Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
<<<< ดูแล้วมาคุยกัน ... สามชุก , ไม่ได้น่าดูเพราะ'‘เจตนาดี-มีบทเรียน’ แต่น่าดูเพราะ 'หนังดี-กินใจ-เข้าใจคน' >>>>  

  ชอบมาก ห้ามพลาด (77 คน)
  ชอบ (33 คน)
  เฉยๆ (18 คน)
  ไม่ชอบ (0 คน)
  ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (9 คน)

 56.20%
  ชอบมาก ห้ามพลาด (77 คน)
 24.09%
  ชอบ (33 คน)
 13.14%
  เฉยๆ (18 คน)
 0.00%
  ไม่ชอบ (0 คน)
 6.57%
  ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (9 คน)

จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 137 คน


เลือกอ่านบทความนี้พร้อมรูป + อ่านความเห็นอื่นๆ + ชวนมาแสดงความเห็นกันต่อที่ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=aorta&month=10-08-2009&group=14&gblog=172


... บอกตามตรงว่า ถ้าไม่ได้เข้ามาอ่านพันทิป ผมยังมองไม่เห็นเลยว่า สามชุก จะน่าดูตรงไหน

ทั้งโปสเตอร์และหน้าหนัง รวมทั้งหนังตัวอย่าง ล้วนออกมา เชยสะบัด ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การได้เครดิตเป็นหนังที่แนะนำโดยกระทรวงฯ มันทำให้ผมคิดถึง หนังที่สร้างเฉพาะกิจ ประมาณละครวันสำคัญๆในทีวี ซึ่งมีวัตถุประสงค์เฉพาะตัว เช่น อยากให้คนเลิกเหล้า , อยากให้คนรักแม่ ฯลฯ

ซึ่ง หนังทำนองนี้มักจะมีการ ยัดเยียด คำสอนหรือบทเรียนให้กับคนดู จนแทบจะให้ตัวละครมายืนพูดตรงๆ ประมาณว่า “จงเป็นคนดีนะจ๊ะ..” หรือ “ยาเสพติดนั้นไม่ดีนะจะบอกให้...” และ พรั่งพรู อารมณ์ท่วมท้นจนล้นจอ

แต่พอเห็นคนดูมาแล้ว บอกว่าตัวหนังจริงของ สามชุก  เป็น ดีกว่าหน้าหนังเยอะ ไม่ได้เครียดหรือแย่อย่างที่คิด ฯลฯ ทำให้ผมเริ่มสนใจ แต่ก็หวั่นๆตรงเวลาคนที่มาเชียร์ทำนองว่า น่าไปดูเพื่อช่วยคนทำหนังไทยที่อุตส่าห์ทำหนังมีสาระ หรือ น่าไปดูเพราะข้อคิดสอนใจ

เพราะคนดูอย่างผมซึ่งอยู่ในกลุ่มคนดูชาวบ้านๆเสียเงินค่าตั๋ว ย่อม อยากเสียเงินไปดูหนัง เพื่อดู ‘หนังดี หรือ หนังสนุก’ คือ ดูแล้วอิ่มเอมเพราะความดีของหนัง หรือ ดูแล้วสนุกสบายใจคุ้มค่าตั๋ว

ไม่ได้อยากไปดูเพราะ ‘หนังเจตนาดี-มีบทเรียน’

อาจฟังดูใจร้าย แต่ ผมไม่ได้อยากเสียเงินซื้อตั๋วหนังกับเสียเวลาสองชั่วโมง อันเป็นช่วงเวลาพักผ่อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักแค่ว่า เป็นกำลังใจให้ผู้กำกับ หรือ เพื่อเรียนรู้โทษภัยจากยาเสพติด

เพราะ คิดว่าตัวเองก็รู้โทษภัยของพวกยาเสพติดมากพอแล้ว และ ชีวิตจริงก็เจอคนมีปัญหาติดยาบ่อยๆอยู่แล้ว ดังนั้น ถึงหนังมีประโยชน์จริงๆ ผมก็ไม่อยากเสียเวลาพักผ่อนไปเรียนหนังสือ ถึงจะมีเจตนาดีแต่ผมคิดว่าผมสามารถสนับสนุนหนังไทยวิธีอื่นได้




... พอเห็นแรงเชียร์มาจากหลายแหล่ง ดูน่าเชื่อถือมากกว่าหน้าม้า ก็เลยตัดสินใจว่า อาทิตย์นี้นอกจาก GI Joe กับ Bruno เพิ่มอีกซักเรื่องก็ได้

เนื้อเรื่องก็คงไม่ต้องบอก เพราะใครๆก็คงรู้อยู่แล้วว่า ชื่อหนัง สามชุก  มาจากชุมชนแห่งหนึ่งในสุพรรณบุรี มี เด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งที่ติดยาบ้า

หนังเปิดฉากตอนที่พวกเขาถูกตำรวจไล่จับ แล้วย้อนแฟลชแบ็คไปทีละคนๆว่า มีที่ไปที่มาอย่างไรจึงต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ ก่อนที่จะตามมาถึงช่วงเวลาปัจจุบัน แล้วหนังก็เล่าเดินหน้าต่อว่า จากการเป็น เด็กติดยา พวกเขาจะจัดการชีวิตตัวเองอย่างไร



... สิ่งที่คิดไว้ตอนแรก และ ดูหนังไปก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือ ความเชยของหนัง แต่ สิ่งที่ต่างออกไป คือ ผมกลับรู้สึกว่า

ความเชยไม่มีความหมาย เมื่อสัมผัสได้ถึง ความซื่อๆจริงใจในการนำเสนอ โดยไม่ใส่จริตจนเกินงาม ทำให้รู้สึกถึงกลิ่นอายของหนังไทยสมัยก่อนที่หาได้ยากในยุคนี้ ที่ถ่ายทอดชีวิตชาวบ้านจริงๆ และ ดึงเสน่ห์ชนบทแท้ๆออกมา

(หนังทำให้คิดถึง ความสุขของกะทิ  ที่เป็นหนังดี และ มีแง่งามดีๆไม่แพ้กัน แต่เพราะ จริตที่มากเกินของหนัง บวกกระบวนการโชว์ท่ายากในการนำเสนอแล้วไม่ลงตัว เช่น การแช่กล้องหรือลองเทคจนเกือบหลับ ทำให้รู้สึกว่ามีระยะห่างระหว่าง หนัง กับ ตัวเอง มากพอสมควร)


ส่วน ความเชยที่เป็นข้อด้อยของหนัง คือ การที่หลายๆตอนในหนังยังคงเป็นสไตล์หนังเฉพาะกิจหรือหนังยุคเก่าๆ ที่เจตนามอบบทเรียน แบบ ทื่อๆ ทั้งๆที่น่าจะมีวิธีการนำเสนอที่มีชั้นเชิงกว่านี้ เช่น ครูถามทีละคนๆว่า เธอติดยาทำไม , บ้านเธอก็ดีทำไมต้องพึ่งยา ฯลฯ หรือ ให้ครูมานั่งพูดปัญหาเป็นข้อๆชัดๆเหมือนสอนหนังสือให้คนดู




... สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ถึงหนังดูเก่าๆเชยๆ แต่ หนังไม่น่าเบื่ออย่างที่เคยคิดไว้

ข้อดีที่ต้องชมคนเขียนบท คือ ทำการบ้านเกี่ยวกับการติดยามาดี ไม่ใช่เป็นหนังชี้ให้เห็นแต่เรื่องอันตรายของยาเสพติด ซึ่งถ้าเป็นแค่นั้นหนังคงน่าเบื่อมากๆ แต่ สองชั่วโมงของหนัง เปิดมุมมองหลายด้าน ทำให้เราเข้าใจเรื่องของ การติดยา และ ชีวิตคน มากขึ้น และ สิ่งเด่นมากๆเคียงคู่กับยาเสพติด คือ ความรักของพ่อแม่ จนทำให้ผมมองว่านี่เป็น หนังครอบครัวที่ดีมากๆ อีกเรื่องหนึ่งเหมือน รักแห่งสยาม หนังไทยเรื่องสุดท้ายที่ผมเชียร์ให้ครอบครัวมีโอกาสดูร่วมกัน

และ การเล่นประเด็นยาเสพติดในหนังเรื่องนี้ สามารถทำให้เราเข้าใจง่ายๆและเห็นภาพชัดเจน จากกลุ่มตัวเด็กนักเรียนในหนังว่า


question การติดยา มีที่มาจากอะไร ?

… ถ้ามองในแง่วิทยาศาสตร์ สามารถอธิบายได้จากกระบวนการเสพติดที่เรียกว่า brain rewarding system ที่ทำให้คนใช้ยาแล้วเกิดความรู้สึกดี จนต้องใช้ซ้ำๆ แต่กระบวนการนั้นคือการเริ่มใช้แล้ว จุดเริ่มต้นจริงๆมาจาก เหตุทางจิตใจ เหมือนในหนัง เด็กที่เริ่มต้นเสพยา ล้วนมาจาก เด็กดีๆ แต่ที่เขาหันไปหายาเพราะ

บ้างก็หนีปัญหา , บ้างก็หาที่พึ่ง , บางคนหาพวกพ้อง , บางคนต้องการให้ยาเป็นตัวช่วยเพิ่มความขยันในการทำงาน

คนติดยา จึง ไม่ใช่คนชั่วร้ายทั้งหมด แต่ พวกเขาหลายคนเริ่มต้นจาก คนดีๆที่ต้องการความช่วยเหลือ และ เลือกเส้นทางผิด แต่ ถึงจะติดแล้ว มันก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาเลวร้าย แต่แปลว่า พวกเขายังต้องการความช่วยเหลืออยู่ และ มากกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ



question ทำไมการแก้ปัญหาติดยาเสพติดถึงแก้ได้ยากเย็น ?


idea การติดยาเสพติด เป็น Brain addiction คือ สมองติดยา ไม่ใช่แค่ในแง่ของ นิสัย ที่ใจถึงอย่างเดียวจะเลิกได้ง่ายๆ เพราะ ใจถึง แต่ ร่างกายก็ทุรนทุราย แค่ เดินผ่านซุ้มที่เคยเสพ ความอยากก็ผุดขึ้นมาอย่างรุนแรง


idea วงจรของการเลิกยา ส่วนใหญ่ คือ เลิกได้ แล้วอาจจะ หลุด กลับไปใช้ใหม่ เพราะ การติดยาในทางการแพทย์ถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่มีโอกาสกลับไปเป็นซ้ำ(chronic relapsing disorder)

จุดสำคัญของการเลิกยาจึงไม่ใช่แค่ ครั้งแรกที่ถอนหรือเลิกยา แต่คือครั้งที่พวกเขาหลุดไปใช้ซ้ำจะมีคนเข้าใจเพียงใด เพราะ ถ้าคนไม่เข้าใจ พอเห็น หลุดกลับไปใช้อีกครั้ง ก็ตัดสินว่า สิ้นหวัง ซึ่งนั่นคือ ฟางเส้นสุดท้ายของคนที่คิดเลิกยา

การช่วยเหลือคนติดยา จึงจำเป็นต้องเป็นคนที่มีความศรัทธาว่า มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ และ ต้องมีความอดทน ที่จะไม่ย่อท้อ เมื่อพบว่าคนที่กำลังช่วยเหลืออยู่เกิดหลุดหรือพลาดกลับไปใช้อีกครั้ง ซึ่งในหนัง บทของครูพินิจ น่าจะเป็น ต้นแบบที่ดี


idea การถูกตีตรา(Stigma) แค่ติดยาหนึ่งครั้งแล้วคนรู้ ก็ถูกมองด้วยสายตาแตกต่าง ถูกแยกกลุ่มออกไป เพื่อนหนี แฟนทิ้ง ครูมองว่า เด็กติดยาเป็นเนื้อร้าย ที่ต้องกำจัด

ภาวะเช่นนี้ทำให้คนติดยาคิดว่า จะเลิกไปทำไม ในเมื่อไม่ได้ใช้ คนก็ยังมองด้วยสายตาแบบเดิม หันหน้าไปหามีแต่คนยี้ใส่ มียาเท่านั้นคือเพื่อนที่ดีที่สุดที่หันหน้าไปหาเมื่อไหร่ก็สบายใจเมื่อนั้น


question เรื่องของคนติดยา หน้าที่ของใคร ?


... หลายคนคิดว่าติดยา มาโรงพยาบาลหรือไปถ้ำกระบอก แล้วจบ ทั้งที่จริง สิ่งที่หมอและพยาบาล ช่วยได้มากที่สุดคือ การ detox จากการติดยา หรือ รักษาอาการที่ยาทำให้เป็นพิษหรือถอนยา แต่ กระบวนการฟื้นฟูหลังจากนั้น บุคคลสำคัญคือ ชุมชน และ คนใกล้ชิด

idea ความสำคัญของครอบครัว – อีกหนึ่งความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่ คือ เด็กที่ติดยามาจากความครัวมีปัญหา เข้าใจคำว่า มีปัญหา คือ ครอบครัวที่ทะเลาะเบาะแว้งหรือทอดทิ้งลูก

แต่ หนังทำให้เห็นว่า รากฐานของครอบครัวที่มีส่วนให้เด็กติดยา ยังเกิดจาก ครอบครัวที่ไม่เข้าใจเด็ก มองปัญหาของเด็กว่าเป็นปัญหาเล็กๆทั้งๆที่สำหรับเด็กคือปัญหาใหญ่ ทำให้เด็กไม่กล้าระบายปัญหากับครอบครัว , ครอบครัวที่เลี้ยงเด็กเพราะสนใจให้เป็นหน้าตาแก่ตัวเองมากกว่าจะห่วงจริงจัง , ครอบครัวที่ลืมไปว่าเด็กก็คือเด็ก ทำให้เด็กพยายามแบกภาระของผู้ใหญ่จนคิดว่าตัวเองยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอและหันไปขอความช่วยเหลือจากยา


idea ความสำคัญของชุมชน (ความสำคัญของคุณ?) - สิ่งที่เจ็บแสบอันหนึ่งคือ เวลาเด็กมีปัญหา คนในชุมชนทำหน้าประมาณว่า ไม่ใช่เรื่องของตรู  พอตัวเองได้รับความเดือดร้อน ก็พยายามจะเสือกไสไล่ส่ง ทั้งๆที่ พวกเขาสามารถช่วยเด็กเหล่านั้นได้ตั้งแต่ต้น

การช่วยเหลือของคนในชุมชน อาจไม่ใช่ในแง่ การบำบัดรักษา แต่ สามารถช่วยลดสาเหตุที่จะดึงเด็กไปสู่ยา และ ช่วยในกระบวนการฟื้นฟู(rehabilitation) เช่นในหนัง การที่ร้านค้าไม่ขายเหล้าให้พ่อของเด็กที่ติดเหล้า หากร่วมมือกันทำสำเร็จ ช่วยให้พ่อเด็กเลิกเหล้าได้ ความเครียดที่เป็นต้นตอการติดยาสำหรับเด็กคนนั้น ก็จะลดลง , การที่เห็นเด็กถูกรุ่นพี่กลั่นแกล้งจนต้องไปหาเพื่อนติดยา ถ้ามีคนช่วยปกป้องเด็กก็จะไม่ต้องทุกข์กับปัญหานี้ซ้ำๆ



(อ่านต่อ ที่ ความเห็น 1)

แก้ไขเมื่อ 10 ส.ค. 52 11:04:33

แก้ไขเมื่อ 10 ส.ค. 52 10:52:14

จากคุณ : "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
เขียนเมื่อ : 10 ส.ค. 52 10:42:02




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com