Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บทความ : ทำไมต้องมีโทษประหารชีวิต?  

“ .. จะต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของบุคคลในทุกๆ อย่าง วัตถุประสงค์ของท่านก็เพื่อที่จะมีที่ในสวรรค์ และเพื่อทำให้สามีของท่านพอใจ พระคัมภีร์กล่าวว่าบุตรสาวของล็อทคิดว่าตนเองเหลืออยู่ในโลกแต่ผู้เดียว จึงต้องมีสัมพันธ์กับบิดา และเนื่องจากว่าเจตนารมณ์ของเขาเป็นสิ่งที่ดี พวกเขาจึงไม่ได้ทำบาปอะไร “ ( Mandragola – Niccolo Machiavelli )

จะบอกว่านี่เป็นเรื่องตลกร้ายก็ว่าได้ ข้อความข้างต้นผู้เขียนยกมาจากบทละครเชิงเสียดสีสังคมอย่าง Mandragola ที่เขียนโดย Niccolo Machiavelli นักคิดแนวสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ชาวอิตาลีเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ผู้ที่มีผลงานเชิงเสียดสีด้านมืดที่ซ่อนเร้นของมนุษย์อย่าง The Prince ( อนึ่ง ผู้เขียนใช้ฉบับแปลของสมบัติ จันทรวงศ์ ในชื่อ “ เจ้าผู้ปกครอง “ ของ สนพ. คบไฟในการอ้างอิง ซึ่งเนื้อหาของ Mandragola จะอยู่ท้ายเล่มของหนังสือ The Prince ฉบับแปลเล่มนี้ ) เรื่องของ Mandragola นั้นสรุปได้ง่ายๆ คือหนุ่มคนนึง แอบมองหญิงสาวที่มีสามีแล้ว และคิดอยากมีอะไรกับเธอ ขณะที่สามีของเธอนั้นก็อายุค่อนข้างมาก และให้กำเนิดบุตรได้ยากเช่นกัน ส่วนตัวหญิงสาวนั้นค่อนข้างยึดมั่นในจารีตประเพณี ในตอนแรกจึงรับไม่ได้กับความคิดที่จะให้คนอื่นมาทำให้เธอท้อง เพื่อที่สามีของเธอจะได้มีทายาทไว้สืบสกุล ทว่าก็มีการวางแผนกัน สรุปคือเรื่องก็จบด้วยทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างถ้วนหน้า หญิงสาวได้ทำให้สามีแก่ๆ ของเธอพอใจเพราะตั้งครรภ์ สามีของเธอมีบุตรไว้สืบสกุล ชายหนุ่มคนนั้นได้มีอะไรกับหญิงสาวอย่างที่ใฝ่ฝันมานาน ส่วนบาทหลวงที่เป็นผู้ยกข้อความตอนต้นนั้นมากล่าวอ้าง ได้รับเงินทองจำนวนหนึ่งเป็นรางวัลในการเกลี้ยกล่อมหญิงสาวได้สำเร็จ

ถามว่ามันเกี่ยวกับเรื่องของโทษประหารชีวิตอย่างไร? บอกได้เลยว่าเกี่ยวแน่ๆ เรื่องราวของ Mandragola นี้สะท้อนความคิดด้านมืดของมนุษย์ในแง่ที่ว่า “ หากมีเงื่อนไขที่เหมาะสมลงตัวมากพอ มนุษย์ก็พร้อมที่จะแหกกฏเกณฑ์ของสังคมเสมอ “ จะเห็นได้ว่าบาทหลวงนั้นต้องการสินบน จึงนำคำสอนในพระคัมภีร์มากล้าวอ้างในเชิงบิดเบือน เพื่อทำให้หญิงสาวยอมเป็นของผู้อื่น เพราะหากสามีของเธอได้บุตรไว้สืบสกุล การละเมิดเกณฑ์ศีลธรรมในครั้งนี้ย่อมไม่ผิดอะไร อนึ่ง มนุษย์เราก็มีแนวโน้มที่จะทำเช่นนั้นอยู่แล้ว ไม่เชื่อก็ลองสำรวจตัวเราดูได้ จิตของเราเรียกร้องให้เราอยากลองขวางโลก อยากลองละเมิดกฏเกณฑ์ต่างๆ ของสังคมอยู่แล้ว หากแต่บุคคลโดยส่วนใหญ่ ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมปกติ ไม่มีเงื่อนไขมากพอ การกระทำด้านมืดดังกล่าวจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นได้ง่ายนัก ( เว้นแต่พวกมีสภาพจิตผิดปกติ นั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง )

อย่างที่ใครๆ ก็ทราบกันว่าทุกๆ สังคมมีค่านิยมและบรรทัดฐานของตนเอง แต่โดยมากทุกๆ สังคมจะมีค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกันอยู่บางประการ ที่มนุษย์ควรทำและไม่ควรทำ ซึ่งไม่ว่าจะโดยนักปรัชญา หรือศาสนา หรือกฎหมายก็ตามดังต่อไปนี้

- การฆ่ามนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ดี ( เว้นแต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมอนุญาต เช่นโทษประหารชีวิต การปกป้องประเทศจากข้าศึกของทหารในสงคราม การป้องกันตัวจากคนที่เข้ามาทำร้ายสุจริตชน หรือแม้แต่บางประเทศที่แพทย์สามารถฆ่าคนป่วยได้ หากคนป่วยคนนั้นยินยอม )

- การเสพและจำหน่ายสารเสพติดร้ายแรงนั้นไม่ดี ( บางประเทศอาจผ่อนผันให้เสพและจำหน่ายสารเสพติดบางชนิคได้บ้างที่ไม่ร้ายแรงนัก อย่างในฮอลแลนด์ที่เสพและซื้อหากัญชาได้ แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนดและต้องเสพในเคหสถานส่วนตัวเท่านั้น แต่สารเสพติดอื่นๆ ที่รุนแรง เช่นยาบ้าหรือแอมเฟตามีน เฮโรอีน โคเคน ฯลฯ พวกนี้เป็นของต้องห้ามของแทบทุกสังคมบนโลกใบนี้ )

- การประพฤติผิดในเชิงกามารมณ์ เช่นการนอกใจคู่ครอง หรือการมีสัมพันธ์กับผู้ที่มีสามีแล้ว มีภรรยาแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ดี ( ทั้งนี้เพราะมนุษย์เรายึดถือในเรื่อง “ ความไว้วางใจ “ กันมากที่สุด และความสัมพันธ์ที่มนุษย์เราให้ credit หรือเชื่อกันว่าต้องไว้ใจกันได้มากที่สุด คือความสัมพันธ์ของสามีและภรรยา )

สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นได้ว่า 3 เรื่องนี้โดยมากแล้วสังคมไหนๆ ก็มีบรรทัดฐานแนวๆ นี้ทั้งสิ้นแม้ว่ารายละเอียดปลีกย่อยจะแตกต่างกันออกไปบ้างก็ตาม แต่กระนั้นเอง มนุษย์เราก็มักจะหาข้ออ้างในการละเมิดบรรทัดฐานอยู่เสมอ และถ้าข้ออ้างนั้นสมเหตุสมผลรวมถึงน่าเห็นใจมากพอ สังคมก็อาจจะยอมรับได้ เช่นกรณีของการฆ่าคนเพราะถูกกดดันอันเนื่องมาจากการถูกข่มเหงรังแกอยู่ตลอด ซึ่งเมื่อสืบประวัติแล้วไม่ได้เป็นพวกนักเลงหัวไม้ การขายยาเสพติด ( รายย่อย ) ที่เมื่อสืบประวัติแล้วพบว่าฐานะยากจนและมีภาระทางครอบครัวมาก อะไรแบบนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไป เพราะในทุกสังคมแม้จะมีมาตรฐานทางคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างไร ก็คงไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดี และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและปราศจากอาชญากรรมอย่างหมดสิ้นได้

แน่นอนว่ากฎหมายที่รุนแรง ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้คนทำผิดลดลง ( นักสิทธิมนุษยชนกล่าวตรงนี้ได้ถูกต้อง ) แต่มันก็ทำให้คนเราตัดสินใจที่จะกระทำความผิดได้ยากขึ้นมิใช่หรือ? ดูง่ายๆ แค่เรื่องเมาแล้วขับ ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกา คุณมีสิทธิไปนอนคุกได้ 30 วันหรือ 45 วัน แต่ถ้าบ้านเรา ไม่มีทางแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นคนมีชื่อเสียงด้วยแล้ว ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ ยังไม่นับผู้ที่ชินชากับการเข้าๆ ออกๆ เรือนจำของบ้านเรา คนพวกนี้ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ไม่สะทกสะท้านกับการติดคุก บางคนอาจจะบอกว่า คุกไทยลำบาก แออัดและสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยกว่าคุกฝรั่ง ( ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะเรือนจำในยุโรปตะวันตกหรือในสหรัฐอเมริกาเขาดูดีกว่าเรามาก ) แต่กลับกลายเป็นว่า คุกไทยนั้นเข้าๆ ออกๆ กันเป็นเรื่องสนุก แต่คุกฝรั่ง บางคนเข้าแค่ครั้งเดียวก็เกินพอ ทั้งนี้เพราะบรรทัดฐานทางสังคมแตกต่างกัน สังคมไทยนั้นชอบประนีประนอม ใจดี ไม่ขอบการแตกหักอย่างรุนแรงตามคติของศาสนาพุทธ จึงมีการลดโทษ และอภัยโทษในวันสำคัญต่างๆ เสมอ ( ซึ่งเชื่อได้ว่า ต่อให้เปลี่ยนไปเป็นระบอบอื่นอย่างที่พวกเรียกตัวเองว่าหัวก้าวหน้าต้องการ ท้ายที่สุดการลดโทษและอภัยโทษก็ยังมี แต่อาจจะเปลี่ยนจากวันสำคัญวันหนึ่ง ไปเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งแทน ) เพราะสังคมไทยยังเชื่อกันว่า “ ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นอาชญากรโดยสันดาน หากแต่สิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์อำนวย “ จึงมักจะให้โอกาสในการกลับตัว สำหรับผู้ที่ถูกประณามสาปแช่ง มักจะเป็นอาชญากรระดับใหญ่ๆ หรือพวกที่ผิดซ้ำผิดซาก เข้าๆ ออกๆ เรือนจำเป็นว่าเล่นเสียมากกว่า

อีกสาเหตุหนึ่งที่พวกอยากยกเลิกโทษประหารชีวิตให้เหตุผลไว้ คือเรื่องการจับแพะ แน่นอนว่าตราบใดที่กระบวนการใดๆ เป็นกระบวนการที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ มันย่อมไม่มีทางสมบูรณ์แบบ ยิ่งสังคมเจริญขึ้นเท่าไร ความซับซ้อนของสังคมก็มากขึ้นเช่นกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ( โดยเฉพาะด้านนิติวิทยาศาสตร์ ) ก็ทำให้การจับแพะเป็นไปได้ยากขึ้นด้วยไม่ใช่หรือ? ( เว้นแต่เป็นความจงใจของคนบางกลุ่ม ) เพราะหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์พวกนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยากจะบิดเบือนได้ การไต่สวนคดีในปัจจุบัน จึงมิใช่เป็นไปโดยการจับผิดทางตรรกะของผู้ให้การแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งมีจุดบกพร่องได้มากกว่าหากผู้ไต่สวน “ สติปัญญาไม่ทันอาชญากร “ อย่างเช่นในอดีต การหาแพะในยุคนี้จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ยิ่งเป็นคดีที่สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปสนใจด้วยแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ก็ยิ่งทำให้การหาแพะยากขึ้นไปอีก เพราะทุกวันนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งภาพและเสียงสื่อถึงกันแบบแทบจะ Real Time โอกาสบิดเบือนไม่ว่าจากฝ่ายไหนจึงยากขึ้นไปด้วยเป็นธรรมดา

ส่วนสาเหตุสุดท้ายที่พวกนักสิทธิฯ ที่ต้องการยกเลิกโทษประหารชีวิตให้เหตุผลว่ามนุษย์ไม่มีสิทธิ์พรากชีวิตผู้อื่น ก็อยากจะถามต่อไปอีกว่า แล้วอาชญากรพวกนี้พรากชีวิตผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซึ่งทำโดยไม่ได้รู้สึกว่ามันร้ายแรงอะไร ( เช่นพวกมือปืนรับจ้างที่ฆ่าคนที่ไม่ได้แค้นเคืองกัน หรือพวกค้ายาเสพติดที่ทำให้สังคมตกอยู่ในความมืด ) คนพวกนี้ไม่เป็นภัยร้ายแรงหรือ เพราะขนาดบางคนถูกจับได้แล้วติดคุก ก็ยังยิ่งใหญ่ในคุก ขนาดมีห้อง VIP อยู่สบายๆ มีลูกน้องห้อมล้อม และทำธุรกิจมืดจากในคุกออกมานอกคุกได้อีก เรียกว่าถ้าใช้มาตรฐานแบบสังคมอุดมคติแบบที่พวกนักสิทธิฯ ว่ามา คนพวกนี้แม้จะต้องถูกจองจำจนตาย ก็ไม่เห็นว่ามันจะลำบากตรงไหนเลย ( ซึ่งในความเป็นจริง ผู้เขียนไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าโทษจำคุกตลอดชีวิตเขาจำคุกจนตายจริงหรือไม่ บางคนบอกว่า 25 ปีมากสุด บางคนก็บอกว่า 50 ปี ตามกฏหมายระบุให้เท่านี้ ) และไม่ต้องไปหวังว่าคนพวกนี้จะกลับตัว พวกนี้ไม่ใช่คนที่ฆ่าคนมาเพียงหนึ่งหรือสองศพ หรือไม่ใช่พวกค้ายารายย่อย มันคนละกรณีกัน คนพวกนี้ทำผิดจนไม่คิดว่าเป็นความผิดอีกแล้ว จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่อมเกลาให้เป็นคนดี ไม่เหมือนกับผู้ซึ่งเริ่มกระทำความผิด ซึ่งอาจจะกล่อมเกลาให้เป็นคนดีได้เพราะจิตใจยังไม่ด้านชามากนัก อนึ่ง ผู้เขียนก็มิได้เห็นด้วยกับการลงโทษเพื่อความสะใจแบบที่หลายกระแสพยายามกล่าวมา ( จำพวกตัดศีรษะประจาน ทรมานก่อนประหารอะไรเช่นนี้ ) เพราะโทษประหารมีไว้เพื่อให้คนเกรงกลัวความผิด ซึ่งโดยมากคนเราไม่มีใครอยากตายก่อนวัยอันควร ถ้าไม่มีเงื่อนไขบีบคั้นมากพอ ก็ย่อมไม่เสี่ยงที่จะทำความผิดที่มีโทษรุนแรงถึงชีวิตเช่นนั้น โทษประหารรวมไปถึงโทษจำคุก จึงมีไว้เพื่อป้องปรามไม่ให้คนส่วนใหญ่ในสังคมกระทำผิด แต่มิใช่มีไว้เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมได้ระบายความมืดในตัวตน มิเช่นนั้นนักโทษกับคนทั่วไปในสังคม คงมีแต่ความมืด มิได้ต่างกันแต่อย่างใด

สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า กระบวนการลงโทษอย่างเดียวมิใช่หนทางระงับการกระทำผิดของมนุษย์ หากแต่ความยุติธรรมที่ประจักษ์ได้จริง และการให้มนุษย์ทุกคนได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่เพียงพอ เพื่อไม่ให้สร้างเงื่อนไขในการกระทำความผิดได้โดยง่าย จึงเป็นอีหนทางหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปอย่างจริงจังเช่นกัน

ขอจบบทความนี้ ด้วยข้อคิดของหานเฟย ปราชญ์สำนักนิตินิยมในจีนยุค 2 พันกว่าปีก่อนดังนี้ครับ

“ คนๆ หนึ่งอาจจะไม่พลัดตกลงมาในขณะปีนภูเขาสูง แต่มักจะหกล้มขณะเดินอยู่บนกองดินกองเล็กๆ “ อันภูเขานั้นสูงใหญ่และอันตราย คนจึงปีนอย่างระมัดระวัง แต่กองดินนั้นต่ำเตี้ย คนจึงเดินอย่างประมาทเลินเล่อ การลงโทษก็เช่นกัน ถ้าเบาเกินไปก็เปรียบเหมือนกองดินกองเล็กๆ นั้น ที่ทำให้ผู้คนไม่ระมัดระวัง และกระทำความผิดได้โดยง่าย ( อ้างอิงส่วนหนึ่งจากหน้า 136 ของ “ คัมภีร์จอมคน หานเฟยจื่อ “ แปลโดยศักดิ์รวี สนพ. ประดู่ลาย )

TonyMao_NK51 ( ผีไร้ศาล )

Mail To : tonymao_nk51@hotmail.com

30/8/2009 Bangkok Thailand

จากคุณ : Avatar of TonyMao_NK51
เขียนเมื่อ : 30 ส.ค. 52 11:55:25 A:58.9.104.148 X: TicketID:219398




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com