Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    กระทู้ทบทวน Slumdog Millionaire : เกมยาจก (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)

    "Who Wants To Be A Millionaire?" คงเป็นคำถามที่ตอบง่ายที่สุดหากถูกใช้ในรายการ ควิซโชว์ (Quiz Show) เพราะคงไม่มีใครในโลกที่ไม่อยากเป็นเศรษฐี

    ทว่าคำถามสำหรับจามาล มาลิค ผู้เข้าแข่งขันคนล่าสุดของรายการเกมเศรษฐีเวอร์ชั่นอินเดียกลับไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น

    คำถามแรกไม่ได้เริ่มต้นขึ้น ณ เวทีอาบสปอตไลท์แห่งนี้ เกมรีลลิตี้ชีวิตจริงของจามาลได้เริ่มต้นมาก่อนแล้วในสลัมบอมเบย์เมื่อหลายปีก่อน

    จามาลคือเด็กด้อยโอกาสตามมาตรฐานสังคมที่พัฒนาแล้ว ความสนุกสนานในวัยเด็กถูกแวดล้อมอยู่ด้วยความเสื่อมโทรมและสกปรก เนื้อตัวที่เปื้อนดำปรากฏความบริสุทธิ์เดียวที่สัมผัสได้คือแววตาไร้เดียงสาของจามาล จุดเปลี่ยนในชีวิตเริ่มต้นจากความตายของแม่ในเหตุการณ์ความรุนแรงซึ่งชุมชนชาวมุสลิมถูกไล่ที่โดยชาวฮินดูหัวรุนแรง จามาลต้องใช้ชีวิตจรจัดร่วมกับพี่ชายชื่อว่าซาลิม ซาลิมเป็นเด็กหัวแข็ง ดื้อรั้น ทว่าก็ยังคงหลงเหลือความปรารถนาดีให้แก่น้องชาย ในระหว่างการเร่ร่อนอย่างไร้จุดหมาย ทั้งคู่พบเจอเพื่อนร่วมทางอีกคนเป็นเด็กหญิงชื่อว่าลาติกา ในความคิดของจามาล ลาติกาคือหนึ่งในสามทหารเสือคนสุดท้ายที่เขากำลังเฝ้ารอ เด็กๆทั้งสามถูกล่อลวงโดยกลุ่มค้ามนุษย์ให้ต้องทำงานเป็นขอทานเพื่อแลกอาหารและที่พัก ซาลิมพาจามาลหนีออกมาได้หลังจากพบเจอเหตุการณ์สุดสยองซึ่งนายใหญ่ของแก็งค์กระทำให้เด็กชายคนหนึ่งต้องตาบอด ลาติกาจำทนอยู่กับความโหดร้ายนั้นต่อไปจนกระทั่งก้าวเข้าสู่วัยสาวและกลายเป็นโสเภณี ลาติกาได้พบเจอกับจามาลอีกครั้งและถือเป็นจุดแตกหักระหว่างเขากับพี่ชายซึ่งปรารถนาในตัวลาติกาด้วยเช่นกัน จามาลในวัย 18 ปีทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟชาในบริษัทคอลเซ็นเตอร์แห่งหนึ่ง ส่วนซาลิมกลายเป็นมือขวาของเจ้าพ่อผู้กุมอิทธิพลใหญ่ในย่านมุมไบ เพื่อให้ได้พบเจอกับลาติกาอีกครั้งจามาลสมัครเข้าร่วมแข่งขันเกมเศรษฐีเพราะคิดว่าเธออาจกำลังดูอยู่

    โครงเรื่องคร่าวๆ ของ Slumdog Millionaire เปิดโอกาสให้แดนนี่ บอยล์ (ซึ่งมีโลเวลีน ทันดัน เป็นผู้กำกับร่วมชาวอินเดีย) ได้เติมเต็มรายละเอียดที่น่าสนใจรวมถึงลูกเล่นในการเล่าเรื่องที่แพรวพราวตามสไตล์ ความจี๊ดในอารมณ์ของผู้กำกับมากฝีมือรายนี้ยังไม่จางหายและถือเป็นงานในทางเดียว Trainspotting ผลงานสร้างชื่อในอดีต ลีลาความสดในการเล่าเรื่องผ่านงานด้านภาพสีแสบและซาวน์ดนตรีที่มอบความกระปรี้กระเปร่าให้ผู้ชม โดยเฉพาะเพลงประกอบที่ถูกใส่เข้ามาในหนังเรียกได้ว่าติดหูทุกเพลงจนคล้ายจะเป็นพระเอกตัวจริงของ Slumdog Millionaire ไปโดยปริยาย

    เหมือนแดนนี่ บอยล์จะหลีกเลี่ยงทุกวิธีในการเล่าเรื่องที่ธรรมดาและโชว์ความแปลกเป็นสำคัญซึ่งอาจถือเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับเค้า Slumdog Millionaire เหวี่ยงกล้องถ่ายภาพแบบฉวัดเฉวียนแต่เก็บความเคลื่อนไหวของตัวละครได้คมชัดและงดงามมีสไตล์ประกอบรวมกับการตัดต่อแบบฉับไวแต่มีจังหวะ ทำให้หากไม่ทราบมาก่อนว่านี่คืองานใหม่ของผู้กำกับแดนนี่ บอยล์ ผมก็คงไม่อาจคิดเป็นอื่นได้นอกจากจะสรุปว่านี่คือหนังของวัยรุ่นไฟแรงที่กำลังโชว์พลัง

    Slumdog Millionaire เปิดประเด็นจิกกัดสังคมได้เจ็บแสบ โดยเฉพาะเรื่องของการ “สร้างภาพ” เพื่อปกปิดความจริงอันไม่พึงประสงค์ หนังทำหน้าที่ตีแผ่ความเสื่อมโทรมซึ่งหลบเร้นอยู่ในสังคมอินเดียแบบหมดเปลือก ไม่ใช่การใส่ร้ายหรือมองแบบแฝงอคติโดยสายตาคนนอกของผู้กำกับ แต่ Slumdog Millionaire คือเสียงสะท้อนจากหนังสือเรื่อง Q and A ของวิกาส สวารัปนักการทูตและนักเขียนชาวอินเดียที่กล้าวิพากษ์แผ่นดินมาตุภูมิตนเอง ดูผิวเผินเหมือนจะเป็นการตำหนิแต่เจตนารมณ์ก็เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและต้องการให้สังคมเดินไปข้างหน้าอย่างถูกทิศถูกทาง เป็นการวิจัยเพื่อค้นหาความสุขแท้จริงของชาวอินเดีย หนังกล่าวถึงภาพลักษณ์ที่ชาวต่างชาติรู้จักอินเดียผ่านทางสถาปัตยกรรมทัชมาฮาลอันยิ่งใหญ่ กลายเป็นสูตรสำเร็จว่าการมาถึงอินเดียคือการได้มาท่องเที่ยว ณ สิ่งมหัศจรรย์แห่งนี้ Slumdog Millionaire มองในมุมกลับว่าทัชมาฮาลเป็นเพียง “ภาพ” ที่อินเดียสร้างขึ้นเพื่อให้โลกภายนอกได้ซึมซับจดจำถึงความเป็นชนชาติอันยิ่งใหญ่ ทัชมาฮาลไม่เคยสะท้อนความเจ็บปวดหรือความแร้นแค้นของชนชาวอินเดียให้สังคมโลกได้รับรู้ในขณะที่ย่านสลัมอันเสื่อมโทรมกลับทำหน้าที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตแบบอินเดียได้ “ถึง” และ “จริง” กว่าแบบเทียบกันไม่ได้

    ประเด็นเรื่อง “การสร้างภาพ” ยังปรากฏอยู่ในรายละเอียดของหลายๆ ฉาก เช่นการที่หัวหน้าแก็งค์ค้ามนุษย์แสร้งทำเป็นใจดีเพื่อหลอกเด็กไปเป็นขอทาน (การเอาโค้กเย็นๆ มาเป็นเหยื่อล่อเด็กอาจตีความได้ถึงระบบทุนนิยมที่กำลังยั่วเย้าต่อระบบคิดในสังคมของประเทศโลกที่สาม) การที่นักท่องเที่ยวถ่ายภาพทัชมาฮาลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอินเดีย การสร้างภาพของพิธีกรรายการเกมเศรษฐีซึ่งธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ การที่จามาลและซาลิมปลอมตัวเป็นไกด์นำเที่ยวแบบมั่วนิ่มทั้งที่ไม่มีความรู้ การเอาน้ำก็อกใส่ขวดน้ำแร่เพื่อหลอกขายในร้านฟาสต์ฟู้ด หรือแม้แต่การสวมแว่นดำของลาติกาเพื่อปกปิดรอยช้ำจากการถูกทำร้าย เป็นต้น

    หนังเหน็บแนมสังคมอินเดียที่บูชาเงินเสมือนการบูชาเทพเจ้าและแอบพาดพิงไปถึงวิธีคิดแบบอเมริกันอยู่ในที (แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยเงิน) แต่ละคนพร้อมมองข้ามเส้นแบ่งหรือขอบเขตทางศีลธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน เป็นผลให้อาชีพสกปรกยังปรากฏเกลื่อนกลาดอยู่ในสังคมเสมือนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ไม่มีการชำระหรือกวาดล้างอย่างจริงจังไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ (ที่ไม่ต่างไปจากประเทศไทยของเรา) ปัญหาโสเภณีเด็ก กลุ่มผู้มีอิทธิพลนอกกฎหมาย ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา (โดยเฉพาะมุสลิมและฮินดู) และการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ซึ่งมีเงินเป็นอุปสรรคสำคัญ รวมถึงปัญหาการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญแบบฟองสบู่จนอาจหลงลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรม

    Slumdog Millionaire ใช้วิธีการถ่ายภาพแบบเอียงกล้องตลอดการเล่าเรื่องเหมือนจะแสดงถึงความไม่มีดุลยภาพ ความลำเอียงหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ถือเป็นการถ่ายทอดที่รับใช้เรื่องราวหลักได้เป็นอย่างดี

    อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบคือเพลงประกอบที่ชื่อ Paper plane โดยเฉพาะตรงท่อนฮุคที่ปรากฏเสียงปืนและเสียงกริ๊ง...ของ “เครื่องคิดเงิน” ฟังแล้วเท่ห์ได้ใจและคมคายไม่ใช่เล่น

    บทของจามาลและซาลิมเดินเรื่องในลักษณะของขั้วตรงข้าม อย่างเช่นตอนเด็กที่จามาลมุดส้วมหลุมเพื่อวิ่งออกไปขอลายเซ็นอามิตาบห์ บาจจานดาราชื่อดังของอินเดีย (ฉากนี้ทำให้นึกถึงยวน แม็กเกรเกอร์ใน Trainspotting ขึ้นมาทันที) เรียกได้ว่าเพราะ “รัก” จึงยอมทุกอย่างจริงๆ แต่ท้ายที่สุดซาลิมก็ขโมยลายเซ็นเอาไปขายได้เงินมาแค่ไม่กี่รูปี ฉากที่จามาลได้แบงค์หนึ่งร้อยดอลล่าร์จากผัวเมียอเมริกันแทนค่าทำขวัญที่ถูกกระทืบ ต่อมาก็นำเงินจำนวนนี้ไปให้เพื่อนขอทานตาบอดโดยไม่ได้นึกเสียดายแม้แต่น้อย หรือตอนที่จามาลซึ่งรักลาติกาสุดใจและพยายามตามหาเพื่อช่วยเหลือให้เธอออกมาจากวงจรอันโสมมของแก็งค์ค้ามนุษย์แต่ซาลิมก็ชุบมือเปิบเอาไปครอบครองเพียงเพราะหลงใหลในรสเพศ รวมถึงฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องตอนจบที่สะท้อน “ผลของทางเลือก” ได้อย่างชัดเจนที่สุดระหว่างจามาลซึ่งเลือกที่จะเดินทางตามหาความรักในขณะที่ซาลิมเลือกที่จะเดินทางตามหาความร่ำรวยเยี่ยงเศรษฐี (ชอบฉากนอนอาบเงินของซาลิมจริงๆ) เมื่อพิธีกรตะโกนสุดเสียงว่ามันคือคำตอบที่ถูกต้อง...ผู้ชมคงทราบได้ในทันทีว่านั่นไม่ได้หมายถึงแค่ความถูกต้องของคำตอบสุดท้ายซึ่งจามาลเพิ่งเดามั่วพูดออกไป หากแต่มันคือความถูกต้องของมนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งเลือกที่จะบูชาความรักเหนือสิ่งใด

    หลายฉากในหนังประเมินค่าว่าเงินเป็นสิ่งสกปรก โดยเฉพาะฉากที่ซาลิมนอนอาบน้ำเงินอยู่ในอ่างเมื่อเทียบกับการมุดส้วมของจามาลเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่รัก

    Slumdog Millionaire เปรียบอุปสรรคในชีวิตเสมือนคำถามล่ารางวัล การแก้ปัญหาหรือการกระโดดข้ามวิบากในแต่ละจุดคงกลายเป็นเรื่องสนุกและท้าทายมิใช่น้อยหากเรามองชีวิตเป็นเพียงเกมเกมหนึ่ง ผมคงไม่อาจเรียกจามาลได้ว่าเป็น “เด็กด้อยโอกาส” เพราะความเจ็บปวดในชีวิตที่เค้าต้องประสบนั่นแหละคือโอกาสที่มีค่าที่สุดในการหล่อหลอมให้กลายเป็นคนเข้มแข็งและเรียนรู้ที่จะสู้ชีวิตอย่างมีความสุข  ฉากที่จามาลจุมพิตรอยแผลเป็นบนใบหน้าของลาติกาตอนจบจึงเป็นดังคำขอบคุณต่อความเจ็บปวดในอดีตซึ่งคอยสะสมความมี "คุณค่า" ให้กับชีวิต

    สำหรับเด็กที่ไม่มีการศึกษาอย่างจามาล มาลิค วิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตหรือ ส.ป.ช. ดูจะเป็นแบบฝึกหัดที่สำคัญที่สุดในการเอาตัวรอดท่ามกลางสังคมที่แสนดงดิบและวุ่นวายนี้


    ปล.  "กระทู้เคยลงไว้ก่อนแล้วเมื่อวันที่  11  กุมภาพันธ์ 2552 ขออนุญาตทบทวนกระทู้นี้อีกครั้งเพื่อฉลองชัยให้ Slumdog Millionaire ครับ"

    แก้ไขเมื่อ 28 ก.พ. 52 09:56:24

    จากคุณ : beerled - [ 28 ก.พ. 52 09:55:43 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com