 |
ความคิดเห็นที่ 182 |
บทความ โดย ขวัญใจ เอมใจ จากนิตยสารสารคดี ฉบับที่158 ปีที่ 14 เมษายน2541
"ความเข้าใจผิดบางประการ เรื่องรักร่วมเพศ"
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2540 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, กลุ่มอัญจารี, โครงการเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิผู้หญิง, มูลนิธิ เพื่อนหญิง, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, เครือข่ายผู้หญิงกับสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายผู้หญิง กับสุขภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "สิทธิหญิงรักหญิง : บทบาทของวงวิชาการและสื่อมวลชน"
โดยได้เชิญวิทยากรหลายท่านมาแสดงทัศนะ ได้แก่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ กรมสุขภาพจิต, ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณอัมพร บุญตัน ตัวแทนจากกลุ่มอัญจารี โดยมี ดร.กฤตยา อาชวนิกุล แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายแพทย์ยุงยุทธ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่บุคลลทั่วไป มักจะมีต่อ บุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ สารคดีเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าสนใจ จึงได้ตัดทอนบางส่วน เรียบเรียง มานำเสนอ เพื่อว่าจะไม่เกิดอวิชชาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกต่อไป
นายแพทย์ยุงยุทธ เริ่มต้นกล่าวถึงเรื่องนี้โดยชี้ให้เห็นว่า ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติด้วย ความเขลา ทำให้เราเคยจัดแบ่งว่า บุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นบุคคลที่มีความผิดปรกติ หรือแม้แต่ในสมัยหนึ่ง การที่ผู้หญิงจะบริสุทธิ์หรือไม่ ก็กลายเป็นเรื่องของความผิดปกติหรือ ไม่ปรกติเช่นกัน
"แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ปรากฏอยู่ในองค์ความรู้ในทางสากลอีกต่อไปเพราะ สมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐอเมริกาได้ลงมติและประกาศว่า รักร่วมเพศไม่ใช่ความผิด ปรกติทางจิตใจ ถ้าท่าน อ่าน หนังสือเล่มไหนบอกว่า รักร่วมเพศเป็นเรื่องผิดปรกติ แสดงว่าคนเขียนหนังสือเล่มนั้นต้องมีความหมาย อยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง เขาไม่ได้ติดตามข้อมูลความรู้เลย สอง เขามีอคติอย่างรุนแรง
"แต่ประเด็นหลักที่ผมอยากจะเสนอในวันนี้ก็คือ มีความเข้าใจผิดอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศ อันจะนำ ไปสู่การรังเกียจและเมื่อรังเกียจสิ่งใดก็มักจะมีอวิชชากับสิ่งนั้น ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ เรายังมีความเข้าใจ ผิดอย่างมากต่อเรื่องเอดส์ ต่อคนที่เป็นโรคเรื้อน หรือแม้แต่คนญวน และคนที่รักเพศเดียว กันก็เช่นกัน"
ความเข้าใจผิดดังกล่าวนั้น นายแพทย์ยุงยุทธกล่าวว่าแบ่งเป็นหกข้อด้วยกันคือ
1. เข้าใจผิดว่ารักร่วมเพศเป็นวิปริตทางเพศ
"ความจริงคือ ไม่ใช่ คำว่า วิปริตทางเพศในปัจจุบัน มีความหมายเพียงประการเดียวครับ คือ คนที่ได้มาซึ่งความสุข และความพึงพอใจทางเพศด้วยวิธีการที่สังคมไม่ยอมรับ เช่น ถ้ำมอง ชอบโชว์อวัยวะเพศ ชอบมีเพศ สัมพันธ์กับเด็ก หรือมีเพศสัมพันธ์โดยทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นปัญหาของชายรักร่วมเพศ อย่างไรก็ตาม คนวิปริตทาง เพศ ในความหมายนี้ก็เกิดขึ้นได้ทั้งคนที่รักเพศเดียวกันและรักเพศตรงข้าม"
2. เข้าใจผิดว่า คนที่รักร่วมเพศต้องมีอารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว ปากจัด
"ผมคิดว่าความเข้าใจผิดนี้ อาจจะมาจากคาแรกเตอร์ ของตัวละครบางตัวในละครโทรทัศน์ แต่จากการศึกษาเกี่ยว กับบุคลิกภาพแล้ว เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง ในเชิงวิชาการ ความเข้าใจผิดข้อนี้ มักมาจากการศึกษาวิจัย ที่มีอคติทั้งสิ้น เช่น ศึกษาวิจัย จากผู้ที่มา ขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ แน่นอนนะครับ คนที่มาหาจิตแพทย์นี่จะ ต้องมีความคับข้อ ทุกข์ยากในชีวิตอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจกล่าวว่า เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรได้ เราไม่อาจพบความแตกต่างระหว่างคนรักเพศตรงข้าม และคนรักเพศเดียวกันในเรื่องดังนี้ คือ
ข้อแรก เชาวน์ปัญญา ไม่มีใครฉลาดกว่าใคร โง่กว่าใคร ข้อสอง บุคลิกภาพไม่มีใคร มีบุคลิกภาพแปรปรวนมาก กว่าใคร เพราะคนก้าวร้าวมีทั้งที่รักเพศตรงข้ามและรักเพศเดียวกัน คนกามวิตถารก็มีทั้งคนรักเพศเดียว กันและรักเพศตรงข้ามเช่นกัน"
3. เข้าใจผิดว่า คนที่รักเพศเดียวกันจะต้องแสดงออกให้เห็นได้ เช่น ห้าว หรือกระตุ้งกระติ้ง
"รักร่วมเพศเป็นเรื่องพฤติกรรมส่วนตัวของคนเรา ซึ่งจะแสดงพฤติกรรมภายนอกออกมาหรือไม่ ไม่เกี่ยวกันครับ มีคนที่รักร่วมเพศเป็นจำนวนมากที่มีพฤติกรรมภายนอก ตามแบบแผนปรกติของสังคม"
4. เข้าใจผิด (ในทางบวก) ว่า คนที่รักร่วมเพศจะต้องมีลักษณะพิเศษ เช่น มีอารมณ์ ละเมียดละไม เป็นคนเก่ง ฉลาดผิดปรกติ
"นี่ก็ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกันนะครับ คนที่รักร่วมเพศ เป็นคนธรรมดา มีความสามารถต่างๆ นานาเช่น เดียวกับคนรักต่างเพศ"
5. เข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า พฤติกรรมของคนรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง กระตุ้งกระติ้ง หรือห้าว เข้มแข็ง จะทำให้คนอื่นโดยเฉพาะ อย่างยิ่งเด็ก เกิดการเลียนแบบและเป็นตาม
"ในทางจิตวิทยาพัฒนาการแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะโน้มเอียง ไปทางความเป็นชาย หรือหญิงตามพฤติกรรม คนอื่นที่เห็น เพราะความเป็นชายและหญิง ในทางจิตวิทยามันลงหลัก ตั้งแต่วัยสามถึงห้าขวบ ดังนั้น ที่กลัวกัน ว่าเด็กดูละครทีวีที่มีกะเทยแล้ว จะทำให้เด็กกลาย เป็นกะเทยนั้นไม่จริงเลย เช่นเดียวกับ ที่ครูเป็นกะเทยแล้ว เด็กจะเลียนแบบก็ไม่จริง"
6. เข้าใจผิดอย่างยิ่งว่า การยอมรับคนที่รักร่วมเพศเดียว กันหมายถึงการสนับสนุน ให้มีการรักร่วมเพศอยู่ทั่วไป
"หากเข้าใจอย่างนี้ก็แสดงว่า ถ้าเรายอมรับคนพิการต่อไป เราจะพิการกันไปหมด ถ้ายอมรับผู้ติดเชื้อเอดส์ ต่อไปเราจะติดเชื้อเอดส์กันหมด มันเป็นไปไม่ได้นะครับ การยอมรับคือการเคารพในตัวเขา มีชีวิตอยู่อย่างเคารพ ซึ่งกันและกัน ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่า เป็นการสนับสนุนให้คนอื่นเป็นตามเขานะครับ ตรงกันข้าม การยอมรับทำให้ปัญหา ไม่ซ่อนเร้น เมื่อได้รับการยอมรับ คนเหล่านี้ก็จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่สร้างปัญหาให้สังคม
ส่วนการที่จะป้องกันไม่ให้คนเป็นรักร่วมเพศ ต้องเกิดจากการทำความเข้าใจ ในเรื่องเหล่านี้อย่าง ถ่องแท้ซึ่งตลอด มา เนื่องจากการถูกรังเกียจเดียดฉันท์ ทำให้ความเข้าใจเรื่องนี้อยู่ในวงจำกัด เราทราบแต่เพียงว่า ปัจจัยที่สำคัญ นั้นจะ ต้องป้องกันที่การเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยการส่งเสริมบทบาท ที่เกื้อกูลกันและสัมพันธภาพที่ดีของคนเป็นพ่อแม่
"ทั้งสองข้อหลังเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะมีคน พยายามเสนอว่า สิทธิของบุคคล กับสิทธิ ของชุมชน จะขัดแย้งกันได้ไหม คือ หากยอมรับพฤติกรรมรักร่วมเพศ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลนั้น เท่ากับเป็นการละเมิด สิทธิของชุมชน โดยอ้างเหตุผลสองประการหลัง ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว"
อย่างไรก็ตามแม้จะมีความเข้าใจผิดข้างต้นอยู่ก็จริง แต่จากการศึกษาวิจัยของทั่วโลกก็พบว่า บุคคลที่มี พฤติกรรมรักร่วมเพศ ก็มีความเสี่ยงต่อปัญหาต่างๆ ได้แก่ การพยายามทำลายชีวิตตนเอง การมีชีวิตคู่ที่ไม่ยั่งยืน การติดสารเสพย์ติด
"ผมขอย้ำว่า ทั้งสามประการนี้เป็นปัญหาสังคมนะครับ ไม่ได้เป็นความแปรปรวนหรือความผิดปรกติ หรือ ความวิตถารทางจิตเลย
" ทั้งสามประการนี้ เป็นผลมาจากการที่สังคมรังเกียจเดียดฉันท์ ทำให้คนรักร่วมเพศต้อง ปิดขังตัวเอง อยู่อย่างด้อยศักดิ์ศรีและไร้คุณค่า ในหลายกรณี ดังนั้นโดยตัวมันเองแล้ว เรียกว่า เป็นโรคแห่งความรังเกียจ เดียดฉันท์ และในการศึกษาทางด้านจิตวิทยาสังคม เราก็พบว่า เมื่อเกิด การรังเกียจเดียดฉันท์ขึ้นที่ใด เช่น ผู้ติดเชื้อเอดส์ คนต่างผิว ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา สามปัญหา นี้ก็จะตามมาเช่นเดียวกัน ไม่ได้เกิดเฉพาะคนรักร่วมเพศเท่านั้น "
นายแพทย์ยงยุทธกล่าวว่า ถ้าไม่มีการรังเกียจเดียดฉันท์ คนเราก็จะมีความสามารถ ในการปรับ ตัวมากขึ้น ไม่ต้องไปอยู่ในสถานการณ์พิเศษที่ต้องปรับตัวเป็นพิเศษ ซึ่งการปรับตัวนั้นอาจ ทำให้เข้มแข็งขึ้นก็ได้ หรือใน ทางตรงข้าม ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็อาจนำไปสู่สภาพ ที่อาจต้อง ทำลายชีวิตตัวเอง ทำลายชีวิตคู่และใช้สารเสพย์ติด
"ถามว่า การรังเกียจนี้มีผลอย่างไรต่อสังคม มีผลมากนะครับ เพราะทำให้เกิดอวิชชา เช่น เข้าใจผิดเกี่ยวกับเอดส์ ทำให้เรารังเกียจเอดส์ และนี่เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เอดส์ขยาย ตัวแพร่หลาย อย่างยิ่งทีเดียว "
ข้อสรุปที่น่าสนใจของนายแพทย์ยงยุทธในวันนั้นก็คือ
" การรังเกียจสิ่งใด ไม่เคยทำให้เราแก้ไขปัญหาของสิ่งนั้นได้นะครับ ความเข้าใจต่างหากจะ ทำให้เรา แก้ไข ปัญหาได้ และการรังเกียจเดียดฉันท์ ก็เป็นตัววัดระดับของสังคมด้วย สังคมที่มีระดับวัฒนธรรมสูง ก็จะเป็นสังคม ที่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ต่ำ สังคมใดที่ปรับตัวต่ำ เป็นสังคมที่ไหวหวั่นต่อ ความแตกต่าง จะเห่ออะไรก็เห่อง่าย จะเกลียดอะไรก็เกลียดง่าย ก็จะต้องฟองสบู่แตกอีกหลายรอบแหละครับ "
................................................................
http://www.sapaan.org/article/36.html
ขอบคุณที่มาครับ
อยากหางานวิจัยสนับสนุน สงสัยมานานแล้ว
จากคุณ |
:
Bazophil
|
เขียนเมื่อ |
:
วันพ่อแห่งชาติ 52 21:32:56
|
|
|
|
 |