CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGang


    <<<<<<<<<< ดูแล้วมาคุยกัน ... จาก หน้ากระดาษ สู่ หน้าจอ , 'ความสุขของกะทิ' ให้อะไรเรา ? >>>>>>>>>>

      ชอบมาก ห้ามพลาด (48 คน)
      ชอบ (65 คน)
      เฉยๆ (30 คน)
      ไม่ชอบ (19 คน)
      ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (55 คน)

    จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 217 คน

     22.12%
     29.95%
     13.82%
     8.76%
     25.35%


    ... เลือกอ่านบทความต่อไปนี้พร้อมรูป + อ่านความเห็นอื่นๆ + เชิญชวนมาคุยเพิ่มเติมที่  http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=01-2009&date=10&group=14&gblog=141



    ... ในฐานะที่ตัวเองไม่ได้เป็นแฟนกะทิ ตั้งแต่ตอนได้ซีไรท์ใหม่ๆ คืออ่านแล้วรู้ว่าดี เพียงแค่ ไม่ได้อินหรือประทับใจ ว่าจะมาเขียนถึง แต่ตอนนั้นจำได้ว่า เคยอ่านเจอ คนมาแสดงความเห็น ตอนหนังสือได้ซีไรท์ไว้ว่า ไม่ชอบนิยายเรื่องนี้ แล้วโดนด่าเปิง ข้อหา ไร้ความสุนทรีย์

    หลังจากนั้นผมก็เก็บตัวเงียบฮ่าฮ่าฮ่า ทั้งๆที่ตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่อินกับเนื้อหา แต่เปราะบางเกินกว่าจะโดนด่าได้haha  


    ... จนบัดนี้ หลังจากดูหนังจบ จึงคิดว่าพร้อมแล้วที่จะรับข้อหานั้น เพื่อเขียนถึง ความสุขของกะทิ เพราะหนังและวรรณกรรมเรื่องนี้ให้อะไรหลายๆอย่างที่น่าเขียนถึง

    ซึ่งผมกลับไปนั่งขบคิด แล้วจึงแยกโครงสร้างของวรรณกรรม และ หนัง ที่ทำให้มีมีทั้งคนรักและคนชัง ก่อให้เกิดความขัดแย้ง มีที่มากได้สามส่วน ตามทฤษฎีของ ซิกมันด์ สปอยล์ haha

    สามส่วนต่อไปนี้ ขอตัดในแง่ของ สถานภาพของผู้เขียนและการเมือง ซึ่งไม่ควรจะเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

    1.ความเป็นนิยาย ในแง่ของการใช้คำ การเรียงร้อย ฯลฯ + ความเป็นหนัง ในแง่ การกำกับ , การแสดง ฯลฯ

    2.โลกของตัวละคร โลกของกะทิ

    3.แก่นของเรื่องราว อันว่าด้วย ความตาย , ความรักและ ความสุข



    redrose 1. ความเป็นหนัง และ ความเป็นนิยาย



    ... หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องตามสูตรสำเร็จหนังไทยส่วนใหญ่ และ ค่อนข้างเนิบช้า จึงทำให้ หลายคนมองว่า หนังห่วย และ อีกหลายคนมองว่า หนังสุดยอด

    ส่วนตัวผมมองว่า


    ถ้าเราสรุปว่าการเล่าเรื่องแบบเนิบนาบ คือ หนังห่วย หนังยุโรปคงห่วยเกือบทั้งทวีปและหนังเกาหลีคงห่วยกว่าครึ่งประเทศ

    ในขณะเดียวกัน

    ถ้าจะสรุปว่า การทำหนังเนิบนาบภาพสวยนั้นจะทำให้หนังกลายเป็น หนังดี แล้ว ไปสรุปว่าคนดูที่หลับเพราะคนดูหัวไม่ถึงเสมอไป ก็เท่ากับว่า ไม่ต้องใช้ผู้กำกับฝีมือดี แต่ ให้คนถ่ายรูปเก่งๆมาทำหนัง แช่ภาพนานๆถ่ายภาพสวยๆ ก็เพียงพอ



    ... สำหรับผม

    ความสุขของกะทิ มีคุณภาพสูงในแง่ของความประนีต การกำกับ การแสดงของรุ่นใหญ่ และ การถ่ายภาพ คู่ควรกับความเป็น หนังดี

    - ไม่บ่อยเลยที่เราจะเห็นงานด้านภาพที่เนี้ยบและงามเหมือนบทกวีจากในหนังไทย

    - ไม่บ่อยเลยที่เราจะเห็นการดำเนินเรื่องที่ละมุนละไมไม่โฉ่งฉ่างไม่พยายามโน้มน้าวอารมณ์จนมากเกิน

    - ไม่บ่อยเลยที่เราจะเห็นทักษะของผู้กำกับที่โชว์ลีลาการเล่าเรื่องแบบมีชั้นเชิงไม่เล่าตรงๆ ใช้การเล่าน้อยแต่ให้มาก และ ทิ้งช่องว่างให้คนดูได้จินตนาการ เช่น ฉากเปิดเรื่อง , ฉากตากับยายคุยกันแล้วให้เห็นกะทิอีกมุมหนึ่ง , ฉากตารับโทรศัพท์แล้ววิ่งไปที่โต๊ะอาหารถ่ายไกลๆ , ฉากเตะลูกโทษ ฯลฯ

    ซึ่ง ฝีมือ ที่เห็นทำให้ผมอยากดูผลงานของผกก.คนนี้ต่อไปในอนาคต

    ... บวกกับชอบที่หนังถึงจะเนิบนาบละมุนละไม ทิ้งช่องว่างให้ได้คิดแบบเรื่องนี้ยังไม่ถึงกับทอดทิ้งคนดูมากจนเกินไป ตรงข้ามกับหนังที่เล่าเรื่องสไตล์เนิบส่วนใหญ่มักไม่ใยดีคนดูเท่าที่ควร

    ซึ่งหนังไทยแนวนี้ที่ยังคิดถึงคนดูอยู่บ้าง ไม่ได้ดูยากมากเกิน ในรอบสองสามปีที่ผ่านมา และ อยู่ในข่ายที่ตัวเองชอบมากๆ คือ รักแห่งสยาม กับ Wonderful town

    ส่วนหนังในสไตล์ของเป็นเอก ก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้ แต่ สำหรับคนดูส่วนใหญ่จัดได้ว่า หนังของเป็นเอกค่อนข้างดูยากเพราะมีความเหนือจริงเซอร์เรียลปะปนซึ่งคนดูส่วนใหญ่ยังไม่คุ้น ( ผมชอบ พลอย แต่ ไม่ถูกจริตกับ คำพิพากษาของมหาสมุทร)



    ... ที่ชื่นชมอีกอย่างคือ ในส่วนของ การดัดแปลงจากนิยายมาสู่หนัง ผมชอบที่หนังยังคง ความงามของการบรรยายเรื่องราวในหนังสือมาสู่จอ นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของการดัดแปลงจากนิยายที่ดี

    เพราะอย่าลืมว่า นิยายเรื่องนี้ไม่ใช่นิยายที่เหมาะกับการจะทำเป็นหนังซักเท่าไหร่ เพราะจุดเด่นของนิยายไม่ใช่พล็อตแต่คือความงดงามสละสลวยของภาษา

    เหมือนกับตอนที่อ่าน ชุดประดาน้ำกับผีเสื้อ ที่สงสัยว่าจะดัดแปลงมาเป็นหนังได้อย่างไร แต่คนดัดแปลงเก่งมากๆที่ซึมซับความงามจากนิยายและเพิ่มการเล่าเรื่องในรูปแบบหนังได้อย่างน่าสนใจ

    ตัวอย่างที่ตรงกันข้ามสำหรับในเรื่องของการดัดแปลงที่เห็นชัดๆในระยะอันใกล้คือ ปืนใหญ่จอมสลัด ที่ผมรู้สึกว่าเป็นการดัดแปลงที่ไม่สามารถถ่ายทอด ใจความและอารมณ์ของนิยายมาสู่หนังได้ดีพอ

    จุดดีๆของการดัดแปลงที่ต่างไปจากหนังสือ เช่น การลดความเรื่อยๆมาเรียงๆจากนิยายลง ด้วย ช่วงเวลาที่หนังตัดสลับไปมา(ฉากเปิดเรื่องที่คอนโด , ฉากลูกโป่งหลุดมือ) สร้างความดึงดูดน่าสนใจ ให้เราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละคร มากกว่าตัวนิยายที่เล่าไปเรื่อยๆจากชนบทเรียงลำดับไปจนจบเรื่อง

    หรือ ช่วงในโรงเรียนที่ทำให้หนังสนุกขึ้นมากและช่วยฉายให้เห็น ความสุขของกะทิ ในแง่มุมอื่นๆมากขึ้น มากไปกว่า ภาวะอมทุกข์ของคนรอบข้าง ที่มีอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง

    แต่

    ... หนังดี เรื่องนี้ไม่ได้ดีถึงขนาด ดีม๊ากมาก และ ในความงามนั้น สิ่งที่รู้สึกสะดุดเป็นพักๆจาก


    1. นักแสดงรุ่นเล็ก เช่น น้องพลอยเจ้าของบทกะทิ น่ารักมากๆ มีเสน่ห์ แต่ บางฉากก็ยังดูไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่ บวกกับ ช่วงต้นเรื่อง ตัวบทหนังไม่ช่วยขยายความผูกพันแม่ลูกให้สัมผัสได้

    ทั้งๆที่ โดยใจความจากนิยายคือ ช่วงบ้านชายคลอง นั้น กะทิคิดถึงแม่ แต่ เก็บความคิดความรู้สึกไว้ข้างใน เรารับรู้ได้ผ่านตัวอักษรที่บรรยายก่อนเริ่มบท

    แต่

    ในหนัง เวลาเห็นกะทิดูเฉย คือ เฉยๆแบบเฉยๆเลย ไม่ใช่ เฉยแบบเก็บความรู้สึก ถึงหนังจะใช้ตัวหนังสือจะบรรยายความคิดความรู้สึกเหมือนในนิยาย แต่ ภาพที่เห็นตรงหน้าไม่ทำให้รู้สึกได้ว่า กะทิคิดถึงแม่แต่อย่างใด ยิ่งบวกกับบทหนังไม่พยายามเพิ่มเติมตรงนี้

    ยิ่งทำให้

    หนังไม่สามารถ สื่อสารสิ่งที่มองไม่เห็น (ความรักและคิดถึงแม่ แต่เก็บความรู้สึกอยู่) ให้คนดูสัมผัสได้ ครั้นผสมกับความเฉยๆของตัวนักแสดง ก็ยิ่งทำให้อินตามได้ยาก ครั้นมาสู่ ฉากเจอแม่ในบ้านก็ยิ่งดูเฉยเกิน

    บวกกับ การแสดงที่เหมือนถูกเซ็ทอารมณ์มาเล่นเป็นฉากๆ แต่ ตัวนักแสดงไม่ได้เข้าถึงอารมณ์โดยรวม เช่นมาเล่นแบบ ฉากนี้นิ่งนะ ฉากนี้ร้องนะ ฯลฯ จึงทำให้ บางฉากพอถึงบทจะร้อง ก็เลยรู้สึกว่า เอ๊ะ ฉากร้องเล่นดีนะ แต่ เมื่อกี้ยังเฉยๆอยู่นิ ไม่ได้อารมณ์ประมาณว่า ที่นิ่งก่อนเพราะเก็บอารมณ์ไว้นะ แล้ว ร้องเพราะระเบิดอารมณ์ที่กักเก็บมานาน

    เอาเข้าจริง ผมยังชอบการแสดงรุ่นเยาว์ใน แฟนฉัน เสียมากกว่า ส่วนตัวไม่มองว่าเกี่ยวกับการ เล่นมาก หรือ เล่นน้อย เพราะ เล่นน้อย แต่ถ้าผู้กำกับทำให้นักแสดงสื่อออกมาได้ ก็สามารถส่งต่อความรู้สึกที่ลึกซึ้งได้



    2. ปกติ ผมไม่มีปัญหากับความเนิบ ถ้าความเนิบตอบโจทย์ของหนังที่ต้องการเสนอ และ ผมคิดว่า การเล่าเรื่องเนิบช้าในหนังเรื่องนี้เป็นการตอบโจทย์จากนิยายที่เหมาะสม มากกว่าจะทำหนังเล่าเรื่องจังหวะเดียวกับแฟนฉัน

    แต่ ความเนิบในหนังเรื่องนี้มีความน่าเบื่ออยู่มากในช่วงต้นที่บ้านชายคลอง ซึ่งคิดว่ามาจาก ความพยายามถอดภาพจากนิยายมาสู่หนังมากเกินไป โดย ความเนิบนาบนั้นไม่ได้ช่วยส่งอารมณ์หรือเพิ่มความหมายเท่าที่ควร



    3. ชั้นเชิงการเล่าเรื่องแบบมีลีลาอย่าง เช่น การเคลื่อนกล้องจากขวาไปซ้าย ซ้ายไปขวา ถ่ายไม่เต็มตัว แล้วค่อยๆเคลื่อนกล้องจากไป  ใช้ลองเทคเท่ๆ เป็นมุมมองที่ดูดีมีสไตล์ แต่หนังใช้เทคนิคเหล่านี้บ่อยเกิน ดูเป็นความพยายามมากเกิน เหมือนการโชว์ของคนมีฝีมือ ซึ่งมีฝีมือจริง แต่พอโชว์มากมันก็ไม่เป็นธรรมชาติเท่าไหร่

    หรือ บางฉากที่ต้องอาศัยความพยายามในการเข้าใจมากไปนิด เช่น ฉากริมทะเลไปเจอม้า ก็สวยดี แต่ ผมไม่เข้าใจว่าในแง่สื่อสัญลักษณ์หนังจะบอกอะไร หรือ แค่ซึมซับความงดงาม อย่าง นางเอกเจอกวางใน The Queen ยังพอเข้าใจได้ แต่ม้าในเรื่องนี้ เหมือนตอน พระเอกเจอ ม้า ใน Michael Clayton ที่ยากจะเข้าใจ



    4. การเล่าเรื่องแบบพยายาม ‘เล่าน้อยหรือminimalist’ บางอย่างก็น้อยเกินไป ชนิดไม่สนคนไม่เคยอ่านนิยาย เช่น ตัวละครอาๆน้าๆ ล่องลอยจนจับต้องไม่ได้มากไป หรือ โรคของแม่ คนไม่อ่านนิยายไม่มีวันรู้ว่าคือ ALS ที่กล้ามเนื้อค่อยๆอ่อนแรงจนขยับไม่ได้ทีละน้อย ทำให้ยากที่จะอินในช่วงท้าย

    หรือ ฉากเจอแม่ ซึ่งเป็นฉากสำคัญ ที่สามารถส่งพลังมากกว่านี้ได้ แต่ สีหน้ากะทิเฉยๆเสียจนเหมือนไม่มีอะไร และ ก็รีบเปลี่ยนฉากไปจนไม่ทันจะรู้สึกอะไรมากมาย

    และ ความเฉยๆนี้เองก็ทำให้อึดอัดเล็กๆประมาณหนึ่ง เพราะ ตลอดทั้งเรื่องเหมือนเรากำลังนั่งดู ชีวิตครอบครัวที่สมาชิกในบ้านพยายามเก็บกดอารมณ์กันทั้งบ้าน



    5. 'ความดูดีเกิน' ทั้งในรูปแบบชีวิตของกะทิและการถ่ายทำ ซึ่งตรงนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากนิยาย แต่การเปลี่ยนตัวอักษรมาเป็นภาพในหนังยิ่งชัดขึ้น

    ผมไม่ได้รังเกียจหรือหมั่นไส้คนรวย แต่ ภาพชีวิตของกะทิดูแปลกแยกดีเกินกว่าจะกลืนไปกับภาพชนบท ตั้งแต่ บ้านต่างจังหวัดใหญ่โต , รถ BMW สีขาวคันโก้ , อาหารมื้อเที่ยงริมทะเลเป็นสปาเก็ตตี้ , บ้านริมทะเลที่จัดไว้สวยยิ่งกว่าบางรีสอร์ทสี่ดาว , ห้องของแม่กับลิ้นชักอย่างดีในคอนโดที่ดูสวยพอๆกับห้องตัวอย่างในโฆษณา ฯลฯ

    ความดูดี เหล่านี้ บวกกับ หลายๆฉากที่เซ็ตมาแบบเนี้ยบสุดๆ แทบจะทำให้ ชีวิตของกะทิ หลุดจากชีวิตคนธรรมดาๆ ดูงดงามเกินกว่าจะอินและสัมผัสได้ มันทำให้รู้สึกว่าไม่ได้ดูชีวิตของ คนธรรมดาๆ แต่เป็นชีวิตของ ครอบครัวเศรษฐีที่มีปัญหาแล้วย้ายไปอยู่ชนบท




    สาวน้อยปะแป้ง 2.โลกของตัวละคร โลกของกะทิ



    ...หนังสือ เหมือนกับ หนัง ตรง ข้อดีที่ชัดเจนและไม่มีใครแย้งคือ ในแง่ของการร้อยเรียงเรื่องราว การบรรยายรายละเอียด ภาษาภาพในหนังกับภาษาตัวอักษรในหนังสือ ล้วนงดงาม และ ประเด็นที่ต้องการสื่อลึกซึ้งมีความหมาย แต่ ที่ทำให้ผมไม่อิน มาจาก องค์ประกอบรายรอบและชีวิตของตัวละคร


    2.1 ผู้ใหญ่ในร่างเด็ก

    ... โลกของกะทิ คือ โลกของเด็กประถมตัวเล็กๆคนหนึ่ง แต่ ปัญหาคือ ผมไม่รู้สึกว่านี่เป็นโลกของเด็กประถมคนนั้น

    ผมอ่าน แฮรี่ พ็อตเตอร์ ผมสนุกและเชื่อว่า ทุกการกระทำของแฮรี่และผองเพื่อน เป็น ความคิดเป็นคำพูดของเด็กในวัยนั้น บางคน ก็อาจโตกว่าเพื่อนหรือฉลาดเกินวัย แต่ก็ยังรู้สึกว่าเป็น ความคิดของเด็กๆ

    ในขณะที่ โลกของกะทิ ผมยังไม่รู้สึกเหมือนเป็น ความรู้สึกนึกคิดของเด็กที่ฉลาดช่างคิด เพราะ ผมรู้สึกว่าเป็นการบรรยาย ความรู้สึกนึกคิดและคำพูดแบบของผู้ใหญ่ ที่นำมาใส่ในตัวเด็กมากกว่า




    (อ่านต่อที่ความเห็น 1)

    แก้ไขเมื่อ 12 ม.ค. 52 12:54:59

    แก้ไขเมื่อ 12 ม.ค. 52 11:11:00

    แก้ไขเมื่อ 12 ม.ค. 52 11:06:23

    จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" - [ 12 ม.ค. 52 11:04:24 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com