CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGang


    <<<<<<<<<<< ดูแล้วมาคุยกัน ... Happy Birthday , มุมมองของ คนคิดมาก และ ไม่อิน >>>>>>>>>>>

      ชอบมาก ห้ามพลาด (74 คน)
      ชอบ (95 คน)
      เฉยๆ (143 คน)
      ไม่ชอบ (71 คน)
      ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (51 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 434 คน

     17.05%
     21.89%
     32.95%
     16.36%
     11.75%


    ...เลือกอ่านบทความต่อไปนี้พร้อมรูป + อ่านความเห็นอื่นๆ + เชิญชวนมาคุยเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aorta&month=22-12-2008&group=14&gblog=130


    ... บทความนี้อาจทำให้ผู้อ่านที่ปลาบปลื้มประทับใจกับหนัง HBD  ขุ่นเคืองหรือ หงุดหงิดรำคาญblue หรือ อาจมองว่า จขกท. ดูหนังโดยใช้หัวคิดมากไป ใช้หัวใจน้อยกว่ากินแห้ว

    ซึ่งสารภาพว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะ ตลอดเวลาของช่วงท้ายๆของหนังเรื่องนี้ ผมมีความคิดขัดแย้งกับหนังตลอดเวลาในแง่ของแก่นความรักที่หนังพยายามนำเสนอ และ ข้อเท็จจริงทางการแพทย์กับเรื่องของสภาพจิตใจบางประการ

    ดังนั้นถ้าท่านไม่อยากขุ่นเคืองเสียอารมณ์กับความเห็นของคนไม่ชอบ ท่านสามารถกดข้ามกระทู้นี้ได้เพื่อความสมานฉันท์ฮ่าฮ่าฮ่า

    ซึ่ง โดยรวมแล้ว ถ้ามองแค่ในแง่ของความเป็นหนังเรื่องหนึ่งอันประกอบไปด้วยการกำกับ , การถ่ายภาพ, การแสดง ฯลฯ หนังไทยเรื่องนี้เป็นหนังที่ดี เพียงแต่ ผมไม่ชอบ ไม่อิน และ ไม่ประทับใจ



    หนุ่มสงกรานต์ 1.


    ... ทั้งๆที่ตัวเอง เป็น แฟนของคงเดชตั้งแต่ สี่เต่าเธอ  มาจน เฉิ่ม  ที่กลายเป็นหนึ่งในสิบหนังไทยที่ชอบที่สุด และ ก็ชื่นชมการแท็คทีมของ คงเดชกับพงพัฒน์ใน me , myself  ร่วมกับแอบปลื้มปนปิ๊ง น้องแอม-นักแสดงนำหญิงที่เล่นหนังได้เป็นธรรมชาติน่ารักน่าหยิกแท้ๆ

    ทั้งๆที่ตัวเอง เป็น คนที่มักถูกจริตกับหนังแนว ความรัก พลัดพราก และ ความตาย ตัวเองเป็นคนบิวต์ง่าย แค่ตัวอย่างหนังเรื่องนี้ก็น้ำตาซึม

    ทั้งๆที่ตัวเอง เป็นแฟนวงพราวตั้งแต่อัลบั้มแรกตอนเป็นนักศึกษา ตามเก็บกระทั่งเวอร์ชั่น music box ของเพลง เธอคือความฝัน ซึ่งแค่ได้ฟังเพลงในหนังก็ยิ้มอย่างอิ่มเอมใจ

    ครั้นตีตั๋วเข้าไปดู ก็ปรากฎว่า


    ... ผมชอบครึ่งแรกมากsmile

    หนังดูเป็นธรรมชาติ วางคาแรคเตอร์ตัวละครได้มีเสน่ห์ นักแสดงก็เล่นได้น่ารักเป็นธรรมชาติดี การถ่ายภาพก็สวยงามดูแล้วเคลิ้มอยากกลับไปแม่ฮ่องสอนอีกซักรอบ

    จุดหักมุมของหนังตามตัวอย่าง คือ วันเกิดของพระเอก มาพร้อมกับ ภาวะโคม่าของนางเอก ซึ่งหนังเปลี่ยนอารมณ์จาก กุ๊กกิ๊กน่ารัก มาเป็น อึดอัดสะเทือนอารมณ์ ใน ครึ่งหลัง ผมก็ยังชอบ และ คิดว่า อนันดา แสดงได้หนังเรื่องนี้ได้ดีมาก เขาน่าจะเลือกเล่นหนังมีคุณภาพแบบนี้ มากกว่าจะรับเล่นหนังพร่ำเพรื่ออย่างในปีนี้จนหน้าช้ำ

    บวกกับ ตัวหนังทำการบ้านเรื่อง ปฎิกิริยาของการสูญเสียได้ดี ที่ให้เห็นว่า คนที่สูญเสียคนรักจะมีทั้งปฏิเสธความจริง สับสน โกรธ ฯลฯ

    อาจจะติดให้ติอยู่นิดนึง ก็แค่ครึ่งแรกของหนัง นอกจากเที่ยวต่างจังหวัดกับนั่งกินข้าว หนังยังไม่แสดงให้เห็นการใช้ชีวิตด้านอื่นๆที่ ร่วมทุกข์ร่วมสุขมากพอ ชวนที่จะให้คล้อยตาม ความรักของพระเอกในครึ่งหลัง


    ... ที่ชอบเป็นพิเศษ ก็ตอนเริ่มเรื่องที่ ให้ตัวละครคู่หนึ่งไปหาสถานที่ท่องเที่ยวจากหนังสือเก่าๆเล่มหนึ่ง แล้วเถียงกันว่า มันอาจไม่สวยเหมือนแต่ก่อน แล้วอีกคนแย้งว่า ถึงเวลาจะผ่านไปแต่ความงดงามหรือสิ่งดีๆก็น่าจะยังมีอยู่

    ทำให้ผมนึกถึงประเด็น บางอย่างอาจเปลี่ยนไป แต่บางสิ่งนั้นก็ยังคงเดิม ซึ่ง สามารถโยงกับความรัก ที่คู่รักของเราอาจเป็นอัมพาตพิกลพิการหรือหลงลืม แต่ ความรักของเรานั้นก็ยังสามารถอยู่คงเดิมได้ไม่แปรเปลี่ยนตาม




    ...ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวผมและทำให้ผมไม่เชื่อไม่อินไม่คล้อยตาม เกิดขึ้นหลังจากครึ่งหลังของหนังผ่านไปพักใหญ่

    เมื่อหนังกำลังแสดง ความไม่สามารถปล่อยวาง เป็น รักแท้ , ปล่อยให้ภาวะป่วยของพระเอกเดินหน้าอย่างโหดร้าย ดำดิ่งลงเรื่อยๆ แต่ดันเปลี่ยนไปจบอย่างสวยงามไม่ทันตั้งตัว โดย พยายามเลี่ยงข้อเท็จจริงหลายๆอย่างเพื่อนำไปสู่จุดพีคของอารมณ์ในช่วงท้าย

    รวมไปถึง ภาวะสมองตายและการุณยฆาต(euthanasia) ที่ผมมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่พอสมควร




    man 2.


    ... ผมเชื่อว่ามีผู้ชายแบบพระเอกในหนัง และเคยเห็น ญาติๆหรือคู่รักที่พร้อมจะดูแลคนรักที่ป่วย เช่น พิกลพิการ , หลงลืมญาติ ฯลฯ ไปจนสิ้นลมหายใจ

    แต่

    ภาวะสมองตาย(brain death) ไม่เหมือนกับ ภาวะอัลไซเมอร์ หรือ อัมพาต หรือ พิกลพิการ ฯลฯ ไม่เหมือน เรื่องราวของ ตาลอบกับยายทอง

    เพราะ

    ภาวะสมองตาย(brain death) คือ ภาวะที่สมองไม่ตอบสนอง ไม่รับรู้เรื่องราวความรู้สึกใดๆ และ ไม่มีทางที่ผู้ป่วยจะฟื้นขึ้นมา ได้แต่รอวันตาย เพราะ สมองที่ควบคุมการหายใจ , ความคิดความรู้สึกฯลฯ หยุดทำงานแล้ว แต่ที่ผู้ป่วยยังหายใจเป็นเพราะอาศัยเครื่องจักรอย่างเครื่องช่วยหายใจ ไม่ใช่แค่ใช้ถังออกซิเจน

    และ

    ภาวะสมองตาย(brain death) สามารถตรวจวัดแล้วบอกได้ชัดเจน จากภาวะตอบสนองของระบบประสาท , ตรวจม่านตา , ตรวจการทำงานของสมอง ฯลฯ ไม่ใช่แค่ดูจาก คนไข้ไม่รู้สึกตัว เนื่องจาก ภาวะโคม่าอีกหลายๆกรณีนั้น สมองของคนไข้ก็ยังไม่เข้าข่ายสมองตาย



    ...ในโลกความเป็นจริงนั้น แทบจะวันเว้นวัน ในโรงพยาบาลใหญ่ๆประจำจังหวัด เราสามารถพบผู้ป่วยในภาวะ สมองตาย ที่หมอต้องให้ ญาติตัดสินใจว่า จะปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปหรือไม่ หรือ จะต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจต่อไปเรื่อยๆ

    กรณีที่แพทย์จะมาให้ญาติตัดสินใจเช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้น หากคนไข้เป็น อัมพาต หรือ เส้นเลือดสมองแตก หรือ อัลไซเมอร์ ฯลฯ

    ไม่มีแพทย์คนไหนที่จะมาบอกให้ญาติเลือกว่า จะช่วย คนไข้พิการหรืออัลไซเมอร์ต่อหรือไม่ เพราะกรณีเหล่านั้น คนไข้ยังมีชีวิตยังมีความรู้สึก

    แต่ในกรณีสมองตาย ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้ใดๆแล้ว เพียงแค่ยังหายใจ ตามเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น และ นับถอยหลังรอเสียชีวิต ผู้ป่วยไม่ได้รับรู้ว่า อีกฝั่งคิดหรือรู้สึกอย่างไร (ต่างกับ อัลไซเมอร์ที่ยังรู้สึกได้แค่หลงลืม)


    ... การเลือกที่จะ สู้ต่อ หรือ ปล่อยคนไข้ไป ไม่มีทางไหน ที่ผิด เพียงแต่ ถ้าเลือกที่จะสู้ต่อ ก็ต้องเผชิญข้อเท็จจริงว่า ผู้ป่วยจะไม่ฟื้นคืนมา อีกทั้ง ค่ารักษาพยาบาลก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ญาติๆก็จะต้องมาเฝ้าดูแลทุกวัน โดยที่เจ้าตัวนั้นไม่ได้รับรู้อะไรอีกต่อไป

    ในความเป็นจริง จึงมีทั้งญาติที่สู้ถึงที่สุด , สู้จนถึงพอจะทำใจได้ , สู้ให้นานพอให้ลูกหลานต่างจังหวัดกลับมาดูใจ และ สุดท้ายยอมปล่อยให้ผู้ป่วยจากไป


    ... จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะสู้แค่ไหน แต่ เมื่อถึงจุดที่ญาติต้องเลือก ญาติหลายคนไม่กล้าเลือกหยุดการรักษาในแรกเริ่ม เพราะ กลัวที่จะถูกมองว่าเห็นแก่ตัว กลัวที่จะกลายเป็นลูกที่ไม่ดี เป็นภรรยาที่ไม่สู้เต็มที่ เป็นพ่อแม่ที่ไม่สู้ถึงที่สุด ฯลฯ

    และหากถึงที่สุด เมื่อญาติเลือกจะถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อปล่อยให้ผู้ป่วยไปสบาย แต่ หลังจากทำไปแล้ว ถ้าไม่ได้รับการ support จิตใจ ญาติส่วนใหญ่ก็แบก ความรู้สึกผิด(guilt) ติดตัว


    ... ความรู้สึกไม่อินของผม เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกว่า หนังกำลังนำเสนอให้เห็นว่า การสู้ขาดใจ เป็น ความรักแท้ ในขณะที่ ผมมองว่าเป็น การยึดติดและไม่ปล่อยวาง เพราะ โจทย์พื้นฐานของหนังตั้งอยู่บนภาวะ สมองตาย ไม่ใช่ อัมพาต หรือ พิการ ฯลฯ ที่เจ้าตัวยังรับรู้

    ผมคิดๆว่า ลองนึกเล่นๆว่า ถ้าบังเอิญเป็นตัวเราเอง หรือ มีผู้ชมที่เคยอยู่ในฐานะญาติที่ตัดสินใจถอดเครื่องช่วยหายใจ พอมาดูหนังเรื่องนี้ ก็อาจจะทำให้ ความรู้สึกผิด ผุดกลับขึ้นมา เพราะคิดว่า ตัวเองยังทำไม่เต็มที่ ดูอย่างรักแท้ในหนังเรื่องนี้ซิ สู้เต็มที่แล้วไม่เห็นจะตาย แถมสุดท้ายยังดีขึ้น

    หรือ ในอนาคตถ้าหมอมาบอกเราว่า ญาติของคุณอยู่ในภาวะสมองตาย จะไม่ฟื้นขึ้นมาอีก อย่าทรมานเขาอีกเลย เราอาจจะไม่กล้าตัดสินใจถอดเครื่องช่วยหายใจ เพราะ มันกำลังจะแปลว่า เรารักไม่มากพอ




    มอบรัก 3.


    ... ภาวะสู้ขาดใจของเต็น ในมุมหนึ่งคือ รักแท้ที่ซื่อสัตย์ตามคำสัญญา แต่ขณะที่ผมเห็น พระเอกเสียงาน เสียการใช้ชีวิตในสังคม และ ทำเสมือนว่านางเอกยังรับรู้ได้เหมือนคนปกติ เช่น เข็นรถพาเธอไปห้าง ไปช็อปปิ้ง ไปดูหนัง ฯลฯ ความคิดที่เกิดขึ้นกับผมมากกว่า คือ ผมลุ้นเป็นระยะๆว่าจะมีใครพาเต็นไปหาหมอหรือพยายามช่วยเต็นให้ดีขึ้น

    เพราะ ภาวะของเต็นน่าจะเข้าข่าย โรคซึมเศร้า หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังการสูญเสียแบบจำเป็นต้องได้รับการรักษา (Pathological grief)

    มีศัพท์คำหนึ่งชื่อว่า Grief คือ ภาวะเศร้าโศกหลังการสูญเสีย เช่น ซึมเศร้า , ร้องไห้ , กินข้าวไม่ได้ , นอนไม่หลับ , ได้ยินเหมือนเสียงคนที่ตายไปแล้วเรียกชื่อ ฯลฯ และเป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกๆ คนสูญเสีย จะรับไม่ได้ ไม่ยอมรับความจริง คิดว่าคนที่จากไปยังมีชีวิตอยู่ เหมือนเช่นกับ เต็น ที่คิดว่า เพา จะต้องฟื้นในช่วงต้น

    สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น ภาวะปกติที่พบได้ ไม่จัดเป็น อาการป่วย

    แต่ ถ้าอาการของ Grief มีภาวะรุนแรง เช่น ซึมเศร้าถึงขั้นฆ่าตัวตาย , หูแว่วถึงขนาดได้ยินเสียงคนมาคุยเป็นเรื่องเป็นราว หรือ ใช้ชีวิตเหมือนคนที่ตายไปแล้วยังอยู่ เช่น จัดโต๊ะจัดจานให้กิน , ซักเสื้อผ้าให้ใส่ตู้ทุกวัน ฯ และ ถ้าอาการของ Grief ที่ว่าปกตินั้นเป็นเรื้อรัง ถือว่าเข้าข่ายภาวะผิดปกติที่เรียกว่า Pathological grief

    ซึ่งส่วนหนึ่งของ Pathological grief เป็นโรคซึมเศร้าที่หากปล่อยทิ้งไว้ อาจเลยเถิดไปจนถึงการฆ่าตัวตาย


    ... ดังนั้น ตอนต้นของครึ่งหลัง ผมจึงยังซึ้งในรักแท้ของเต็น แต่พอเริ่มเข้าโหมด พานางเอกขึ้นรถเข็นไปดูหนังในโรงหนังด้วยกันพร้อมถังออกซิเจน , พาไปช็อปปิ้งซื้อเครื่องสำอางฯลฯ มันทำให้ผมเปลี่ยนจาก ความซึ้ง เป็น อึดอัดและสงสาร

    สำหรับผม ความรักตั้งแต่กลางครึ่งหลัง ที่พระเอกทิ้งงาน ทิ้งโลกภายนอกและทำเสมือนนางเอกยังมีชีวิต คือ การยึดติดไม่สามารถปล่อยวาง มากกว่าจะเป็น รักแท้ที่งดงาม (แถมยังเป็นภาวะป่วยอีกต่างหาก)


    ... ยิ่งนึกเปรียบเทียบกับหนังที่เล่นประเด็นคล้ายๆกัน เกี่ยวกับ ความรัก การสูญเสีย grief และ ความตาย

    ผมชอบการคลี่คลายไปสู่บทสรุปของ หนังฝรั่งที่ว่าด้วย สามีพยายามยื้อชีวิตภรรยาที่เป็นมะเร็งใน The Fountain  หรือ หนังจีนที่ จางป๋อจือเล่นเป็นนางเอกที่ยังคงใช้ชีวิตเสมือนสามียังไม่ตายใน Lost in time  และ พ่อแม่ที่สูญเสียลูกสาวใน รักแห่งสยาม  มากกว่า



    (มีต่อ)

    แก้ไขเมื่อ 24 ธ.ค. 51 12:58:01

    แก้ไขเมื่อ 23 ธ.ค. 51 14:42:49

    แก้ไขเมื่อ 23 ธ.ค. 51 14:32:12

    จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" - [ 23 ธ.ค. 51 14:29:10 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com