 |
บันทึกพาเด็กเกรียนดูหนัง ตอนที่ 9 : หนังมุมมองผ่านกล้องวีดีโอ
|
|
ตอนที่แล้ว ตอนที่ 1 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9435890/A9435890.html ตอนที่ 2 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9493206/A9493206.html ตอนที่ 3 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9500044/A9500044.html ตอนที่ 4 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9515022/A9515022.html ตอนที่ 5 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9575889/A9575889.html ตอนที่ 6 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9578897/A9578897.html ตอนที่ 7 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9581511/A9581511.html ตอนที่ 8 - http://www.pantip.com/cafe/chalermthai/topic/A9602571/A9602571.html
หมายเหตุ : มีการสปอยเรื่องเล็กน้อย หมาย เหตุ 2 : เด็กเกรียนที่ว่านี้ก็คือเป็นเด็กที่อยู่ในช่วงม.ต้น วัยกำลังคะนอง จำอวดไปทั่ว แต่ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก :-) บางส่วนไม่ได้ไปโรงเรียน
หนังแนวอื่นๆผมก็ลองมาเยอะแล้ว หนังแอนิเมชั่นจะได้ผลเยอะที่สุด , หนังแนวซึ้งนํ้าตาร่วงก็เห็นผลมาแล้ว คราวนี้มาลองอะไรใหม่ๆหน่อย และครั้งนี้ก็ได้ผลเพราะเด็กไม่เคยดูกันด้วย นั่นก็คือ หนังแนวที่เสนอมุมมองผ่านกล้องวีดีโอนั่นเอง ซึ่งจะเป็นหนังแนวที่ว่าหลายๆคนดูไม่ได้ เพราะมันจะเวียนหัว กล้องมันจะสั่นไปสั่นมา ผมก็นึกสงสัยว่าแนวนี้เด็กมันจะดูกันไหม ก็เลยลองทดลองดู
แต่ทีนี้ หนังแนวนี้ที่ผมรู้จักไม่กี่เรื่องนั้นก็ไม่ใช่แนวที่เด็กๆจะดูเสียด้วย อย่าง ไดอารี่ ออฟเดอะเดท งี้ หรือ ปิดตึกสยิว เอ้ย สยอง (เพราะเท่าที่ฟังคนที่ดูมาแล้ว บางฉากมันก็ไม่เหมาะกับเด็กเล็กดูเท่าไหร่) ที่พอจะใช้ได้ก็คือ ผลงานของผู้โกยกับ เอ้ย ผู้กับกำ เจเจ อับบรา (เขียนงี้ป่ะ) จากหนังเรื่อง สตาร์เทค นั่นก็คือ Cloverfield วันวิบัติ ตัวอะไรก็ไม่รู้ถล่มเมือง นั่นเอง
- ก่อนฉาย ผมได้เตือนเด็กๆว่าอย่านั่งใกล้จอมากเกินไป - เมื่อหนังเริ่มฉาย ผมรีบอธิบายเป็นช็อตๆเลยว่าเหตุการณ์นี้มันเป็นยังไง มันเป็นการจัดงานนะ อะไรทำนองนี้ - นาทีที่ 3 เด็กเริ่มสงสัยว่าทำไมภาพมันไม่นิ่ง (เกินครึ่ง เด็กๆพวกนี้ไม่เคยได้จับกล้องวีดีโอ) - นาทีที่ 5 มีเด็กคนหนึ่งบอกแล้วว่าเวียนหัว - ราวๆ 10 - 15 นาทีแรกที่เป็นงานปาร์ตี้เลี้ยงส่งร็อบ ความสนใจของเด็กเริ่มไม่อยู่กับที่ (แต่ยังไม่มีใครลุกหนี) - ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกและไฟดับ เด็กยังเฉยๆกัน (ก็คือความสนใจยังน้อยอยู่) - ตอนที่ขึ้นไปบนดาดฟ้า เริ่มมาดูกัน แต่ก็ยังไม่มาก จนกระทั่งเกิดเหตุระเบิดโครมและลูกไฟถล่มเมือง พวกของตัวเอกวิ่งหนีลงไปชั้นล่าง - ตอนที่หัวเทพีเสรีภาพปลิวมา เด็กบอก เหมือนเกมที่เขาเคยเล่นเลย เกมอะไรน้าา... (แต่ไม่รู้ว่า นี่นะเรียกว่าเทพีเสรีภาพ) - ตอนที่กลุ่มควันสีขาวพุ่งผ่านตึกไป (หลังจากที่ตัวเอกเข้าไปหลบในร้านขายของชำและออกมา) เด็กบอก เหมือนซอมบี้เลย - เด็กสงสัยตอนที่มีการตัดฉากไปเทปเก่า บางคนคิดว่าหนังมันเล่าเรื่องย้อนไปย้อนมา (ก็ต้องอธิบายอีก) - ตอนที่ตัวประหลาดโผล่มาครั้งแรก เด็กบอก เอเลี่ยน - ตอนที่ตัวเอกเดินข้ามสะพาน มีบางคนบอกว่า "เสียวสะพานพัง" (และมันก็เดาถูก) และตอนที่ร็อบได้รับสัญญาณเรียกเข้ามือถือ มีเด็กถามว่า "ไหนบอกไม่มีสัญญาณไง ?" - หลังจากเหตุสะพานถล่ม ผมคาดว่าจะมีเด็กที่บ่นว่าเวียนหัวหรือปวดตาจนเลิกดู แต่เปล่า บางคนทำท่าปวดตาจริงๆ แต่ยังพยายามจับตาดู ระหว่างนี้มีคนทยอยมาดูเรื่อยๆ - เด็กเริ่มจับตัวละครสับสนจนคิดเหตุการณ์แตกต่างกันออกไป ผมจึงช่วยอธิบาย ระหว่างนี้มีคนถามว่าตัวอะไรบุก ผมอุบปากเงียบ (เพราะตรูดูจบแล้วก็ยังไม่ยู้) - ฉากที่ตัวเอกเดินไปตามอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ก็มีเด็กคนเดิมบอก น่ากลัว - ความสงสัยหลังจากฉากนี้ก็คือ 1. ตัวปรสิต (สงสัยว่าเป็นตัวอะไร) 2. สงสัยว่าฮัตมาจากไหน (เพราะไม่รู้ว่าฮัตเป็นคนถือกล้อง) 3. ผู้หญิงที่โดนปรสิตกัดแล้วหัวระเบิดตาย (สงสัยว่าทำไมตาย บางคนเริ่มเสียวว่าปรสิตเป็นต้นเหตุทำให้ตาย)
- ตอนที่ร็อบไปช่วยกิ๊กเขา (ซึ่งโดนเหล็กเสียบทะลุเหนือหัวใจ) เด็กไม่มีทีท่าว่าจะกลัวหรือเห็นใจตัวละครเลย ตรงกันข้าม กลับพูดจาทะลึ่งออกมาอย่างสนุกปาก (คงไม่ต้องบรรยายว่าพวกนี้พูดว่าอะไรกัน) - ตอนที่ฮัตตะโกนดีใจตอนขึ้น ฮ. หลบหนีและเห็นสัตว์ประหลาดโดยระเบิดถล่ม จนสัตว์ประหลาดโจมตี ฮ. เด็กคนหนึ่งบอก "นั่นไง" - ตอนหนังจบ เด็กถามว่า อ้าว จบแล้วเหรอ ? (อารมณ์ค้างเหมือนกัน) - จากนั้นผมกรอกลับไปดูตอนก่อนจบอีกครั้ง เพื่อให้เด็กสังเกตว่ามีอะไรในฉากนี้ ผมคาดว่าคงไม่มีใครเห็น แต่เด็กคนหนึ่งจับได้ว่ามีอะไรตกลงทะเล - และต่อจากนั้น ผมได้อธิบายถึงที่มาของสัตว์ประหลาดและข้อมูลต่างๆ ปรากฎว่าสนใจฟังกันพรึบจนผมประหลาดใจ
วิเคราะห์
ก่อนอื่นเลยผมมีความรู้สึกดีใจมากๆ อย่างหนึ่ง นั่นก็คือ พัฒนาการของเด็กที่สนใจที่เรียนรู้ วิเคราะห์ เพราะระหว่างที่ดูเรื่องนี้ สนใจกันดูมาก และมีการตีประเด็นพูดคุยถึงเรื่องของสัตว์ประหลาดบุกเมือง โดยที่หนังทุกเรื่องที่ผมฉายมา ไม่เคยมีการพูดคุยตีประเด็นแบบนี้มาก่อนเลย นั่นหมายความว่า ถ้าเราทำให้เด็กๆสนใจภาพยนต์ได้ เราสามารถให้ภาพยนต์เป็นสื่อในการทำให้เด็กเรียนรู้ได้ และทำได้โดยที่เด็กสนใจด้วย หมายความว่า เรื่องนี้ ผมประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งแล้ว
การตีความของเด็กก็ยังคิดไปตามประสาเด็กโดยอาศัยหลักอิทธิพลของหนังที่มีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นซอมบี้ หรือเอเลี่ยน (พูดง่ายๆ เอ๊ะอะอะไรก็เอเลี่ยนไว้ก่อน) พูดง่ายๆก็คือ เด็กพวกนี้ไม่ได้คิดอะไรที่จะมาจากโลกของเรา เช่น การที่มีองค์กรลับผลิตอาวุธเองอะไรทำนองนี้ ทำให้เด็กตีความไว้ก่อนว่า มันก็คือของที่อยู่นอกโลก อาจเป็นเพราะมันมีรูปร่างที่ผิดแปลกไปจากที่เด็กๆคาดการณ์เอาไว้
ถึงแม้ว่าผมจะเตือนไม่ให้เด็กดูใกล้จอ แต่ทว่าก็ยังมีเด็กฝ่าฝืน อาจเป็นเพราะหนังประเภทนี้มีการเก็บรายละเอียดที่มองข้ามจุดบางจุดไปเยอะ ทำให้พวกเขาเริ่มอยากรู้ พออยากรู้ก็จะเริ่มพยายามสังเกตกัน (อีกคุณสมบัติหนึ่งของนักวิทยาศาสตร์) รวมไปถึงการตีความต่างๆนาๆ ว่ามันคือตัวอะไร มีมือไหม มีหางไหม ใช้อะไรโจมตี มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน (แต่ก็น้อยเพราะส่วนมากยังตั้งใจดูหนัง)
ที่น่าดีใจก็คือ ตอนหนังจบและผมจะมาอธิบายเรื่องราวที่ต้องสืบค้นนั้น ผมคาดการณ์ว่าไม่น่าจะมีเด็กอยู่ดี แต่ทุกคนยังนั่งดูกัน (แถมยังตีประเด็นต่างๆนาๆอีกด้วย) ทุกคนยังนั่งดูและชักถามเป็นระยะ ตกลงมันเป็นยังไง เครื่องดื่มรสชาติปลาวาฬไปเกี่ยวอะไร โดยผมก็แค่บอกที่ผมรู้ (ก็คือยังรู้ไม่หมดหรอก) จนมีเด็กคนนึงบอกอยากลองกินเครื่องดื่มรสปลาวาฬดู (และก็มีอีกคนบอกอยากตายในหนังไง แล้วก็หัวเราะกัน) อาจเป็นเพราะเด็กๆยังอารมณ์ค้างกันอยู่ก็ได้
พูดง่ายๆก็คือ สำหรับหนังที่กั้กข้อมูล โผล่ออกมาในทำนอง ไม่รู้อะไรเลย อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่ดูแล้วเกิดความสนใจนั้นเกิดผลกับเด็กด้วย เพราะพวกเขาก็ยังไม่รู้อะไรเมื่อดูหนังจบ และต้องการที่จะอยากรู้ต่อ และนั่นอาจเป็นการกระตุ้นที่จะทำให้เด็กเกิดอยากเรียนรู้ และตรงนี้ ถ้าโรงเรียนไหนใช้วิธีนี้ในการกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ ผมฟันธงเลยว่าจะทำให้เด็กเกิดอยากเรียนรู้มากกว่าไปนั่งเรียนในห้องเรียนเสียอีก ผมเชื่อมั่นอย่างนั้นว่าวิธีการนี้จะสามารถกระตุ้นทำให้เด็กๆเกิดความอยากเรียนรู้มากขึ้นครับ
ขอบคุณที่รับอ่านเสมอ
จากคุณ |
:
patiweshchan
|
เขียนเมื่อ |
:
28 ส.ค. 53 20:38:39
|
|
|
|  |