 |
กระทรวงวัฒนธรรมเปิดช่องร้องภาพยนตร์ไม่ผ่านเรตติ้ง ร้องศาลปกครอง คกก.กฤษฎีกาได้
ข่าวนี้เป็นข่าวเก่าจากเว็บไซต์ของกระทรวงวัฒนธรรมเอง ผมเห็นว่าน่าสนใจจึงขอนำเนื้อข่าวมานำเสนอดังนี้
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒธนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2552 ณ หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ว่า ตนได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.พ.52 ที่ผ่านมา
เพราะขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ หรือ เรตติ้ง อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประเภทที่ 7 ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งห้ามมีเนื้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำลายความมั่นคงของประเทศ ก่อให้เกิดแตกความสามัคคี เหยียดหยามศาสนา ขัดต่อศีลธรรมและวัฒนธรรม ดูกว้างไป ดังนั้น หากใครเห็นว่า เรตติ้งภาพยนตร์ทั้ง 7 ประเภท ควรปรับแก้ไขอย่างไร สามารถเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ส่วนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาพยนตร์ เห็นว่า การพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์มีความไม่เหมาะสม ก็ร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2552 2554 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิต เผยแพร่ และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ และวิดีทัศน์รายสำคัญของโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งผลิตพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ที่มีคุณภาพ และเป็นเขตปลอดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์และวิดีทัศน์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติถึงการเป็นสังคมแห่งความโปร่งใส รวมทั้งมีพื้นที่เฉพาะ เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองภาพยนตร์และวีดิทัศน์
ที่ประชุมมีมติว่า ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ ควรให้คณะกรรมการภาพยนตร์ฯศึกษาและมีการจัดทำประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม นี้ จากนั้น วธ. จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฯ เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านรมว.วัฒนธรรม กล่าว
-
จากเนื้อหาดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ไขระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์ ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์ฉบับใหม่ ที่ถูกถกเถียงในหลายอย่าง รวมไปถึงส่วนที่ท่านรัฐมนตรีได้บอกว่า ส่วนผู้ประกอบการ ผู้ผลิตภาพยนตร์ เห็นว่า การพิจารณาภาพยนตร์ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์มีความไม่เหมาะสม ก็ร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน
แต่ก็น่าสงสัยว่าข่าวดังกล่าวนี้ได้เผยแพร่ไปยังผู้ประกอบการ และผู้สร้างหนังมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันภายหลังการแบนภาพยนตร์หลายเรื่อง ดูเหมือนสภาพของผู้ประกอบการเกือบทุกราย จะไม่พยายามนำตัวเองเข้าไปขึ้นโรงขึ้นศาลซะมากกว่า เพราะกระบวนการดังกล่าวกินเวลายาวนานกว่าจะสามารถสรุปผลการตัดสินได้
ร้ายไปกว่านั้นคือการตรวจพิจารณาภาพยนตร์เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนเสียเลย ทั้งการตัด เบลอภาพให้เอง หรือเลื่อนฉายหนังที่คิดว่าจะเข้าข่ายไม่ผ่านไปก่อน ซึ่งอาจจะเกิดจากความหวาดระแวงเอง
นอกจากนี้บางค่ายยังอาจนำกรณีดังกล่าวไปใช้ในการประชาสัมพันธ์แทนก็มี โดยปราศจากความจริง เช่น หนังเรื่องนี้รอดคมกรรไกรเซ็นเซอร์อย่างหวุดหวิด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรส่งเสริมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความไม่ชัดเจน คลุมเครือของพระราชบัญญัติฉบับใหม่ และช่องทางในการเข้าถึงต่อกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อร่วมหารือ แก้ไข ปัญหาที่ปรากฎในแต่ละข้อ เช่น การหารือกับผู้สร้างหนัง, ผู้ประกอบการ และคนดูหนัง ที่น้อยคนนักจะได้รับรู้
ต้องจับตาต่อไปว่าคำพูดของท่านรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นยาหอมที่ผ่านมาและผ่านไป หรือชัดเจนเป็นรูปธรรมในอนาคต และขออภัยที่นำเสนอข่าวนี้ช้าไปหน่อย
จากคุณ :
เจ้าสมุทร
- [
14 มี.ค. 52 13:05:46
]
|
|
|
|
|