Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
Avatar : โลกสีฟ้าที่ถูกรังแก (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)  

แม้ไททานิค (1997)  จะลอยลำอยู่ในหัวใจของผู้ชมมานานนับสิบปี  แต่ผลงานสามมิติสุดไฮเทคอย่าง “อวตาร”  ของเจมส์ คาเมรอน ก็ยังไม่อาจจมเจ้าเรือยักษ์นั่นได้สำเร็จ  

ออสการ์  11  ตัวที่ไททานิคพิชิตมา  อาจไม่ได้พิสูจน์คุณภาพที่สมบูรณ์แบบของหนัง  แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าไททานิคทำได้และอวตารยังทำไม่ถึง นั่นคือความรุ่มรวยเสน่ห์และประเด็นที่สัมผัสใจ

พล็อตหลักของอวตารขาดความใหม่และง่ายแก่การคาดเดา  ความนุ่มนวลของเรื่องละลายความขึงขังจริงจังให้อ่อนลง  การบูรณาการประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกันแม้จะดูลื่นไหลลงตัวแต่ก็ทำให้หนังขาดโฟกัสที่ชัดเจน  การบรรลุวัตถุประสงค์ของพระเอกที่มีอยู่หลายระดับส่งผลข้างเคียงให้ climax ของเรื่องดูเลือนและไม่แรงอย่างที่ควรจะเป็น

แต่ถึงอย่างไร  อวตารก็ยังสร้างความบันเทิงได้ในระดับที่น่าพอใจ  เนื้อหาสาระที่มุ่งเสนอถือเป็นค่านิยมสูงส่ง  ดีงาม  ควรแก่การขบคิดและปรับประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง  ส่วนตัวแล้วเห็นว่า เจมส์ คาเมรอน ควรภูมิใจกับอวตารในจุดนี้ยิ่งกว่าความก้าวหน้าทางประสาทสัมผัสที่ได้มอบให้กับผู้ชม

อวตารนิยามโลกในอนาคตเสมือนดาวที่กำลังโคม่า  มนุษย์รุกรานธรรมชาติจนไม่หลงเหลือพื้นที่สีเขียว  (จากคำวิงวอนของเจคต่อเอวาให้มองโลกมนุษย์ผ่านความทรงจำของเกรซ)  มนุษย์ยึดมั่นต่อตรรกะเหตุผลเหนือกว่าคุณค่าทางจิตวิญญาณ  เหยียดความเชื่อต่อสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ  สังคมวุ่นวายด้วยปัญหาเศรษฐกิจ  (พี่ชายฝาแฝดของเจคถูกฆ่าชิงทรัพย์โดยโจรกระจอกข้างถนน) แหล่งพลังงานในโลกร่อยหรอจวนหมดสิ้นและถีบราคาขึ้นสูงลิบพอที่จะส่งให้มนุษย์ออกแสวงหาแหล่งทรัพยากรใหม่นอกโลก สงครามต่างๆ ที่ยืดเยื้ออาจยุติลงเมื่อไม่เหลือทรัพยากรให้แย่งชิง  ทหารทั้งที่กระหายสงครามและประสงค์จะต่อชีวิตให้โลกหันมาสนับสนุนภารกิจล่าทรัพยากรบนดาวแพนดอร่า  นำโดยชายที่ชื่อ ปาร์คเกอร์ นักธุรกิจซึ่งบูชาผลกำไรของบริษัทเป็นเป้าหมายสูงสุด

หนังให้ผู้ชมจินตนาการถึงโลกอนาคตผ่านคำบอกเล่าของเจคในช่วงต่างๆ โลกที่คงจะชำรุดเสียหายไม่ต่างไปจากร่างพิการของทหารผู้กรำศึก  เจคมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นออกไปจากร่างที่ไม่สมประกอบ  โลกที่ทรุดโทรมของเราก็คงจะปรารถนาสิ่งเดียวกันนั้น

หนังให้ภาพของดาวแพนดอร่าเหมือนสรวงสวรรค์หรือจินตนาการอันงดงามในเทพนิยาย  (ชื่อ “แพนดอร่า” เป็นตำนานปรำปราว่าด้วยหญิงนางหนึ่งที่ต้องห้ามมิให้เปิดกล่องแห่งภัยพิบัติซึ่งเป็นบททดสอบความสามารถในการยับยั้งชั่งใจของมนุษย์)  หลายสิ่งที่พบเห็นบนดาวแพนดอร่าดูคล้ายโลกในอดีตก่อนที่จะถูกมนุษย์ชำเราจนไม่เหลือความบริสุทธิ์  บนดาวดวงนี้มีชนเผ่าชาวนาวีอาศัยอยู่  วิถีชีวิตของชาวนาวีประสานสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับสิ่งแวดล้อม  มีความเคารพระหว่างกัน  และสามารถยินเสียงเจตนารมณ์ของธรรมชาติ  (ผ่านการแปลความประสงค์ของ “เอวา” )  ชาวนาวีมองเห็นจิตวิญญาณแท้จริงที่สถิตอยู่ภายในสรรพสิ่ง (ฉากต้นไม้เรืองแสงยามค่ำคืนแสดงให้เห็นจิตวิญญาณที่ดำรงอยู่ภายใน)  เกิดเป็นธรรมเนียมทักทายระหว่างกันว่า  I see you  ความตายตามทัศนคติของชาวนาวีไม่ใช่การดับสูญ  แต่เป็นการเดินทางเข้าสู่เอวา  หลอมรวมกับจิตวิญญาณสากลคล้ายปรมัตมันในศาสนาพรามณ์-ฮินดู  ชาวนาวีไม่เห็นแก่ตัว  ไม่สะสมทรัพยากรหรือบริโภคเกินจำเป็น  เข้าใจระบบการหมุนเวียนพลังงานระหว่างชีวิต  เช่น  สัตว์กินพืชที่ถูกชาวนาวีล่าเป็นอาหาร  ร่างกายของสัตว์จะเป็นหนึ่งเดียวกับชาวนาวี  ส่วนจิตวิญญาณจะหลอมรวมอยู่กับเอวา  เป็นการฆ่าเพื่อยังชีพ  มีศิลปะและสะอาดหมดจด  ต่อมาเมื่อชาวนาวีตายลง  ตามประเพณีจะนำศพไปวางไว้ภายในอ้อมกอดของรากไม้ใหญ่  ส่งต่อพลังงานที่เคยยืมใช้ให้ผืนป่าได้สูบกินเพื่อผลิพืชพันธุ์เป็นอาหารของเหล่าสัตว์ต่อไป  หนุนเนื่องเช่นนี้เป็นวัฏจักร

ชาวนาวีมีรูปแบบการปกครองที่เป็นเอกลักษณ์  ไม่ใช้อาวุธข่มขวัญหรือแสดงแสนยานุภาพระหว่างกันแต่ใช้สายสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณเป็นเครื่องมือในการปกครอง  ทั้งการครองใจฝูงชนในเผ่าและการปฏิบัติต่อสัตว์ในควบคุม  (ที่ขับเคลื่อนด้วยสายสัมพันธ์)  แตกต่างจากการบังคับบัญชาในระบบทหารของมนุษย์ซึ่งปกครองกันด้วยกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด  ใช้กำลังบังคับและมีลักษณะหยาบกระด้างไม่ต่างจากการควบคุมจักรกล

ชนชาวนาวีมีศูนย์รวมใจอยู่ที่ต้นไม้แห่งจิตวิญญาณ  (tree of soul)  เป็นแหล่งเชื่อมโยงโครงข่ายของทุกชีวิตที่มีความลึกซึ้งและสลับซับซ้อน  ศูนย์รวมใจแห่งนี้คล้ายเป็นศาสนสถานในการประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์  หนังสร้างสัญลักษณ์ของต้นไม้แห่งจิตวิญญาณให้เป็นตัวแทนความเชื่อทางศาสนาและความล้ำลึกทางวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่ได้รับการอธิบาย

หากไททานิคคือเรือเดินสมุทรข้ามทวีปเพื่อแสวงหาโอกาสในโลกใหม่อย่างอเมริกา  อวตารก็เป็นการเดินทางฝ่าอวกาศด้วยจุดประสงค์เดียวกัน  หนังให้ภาพชาวนาวีคล้ายกับอินเดียนแดงในยุคล่าอาณานิคมของยุโรป  (โครงเรื่องถอดมาจากประวัติศาสตร์ของโพคาฮอนทัสอย่างชัดเจน)  ผู้กำกับเสริมลักษณะให้ชาวนาวีดูแปลกแยกจากมนุษย์  ด้วยสรีระคล้ายสัตว์ตระกูลแมว  ผิวหนังสีฟ้า  รองรับประเด็นเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ว่าชาวนาวีมีศักดิ์ต่ำกว่ามนุษย์  ไม่ต่างไปจากยุคค้าทาสที่เคยมองมนุษย์ด้วยกันเป็นเพียงสัตว์ประเภทหนึ่ง  บทหนังในส่วนนี้แสดงสัจธรรมได้ชัดเจน  ที่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านไปเพียงใด  แต่วิธีคิดของมนุษย์ก็ยังคงติดอยู่ภายในกรอบเดิมเหมือนไม่เคยได้รับการพัฒนา

อวตารบูรณาการประเด็นที่หลากหลายเข้าด้วยกัน  ผู้ชมอาจคุ้นเคยหรือผ่านตามาแล้วจากหนังเรื่องอื่นอย่าง  2001 : A Space Odyssey  ในประเด็นการเดินทางเพื่อแสวงหาแหล่งพลังงานจากต่างดาว  วิธีการจำศีลบนยาน  การวิเคราะห์เชิงปรัชญาถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่มีพฤติกรรมซ้ำเดิมในแต่ละยุคสมัย  (บทหนังที่สร้างชาวนาวีให้คล้ายกับอินเดียนแดงตามประวัติศาสตร์อเมริกา  ยังทำให้นึกถึงฉากจบของ 2001 : A Space Odyssey  ที่หลอมรวมอดีตและอนาคตไว้ด้วยกัน )  

ประเด็นเรื่องการรุกรานวัฒนธรรมท้องถิ่น  เห็นได้ชัดจากหนังโพคาฮอนทัสทั้งฉบับการ์ตูนและฉบับของผู้กำกับ Terrence  Malick  ในชื่อ The New World  (มีประเด็นที่ลึกซึ้งเรื่องแม่ผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง)  หรือหนังของผู้กำกับ Edward Zwick  เรื่อง The Lagend of The Fall , The Last Samurai , Blood Diamond  ที่ยกย่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชนพื้นเมืองในทุกท้องถิ่น  

ประเด็นเรื่องการอวตารหรือการถ่ายโอนสัมปชัญญะจากหนังเรื่อง The Matrix หรือ Thirtteen Floor ฉากที่นักวิทยาศาสตร์คัดลอกข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ไปยังแผ่นบันทึกซึ่งดูเหมือนกระจกใส  อธิบายถึงการทำงานของจิตว่าเป็นเสมือนข้อมูลซึ่งถูกนำไปบรรจุในร่างอวตาร  ถือเป็นการบรรยายทางอ้อมที่ฉลาด  กระชับและชัดเจน  ประเด็นเรื่องการอวตารยังสื่อถึงปรัชญาว่าด้วยการเวียนว่ายตายเกิด  การไหวเวียนของจิตจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่ง  หนังให้ภาพหีบศพพี่ชายฝาแฝดของเจคคล้ายกับอุปกรณ์ในการอวตาร  สื่อถึงการเดินทางออกจากร่างของจิตวิญญาณไปยังจุดอื่น  ประกอบกับคำยืนยันของเกรซก่อนตายซึ่งเธอกำลังละร่างเดิมเข้าสู่จิตวิญญาณสากลที่เรียกว่า “เอวา”  การเกิดใหม่ของเจคในฉากจบที่มีร่างเปล่า  (เสมือนทารกในครรภ์) รอการบรรจุจิตวิญญาณเพื่อเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์

อวตารยังเป็นหนังแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ  ยักษ์ใหญ่สำหรับประเด็นนี้คงหนีไม่พ้นการ์ตูนญี่ปุ่นของสตูดิโอจิบลิ  อย่าง Laputa  (มีภูเขาลอยได้เหมือนกัน) , Princess  Mononoke  (โดยเฉพาะฉากเรืองแสงของป่าที่อุดมสมบูรณ์และจิตวิญญาณธรรมชาติในรูปของเทพารักษ์) , Spirited Away
 
อวตารจำแนกคนในเรื่องออกเป็น 3 กลุ่ม  หนึ่งคือทัพทหารของควอริชท์ซึ่งมีวิธีคิดเหมือนคนเหล็ก  เย็นชา  แข็งแกร่ง  นิยมความรุนแรง  ฉากที่ควอริชท์นั่งจิบกาแฟระหว่างการรบและสั่งการให้ทหาร “ค้นหาและทำลาย” ถือเป็นกิริยาของจักรกลอย่างเห็นได้ชัด  ควอริชท์กระหายสงครามอยู่ตลอดเวลา  ไม่เชื่อในสันติวิธีและมักเหยียดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ว่าเป็นพวกหัวฟูกล้ามฝ่อและไร้ประโยชน์สำหรับภารกิจครั้งนี้

สองคือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้บูชาระบบตรรกะเหนืออื่นใด  เป็นตัวแทนของมันสมองหรือความเฉลียวฉลาด  มีทัศนคติรังเกียจความรุนแรงของทหารและไม่ศรัทธาอำนาจเหนือธรรมชาติหากยังไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

สามคือกลุ่มชนชาวนาวีซึ่งเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณ  ความลึกซึ้งทางอารมณ์  ความบริสุทธิ์แห่งชีวิต  

ทั้งสามส่วนที่กล่าวมาถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์  เจคพระเอกของเรื่องมีองค์ประกอบเหล่านี้อย่างครบถ้วน  ด้วยอดีตที่เคยเป็นนาวิกฯ ได้เรียนรู้กับกลุ่มมิตรแท้นักวิทยาศาสตร์และกลายเป็นผู้นำของชาวนาวีในที่สุด  ตอนต้นเรื่อง  หนังสร้างตัวละครของเจคให้ดูเหมือนคนเขลา  ทว่าบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนเด็ก  ชาวนาวีมีทัศนคติว่ามนุษย์ส่วนใหญ่คือพวกน้ำเต็มแก้ว  ไม่สามารถเรียนรู้หรือเชื่อในสิ่งใหม่  ต่างจากเจคผู้มีจิตวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพื้นฐาน  

อีกตัวละครหนึ่งที่ผมชอบคือเกรซหรือ ดร. ออกัสทีน  เธอเป็นหญิงแกร่งและเก่ง  เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนชาวนาวี  เกรซไม่ศรัทธาอะไรง่ายๆ หากยังไม่ได้รับการพิสูจน์  (อย่างการดูถูกความสามารถของเจคในตอนต้นและการไม่เชื่อความมีอยู่จริงของเอวาจนได้ประสบด้วยตนเอง)  พัฒนาการที่น่ารักในตัวเกรซคือสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่เธอแสดงออกต่อเจค  อย่างการพาเข้านอน  ทำอาหารให้กิน  จู้จี้เรื่องอาบน้ำ
 
ความรู้สึกระหว่างแม่ลูกที่หนังสื่อออกมาเปรียบได้กับสายสัมพันธ์ของธรรมชาติ (หรือเอวา) ที่เอื้ออาทรและปรารถนาดีต่อทุกชีวิต  ไม่ต่างไปจากจิตวิญญาณของความเป็นแม่  การที่ธรรมชาติถูกทำลายด้วยน้ำมือมนุษย์ก็ไม่ต่างไปจากลูกทรพีซึ่งฆ่าแม่ของตน

อวตารถือเป็นคำเตือนจากอนาคตของเจมส์ คาเมรอน  ว่าหากมนุษย์ยังคงอหังการ์และข่มเหงธรรมชาติไม่ต่างไปจากที่กระทำต่อชาวนาวี  โลกสีฟ้าที่เคยงดงามอาจกลายเป็นดาวที่น่ารังเกียจที่สุดในจักรวาล

มนุษย์อาจทะนงตนแทนโลกว่าอนาคตแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้น  และเพิกเฉยต่อคำเตือนเหมือนที่ไททานิคเคยได้รับ  ดำเนินชีวิตเรื่อยไปอย่างที่เคยเป็นมา  กระทั้งเริ่มมองเห็นเค้าลองของมหันตภัย  ถึงจุดนั้นก็คงสายเกินไปที่มนุษย์จะกลับตัวได้ทัน

แก้ไขเมื่อ 23 ธ.ค. 52 21:20:59

แก้ไขเมื่อ 23 ธ.ค. 52 21:17:42

จากคุณ : beerled
เขียนเมื่อ : 22 ธ.ค. 52 12:53:50




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com