 |
ความคิดเห็นที่ 53 |
|
พี่กาโบ้ให้คุณนาธานมาเป็นพีอาร์จริงๆค่ะ ไม่ได้จ้างมาเป็นเจ้าของร้าน
มิตรจากเนปาล กัญชา กูรุง "คุณอาจนึกไม่ถึงว่าเมืองไทยเป็นสวรรค์ของนักธุรกิจเนปาล"
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์ ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์
เมื่อ เอ่ยถึงเนปาล น้อยคนจะรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนปาล--ดินแดนแห่งพุทธศาสนาที่มี พรมแดนติดกับอินเดียแห่งนี้ มีมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะการที่ไทยเป็นแหล่งศึกษาพุทธศาสนานิกายเถรวาทของภิกษุจากเนปาล รวมถึงยังเป็นสวรรค์แห่งการลงทุนของบรรดาพ่อค้าวาณิชชาวเนปาลี
"เมืองไทยเป็นสวรรค์ของนักธุรกิจเนปาล"
กัญชา กูรุง (Kanchha Gurung) หรือ "กาโบ" หนุ่มเนปาลีที่มาตั้งรกรากในเมืองไทยนานนับสิบปี สรุปให้เราฟัง หลังจากชีพจรลงเท้าเดินทางมาแล้วเกือบทั่วโลก
จากร้านขายเสื้อผ้า เล็กๆ บนถนนข้าวสารที่เปิดครั้งแรกในปี ๒๕๔๐ วันนี้กาโบมีร้านขายเสื้อผ้า ๓ ร้านอยู่ในกรุงเทพฯ รวมถึงร้านอาหารเนปาลแห่งแรกในเมืองไทยที่ตั้งอยู่ในตลาดบางลำพู
"ผม มีพี่น้อง ๔ คน ผมเองเป็นคนที่ ๓ ตระกูลผมทำธุรกิจขายส่งเสื้อผ้ามานานแล้ว และที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศก็เพราะนักท่องเที่ยวไปซื้อผ้าที่บ้านแล้ว ชวนให้ส่งสินค้าไปขายในประเทศของเขา กิจการขายส่งเสื้อผ้าเลยขยายใหญ่โตขึ้นทำให้คนในบ้านรวมทั้งผมต้องเดินทางไป ต่างประเทศเพื่อทำธุรกิจ
"ผมมีโอกาสไปต่างประเทศครั้งแรกตอนอายุสิบ สี่ ประเทศแรกที่ไปคือฮ่องกง ต่อมาก็ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว ไปจนพูดภาษาของเขาได้คล่องที่ต้องไปก็เพื่อติดต่อทางธุรกิจ ดูตลาด ที่ไหนมีผ้าเนื้อดีก็อาจซื้อเป็นวัตถุดิบส่งกลับไปตัดเป็นเสื้อผ้าที่เนปาล แล้วส่งขายประเทศไหนบรรยากาศเหมาะๆ ถ้ามีโอกาส ผมก็เปิดร้านที่นั่น"
กาโบยังเล่าว่าเคยไปปักหลักเปิดร้านขายเสื้อผ้าอยู่ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์
" ที่ฮ่องกงผมอยู่ประมาณ ๓ ปี ที่สิงคโปร์เคยเปิดร้านขายเสื้อผ้า ๒ ร้าน เพราะคิดว่าที่นั่นเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของอาเซียน น่าจะค้าขายได้ดี แต่ผิดคาด ทุกอย่างแพงมาก ไม่ว่าค่าเช่าที่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ผมยังพบว่าสิงคโปร์มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าเมืองไทยมาก แถมมีการเลียนแบบเสื้อผ้าที่เราออกแบบเองแล้วเอามาขายแข่งด้วย(หัวเราะ) พออยู่ได้ ๗ ปีก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แค่เสมอตัวกับขาดทุนเท่านั้น ไม่มีอนาคตก็คิดถึงเมืองไทยขึ้นมาเพราะเคยมาครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๓๑ ยังจำได้ว่าที่นี่บรรยากาศดีกว่าสิงคโปร์ เมืองไทยนับถือศาสนาพุทธแบบเดียวกับเนปาล และคุณอาจนึกไม่ถึงว่า ที่นี่เป็นประเทศที่นักธุรกิจเนปาลชอบมาก หลายคนนิยมเดินทางมาซื้อสินค้าในเมืองไทย เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพดีกว่าสินค้าอินเดียที่มีมากมายในเนปาลผมเลยตัดสินใจ ปิดร้านที่สิงคโปร์แล้วย้ายมาเปิดร้านในเมืองไทย"
โดยทำเลที่กาโบเลือกคือ ถนนข้าวสาร
"ผมเปิดร้านชื่อ "มิตรา" ปีแรกๆ คิดไม่ออกว่าจะขายอะไร เลยเอาของตกแต่งจากทิเบตและ เนปาล มาขาย แต่ก็ไปได้ไม่ค่อยดีนัก จนปี ๒๕๔๓ รู้สึกว่าน่าจะลองขายเสื้อผ้า เลยเริ่มออกแบบแล้ววางขายก็ไปได้ดี ประกอบกับปี ๒๕๔๕ ที่ถนนข้าวสารเริ่มมีคนไทยไปเล่นสงกรานต์ ถนนข้าวสารเลยฮิตขึ้นมา ชาวต่างชาติก็มาเพิ่มขึ้นทุกปี ผมเลยขายของได้มากขึ้น จนเปิดสาขาได้อีก ๒ แห่ง คือ ที่ตึกแพลทินัม ประตูน้ำ และที่ตลาดนัดจตุจักรซึ่งขายเฉพาะวันศุกร์ถึงวันอาทิตย์"
ต่อมากาโบ ได้ร่วมกับญาติเปิดร้านอาหารเนปาลซึ่งภายหลังร้านอาหารแห่งนี้ได้กลายเป็น จุดนัดพบของชาวเนปาลและทิเบตที่เดินทางมาทำธุรกิจและท่องเที่ยวในเมืองไทย
" ร้านอาหารเนปาลเกิดขึ้นจากความคิดว่าเราอยากทำให้ที่นี่เป็นจุดนัดพบของคน เนปาลที่มาเมืองไทย จนมาได้ทำเลที่ถนนตานีในตลาดบางลำพู ไม่ไกลจากถนนข้าวสารมากนัก ตั้งชื่อว่า "จาตรา" ซึ่งในภาษาเนปาลหมายความว่า "เทศกาลรื่นเริง" เอาพ่อครัวจากเนปาลมาทำอาหารตอนนี้ (เดือนมีนาคม ๒๕๕๑) เปิดมาได้ ๓ เดือนแล้ว ก็ยังต้องพยายามอีกมาก
"อาหารเนปาลรับประทานไม่ยาก เป็นส่วนผสมระหว่างอาหารจีนกับอาหารอินเดีย และมีเครื่องเทศน้อยกว่าอาหารอินเดีย จึงไม่ฉุนมาก มีทั้งอาหารกินเล่นเรียกน้ำย่อย อย่างหมากแห้ง--น้ำตาลกรวดชิ้นเล็กๆ ใบมินต์เคลือบน้ำตาลสีสันสวยงาม ที่คนเนปาลนิยมกินแทนลูกอม พวกนี้ทางร้านเรียกรวมกันว่า "จาตราเคีย" ยังมีเมนูหลักอย่าง ชิกเก้น/มัตตอน ชอยลา (Chicken or Mutton choila)--ไก่/แพะอบบาร์บิคิวคลุกมัสตาร์ดและสมุนไพร, จาตรา เนปาลี มีล เซ็ตเวจ/นอนเวจ (Jatra Nepali Meal Set Veg/Non Veg)--อาหารเนปาลเสิร์ฟพร้อมข้าว ผัก, พีนัท มาซาลา (Peanut Masala)--ถั่วคลุกเครื่องเทศเนปาล ซึ่งคนไทยกินได้แน่นอน
"ร้านนี้ ทำให้ผมพบเพื่อนชาวเนปาลที่มาตั้งรกรากในเมืองไทยหลายคน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวทิเบต แน่นอนเราไม่มีย่านไชน่าทาวน์เหมือนคนจีนในไทยนี่ครับ (ยิ้ม) เป็นที่รู้กันในหมู่คนเนปาลว่าที่นี่เป็นแหล่งนัดพบสังสรรค์รับประทานอาหาร กัน และยังทำหน้าที่เผยแพร่เรื่องของเนปาลให้แก่ลูกค้า ที่สนใจอีกด้วย"
กาโบยังยืนยันว่าการทำธุรกิจในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก
" ที่สำคัญคือคุณต้องหาทำเลและรู้จักกับคนประเทศนั้นๆ การขายของ การเดินทาง ทำให้ผมรู้จักลักษณะของลูกค้า เช่น คนทิเบต คนภูฏาน จะมีลักษณะใจบุญ ค่อนข้างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คนญี่ปุ่นจะค่อนข้างเร่งรีบ แข่งกับเวลา ชอบเสื้อผ้าที่ใส่แล้วอบอุ่นในฤดูหนาว โดยเฉพาะผ้าไหมพรม คนฮ่องกงจะติดหรู ชอบใส่เสื้อผ้าที่ดูดี และชอบการสังสรรค์ คนจีนค่อนข้างขยัน เพราะมีการแข่งขันในประเทศสูง ชอบเสื้อผ้าที่ดูดี ส่วนคนไทยนี่เป็นคนสนุก ชอบเสื้อผ้าที่ใส่สบาย
"เมืองไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก ถ้าคุณมีไอเดียดี ขยันหมั่นเพียร อยู่ได้แน่ ที่นี่ให้โอกาส ใน การทำมาหากินแก่ทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด ถึงมีประท้วงบ้างแต่ก็ไม่เคยถึงขนาดต้องปิดร้าน เทียบกับที่เนปาลถ้ามีการประท้วง ก็เรียกได้ว่าเมืองทั้งเมืองแทบร้าง"
เราถามเขาว่า อยู่ต่างประเทศมานานคิดถึงบ้านบ้างหรือไม่
" ผมไม่ค่อยคิดถึงบ้าน เมืองไทยเป็นบ้านหลังที่สองของผม ตอนนี้ผมมีภรรยาเป็นคนไทย ที่สำคัญผมมีลูกแล้ว ๒ คน ผมกลับเนปาลไปดูโรงงานตัดเสื้อผ้าที่นั่นปีละ ๔-๕ ครั้ง ชีวิตส่วนใหญ่ผมก็อยู่ ที่นี่ บางทีในอนาคตผมอาจทำทัวร์ไปเนปาลด้วย เพราะมีคนสนใจบ้านเกิดผมมากพอสมควร
"อยากฝากถึงคนไทยว่า ให้สามัคคีกันไว้เถอะประเทศของคุณน่าอยู่ที่สุดในโลกแล้ว"
[ Back to ฉบับที่ 279 > พฤษภาคม 51 ปีที่ 24 | Sections Index ]
ที่มา : http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=856
จากคุณ |
:
Musa
|
เขียนเมื่อ |
:
14 ส.ค. 52 18:39:43
A:58.9.188.203 X: TicketID:227294
|
|
|
|
 |