ประทับใจกับหนัง INCEPTION มาก ที่ทิ้งเรื่องราวต่างๆ ให้จินตนาการต่อได้อย่างมากมาย
จึงขอสรุปความเห็นส่วนตัวต่างๆที่มีต่อหนังเรื่องนี้ ขอไม่วิเคราะห์ถึงระบบ LAYER ความฝัน และกลไกในการขึ้น-ลงนะครับ
เพราะมีคนวิเคราะห์ได้ดีกว่าผมเยอะแยะ เอาเฉพาะประเด็นทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับโครงสร้างหนังเท่านั้น (เนื้อหา SPOIL ใครยังไม่ได้ดู กรุณาอย่าอ่าน)
ผู้เขียนเป็นสถาปนิกนะครับ แต่สนใจในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์บ้างพอสมควร
ขอสรุปเนื้อเรื่องว่าในตอนจบนั้น โทเทมจะหยุดหมุน และคอบบ์ได้กลับมาใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงอย่าง HAPPY ENDING
ไม่ได้อยู่ในความฝันของใคร ส่วนสาเหตุเป็นเพราะอะไรนั้น กรุณาติดตามอ่านด้านล่าง
1 ประเด็นหลักๆ ที่ผมคิดว่าหนังต้องการจะสื่อความคือ
มนุษย์สามารถปลูกฝังจิตใต้สำนึก (ทั้งดีและไม่ดี) ให้ตัวเองและผู้อื่น และสามารถก้าวข้ามความผิดบาปในอดีตของตัวเองได้หรือไม่?
2 CHRISTOPHER NOLAN เป็นผู้กำกับที่ชอบเล่นกับ ปม อันสลับซับซัอนทางจิตใจที่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์มากกว่าผู้กำกับหลายๆคนอย่างเห็นได้ชัด
- BATMAN BEGINS ด้วยความประมาทเลินเล่อของ batman ในวัยเด็กทำให้พ่อแม่ของตนต้องตาย และมีเนื้อหาของการก้าวข้ามปมแห่งความเกลียดกลัวค้างคาว
- BATMAN-DARK KNIGHT การถูกบิดาทารุณกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนาน สร้างความเป็นอาชญากรเหี้ยมโหดวิกลจริตให้กับโจ๊กเกอร์
- PRESTIGE เมื่อเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดฆ่าแฟนของตน ทำให้นักมายากลคนหนึ่งต้องเอาชีวิตเข้าแลกทุกวัน เพื่อผลิตผลงานในระดับ MASTERPIECE และเพื่อเป็นการเอาชนะอดีตเพื่อน
- INCEPTION เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคอบบ์ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภรรยาตัวเองฆ่าตัวตาย ซึ่งก่อให้เกิดปมทางจิตใจที่ลบล้างได้ยากคือ การที่จะไม่ได้ใช้ชีวิตจนแก่เฒ่าไปด้วยกัน
ประเด็นทางด้านจิตวิทยาที่เป็นแกนในหนัง ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนจากทฤษฎี ปมอีดิปัส (Oedipus complex) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ จักรพรรดิ์ไร้บัลลังก์ด้านจิตวิทยา
ที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพของพ่อแม่ลูก อันมีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของลูกเพศเดียวกัน
น่าสนใจว่า ชะตากรรมในแบบฉบับของอีดิปัสนั้น นับเป็นตำนานที่ราวกับจะเป็นเรื่องจริงที่มีอยู่ในนิยายปรัมปราของหลายๆชาติ (ของไทย คือ พระยากง พระยาพาน)
กล่าวคือ อีดิปัสซึ่งเป็นลูกของพระราชา แต่ด้วยโชคชะตาถูกนำไปปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงดู (หรือได้รับการเลี้ยงอย่างทิ้งๆขว้างๆ)
จนกระทั่งเติบใหญ่ขึ้นมายึดเมือง แล้วก็ฆ่าพระราชาซึ่งเป็นพ่อของตัวเอง และพรากเอามเหสี (แม่ของตน) มาเป็นเมีย
โดยเป็นการกระทำที่เจ้าตัวไม่รู้ (ส่วนว่าพอรู้แล้วเจ้าตัวไถ่โทษด้วยวิธีการอย่างไร ก็แตกต่างไปตามแต่ละชาติ)
ทฤษฎีของฟรอยด์นั้น อธิบายประเด็นตรงนี้ว่า โดยกำเนิดแล้ว ลูกชายต้องอยากมีอะไรกับแม่ตามสัญชาตญาณสัตว์เพศผู้
ซึ่งหากกระบวนการการเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น อารมณ์ตรงนี้จะคลี่คลายไปเป็นการเลียนแบบความเป็นลูกผู้ชายของพ่อในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น
ก่อนที่จะค้นหาความเป็นลูกผู้ชายในแบบฉบับของตัวเองแทนในวัยผู้ใหญ่ (ซึ่งอีดิปัสนั้นไม่ได้เป็นไปในทิศทางดังกล่าว เพราะไม่ได้มีพ่อเป็น idol ให้เลียนแบบ)
ทีนี้ ใน INCEPTION แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ด้วยสัมพันธภาพที่เลวร้ายระหว่างเค้ากับพ่อนั้น จะทำให้เค้ารับเอามรดกทางธุรกิจอันนี้แล้วนำไปทำให้มันยิ่งใหญ่กว่าเดิม
(เหมือนที่อีดิปัสเข้าไป take over the throne ของพระราชาองค์เดิมและทำให้มันยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก)
ซึ่งจะเป็นการผูกขาดธุรกิจในระดับโลก
ดังนั้นทีมงานของคอบบ์ พยายามจะทำให้การคลี่คลายของปมอีดิปัสของฟิชเชอร์เป็นไปอย่างราบรื่น
ด้วยการฝัง keyword ที่ว่าด้วยการเป็นตัวของตัวเองและสร้างอาณาจักรของตนขึ้นมาเป็นเอกเทศ
ซึ่งนับเป็นประเด็นทางจิตวิทยาที่มนุษย์ผู้ชายทุกคนต้องเผชิญ (แต่ก้าวข้ามได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง)
เพื่อก็เป็นการยืนยันว่าเค้าจะสลายอาณาจักรของบิดาของตน แล้วหักร้างถางทางธุรกิจใหม่เป็นของตนเอง
3 หากจะเปรียบเทียบคนในขบวนการ INCEPTION นี้ทั้งหมด กับวิชาชีพสถาปนิกจริงๆ น่าจะสามารถแบ่งได้ดังนี้
ไซโตะ (Ken Watanabe) = ลูกค้า
เป็นผู้ว่าจ้าง ที่ชอบขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการออกแบบก่อสร้างทั้งหมด และมักทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเป็นทวีคูณ
ฟิชเชอร์ (Cillian Murphy) = เจ้าของที่ดินเดิม
เป็นเจ้าของที่ดินเดิมที่โครงการใหม่ของสถาปนิกกำลังจะไปปลูกสร้าง แต่ไม่ยอมขายที่ดินง่ายๆ
ต้องใช้ลูกล่อลูกชนสูง (และใช้กำลังเข้าหักหาญในที่สุด) เพื่อให้ยอมขายอย่างละมุนละม่อม
อาเธอร์ (Joseph Gordon-Levitt) = PROJECT MANAGER
เป็นผู้บริหารจัดการโครงการ และวางแผนภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ
ดอม คอบบ์ (Leonardo Di Caprio) =PROJECT ARCHITECT
รู้ทั้งหมดว่าจะต้องเข้าไป present กับลูกค้าอย่างไร และดำเนินการในภาพรวมอย่างไร แต่ไม่ได้เป็นคนออกแบบเอง
แอเรียดเน่ (Allen page) = DESIGN ARCHITECT
เป็นผู้ออกแบบวางผังเมืองทั้งหมด แต่ไม่ได้พบปะกับลูกค้าด้วยตัวเองเต็มที่
ยูซุฟ (Dileep Rao) =ILLUSTRATOR
เป็นผู้ทำแบบ PRESENTATION ต่างๆ ทั้ง 2D และ 3D เพื่อให้ทุกฝ่ายเคลิบเคลิ้มกับโครงการที่ ARCHITECT นำเสนอ
อีมส์ (Tom Hardy) = PR & MARKETING MANAGER
เป็นผู้ประสานงานกับทุกฝ่าย และเดินเกมต่างๆล้ำลึกรวดเร็ว เพื่อให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
เช่น เล่นเกมใต้โต๊ะกับราชการเพื่อให้ขออนุญาตผ่านได้โดยเร็ว, ตบกบาลผู้รับเหมาเวลาทำงานล่าช้า, พาลูกค้าไปท่องราตรีคลายเครียด ฯลฯ
มอลล์ = แฟน PROJECT ARCHITECT
ตำแหน่งนี้นับเป็นภาระแก่ สถาปนิกโครงการเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ติดตามตัวไปตลอด ไม่ว่าโครงการจะเปลี่ยนไปอย่างไร:)
4 ระยะเวลาในแต่ละ LAYER จะทบเท่าทวีคูณด้วย 12 เท่า เช่น ในโลกแห่งความเป็นจริง 1 วัน
LAYER 1 = 12 วัน
LAYER 2 = 144 วัน
LAYER 3 = 1,728 วัน (4.8 ปี)
LAYER 4 = 20,736 วัน (56.8 ปี)
ดังนั้น ระยะเวลาที่ทางคอบบ์เคยใช้ชีวิตร่วมกับมอลล์ 50 ปี ในโลก LAYER ที่ 4 จึงกินเวลาแค่ประมาณ 21 ชั่วโมงในโลกแห่งความเป็นจริง (คิดย้อนกลับด้วยการหาร 12 ::: 4 ครั้ง)
5 สิ่งที่พระเอกปลูกฝังไว้ในจิตใต้สำนึกของนางเอกโดยไม่ได้ตั้งใจ คือ
หากต้องการที่จะหลุดจากโลกแห่งความฝัน ต้องฆ่าตัวตาย
คือตอนที่พระเอก + นางเอกทดลองท่องไปในจิตใต้สำนึกของตนเองให้ลึกที่สุด จนหล่นไปในชั้นที่ 4 (LIMBO)
แล้วใช้เวลาในนั้นอยู่ถึง 50 ปี แยกไม่ออกว่ากำลังอยู่ในโลกของจิตใต้สำนึก แถมได้สร้างบ้านแปงเมืองด้วยกันมากมาย
ทว่าวันหนึ่งพระเอกรู้ตัวก่อน จึงพยายามบอกมอลล์ให้กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการฆ่าตัวตายโดยให้รถไฟทับ
ดังนั้น พอมอลล์กลับมาในโลกแห่งความจริง จิตใต้สำนึกจึงบอกอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องฆ่าตัวตายจะได้กลับไปอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง เลยกลับบ้านเก่าสมใจ
6 ปมอันยิ่งใหญ่และคลายได้ยากที่สุดในเรื่องนี้ คือ ความรู้สึกผิดบาปของคอบบ์ ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับมอลล์จนแก่เฒ่านั้น "ได้ถูกคลี่คลายออก" ด้วยตัวคอบบ์เอง
ในช่วงที่คอบบ์ติดอยู่กับมอลล์ใน LAYER 4 ในอพาร์ตเมนต์ของตัวเอง
คำพูดที่บอกมอลล์ว่า คุณไม่มีอยู่จริง......... คุณเป็นเพียงเงาของคนที่ผมรู้จัก.......เราเคยได้อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่าแล้วไงตั้ง 50 ปี
ผมคิดว่าด้วยคำพูดดังกล่าว คอบบ์ได้ทำการปลูกฝังจิตใต้สำนึกให้กับตัวเองแล้ว เป็นการให้อภัยตัวเอง และลบล้างตะกอนตกค้างของมอลล์ที่อยู่ในจิตใจ
จึงนับเป็นการคลี่คลายความรู้สึกผิดบาปให้กับตัวเองอย่างหมดจด อย่างน้อยแม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันจนแก่เฒ่าในชีวิตจริง
แต่ประสบการณ์สร้างบ้านแปงเมืองร่วมกันยาวนานถึง 50 ปีในความฝันก็น่าจะชดเชยกันได้บ้าง
ดังนั้น สำหรับผม หากมองว่ามนุษย์เราทำบาปได้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์) การที่ได้สำนึกบาปและไตร่ตรองถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างใคร่ครวญ
และพยายามที่จะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ความรู้สึกผิดบาปดังกล่าวก็ควรที่จะคลี่คลายมาเป็นการให้อภัยตัวเอง เพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากจิตใต้สำนึกเดิมๆ
และก็ควรจะได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างคนที่มองโลกอย่างครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น ไม่ใช่วนเวียนอยู่กับความรู้สึกที่ตามหลอกหลอนไปทั้งชีวิต
ดังนั้น ถ้าเชื่ออย่างนี้แล้ว และหากเรายอมรับในหนังได้ว่าฟิชเชอร์สามารถถูกปลูกจิตใต้สำนึกใหม่ได้ (แม้จะโดยผู้อื่น)
คอบบ์ก็สมควรที่จะสามารถปลูกจิตใต้สำนึกที่ดีให้กับตัวเอง เพื่อก้าวข้ามความรู้สึกผิดบาปในใจไปได้ด้วยเหมือนกันครับ
ด้วยตรรกะและประเด็นของหนังในมุมมองแบบนี้ ผมจึงเชื่อมั่นว่า โทเทมควรจะต้องหยุดหมุน ไม่งั้นตรรกะของหนังจะไม่หนักแน่นครับ
แก้ไขเมื่อ 24 ก.ค. 53 09:45:08
แก้ไขเมื่อ 24 ก.ค. 53 09:43:13
แก้ไขเมื่อ 24 ก.ค. 53 01:06:49
แก้ไขเมื่อ 24 ก.ค. 53 01:05:25
แก้ไขเมื่อ 23 ก.ค. 53 20:46:24
แก้ไขเมื่อ 23 ก.ค. 53 19:10:15
แก้ไขเมื่อ 23 ก.ค. 53 19:08:37
แก้ไขเมื่อ 23 ก.ค. 53 19:06:11