Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    เปิดตำนานหนังจีนจอแก้วในเมืองไทย

    แปลกแต่จริงหากจะกล่าวว่าในอดีต  รายการทีวีของเมืองไทยนั้นมีความหลากหลายน่าสนใจกว่าในยุคปัจจุบันเสียอีก  ไม่ว่าจะเป็นรายการสาระหรือบันเทิงล้วนมีความหลากหลายไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนในสมัยนี้


    ในภาคละครนั้น  ทีวีไทยในอดีตก็มีให้เลือกชมกันตามอัธยาศัยทั้งไทยและเทศ   ไม่ว่าจะเป็นละครไทย  ซีรีส์หนังจีน  ญี่ปุ่น หรือฝรั่ง   ผิดกับในปัจจุบันที่ซีรีส์หนังจีน  ญี่ปุ่น  ฝรั่งกลายเป็นของหาดูได้ยาก     ซีรีส์หนังญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มที่ดีเมื่อ TPBS นำหนังดีน่าดูมาให้ได้ชมกันแล้ว   แต่ซีรีส์หนังฝรั่งดูเหมือนยังไม่ได้รับการเหลียวแล  ส่วนซีรีส์หนังจีนนั้นแม้จะยังพอมีให้ดูอยู่บ้าง  แต่ก็นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอดีต   หนำซ้ำช่วงเวลา prime time สำหรับฉายหนังจีนก็ไม่มีที่ว่างให้    เหลือไว้แต่เวลายามไทม์ ที่คนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสดู T_T


    ทำให้นึกถึงยุคทองของหนังจีนสมัยที่เฟื่องฟูสุดขีด  หนังจีนชุดส่วนใหญ่ที่นำมาฉายในเมืองไทยมาจาก 4 ค่ายใหญ่คือ

    1. RTV คือชื่อย่อของ Rediffusion Television  มีชื่อจีนว่า ลี่เตอ   เป็นสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง ซึ่งมีบริษัทแม่สัญชาติอังกฤษ  ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 1957  

    และในเดือนกรกฎาคม ปี 1982 สองพี่น้องตระกูลชิวแห่ง Far East Group เข้ามาซื้อหุ้น 50% และเปลี่ยนชื่อเป็น ATV ซึ่งย่อมาจาก Asia Television เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1982   (แต่ในปัจจุบันหุ้นทั้งหมดถูกขายให้กับ Phoenix Satellite Television Holdings Limited แล้ว)  

    2. TVB คือชื่อย่อของ  Television Broadcast มีชื่อจีนว่า อู๋เซี่ยน  เป็นสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกง  ก่อตั้งขึ้นในปี 1967 และเริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 1967

    3. CTS คือชื่อย่อของ China Television System Inc.  มีชื่อจีนว่า  จงฮว๋าเตี้ยนซื่อ  เรียกย่อๆว่า ฮว๋าซื่อ (หัวซื่อ)  เป็นสถานีโทรทัศน์ของไต้หวัน   ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31ต.ค.1971

    4. CTV คือชื่อย่อของ  Commercial Television   มีชื่อจีนว่า  เจียอี้เตี้ยนซื่อ เรียกย่อๆว่า เจียซื่อ    เป็นบริษัทของประเทศไต้หวันที่ได้รับการเชิญชวนจากรัฐบาลฮ่องกงให้มาก่อตั้งสถานีฟรีทีวีที่ฮ่องกงเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 1975 นับเป็นสถานีแห่งที่สามในฮ่องกงต่อจากอาร์ทีวี (RTV) และทีวีบี (TVB) แต่มีอายุสั้นที่สุดเพียง 3 ปีเพราะประสบภาวะขาดทุนจนต้องปิดกิจการลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 1978    เจียซื่อจึงมักถือว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ของฮ่องกงเช่นเดียวกับอาร์ทีวีและทีวีบี

    (หมายเหตุ: ในไต้หวันมีอีกสถานีหนึ่งที่ใช้ชื่อย่อ CTV เหมือนกัน  แต่ชื่อเต็มคือ China Television Co.  มีชื่อจีนว่า  จงกว๋อเตี้ยนซื่อ  ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.ย.1968 และยังดำเนินการอยู่จนถึงปัจจุบัน นิยมเรียกว่า CTV (Taiwan)   ส่วนเจียซื่อ นิยมเรียกว่า CTV (Hong Kong))


    ในยุคนั้นหนังจีนจอแก้วมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งในฮ่องกงและในบ้านเรา    ในฮ่องกง  TVB และ RTV (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนผู้ถือหุ้นและเปลี่ยนชื่อเป็น ATV เมื่อวันที่ 24 กันยายน 1982) รวมทั้ง CTV หรือเจียซื่อ ที่แม้จะมาทีหลังแต่ก็มาแรงไม่น้อยหน้าใคร    แต่ละค่ายล้วนผลิตซีรีส์เด่นดาราดังมาให้ได้ชมกันไม่ขาดสาย    


    ในขณะที่บ้านเราช่วงแรกช่อง 3 ในฐานะผู้บุกเบิกหนังจีนชุดในเมืองไทยแทบจะผูกขาดหนังดีหนังดังจากค่ายอาร์ทีวีซึ่งผูกเรื่องได้กระชับฉับไวและกินขาดคู่แข่งอย่างทีวีบีในด้านคิวบู๊เพราะมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านนี้หลายคนเช่น เซียวเซิง  เฉิงเสี่ยวตง ฯลฯ  (ซึ่งหลายปีต่อมาแต่ละคนได้ก้าวไปเติบใหญ่ได้ดิบได้ดีในวงการภาพยนตร์  ทำให้ยุคหลังวงการจอแก้วฮ่องกงขาดทรัพยากรสำคัญและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข้าสู่ยุคถดถอย) แต่ RTV มีจุดอ่อนอย่างหนึ่งคือขาดดาราแม่เหล็ก จึงต้องไปดึงตัวดาราหนังจอเงินมาเสริม หรือรับเอานักแสดงจากเจียซื่อหรือ CTV ที่ต้องปิดตัวลงในชั่วเวลาเพียง 3 ปี  (1975-1978)


    ส่วนช่อง 7 เมื่อถูกช่อง 3 ดึงหนังเด่นหนังดังจาก RTV ไปหมดเพราะเข้ามาทำตลาดหนังจีนหลังช่อง 3  ก็เลยไปยึดหัวหาดหนังจีนจาก TVB ซึ่งแม้จะมีจุดอ่อนเรื่องคิวบู๊แต่กลับมีจุดแข็งด้านนักแสดงเพราะมีดาราระดับแม่เหล็กในค่ายมากมาย   ดังนั้นหนังจีนชุดยุคแรกในเมืองไทย  นอกจากหนังไต้หวันของหัวซื่อซึ่งมีมาฉายประปรายที่ช่อง 9 แล้ว   ส่วนใหญ่จะเป็นหนังฮ่องกงโดยช่อง 3 มักเป็นหนังชุดจากค่าย RTV     ส่วนช่อง 7 จะเป็นของ TVB     แต่ในเวลาต่อมาก็เริ่มสลับขั้วมาเป็นช่อง 3 เอาหนังชุด TVB เข้ามา    ช่อง 7 ก็เลยหันไปเอาหนังชุด  RTV มาแทน    จนในที่สุดทั้งสองช่องก็มีหนังชุดผสมปนเปกันทั้งสองค่าย   ในขณะที่หนังชุดของเจียซื่อหรือ CTV ดูจะกระจายไปทุกช่องโดยค่อนข้างไปทางช่อง 7     ส่วนช่อง 5 ก้าวช้ากว่าเพื่อน  หนังดีหนังดังถูกช่องอื่นกวาดไปหมดโดยเฉพาะหนังจีนกำลังภายในที่คนไทยกำลังเห่อในยุคนั้น   ก็เลยต้องหันไปทำตลาดหนังจีนสากลแทน

     
     

    จากคุณ : stardom - [ 31 พ.ค. 52 22:49:16 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com