Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ความสุขของ “กะทิ” : หนังไทยไร้จริต (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

    หนังไทยซึ่งดัดแปลงงานเขียนระดับรางวัลมาขึ้นจอ  แค่นี้ก็เรียกร้องความสนใจของผมได้ทันทีแม้จะยังไม่ได้อ่านงานต้นฉบับ  เหตุผลคงเพราะช่วงที่ผ่านมา  หนังไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับบทจนอาจถึงขั้นที่เรียกว่าละเลย  การหยิบเรื่องราวระดับนี้มาสร้างหนังจึงน่าสนใจอยู่ไม่น้อยสำหรับวงการหนังบ้านเรา

    ผู้เขียนบทรางวัลออสการ์ท่านหนึ่งเคยกล่าวประมาณว่า  แม้บทหนังที่ดีจะไม่สามารถการันตีได้ว่าหนังจะต้องออกมาดี  แต่หนังดีทุกเรื่องจำเป็นที่สุดที่จะต้องสร้างมาจากบทที่ดีเสมอ  ผมฟังแล้วเชื่อสุดใจและระลึกอยู่ตลอดระหว่างการดูหนังเรื่องนี้

    “ความสุขของกะทิ”  สร้างจากนิยายขนาดสั้นรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ.  2549  ของคุณงามพรรณ  เวชชาชีวะ    ( ผู้แปลแฮรี่  พอตเตอร์ฉบับภาษาไทย )  เนื่องจากผมไม่เคยผ่านตาหนังสือเล่มนี้มาก่อน  มุมมองที่มีต่อหนังจึงทั้งสดและใหม่  ไม่มีการคาดหวังหรือเรียกร้องอะไรเป็นพิเศษ  กระทั่งได้ข้อสรุปสั้นๆ ตอนดูจบว่า “ความสุขของกะทิ”  เป็นหนังที่ “ผม” ชอบมาก

    ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่สัมผัสได้คือเด็กหญิงกะทิมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกับเด็กชายแฮรี่  พอตเตอร์  ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตมาโดยปราศจากพ่อแม่  ความสงสัยใคร่รู้เรื่องราวในอดีตของพ่อแม่  กระทั่งการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมดี ๆจากเพื่อนและญาติมิตรซึ่งพร้อมที่จะหล่อเลี้ยงให้เด็กกำพร้าคนหนึ่งเจริญขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต

    สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยในหนังเรื่องนี้คือแนวคิดเชิงสตรีนิยมภายใต้บริบทของสังคมไทย  เพศสภาพของผู้หญิงในแง่มุมต่างๆ ถือเป็นประเด็นหลักแห่งการวิเคราะห์ผ่านตัวละครของกะทิ  ยาย  แม่  รวมตลอดถึงตัวละครเพศหญิงคนอื่นๆ

    กะทิถูกเลี้ยงดูมาโดยตาและยายซึ่งอาศัยอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กะทิผ่านการอบรมนิสัยด้วยวิธีของคนรุ่นเก่า  ยายมีความสามารถด้านการปรุงอาหารไทยรสเลิศ  ทว่าเก็บงำความรู้สึกผ่านใบหน้าที่บึ้งตึงและเข้มงวดกับทุกสิ่ง  ส่วนตาถือว่าตรงกันข้ามเพราะเป็นคนตลก  แสดงความรักความรู้สึกที่มีต่อกะทิออกมาอย่างชัดเจน  สั่งสอนบทเรียนชีวิตให้กะทิได้ซึมซับจดจำ  ชีวิตภายใต้หลังคาเรือนไทยหลังนี้เสมือนยายจะมีอำนาจมากกว่าตา  แต่ในทางกลับกันภายใต้หลังคาของศาลาท่าน้ำซึ่งเป็นที่ประชุมหมู่บ้าน  ตากลับมีบทบาทเป็นถึงทนายความผู้รอบรู้  เป็นผู้นำความคิดของชุมชนและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนทั้งหมู่บ้าน  จุดนี้เราจะเห็นถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ที่มีผลต่อการแสดงออกซึ่งบทบาทของแต่ละเพศ

    ฉากโรงเรียนของกะทิ  ปรากฏตัวละครหญิงรุ่นพี่ที่เด็กๆ ในชั้นเรียนของกะทิพร้อมใจกันเรียกว่า  “ป้อมยักษ์”  ป้อมยักษ์เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทรงอำนาจในพื้นที่สาธารณะ  วางตัวกร่าง  เกะกะระรานผู้ที่อ่อนแอกว่า  เด็กๆ  ทุกคนยำเกรงอิทธิพลของป้อมยักษ์  ไม่ใช่ด้วยความเคารพแต่ด้วยความเกรงกลัวเรือนกายที่ใหญ่โต  ป้อมยักษ์คือภาพแสดงถึงความไม่งดงามของเพศหญิงเมื่อเลือกยืนอยู่ในพื้นที่ของเพศชาย  ประเด็นข้างต้นได้รับการขยายความเพิ่มเติมในฉากเล่นฟุตบอล  เมื่อเด็กผู้ชายในตำแหน่งผู้รักษาประตูบาดเจ็บเลยมีการประกาศหาผู้เล่นคนใหม่  กะทิยกมือขึ้นและขอเป็นผู้รักษาประตู  กรรมการสนามอนุญาตและให้เด็กชายคนเดิมไปเต้นเป็นเชียร์ลีดเดอร์แทนกะทิ  ระดับความมีนัยยะสำคัญของฉากนี้ค่อนข้างสูง  เพราะถือเป็นการแปะมือแลกบทบาทกันระหว่างเพศของเด็กรุ่นใหม่  การเข้าสู่ตำแหน่งผู้รักษาประตูของกะทิได้รับการยอมรับและเป็นการมอบโอกาสให้จากทุกคนทั้งในและนอกสนาม  เป็นวิธีการซึ่งเพศหญิงคนหนึ่งมีโอกาสได้มายืนในพื้นที่สาธารณะซึ่งเพศชายเคยครอบครองและถือว่าเป็นเกมของตนโดยแท้  กรณีของกะทิแตกต่างจากป้อมยักษ์  ในขณะที่กะทิมาสู่บทบาทนี้อย่างชอบธรรม  ป้อมยักษ์เธออาศัยการได้เปรียบทางกำลังที่บึกบึนเพื่อช่วงชิงความยำเกรงนั้นมาโดยที่สังคมยังไม่พร้อมยอมมอบให้

    ในขณะที่กะทิกำลังทำหน้าที่ป้องกันประตูจากผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม  ฉากหลังของสนามฟุตบอลปรากฏภาพเมืองเก่าซึ่งเหลือเพียงซากปรักหักพังจากการรุกรานของศัตรูในอดีต  น่าเชื่อว่าหนังต้องการจะสื่อถึงบทบาทในการรักษาชาติและแผ่นดินภายใต้บริบทของสังคมปัจจุบันซึ่งเพศหญิงก็มีบทบาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาย

    อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ  บทบาทของเพศที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวระดับชาติ  หนังวางระบบคิดอย่างเป็นระเบียบกล่าวถึงความเป็นไทยซึ่งถูกแทนด้วยเพศหญิงและความเป็นชาติตะวันตกที่แทนด้วยเพศชาย  คาดว่าคงจะคำนึงถึงระดับความมีอำนาจในสังคมโลกและความแข็งแกร่งทางกายภาพของประเทศเป็นสำคัญ  สื่อผ่านตัวละครต่างชาติในเรื่องที่เป็นเพศชายรวมถึงนักแสดงชายลูกครึ่งในเรื่องนี้  เช่นฉากที่ชายฝรั่งเศสปั่นจักรยานจากปารีสมาถึงอยุธยา  ความลับเรื่องพ่อของกะทิ  รวมถึงส่วนประกอบเล็กๆ อย่างฉากที่กะทิไม่ยอมแลกปิ่นโตกับเพื่อนผู้ชายซึ่งดูมีฐานะกว่าจนเพื่อนผู้หญิงค่อนขอดว่ากะทิอดกินของอร่อยเพราะปิ่นโตใบสวยนั้นอาจมีจะมี “สเต็ก” หรือ “พิซซ่า”  หรือฉากที่พี่ทองบอกกะทิตอนเที่ยงวันว่าจะต้องไปกินปุพเฟ่ต์ที่วัด  เป็นต้น

    ฉากที่กะทิไม่ยอมแลกปิ่นโตกับเพื่อนและฉากที่กะทิขอแลกตำแหน่งกับเด็กผู้ชายเพื่อจะเป็นผู้รักษาประตูแทน  สองฉากนี้เปรียบเทียบให้เห็นถึงวิธีคิดของกะทิได้ชัดเจนถึงความเป็นคนเข้มแข็งและตัดสินใจอย่างมีเหตุผล

    ส่วนการเปรียบเปรยบทบาททางเพศที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวระดับชาติ  ประเด็นนี้ถือเป็นการฉุดดึงให้ประเทศเราซึ่งค่อนข้างอ่อนแอทางวัฒนธรรม  (เหมือนความอ่อนแอทางกายภาพของเพศหญิง)  ได้ทบทวนบทบาททางสังคมที่ต้องแสดงออกด้วยความเหมาะสม  การระวังภัยวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มรุกรานความมีเสน่ห์ของคนไทย  กระแสความทันสมัยของสังคมเมืองที่เริ่มลิดรอนวิถีชีวิตแบบเก่าก่อน ( เช่นการพูดคุยเรื่องพระราชบัญญัติฉบับใหม่ซึ่งจะเอาที่ธรณีสงฆ์ไปทำประโยชน์แก่เอกชน )  ฉากหนึ่งที่สะท้อนออกมาได้ชัดเจนถึงการเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตกคือฉากน่ารัก ๆ ที่เหมือนจะไม่มีพิษภัยอย่างการปั่นจักรยานเลียนแบบชายฝรั่งเศสของบรรดาเด็กๆ ในโรงเรียนที่ต่อแถวกันเป็นขบวนยาวเหยียดจนสุดโค้งคันนา  พฤติกรรมการทำตามกระแสอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้วันหนึ่งประเทศชาติเราไม่เหลือเค้าเดิมของความเป็นไทย  ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต  อาหารการกิน  ทัศนคติ  รวมถึงความเชื่อความศรัทธา

    การประสานวัฒนธรรมเก่า-ใหม่  การปรับเปลี่ยนบทบาททางเพศ  จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทยและสังคมยุคนี้  บทบาทของผู้หญิงที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านซึ่งแตกต่างจากผู้หญิงในอดีต  แม้กระทั่งยายของกะทิเองก็ยังมีความรู้ความสามารถยิ่งกว่าการเป็นแม่บ้านธรรมดาเช่นพูดได้หลายภาษาจากประสบการณ์การทำงานในอดีต  น้าฎาที่มีบุคลิกเป็น Working Women  รวมถึงแม่ของกะทิที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทกฎหมายต่างชาติ  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นสิ่งที่มิอาจปฏิเสธ  ผู้หญิงยุคใหม่จำเป็นต้องเสาะหาความพอดีระหว่างบทบาทของตนทั้งในและนอกบ้าน  แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเอาตัวรอดในสังคมขณะเดียวกันก็ต้องไม่หลงลืมเสน่ห์อันเกิดจากบทบาทของการเป็นภรรยาและแม่คน

    อาการป่วยของแม่ด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงสื่อถึงความอ่อนแอทางกายภาพของเพศหญิงได้ชัดเจนที่สุด  ความอ่อนแอทางร่างกายนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งที่หลบซ่อนอยู่ภายใน  (และคงจะไม่ต่างจากหญิงไทยทุกคน)  เป็น “ความเข้มแข็งทางจิตใจ” ของผู้หญิงซึ่งเป็นแม่  ทั้งการตัดสินใจเลี้ยงลูกเพียงลำพังโดยไม่ง้อฝ่ายชาย  ความทรมานที่ต้องจากลูกรักของตนมาด้วยความจำเป็น  การจัดเตรียมคำอธิบายถึงอดีตของแม่เพื่อเป็นการทอดวางอนาคตให้ลูกได้อย่างพรั่งพร้อมน่าอัศจรรย์  

    ตอนท้ายเรื่อง  กะทิถูกพิสูจน์ความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่  นั่นคือการตัดสินใจว่าจะส่งจดหมายที่แม่ฝากไว้ไปให้พ่อที่ต่างประเทศหรือไม่  ฉากนี้นอกจากจะสะท้อนถึงทางเลือกในการมีพ่อของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง  หนังยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของผู้หญิงยุคใหม่ซึ่งเลือกที่จะยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ตั้งแต่ยังเด็ก  ( เป็นบุคลิกที่ชัดเจนของกะทิซึ่งไม่ชอบร้องขอความช่วยเหลือจากใคร )  หลังการตัดสินใจครั้งใหญ่ของกะทิ  หนังตัดภาพไปยังโรงละครเล็กซึ่งกำลังแสดงฉาก “สีดาลุยไฟ”  จากเรื่องรามเกียรต์  ฉากนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเพศหญิงที่กล้าตัดสินใจกระทำในสิ่งที่เพศชายก็ยังอาจรู้สึกขลาดกลัว  

    ในอีกมิติหนึ่ง  ฉากนี้เป็นบทพิสูจน์จุดยืนทางวัฒนธรรมของชาติไทยว่าจะดำรงอยู่ในสังคมโลกโดยไม่ต้องพึ่งพามหาอำนาจชาติอื่นได้หรือไม่

    “ความสุขของกะทิ”  นำเสนอหลักธรรมะเรื่องการปล่อยวางได้อย่างเป็นรูปธรรมจากภาพที่ปรากฏในเรื่อง  เช่น  ฉากผ้าที่ปลิวหายตามแรงลม  ลูกโป่งที่ลอยหลุดมือแม่  หรือดอกผักตบชวาที่เหี่ยวเฉารวมไปถึงความตายของแม่  จากความไม่เข้าใจในตอนต้นซึ่งกะทิต้องเผชิญและใคร่ครวญสู่การตัดสินใจเลือกที่จะปล่อยวางผู้เป็นพ่อในท้ายที่สุด
    หนังวางบุคลิกของ “ลุงตอง”  (ชื่ออาจสื่อได้ถึงความเป็นเพศที่สาม)  ว่าเป็นผู้ชายที่ไม่ชอบผู้หญิง  ลุงตองทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมโยงให้กะทิได้รู้จักพ่อด้วยเพราะความนุ่มนวลที่มีอยู่ในตัวประกอบกับการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกส่วนหนึ่งของเพศหญิง  นอกจากภารกิจในการบอกเล่าเรื่องราวของพ่อแล้ว  ลุงตองยังทำหน้าที่กามเทพให้แก่น้ากันฑ์และน้าฎา  ลักษณะของลุงตองที่เป็นคนชอบจัดดอกไม้  การจัดวางความสัมพันธ์ที่ออกมาได้สวยงามในตอนจบก็ต้องถือว่าเป็นเพราะฝีมือของลุงตองด้วยเป็นส่วนสำคัญ

    “ความสุขของกะทิ”  ไม่ใช่หนังสำหรับเด็กโดยเฉพาะเพียงแค่เป็นเรื่องราวของเด็กซึ่งเป็นตัวละครหลัก  หนังบอกเล่าถึงวิธีในการดูแลบุตรหลานให้เติบโตขึ้นเป็นคนดี การจัดเตรียมความพร้อมให้เด็กได้เผชิญหน้ากับความจริงของชีวิต  ได้เข้าใจและจัดการกับความทุกข์อย่างถูกต้องรวมถึงมองเห็นความสุขง่ายๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัว

    หนังเดินเรื่องอย่างเนิบนิ่ง  สไตล์เดียวกับหนังอาร์ตญี่ปุ่นที่เรียกร้องความมีสมาธิของผู้ชมพอสมควร  ดนตรีประกอบที่คลอเบาและหลีกเลี่ยงการชี้นำอารมณ์  ( แม้กระทั่งฉากที่น่าจะปลดปล่อยอารมณ์เป็นที่สุด ) งานด้านภาพดูสะอาดตาและงดงามเป็นธรรมชาติ  เน้นการใช้สีฟ้าที่ให้ความรู้สึกโล่งกว้าง  เย็นสบาย  การแสดงของตัวละครโดยรวมทำได้ดี  แม้ตัวละครเด็กส่วนใหญ่จะยังท่องบทและเล่นแข็งกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่จุดใหญ่ให้ต้องติติงและเป็นเหตุผลที่เข้าใจได้  หนังเล่าเรื่องคล้ายหนังสั้นที่แบ่งแต่ละตอนด้วยข้อความเสมือนเสียงเรียกร้องเบื้องลึกของกะทิ  การทิ้งกล้องให้แช่อยู่กับภาพก่อนตัดเข้าสู่ตอนใหม่ถือเป็นวิธีการที่โดดเด่นในหนังเรื่องนี้  เหมือนการเว้นวรรคด้วยพื้นที่ว่างเปล่าให้ผู้ชมได้ผ่อนอารมณ์และซึมซับกับเรื่องราวอย่างเต็มที่ก่อนการเปลี่ยนเข้าสู่บทต่อไป
    หนังเน้นการเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นหลัก  แต่ละฉากจึงเต็มไปด้วยความหมายที่ซ่อนอยู่  ความสุขของกะทิดึงเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของหนังสือมาสู่บริบทของภาพยนตร์  เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดและจินตนาการโดยที่หนังไม่ได้เผยออกให้เห็นทั้งหมด  

    “ความสุขของกะทิ”  เป็นงานที่ให้เกียรติบทประพันธ์เพราะสื่อออกมาได้ทรงคุณค่าและลุ่มลึกอย่างที่ “หนังสือซีไรต์”  เรื่องหนึ่งควรจะเป็น...

    จากคุณ : beerled - [ 12 ม.ค. 52 08:38:04 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com