Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
" แล้วข้าพเจ้าจะละทิ้งอย่างไรได้ ? "  

ไปเจอบทความของคุณ เปลวสีเงิน จากเวบไซต์ไทยโพสต์
และอยากจะขออนุญาตคุณเปลวสีเงิน เพื่อเผยแผ่บทความดีๆ เหล่านี้ให้แก่ประชาชนชาวไทยได้ทราบ และทราบซึ้งใจไปด้วยกัน


ผมลองแยกความคิดตัวเองเป็น  ๒  ฝ่าย  แล้วให้ทั้งสองฝ่ายนั้นหาเหตุผลมาโต้แย้ง  หักล้างกัน  ผลสรุปออกออกมาว่า  ไม่สามารถแยก  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช"  ออกไปจากประชาชนได้  และประชาชนคนไทย  ก็ไม่อาจแยกออกไปจาก  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช"  ได้  เพราะน้ำพระราชหฤทัยอาทรต่อพสกนิกรดั่งบุตร  กับทุกหัวใจภักดิ์-ทุกหัวใจห่วง  "พ่อหลวง"  จากปวงพสกไทย  ผนึกสายไหลร่วมเป็นมหานทีใหญ่  ตัดอะไรก็ตัดได้  แต่ไม่เคยประจักษ์ว่า  จะมีใครตัดมหานทีแยกสายให้ขาดจากกันไปได้เลย

    เพราะเหตุนี้  ยังมิทันที่  "สำนักพระราชวัง"  จะออกแถลงการณ์ฉบับแรก  (๒๐  ก.ย.๕๒)  ด้วยซ้ำว่า  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"  ทรงพระประชวร  มีพระอาการอ่อนเพลีย  และเสวยพระกระยาหารได้น้อย  เสด็จฯ  มาประทับ  ณ  โรงพยาบาลศิริราช  แต่ประชาชนที่ชีพจรชีวิตดุจฝากติดอยู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ดูคล้ายจะทราบทางสายใยใจ

    ต่างบ่ายหน้าสู่ศิริราช  บ้างก็อธิษฐานจิตบูชา  บ้างก็สวดมนต์ภาวนา  บ้างก็ลงนามถวายพระพร  บ้างก็แหงนหน้า  ตาจ้องมองนิ่งอั้น  นอนวัน-นอนคืนอยู่  ณ  ตรงนั้น...ขออย่าให้ในหลวงของเราทรงเป็นอะไรไปเลย...ขอให้พ่อหลวงของเราทรง หายประชวรไวๆ  ด้วยเถิด...

    นี่คือความใส...บริสุทธิ์  แห่งใจพสกที่เรียกว่า  "ชาวบ้าน"  ไม่ว่าใกล้  ไม่ว่าไกล  ต่างบากบั่นกันมาไม่ขาดสาย  "ทุกหมู่เหล่า"  เวลาแล้ว  เวลาเล่า  วันแล้ว  วันเล่า  จน  ณ วันนี้  พวกเรา...พสกของพระองค์ค่อยเบาใจ  เมื่อ  "สำนักพระราชวัง"  ออกแถลงการณ์ในฉบับต่อๆ  มาว่า

    "พระปรอทลดลง  และพระองค์เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น"

    ข่าวไหนจะประเสริฐ  ข่าวไหนจะเป็นมงคลเท่าข่าว  "ในหลวงทรงคลายจากพระอาการไข้"  และ  "เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น"  ในวันแรกที่ผมอ่านแถลงการณ์  เมื่อพบคำว่า  "เสวยพระกระยาหารได้น้อยลง"  ก็ทุกข์ใจเหมือนกับทุกคน  การที่ทรงป่วยเป็นไข้นั้น  เมื่ออยู่ใกล้หมอก็อุ่นใจ  แต่การเสวยพระกระยาหารได้น้อยนั้น

    ใจคอประชาชนพลอยตีบตันไปหมด!

    แต่พระองค์ท่านเรียกว่า  "ทรงหายวัน-หายคืน"  เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น  ทำให้หัวใจประชาชนค่อยพองโต  มีใบหน้าแจ่มใส  สดชื่น  อย่างนี้แสดงว่าพระองค์จะต้องทรงมีพระกำลังใจ  ส่งผลให้มีพระพลานามัยแข็งแรงในเร็ววันแน่นอน  และใครๆ  ที่ททอยกันไปลงนามถวายพระพร  ขณะนี้  ต่างก็มีความสุขจากข่าวประเสริฐ

    ณ  ลานแห่งศิริราช  เป็นลานแห่งการสมานรัก  สมานสามัคคี  ทุกผู้-ทุกนามที่มา  ด้วยปรารถนาแห่งจิตตรงกันว่า...ขอให้พระองค์ทรงหายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว

    กลั่นน้ำใจเขียนคำ  "ถวายพระพร"  แทบแทนน้ำหมึก!

    ผมสังเกตว่า  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"  ทรงปีติมาก  ทุกครั้งที่ประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกรของพระองค์  และถ้ามีพระอาการประชวร  เมื่อพสกนิกรมาเยี่ยม-มาเฝ้าพระอาการป่วย  พระองค์จะทรงมีพระกำลังใจ  มีพระพลานามัยแข็งแรงเร็ววัน

    นั่นเพราะอะไร  จะเรียกว่า  "มหัศจรรย์แห่งจิต"  ก็ย่อมได้  เพราะนับแต่ทรงขึ้นครองราชย์  คำว่า  "ประชาชน"  กับคำว่า  "ในหลวง"  ผูกสนิทแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว  "แยกกันไม่ออก"  นับแต่บัดนั้นถึง  ณ  บัดนี้

    ยังจำประโยคประวัติศาสตร์  "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน"

    กับประโยค  "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า  แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร"  กันได้มิใช่หรือ?

    ประโยคข้างบนเป็นเสียงตะโกนของประชาชนที่มาส่งเสด็จ   และประโยคข้างล่าง  คือคำตอบของ  "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"  ขณะเสด็จฯ  จากสยามสู่  ณ  แดนไกล  และอีกนานแสนนาน  กว่าจะได้เสด็จฯ  กลับมาทอดพระเนตรหน้าพสกนิกรของพระองค์อีกครั้ง

    เมื่อคราวที่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่  ณ  ศิริราชแห่งนี้เมื่อปี  ๒๕๔๙  ผมเคยคัดลอกบางตอนมาจากหนังสือ  "ทำเป็นธรรม"  ซึ่งเขียนโดยท่านผู้หญิงเกนหลง  สนิทวงศ์  ณ  อยุธยา  มาให้ท่านอ่านไปแล้ว  วันนี้-ผมจะยกมายืนยันในความที่ว่า  "ในหลวง"  กับ  "ประชาชน"  แยกกันไม่ออกอีกครั้งก็ได้

    ท่านผู้หญิงเกนหลง  เขียนไว้ในหนังสือ  "ทำเป็นธรรม"  ขณะเสด็จฯ  ออกจากประเทศไทยไปศึกษาต่อ  ณ  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  โดยมีประชาชนส่งเสด็จจำนวนมาก  ดังนี้

    ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร  ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน  ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ  ณ  สวิตเซอร์แลนด์  เมื่อวันที่  19  สิงหาคม  พ.ศ.2489  ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า  "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน"  ในขณะนั้น  ทรงนึกตอบในพระทัยว่า  "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร"  ภาพนี้ยังคงติดอยู่ในพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จนมิอาจลืมเลือนได้ตราบถึงปัจจุบัน  เพราะทรงตระหนักว่า  ทรงมีหน้าที่เพื่อชาติ  ถึงโอกาสที่ควรจะทรงทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชน  ตามที่ประชาชนพร้อมใจกันทูลเกล้าฯ  ถวายพระราชภาระอันยิ่งใหญ่

    และเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเศร้า  ความเสียขวัญของพสกนิกรชาวไทย  ซึ่งเพิ่งผ่านการสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์  ระหว่างนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน  "เมื่อ  ข้าพเจ้าจากสยาม  สู่สวิตเซอร์แลนด์"  พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย  เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชนที่พร้อมใจกัน มาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มบทพระราชนิพนธ์ว่า...

    "วงวรรณคดี"  ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กน้อยที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว  อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์  เมื่ออยู่โรงเรียน  เรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก...ฉะนั้น  จึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่ สวิตเซอร์แลนด์มาให้

    และในโอกาสนี้จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อ  ทุกๆ  คน  ที่มาถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า  ณ  พระมหาปราสาท  ตลอดจนความปรารถนาดี  ที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง  กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ  ด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

    วันที่   16  สิงหาคม  พ.ศ.2489-อีกสามวันเท่านั้น  เราก็จะต้องจากไปแล้ว  ฉะนั้น  จึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์   ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย  ยืนรออยู่บ้าง  แต่ไม่สู้มากนัก  เข้าไปในพระอุโบสถ  จุดเทียนนมัสการ  ฯลฯ...แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช  ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงมาให้รู้จัก  โดยปกติได้เคยเห็นท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว  ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป  บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่  ชื่อพระไพรีพินาศ  พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน  หลังจากนั้นก็นมัสการลา

    ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น  ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่ารถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้า บ้าง  ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ  ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย  ในหมู่ประชาชนที่มารอกันอยู่วันนี้  จำได้ว่ามีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด  ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน  จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวันอังคาร  พฤหัสบดี  และวันอาทิตย์  พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน

    วันที่  17  สิงหาคม  พ.ศ.2489-เก็บของลงหีบและเตรียมตัว...

    วันที่  18  สิงหาคม  พ.ศ.2489-เราต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว!  อะไรๆ  ก็จัดเสร็จหมด  หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม...บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมพระบรมอัฐิของพระบรม ราชบุพการีของเรา  ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์  และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ  แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ  เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้  และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม  เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า  เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ  ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง

    เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทร-วินิจฉัย  ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น!  เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า  จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่  ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ  ตอบเขาว่า  "ให้เข้ามาซิ"  เพราะเหตุว่า  วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน  เป็นวันของเขา  จะไปห้ามเสียกระไรได้  และยิ่งกว่านั้น  ยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย  ข้าพเจ้าอยากจะแลเห็นราษฎร  เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก...วันนี้พวกทหารรักษาการณ์ กันอย่างเต็มที่  เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก  ไม่เหมือนเมื่อวันที่  15  สิงหาคม  ที่มากันคน

    วันที่  19  สิงหาคม  พ.ศ.2489-วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว!  พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่   ลาเจ้านายฝ่ายใน  ณ  พระที่นั่งชั้นล่างนั้น  แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว  เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต  และพระภิกษุสงฆ์  ลาเจ้านายฝ่ายหน้า  ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง  แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์

    พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง  200  เมตร  มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถ  แล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ  ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น  บางทีจะเกิดเป็นลูกระเบิด!  เมื่อมาเปิดดูภายหลัง  ปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก  ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ  ที่ถนนราชดำเนินกลาง  ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง  กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง  รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด  ถึงวัดเบญจมบพิตร  รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง  ตามทางที่ผ่านมา  ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ  ว่า  "อย่าละทิ้งประชาชน"  อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า  ถ้าประชาชนไม่  "ทิ้ง"  ข้าพเจ้า  แล้ว  ข้าพเจ้าจะ  "ละทิ้ง"  อย่างไรได้  แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

    เมื่อมาถึงดอนเมือง  เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่  ได้รับของที่ระลึก  เป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย  11.45  นาฬิกาแล้ว  มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว  ที่สโมสรนายทหาร  ต่อจากนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน  เดินฝ่าฝูงคน  ซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย

    เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นราษฎร   ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร  แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ  เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหว  กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด  พอถึง  12  นาฬิกา  เราก็ออกเดินทาง  มาบินวนอยู่เหนือพระนคร  สามรอบ  ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่ว  ถนนทุกสายในพระนครบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา  (ซีลอน)  เสียงเครื่องบินดังสนั่นหนวกหู  หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง  ดังนั้น  จึงไม่มีใครพูดเลย  ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือ  หลับตาเสียแล้วนิ่งคิด

    ครับ...แล้วอย่างนี้  เรา-ประชาชนคนไทย  จะ  "ทิ้ง"  พระองค์ท่านได้อย่างไรกัน.

credit : คุณเปลวสีเงิน เวบไซต์ไทยโพสต์

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เรารักในหลวง2

จากคุณ : ชาญี่ปุ่น
เขียนเมื่อ : 27 ก.ย. 52 19:07:06




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com