Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ถึงหนังไทยเรื่อง “อยากรักก็รักเลย” ติดต่อทีมงาน

เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง ถึงหนังไทยเรื่อง “อยากรักก็รักเลย”

หากทว่าใครยังไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง อยากรักก็รักเลย และคิดจะไปดูแน่ๆ  ก็อย่าเพิ่งอ่านโน้ตที่เขียนนี้ เอาไว้รับชมเสร็จแล้วค่อยกลับมาอ่าน

หลังจากชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง Yes or No อยากรักก็รักเลย …ก็เลยอยากจะเขียนถึงหนังเรื่องนี้บ้าง ถือเป็นการแชร์ประสบการณ์ แบ่งปันพื้นที่ทางความคิด อารมณ์ ความรู้สึก บรรดามีต่อหนังซึ่งเห็นว่าเป็นหนังหญิงรักหญิงเรื่องแรกของไทย (2553)

ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2550 มีหนังเลสเบี้ยนของไต้หวันเรื่อง Spider lilies  เข้าใจว่าไม่ได้ฉายตามโรงภาพยนตร์สาธารณะกระแสหลักทั่วไปในประเทศไทย แต่ก็พอมีโอกาสหาดูได้ผ่านทางเว็บ youtube ซึ่งดูเข้าใจบ้าง – ไม่เข้าใจบ้าง เพราะซับเป็นภาษาอังกฤษ แต่อาศัยว่าดูอวัจนภาษา ความหมายต่างๆ ที่สื่อออกมา ก็พอทำให้เข้าใจเนื้อหาคร่าวๆ สิ่งที่หนัง Spider lilies ทำได้ดีมาก คือฉาก อืม…อย่างนั้น(ละไว้ในฐานที่เข้าใจ) ประกอบเสียงซาวน์ดนตรีเร้าอารมณ์ความรู้สึก ถ้ามองว่ามันเป็นงานศิลปะ มันทำได้ยอดเยี่ยมมาก เยี่ยมในแง่ที่ว่า…ทำให้กิจกรรมของเพศเดียวกันดูเป็นศิลปะที่เร้าอารมณ์สุดๆ แต่ฉากแบบนี้ไม่ปรากฏอย่างโจ่งครึ่มในหนังไทยเรื่องอยากรักก็รักเลย ถึงแม้จะไม่มีฉากรุนแรงหนักหน่วงอย่างว่านั้น แต่ก็มีฉากที่ทำได้ ‘ถึงหัวใจ’ มากๆ อยู่ในฉากของค่ำคืนที่ฝนตก หลังจากทั้งคู่ปรับความเข้าใจกันได้ เช็ดผมที่เปียกให้ และแล้วฉากแห่งรัก…ก็ติดตามมาอย่างเป็นธรรมชาติ หนังไทยสามารถจำลองอารมณ์วาบหวามจากชีวิตจริงได้อย่างหมดจด...งดงาม...อบอุ่น…หวาน…ละมุน… เข้าถึงอารมณ์ในแบบสงวนภาพ ไม่ทำให้อนาจาร หากเต็มไปด้วยกลิ่นอายที่ซ่อนเร้น เริ่มต้นนิดๆ หน่อยๆ พอให้อบอุ่น ตื่นมาเห็นว่านอนกอดกันก็เข้าใจได้แล้ว นี่คือการกระทำที่อบอุ่น ลึกซึ้ง โดยไม่ต้องเน้นให้ 'หนักหน่วง' และ 'ยาวนาน' แบบ Heavy Love Scene ในท่าท่วงทีแห่งการกระทำดังที่ปรากฏในหนังจากไต้หวันเรื่อง Spider lilies ซึ่งกระทำกันอย่างโจ่งครึ่ม มิได้มีการสงวนให้ฝันต่อแต่อย่างใดเพราะสูงสุดมันจบ ณ ภาพตรงนั้น แต่สำหรับหนังไทยเรื่องนี้ภาพมันไม่จบ มันติดตรึงอยู่ได้นานเพราะศิลปะแห่งการสงวนการรับรู้พอหอมปากหอมคอ ทว่าหอมไปอีกนาน จนไม่ควรบรรยายให้เสียอรรถรส

สำหรับภาพยนตร์ไทยเรื่องอยากรักก็รักเลย มีถ้อยคำสั้นๆ ซึ่งขอมอบให้เป็นคอนเซ็ปกว้างๆ ว่า ‘เรียบง่าย แต่ลึกซึ้ง’ หนังเรื่องนี้ไม่ได้เน้นน้ำหนักไปที่ความหลากหลายของกลุ่มคนที่สัมพันธ์กันอย่างที่รักแห่งสยามมีและไม่ได้นำเหตุแห่งการกระทำของใครต่อใครมาเป็นตัวกำหนดผล ‘โดยตรง’ เช่น แม่ห้าม แม่สั่งเด็ดขาด แล้วแม่พยายามต่อต้านทุกวิถีทาง ฯลฯ แต่มีแรงผลักภายในใจตัวละครที่คิดและเดินเรื่องบนพื้นวาทกรรมสังคมที่ส่งผลต่อความคิดของเขาอีกทีหนึ่งเป็นส่วนมาก ‘โดยอ้อม’ ประมาณว่า แม่จะว่าอะไรมั้ย แม่จะว่ามั้ย หวั่นเกรงต่อสังคมจะว่า และลึกซึ้งด้วยมุ่งสื่อสร้างอย่างเจาะจงเข้ากลุ่มที่ถูกตีตราผ่านวาทกรรมของสังคมที่เรียกขานเรื่องรักร่วมเพศของหญิงกับหญิงว่า ทอม-ดี้  แล้วมุ่งเจาะเข้าไปที่ ‘หัวใจ’ ของคนที่ถูกมองว่าเป็นอย่างนั้น

ตัวพระ(นาง)ของเรื่อง ‘คิม’ เติบโตมากับธรรมชาติ รักการปลูกต้นไม้ มีพ่อเป็นเจ้าของกิจการทำไวน์อยู่ที่ต่างจังหวัด ในที่ที่ห่างไกลเสียงจอแจวุ่นวาย ชีวิตของคิมที่เป็นเด็กบ้านนอก(ลูกชนบท) ถ้ามองในแง่นี้ก็ไม่แปลกที่คิมจะแต่งตัวมาดแมนเพราะมันสอดคล้องกับพื้นเพเดิม และลึกๆ ของใจคิมใฝ่หาแห่งหนที่มี ‘เสียง’ และ ‘ความสว่าง’ เป็นอย่างมาก ส่วนนางเอก ‘พาย’ เป็นเด็กในเมือง เติบโตแวดล้อมมากับวิถีชีวิตคนเมือง ซึ่งลึกๆ พายปรารถนาความ ‘เงียบ’ และ ‘มืด’ หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งคือ พายอยู่กับความมืดและที่เงียบได้ ส่วนคิมไม่สามารถอยู่กับความมืดและที่เงียบงันได้ สิ่งเหล่านี้ขัดกับภาพลักษณ์ของตัวละคร เนื่องจากคิมเมื่อดูจากภายนอกดูแล้วเธอช่างมาด ‘แมน’ ก็น่าจะอยู่ได้กับแห่งที่มืดๆ ซึ่งมีความน่ากลัว ก็ไม่น่าจะกลัวผี แต่คิมก็กลับกลัวผีและอยู่ไม่ได้กับความมืด และในหัวใจของคนที่ถูกตีตราว่า ‘:-)เป็นทอม’ ก็กลับมีความหวั่นไหว อ่อนไหวได้มากอย่างที่ไม่น่าจะเกิดกับทอม จนพายเรียกคิมว่า ‘ไอ้ตุ๊ด’ ในทางกลับกันภาพลักษณ์ของพายเมื่อดูจากภายนอกดูแล้วเธอช่าง ‘อ่อน(หวาน)’ ก็ไม่น่าจะเป็นคนที่มีจิตใจแข็งๆ อยู่ภายใน หากพายก็กลับเป็นคนโหดๆ ดุๆ และในหัวใจของผู้หญิ๊ง…ผู้หญิง ที่เห็นแบบนี้เอง ก็กลับมีความ ‘แข็งแกร่ง’ ภายในเข้มแข็งมากอย่างไม่คิดว่าจะเป็นได้ จนคิมเรียกเธอว่า ‘ไอ้โหด’ ก็เพราะว่าพายเป็นคนไม่ค่อยยอม ติดจะดุ ใจถึง ยอมหักไม่ยอมงอ

ในความสว่างที่เห็นว่าเป็น ก็กลับมีความมืดที่มองไม่เห็น เราเห็นว่าพายเป็นผู้หญิง แต่สิ่งที่ไม่เห็นมาก่อนคือใจของพายที่มีคุณสมบัติของผู้ชาย เราเห็นว่าคิมเป็นทอม แต่สิ่งที่ไม่เห็นมาก่อนคือใจของคิมที่มีคุณสมบัติของผู้หญิง

การที่คิมโหยหาความสว่างทั้งที่อยู่ในที่มืด อาจไม่ต่างจากการหาที่ยืนของตัวตนในสังคมซึ่งถูกมองว่าอยู่ในที่มืดมาตลอด ความสว่างจึงเป็นที่ที่จะทำให้คิมใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเพราะมีที่ยืนในสังคม เห็นได้จากการที่คิมปรารถนาที่จะมีพายเป็นแฟนตั้งแต่แรก ส่วนพายอยู่กับความมืดได้ ไม่ต่างจากการที่พายพอใจจะมีอะไรลับๆ กับคิม เพราะความมืดนี้เป็นช่วงเวลาที่ทำให้พายมีความสุขได้ เห็นได้จากการที่พายไม่กล้าพอที่จะบอกใครต่อใครว่าเป็นแฟนกับคิมอยู่ตลอดทั้งเรื่อง (ซึ่งต่อไปเมื่อดูจนจบเรื่องก็จะเข้าใจว่า ถ้าการอยู่กับความมืดเปิดโอกาสแห่งความผิดพลาดทำให้เจนก้าวเข้ามาสร้างความระหองระแหงได้ แท้จริงความมืดนี้จะทำให้พายมีความสุขแบบลับๆ ต่อไปได้ตลอดหรือเปล่า) ซึ่งพายจะต้องเลือกในที่สุด นี่คือภาพแห่ง Contrast ภายนอกที่ปรากฏกับสิ่งที่ตัวละครเป็น สิ่งที่คนอื่น(สังคม) คิดว่าเป็นและควรจะเป็นได้สร้างตัวตนที่มองเห็น

เขียนมาถึงช่วงนี้ ทำให้นึกถึงภาพแทนที่สร้างให้คิดว่าตัวตนของคนนั้นเป็นอย่างไร ผ่านมุมมอง 3 แบบ คือ  

1.  สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น  (นัยหนึ่งคือภาพลักษณ์)
2.  สิ่งที่เราควรจะเป็น  (คนอื่นคาดหวังให้เป็น)
3.  สิ่งที่เราเป็น  นี่คือสิ่งที่ ‘ใช่’ ในหัวใจแท้ๆ

คิมถูกตราประทับตั้งแต่แรกเห็นแล้วว่าเป็น ‘ทอม’ ด้วยการแต่งกาย บุคลิก ท่าทาง เอาเป็นว่าคิมเป็นทอมเพราะข้อ 1. “สิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราเป็น” สิ่งที่คนอื่นคิดว่าคิมเป็นจากภายนอก จนไม่น่าจะเป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจาก ‘:-)เป็นทอม’ แต่ความขัดแย้งก็เกิดขึ้นเพราะคิมไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นทอม ถ้าเราเชื่อในคำพูดที่คิมบอกกับพายอย่างจริงใจว่าตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยชีวิตที่ผ่านมาคิม ‘ไม่เคยชอบใครเลย ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย’ ด้วยเกณฑ์นี้ในข้อ 3. “สิ่งที่เราเป็น” คิมจึงไม่ใช่ทอม เพราะคิมไม่เคยชอบผู้หญิงอย่างจริงจังด้วยหัวใจมาก่อน จนเมื่อได้เจอพาย หรือหากจะมองว่าคิมเป็นทอมเพราะในที่สุดก็ชอบพายก็ตามที ทว่าเมื่อมองย้อนกลับไปก็พบว่าหนังเรื่องนี้ได้ทำลายคำนิยามนี้จนหมดสิ้น สิ่งที่คิมเป็นไม่ได้มีคุณสมบัติของผู้ชาย พูดง่ายๆ คือ เป็นทอมที่ลึกๆ ไม่ได้มีคุณสมบัติของผู้ชาย (ซึ่งคุณสมบัติของผู้ชายที่เคยมีมาต้องเข้มแข็ง ไม่กลัวผี ไม่กลัวแมลงสาบ ไม่ชอบทำกับข้าว หรือทำไม่เป็นรส ไม่ทำงานบ้านตามคติแบบผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องแบบนี้ก็ได้, อย่าเพิ่งคิดลึกไปถึงผู้ชายที่ทำทุกหน้าที่เป็นพ่อบ้านด้วย) เอาจริงๆ จิตใจของคิมไม่เข้มแข็งเท่าพายด้วยซ้ำไป แล้วคนแบบนี้หรือคือ ‘ทอม’ ก็เพราะสิ่งที่คิมเป็นขัดกับนิยามของสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็น เป็นไปได้ไหมว่า…หนังเรื่องนี้ได้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่สังคมกำหนดเรียกคนที่เป็นทอม แล้วถ้าคนๆ นั้นเป็นเพียงเพราะสังคมเห็นตรงกับนิยามก็กำหนดให้เป็นแบบนี้ หากแท้จริงข้างในไม่ได้เป็นแบบนี้ แล้วคนๆ นั้นยังจะสมควรถูกครอบงำด้วยวาทกรรมควบคุมสังคมด้วยการตีตราว่า:-)เป็นทอมอีกหรือเปล่า ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ว่าคิมจะเป็นอะไร จะเป็นจริงอย่างที่สังคมคิดว่าเป็นไหมก็คงไม่สำคัญเหนือกว่าหัวใจของคิมที่เป็นเพื่อใคร ได้ทำสิ่งดีๆ เพื่อพาย ดูแลเอาใจใส่ นี่คือบทบาทสะท้อนความรักที่ ‘ใช่’ ของคนที่มีรัก…ตรงกับความรู้สึกของใจ

ถ้าหากเป็นผู้ชายทั้งแท่งแท้ๆ อย่างพี่แวน หล่อ ล่ำ หน้าตาก็ดูดี พอไปวัดวาได้ไม่อายใครเลย พี่แวนก็เป็นคนดี ดูแลห่วงใย แต่ก็ไม่ใช่คนที่พายรัก พูดง่ายๆ ถ้าพูดถึงการดูแลเอาใจใส่ถ้า ‘คนที่ถูกนิยามว่าเป็นทอม’ กับ ‘ผู้ชายทั้งแท่ง’  ทำหน้าที่ได้ดีพอๆ กัน เรียกว่าพอฟัดพอเหวี่ยงในการเทคแคร์แต่ความรู้สึก ‘ใช่’ ของพายเกิดกับคนที่ถูกเรียกว่าทอม แล้วพายควรจะเลือกผู้ชายอยู่ไหม? ถ้ามันฝืนหัวใจ หนังเรื่องนี้ได้พยายามมุ่งตีแผ่ความรู้สึกของใจมากกว่าความรู้สึกที่สังคมคาดหวัง ถ้าจะมองว่าเป็นเรื่องทั่วๆ ไป ก็ใช่ คือใช่ในแง่ที่ว่า…จะรักใครมันก็ต้องเลือกคนที่ใช่อยู่แล้ว ผู้หญิงรักผู้ชายสักคนก็ต้องเลือกคนที่ใช่ ใช่เพราะชอบ(รัก) แต่ว่าเรื่องของเพศที่สามซึ่งต่างไปจากความคาดหวังของสังคมไม่ใช่เรื่องที่จะได้รับการหยิบยกมาเล่าจนทำให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องปกติ ใช่…แล้วจะรักกันได้ง่ายๆ แต่หนังก็ทำให้เห็นว่ามันไม่ยากเกิน การที่ตัวละครเป็นแบบนี้ถูกสังคมมองว่าไม่ปกติ ยิ่งพยายามส่งเสียงว่าไม่ใช่ว่าไม่ปกติ ก็เป็นการย้ำถึงการมีอยู่ของความไม่ปกติที่เคยถูกมองมาตลอด อีกมุมหนึ่งที่พยายามสร้างกระบอกเสียงในสังคมที่ไม่ค่อยกล้าที่จะพูดถึง แล้วที่สุดก็ทำสำเร็จ ทำให้มันปกติได้ ด้วยการจบอย่างสมหวัง พายกล้าที่จะรักคิม ทั้งสองรักกันเปิดเผยได้ในที่สุด ใช่แล้วต้องกล้าด้วย

สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์อยากรักก็รักเลยสร้างขึ้นมากกว่ารักแห่งสยาม คือการสื่อความหมายของผู้ปกครองที่มีใจเปิดกว้าง กรณี ‘แม่’ ของพาย ที่เคยไม่ชอบทอม แต่สุดท้ายแล้วอะไรที่เป็นความสุขของลูก แม่ก็คงไม่อยากทำร้าย การที่แม่เรียกพายให้ลงมาพูดตัดสินใจต่อหน้าคิมและแม่เอง โดยแม่ไม่พูดตัดความสัมพันธ์ตรงๆ ก็คืออยากจะรู้ว่าลูกคิดเช่นไร ก็ยังเปิดโอกาสให้ลองเลือกดู (แม้ว่าขณะนั้นพายจะกลัวเกรงดังข้อ 2. “สิ่งที่เราควรจะเป็น” สิ่งที่สังคมคาดหวังให้เป็นอยู่มากจนไม่กล้าบอกดังใจ) อย่างไรก็ตามบทบาทแม่ของพายได้สื่อสร้างพื้นที่ที่เปิดกว้างมากกว่ารักแห่งสยามซึ่งแม่ของโต้งสื่อชัดเจนว่าไม่มีทางที่ตนจะปล่อยให้ลูกชายรักชายด้วยกันได้ แม้กระทั่งพ่อของคิมเองก็ไม่ต่อต้าน ถ้าคิมและพายจะเป็น ‘ปลากัด’ แบบมองตาก็สปาร์คได้

ไม่ใช่เพียงปลากัดเท่านั้น ถ้าพายและคิมจะเป็น ‘แมงกะพรุน’ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ โดยการตัดสลับฉากแห่งรักของทั่งคู่แล้วโฟกัสไปที่ภาพของแมงกะพรุนสองตัวที่กระดืบๆ ว่ายเวียนคู่กันดังดอกไม้ทะเล จะต่างกันก็เพียงว่าแมงกะพรุนสืบพันธุ์แบบนี้ได้จริงๆ ออกลูกออกหลาน (แม้ว่าพายและคิมคงจะมีลูกด้วยกันจริงๆ ไม่ได้ หากว่าเรื่องจริงของการทำกิจกรรมทำนองนี้คล้ายสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ไม่ต่างกัน) ให้เห็นว่าธรรมชาติมีอะไรแบบนี้อยู่ ในธรรมชาติมีสิ่งที่เป็นธรรมชาติของเพศเดียวกันอยู่ แม้ว่ามันจะไม่ใช่ธรรมชาติที่สังคมมนุษย์จะยอมรับได้ง่ายๆ ก็ตาม นอกจากนี้หนังชัดเจนว่าให้มุมมองที่เป็นบวกกับเพศที่สาม ด้วยการสื่อภาพแห่งความงดงามในตัวตนของคนที่ถูกเรียกว่าทอม…ว่ามีความรักจริงหรือจริงจังกับผู้หญิงที่ตนรัก

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พายรู้เสมอว่าคิมน่ะใช่ แต่ก็บอกว่า ไม่ใช่ จนกว่าวันที่พายยอมรับได้ว่า ความรักเป็นเรื่องของคนสองคน อย่าให้สังคมมาเป็นมือที่สาม และพัฒนาการความสัมพันธ์ของตัวละครที่กระทำต่อกันและความรู้สึกที่มีให้กัน ‘มีที่มาที่ไป’ หรือ ‘มีเหตุผล’ ซึ่งทำให้คนสองคนรักกันได้ อยากรักก็รักเลยจึงเป็นหนังที่สื่ออารมณ์ความรู้สึกจากตัวบทที่เขียนขึ้นมาเพื่อกระเทาะเปลือกสิ่งที่ตัวละครเป็นจริงและถูกสังคมนิยามไว้ว่าเป็นเช่นนี้ได้ดีมาก และนักแสดงก็เล่นได้ดีพอสมควรสำหรับการถ่ายทอดความรู้สึก แม้ว่า ‘คิม’ จะถูกวิจารณ์ว่าพูดไม่ชัด แต่นัยน์ตาของคิมสื่อความหมายชัดยิ่งกว่าคำพูดเสียอีก ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าเรื่องพูดชัดหรือไม่ของคิม-ไม่ใช่สิ่งที่ควรโฟกัส แต่สิ่งที่คิมเป็นทำให้เห็นว่าผู้หญิงคนหนึ่งจะรักผู้หญิงที่มีเพศสรีระเดียวกับตนได้เพราะอะไร - อะไรที่ทำให้คิมดูน่ารักโดยเฉพาะในสายตาของพาย หนังตอบโจทย์ที่ว่านี้ได้ค่อนข้างดี ไม่มีอะไรต้องสงสัยว่าทำไมเพศเดียวกันจึงรักกันได้.



------------ (สองย่อหน้าสุดท้ายนี้ เป็นความคิดส่วนตัวค่ะ) --------------

สุดท้าย แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะทำได้ดีขนาดที่ว่า ทำให้คนที่เป็นอยู่กล้าเปิดเผยตัวมากขึ้น และคนที่ไม่ได้เป็นสามารถเข้าใจและรับได้กับสิ่งที่ตัวละครในเรื่องเป็นมากขึ้น แต่ในความคิด ความรู้สึก ของเราก็สำเหนียกอยู่ตลอดว่าเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ และส่วนตัวก็เคยให้คำแนะนำแก่คนรู้จักใกล้ตัวคนหนึ่งที่เธอมีใจรักเพศเดียวกันว่า… ถ้าเป็นเราล่ะก็จะยืนอยู่ข้างของการไม่สนับสนุนให้หญิงกับหญิงรักกันจนถึงขั้นมีสัมพันธ์ทางกาย โดยเฉพาะถ้าอีกคนก็มีแฟนซึ่งเป็นผู้ชายอยู่แล้ว(เคยให้คำแนะนำไปอย่างนี้จริงๆ เพราะไม่ต้องการให้ฝืนธรรมชาติของความเป็นมนุษย์) แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่หาคำตอบให้หายข้องใจตัวเองไม่ได้จริงๆ ว่า…ถ้าเพศเดียวกันรักกันจริงๆ โดยทั้งคู่ไม่ได้มีแฟนเป็นผู้ชายอยู่ก่อนแล้ว ผู้หญิงทั้งคู่นั้นจะรักกันได้จริงอย่างไร้มลทินไหม? จะไม่มีความผิดอะไรทางศีลธรรมเลยใช่ไหม? ที่คิดเพราะว่ากำลังคิดถึงเรื่องของ ‘ศาสนา’ มากกว่าสังคมทั่วไป เพราะในใจลึกๆ เราเองก็ยังคงโน้มเอียงไปในทางที่มองเรื่องแบบนี้ว่าผิดธรรมชาติ ถ้าธรรมะคือธรรมชาติ (คำนี้มี ธรรมะ + ชาติคือการเกิด) หญิงรักหญิงแบบนี้ก็ผิดธรรมของการเกิดซึ่งควรจะเป็นดังธรรมชาติ(มนุษย์มีเพศสรีระตามธรรมชาติคู่กันคือหญิงกับชาย) เพราะชาติแห่งการเกิดที่มีใจเป็นธรรม ต้องไม่ทำให้ผิดธรรมชาติ จึงจะอยู่ได้นานสมควรกับการดำรงอยู่ของธรรมชาติของการเกิดเป็นมนุษย์

ในหัวใจลึกๆ จึงมีเสียงกระซิบว่าหญิงรักหญิงเป็นสิ่งไม่ควรอยู่ดี แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะ ‘ทำได้ดี’ ด้วยความลึกซึ้งของพื้นที่ทางอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ขนาดที่ว่าสามารถส่งประกวดเทศกาลหนังต่างประเทศได้เลยก็ตาม.

*ป.ล. มีการแก้ไขตัวสะกดที่ผิดบรรทัดฐานของภาษาไทย, การจัดย่อหน้าให้ชัดเจน และการเพิ่มเติมข้อความแนะนำให้อ่าน คคห. ที่ 19 โดยผู้ตั้งกระทู้ค่ะ

แก้ไขเมื่อ 27 ธ.ค. 53 17:43:11

แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 19:46:51

แก้ไขเมื่อ 25 ธ.ค. 53 11:55:08

จากคุณ : FeRn_MU
เขียนเมื่อ : 25 ธ.ค. 53 11:54:34




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com