 |
เมื่อเบญจมาศร่วงโรย - Curse of the golden flower (เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)
|
|
(งานเก่าเขียนไว้ตั้งแต่ปลายปี 2550 ภาษาอาจเวิ้นเว้อหน่อย มือใหม่หัดเขียนครับ)
หนังเรื่องนี้ของจางอี้โหมวบรรจุความถึงพร้อมแห่งวุฒิภาวะไว้อย่างเต็มเปี่ยม จากประสบการณ์การทำงานของผู้กำกับที่เริ่มต้นจากการแสดงทัศนคติเพียงด้านเดียวในงานหนังยุคแรก ได้แก่ Red sorghum , Ju dou และ Raise the red lantern เป็นต้น นำเสนอเรื่องราวของหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของจารีตโบราณ และต้องการจะหลุดพ้นไปจากระบบเดิมๆ นั้น
ทัศนคติด้านเดียวในหนังยุคแรกกล่าวถึงการต่อสู้กับระบบ โดยจัดผู้ชมให้อยู่ฝั่งเดียวกับผู้กำกับและให้เจ้าตัวระบบเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้ร้าย (ฟังดูก็คล้าย The Matrix อยู่ไม่น้อย) ระบบที่ปรากฎอยู่มีตั้งแต่จารีตประเพณี , ระบอบการปกครอง และการถูกข่มเหงจากศัตรูสงครามแดนอาทิตย์อุทัย (Red sorghum)
วิธีในการมองชีวิตของจางอี้โหมวที่เปลี่ยนไปถูกสะท้อนออกมาในหนังยุคหลัง ได้แก่ The Road Home , Hero , Happy time , House of flying dagger และ Riding alone for thousands of mile
หนังของจางอี้โหมวดูมีมิติที่หลากหลายและลึกขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยเมื่อเขาเริ่มเปิดกว้างทางทัศนคติ สิ่งที่เคยเป็นเหมือนคู่แค้นได้กลับกลายมาเป็นมิตร จางอี้โหมวเริ่มเข้าใจและมองกลับด้านผ่านทัศนคติของฝ่ายตรงข้าม ก่อนที่จะวินิจฉัยให้คุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ ถูกหรือผิดอย่างไร การเปลี่ยนมาหามุมมองที่หลากหลายนี้เองได้ปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง Hero ความรู้สึกประนีประนอมของจางอี้โหมวถูกถ่ายทอดผ่านงานชิ้นต่อๆ มาอยู่เสมอ
Curse of the golden flower สานต่อแนวคิดที่เคยเปิดประเด็นไว้ตั้งแต่ Hero (อันที่จริงแนวคิดนี้ได้ถูกซ่อนนัยยะเอาไว้แล้วกลายๆ ตั้งแต่เรื่อง The Road Home ด้วยเทคนิคการแบ่งสี) แนวคิดอันว่าด้วยการสมานฉันท์ที่หลอมรวมความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว ความเป็นเอกภาพอันจะนำมาซึ่งความสงบสันติในที่สุด
Hero ถ่ายทอดความงดงามของแนวคิดนี้ได้วิจิตรบรรจงและได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (Ju dou และ Raise the red lantern ก็เคยผ่านเวทีนี้มาแล้วเช่นกัน) Hero เล่าเรื่องได้อย่างลึกซึ้งคมคายไล่ไปตั้งแต่ปรัชญาระดับจิต จนถึงสาระการเมืองระดับชาติ
Hero กล่าวถึงคุณค่าของสันติภาพ หากความแตกต่างถูกรวมเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว แต่ Curse of the golden flower กล่าวถึงความล่มสลายย่อยยับหากความแตกต่างที่ปรากฏอยู่ยังคงต่อสู้ขับเคี่ยวกันต่อไป
Curse of the golden flower พยายามวิจัยหาจุดร่วมของความแตกต่าง สื่อผ่านดอกเบญจมาศ ดอกไม้ซึ่งในภาษาจีนออกเสียงว่า Ju แปลว่า ร่วมกัน รวมกัน รวมตัวกัน ซึ่งนอกจากจะเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวจีนแล้วยังเป็นสัญลักษณ์ประจำสถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นอีกด้วย (เหรียญ 1 หยวน ที่ใช้กันในจีนก็มีดอกเบญจมาศอยู่บนนั้น)
ดอกเบญจมาศมีรูปลักษณ์ที่ก่อให้เกิดมโนทัศน์บางอย่าง สอดคล้องกับแนวทางของหนังเรื่องนี้ แต่ละกลีบที่แฉกออกไปแตกต่างทิศทางถูกรวมเอาไว้ภายใต้ฐานดอกเพียงหนึ่งเดียว จุดร่วมตรงนี้แหละที่จางอี้โหมวพยายามค้นหาเสมอมาในหนังของเขายุคหลัง ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรวมหนังสีกับหนังขาวดำ (The Road Home) หรือหนังที่มีสี monotone เข้าไว้ด้วยกัน (Hero) หรือแม้แต่การผสานความเป็นหนังศิลปะ (หนังอาร์ตดูยาก) ให้เข้ากันได้กับหนังตลาดทุนสูง (เพื่อให้กลายเป็นขวัญใจมหาชน)
งานวิจัยชิ้นล่าสุดของจางอี้โหมวมีความทะเยอทะยานอย่างสูงยิ่ง แตกประเด็นออกอย่างกว้างขวางและมีสารทางการเมืองอยู่สูงกว่าหนังเรื่องก่อน (ในแง่จิตวิทยาของปัจเจกบุคคลก็กล่าวถึงอยู่บ้างเหมือนกัน) แต่ที่เด่นชัดจริงๆ ก็ได้แก่ประเด็นว่าด้วยเพื่อนร่วมเชื้อชาติ (จีนแผ่นดินใหญ่ , ฮ่องกง และไต้หวัน สื่อผ่านตัวละครที่เป็นตัวแทนจากแต่ละประเทศ) ที่ควรจะสมานฉันท์เป็นมิตรที่ดีต่อกัน และประเด็นว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นซึ่งระหองระแหงกันมายาวนานนับแต่ยุคสงครามโลกจวบจนปัจจุบัน
ขอบเขตการเล่าเรื่องของ Curse of the golden flower ไม่กว้างหรือแคบเกินไป มุ่งเน้นมุมมองที่มีต่อสถาบันครอบครัว สถาบันซึ่งทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วเป็นอย่างดีเป็นระบบสัญลักษณ์ (Symbolic) ในหนังเรื่องนี้
ไม่ใช่ครั้งแรกที่จางอี้โหมวเลือกใช้ครอบครัวเป็นตัวเล่าเรื่อง เพราะงานในอดีตของเขาก็เคยหยิบยกความสัมพันธ์ระดับครอบครัวเล็กๆ ขึ้นเทียบเคียงกับความเป็นครอบครัวเดียวกันระดับชาติ (ระบบคอมมูนแบบคอมมิวนิสต์) ในยุคการปกครองของเหมาเจ๋อตุงจากหนังเรื่อง To Live (หนังที่ว่าด้วยความผิดพลาดของการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนและยกย่องคุณค่าความเป็นมนุษยปุถุชนเหนือนโยบายสมมุติของรัฐบาล)
Curse of the golden flower แนะนำฮองเฮา (กงลี่) ในฐานะตัวละครหลักตัวแรก ก่อนที่จะเปิดตัวฮ่องเต้ (โจเหวินฟะ) อีกตัวละครหลักในฉากถัดมา 2 ตัวละครที่จะคะคาน , เสียดสีและกระแทกกระทั้นกันตลอดทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจน End Credit ลอยขึ้นมาในตอนจบ
ครอบครัวระดับราชวงศ์นี้ ยังมีโอรสอีก 3 พระองค์ อันเป็นตัวแทนของคนใน 3 ยุคของสังคมจีนไล่มาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราช สังคมนิยม-และยุคโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน
องค์ชายรัชทายาท เหยียนเสียง คือตัวแทนของระบบราชวงศ์ ในอดีตที่อ่อนแอ เหยาะแหยะทางกำลังกายภาพ หากแต่อ้างอำนาจอันสูงสุดจากสวรรค์ว่าเป็น Son of heaven ในการขึ้นครองบัลลังก์เพื่อกุมชะตากรรมของแผ่นดิน ลึกลงไปในจิตใจ เหยียนเสียงต้องการหนีออกไปจากกรอบของระบบราชสันตติวงศ์นี้ เพื่อคว้าไขว่รสชาติของอิสรภาพเยี่ยงปุถุชน โดยเฉพาะอิสรภาพแห่งรัก
องค์ชายรองเหยียนเจี๋ย คือตัวแทนของคนหนุ่มหัวก้าวหน้าแห่งยุคสังคมนิยมในอดีตที่รู้สึกกระด้างกระเดื่องต่อระบบการปกครองและจัดเป็นกลุ่มคนที่มีปฏิกิริยา (Reaction) ต่อต้านนโยบายของผู้นำอย่างชัดเจน คนในกลุ่มนี้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบอันไม่ชอบธรรมในสังคมด้วยการปฏิวัติเพื่อขจัดวิถีทางและวิธีคิดของผู้นำที่มุ่งกดขี่ประชาชน ในหนัง เหยียนเจี๋ยก่อการปฏิวัติเพื่อเสด็จแม่ เพื่อปลดแอกผู้เป็นที่รักให้หลุดพ้นจากกรอบกรงที่จองจำอยู่สู่อิสระเสรีที่ควรมีควรเป็น (ตัวจางอี้โหมวเองก็น่าจะถูกรวมอยู่ในคนกลุ่มนี้ด้วยในฐานะของนักศึกษาหนุ่มที่ถูกกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมกระหน่ำซัด จนวันหนึ่งต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบบนี้ โดยเฉพาะการต่อสู้ผ่านงานหนังในยุคแรก ซึ่งแทบทุกเรื่องถูกห้ามฉายในประเทศจีน แต่กลับคว้ารางวัลอันเกริกเกียรติจากนานาชาติมามากมาย)
เหยียนเจี๋ยถูกส่งตัวไปอยู่ชายแดนนาน 3 ปี ด้วยบัญชาของฮ่องเต้ เสมือนหนึ่งนโยบายของท่านผู้นำเหมาเจ๋อตุงที่ส่งนักศึกษาในยุคนั้นไปใช้ชีวิตในชนบทอันห่างไกล เพื่อให้เยาวชนในเมืองได้เข้าใจวิถีชีวิตอันยากแค้นแสนลำบากของเพื่อนร่วมชาติ (บ้างเข้มแข็งกลับมาเหมือนเหยียนเจี๋ย บ้างก็ล้มตายไปไม่น้อย)
องค์ชายเล็ก เหยียนเฉิน ตัวแทนของเด็กในยุคสื่อสารสนเทศไร้ขอบเขต (Worldwide) สะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบันที่ถูกครอบครัวเลี้ยงดูด้วยความมั่งคั่งแทนความรักความอบอุ่น เด็กในยุคนี้เกิดมาท่ามกลางความสะดวกสบายไม่ว่าในแง่ของเศรษฐกิจหรือสภาพสังคม ไม่ปรากฏสงครามหรือวิกฤตใดให้ทายท้าเยี่ยงวีรชนในยุคก่อน ไม่มีระบบใดมาขีดกรอบมาข่มเหงให้ต้องรู้สึกอึดอัดคับแค้น แต่ในความที่ไม่มีอะไรมาบีบคั้นนี้เองทำให้เด็กในยุคไร้พรมแดนกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมไร้ขอบเขตไปโดยปริยาย หลายๆการกระทำสะท้อนถึงความพยายามในการเรียกร้องความสนใจที่ดูไร้เดียงสา แต่ในบางบริบทก็ดูน่าสังเวช
(ต่อครับ)
แก้ไขเมื่อ 09 พ.ค. 53 18:41:29
จากคุณ |
:
beerled
|
เขียนเมื่อ |
:
9 พ.ค. 53 18:33:57
|
|
|
|  |