๑ ซม, หนาประมาณ ๖ มม. สามารถพกติดกระเป๋าได้เลย ในเล่มแบ่งเป็นส่วน อ่านอย่างไร โดยเรียงตามลำดับตัวอักษร พร้อมทั้งบอกการอ่านคำวิสามานยนาม (ชื่อเฉพาะ) การอ่านตัวเลขต่างๆ (เลขทศนิยม, เลขบอกเวลา, บ้านเลขที่, รหัสไปรษณีย์ ฯลฯ) การอ่านเครื่องหมายต่างๆ และส่วนเขียนอย่างไร เรียงลำดับตามตัวอักษร แสดงคำที่เขียนถูกและแสดงว่ามักเขียนผิดเป็นอย่างไร ล่าสุดกำลังจะจัดพิมพ์ครั้งที่ ๑๘ อีก ๕๐,๐๐๐ เล่ม


    และหัวข้อสุดท้าย ที่เป็นเหตุผลให้ดิฉันมาตั้งกระทู้วันนี้
    การอ่านออกเสียง ร เรือ ล ลิง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทย ยากที่จะยกตัวอย่าง เพราะใครๆ ก็สามารถออกเสียงผิดได้ทุกคำที่มี ร เรือ และ ล ลิง ประกอบอยู่ จริงอยู่ว่าคำควบกล้ำบางคำนั้นออกเสียงยากจริงๆ แต่เรื่องพวกนี้ ฝึกฝนได้ หากเราฝึกฝนกันบ่อยๆ เชื่อว่าทุกคนจะพูดได้คล่องปาก และไม่รู้สึกว่ามันยากเลย มิหนำซ้ำยังจะมาช่วยดิฉันรำคาญคนพูดไม่ชัดอีกด้วย

    ตามที่ได้กล่าวถึงสื่อต่างๆ ที่ต้นกระทู้ ในส่วนของรายการข่าว นับว่าน่าห่วงน้อยที่สุด เพราะคนทำข่าวมักถูกเพ่งเล็งในเรื่องการออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจนอยู่แล้ว จึงต้องระมัดระวังมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนวิทยุก็น่าจะระมัดระวังเรื่องนี้อยู่แล้วเช่นกัน

    กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มพิธีกรรายการต่างๆ ที่มาจากดารา นักแสดง ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ที่อาจไม่ได้ผ่านการอบรมหรือเน้นยำในเรื่องนี้มากนัก จึงค่อยข้างละเลยไปพอสมควร ทุกครั้งที่ได้ยินพิธีกรออกเสียงไม่ชัด ใช้คำผิด ดิฉันรู้สึกเป็นกังวล และห่วงใย นึกได้อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่อง ส เสือ ที่ดิฉันเองก็แปลกใจว่าทำไมไปออกอยู่ตรงกระพุ้งแก้ม ไม่ใช่ที่ปลายฟัน เด็กวัยรุ่นหลายคนเป็น เพื่อนเจ้าของกระทู้สมัยเรียนมัธยมก็มีที่พูด ส เสือไม่ชัด ถ้าเป็นวัยรุ่นที่เดินเล่นอยู่ทั่วไปคงไม่เป็นไร แต่นี่เด็กเหล่านี้มาเป็นพิธีกร ออกอากาศไปทั่วประเทศ ควรเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ใช่หรือ มีใครเข้าควบคุมเรื่องนี้บ้างหรือไม่


    กลับมาที่เรื่องโฆษณาตัวนี้ เจตนาของดิฉันไม่ได้ตั้งใจมาโจมตีต่อว่ามาช่าว่าเธอเป็นคนผิด เพียงแต่เธอเป็นตัวอย่างที่เราเห็นอยู่ในตอนนี้ จึงขออนุญาตยกมากล่าวถึง หากระหว่างการถ่ายโฆษณามาช่าพูดไม่ชัด ผู้กำกับโฆษณาหรือใครก็ตามก็มีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรจะท้วงติง และแก้ไขให้พูดใหม่ให้ชัดเจน

    ดิฉันไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำโฆษณา จึงไม่ทราบว่าขั้นตอนทั้งหมดกว่าจะออกมาเป็นโฆษณาให้เราชมกันนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แต่ก็เชื่อว่าคงไม่ได้ทำวันเดียวแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมออกอากาศได้เลย จึงคิดว่าทีมงานทั้งหลายน่าจะเข้ามาดูแล ก่อนจะปล่อยออกมาให้เราดูและฟังกันวันละหลายๆ รอบ


    เรื่องการใช้ภาษาไทยที่คนมักใช้กันผิดที่พูดมาทั้งหมดนั้น หากจะถือว่าไม่เป็นไรคนเราไม่ได้รู้ทุกอย่างก็คิดได้ แต่นี่ก็คือภาษาแม่ของพวกเรา ดิฉันเห็นว่าสมัยนี้คนเราให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษกันนักหนา ต้องพูดกันให้ได้ ต้องให้ลูกเรียน English Program, เรียน Bilingual, เรียนโรงเรียนนานาชาติ ภาษาอังกฤษสำคัญต่อการเรียนต่อเหลือเกิน สำคัญต่อทำงานเหลือเกิน แต่เรากลับใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันไม่ถูกต้อง มันน่าอายไหม

    เปล่า ดิฉันไม่ได้ต่อต้านการเรียนภาษาอังกฤษ ดิฉันก็ยังเชื่อว่าภาษาอังกฤษเองก็มีความสำคัญในหลายๆ ด้าน การไปเรียนต่อต่างประเทศ การสมัครเข้าทำงานบริษัททั้งเล็กและใหญ่ การค้าขายเป็นเจ้าของกิจการ การอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง บันเทิง การท่องเที่ยว ฯลฯ หากอยากเพิ่มโอกาสในชีวิตให้ตัวเอง อยากเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นล้วนจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งนั้น แต่สิ่งที่อยากบอก คือ เราต้องไม่ลืมภาษาไทยของเราด้วย เราควรภูมิใจในความเป็นไทย และภาษาไทยของเราที่มีใช้กันมาเป็นพันๆ ปี


    ขอโทษที่บ่นยาวมาก


    สุดท้ายนี้ ดิฉันอยากขอแรงทุกคนช่วยกันรณรงค์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องกันเถอะค่ะ

    เรารักประเทศไทย เราอาจเป็นประชาชนคนหนึ่งที่ช่วยเหลืออะไรประเทศไม่ได้มาก หากเพียงการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องของเราจะสามารถช่วยอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมของประเทศเราที่เราหวงแหนไว้ได้ เราก็พร้อมยินดีจะทำ และหวังจะเห็นความร่วมมือจากทุกท่านด้วยเช่นเดียวกัน

    แก้ไขเมื่อ 31 ส.ค. 51 22:13:56

    จากคุณ : วันนี้อากาศดีนะคะ - [ 31 ส.ค. 51 22:03:37 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom