 |
Norwegian Wood ภาพยนตร์ชื่อเดียวกับหนังสือต้นฉบับ เรื่องราวของความรัก ความตาย และหัวใจที่แตกสลาย หาก มูราคามิ เป็นนักเขียนที่แหวกขนบการเขียนหนังสือของญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ คงเป็นเรื่องไม่บังเอิญที่ผู้กำกับเรื่องนี้กลายเป็นชาวเวียดนามแทนที่จะเป็นชาวญี่ปุ่น เรื่องราวที่ถูกเล่าโดยมุมมองของ ตรัน อานห์ ฮุง ส่งเสริมให้ตัวละครในเรื่องดูผิดแผกแปลกแยกจากสังคม และตัวหนังเองก็ดูจะผิดแผกแปลกแยกจากขนบของหนังญี่ปุ่นไปพอสมควร ไม่มีเสื่อตาตามิ ไม่มีอะไรที่แสดงถึงความเป็นญี่ปุ่น แต่กลับเต็มไปด้วยเต็มไปด้วยเพลงแจ๊ส เซ็กส์ และการค้นหาตัวตนผ่านช่วงวัยอันสับสน ผมรู้สึกราวกับว่าสามารถจับเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปตั้งไว้ที่ไหน เวลาใดในโลก เรื่องราวก็คงจะดำเนินไปอย่างนี้ไม่ผิดเพี้ยน สังคมโดยรอบเป็นคล้ายภาพสีซีดจางห่างไกลออกไป ไม่ได้มีความหมายใดๆ งานด้านภาพเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ Norwegian Wood เวอร์ชั่นภาพเคลื่อนไหวนี้ นอกจากความสวยงามด้านภาพเชิงศิลปะแล้ว ในเชิงสัญญะก็ได้ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวอันเงียบเชียบโดย ผ่านการเคลื่อนกล้องแทบจะตลอดเวลาราวกับจะแทนที่สิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในของตัวละครทุกผู้คน และหลายครั้งมันทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆเช่น ฉากที่นาโอโกะ กับ วาตานาเบะ มีเซ็กส์กันกลายเป็นมุมกล้องที่ดูอึดอัดและบีบอารมณ์ เมื่อเทียบกับตอนหลังที่ นาโอโกะใช้มือให้ กลายเป็นภาพมุมกว้างราวกับจะสื่อถึงการปลดเปลื้องอะไรบางอย่าง อีกตอนที่การเคลื่อนกล้องมีผลต่ออารมณ์มากคือตอนที่ นาโอโกะ กับ วาตานาเบะ ไปเดินเล่นในคอมมูน แล้วเดินกลับไปกลับมาโดยที่กล้องก็ดอลลี่ตามกลับไปกลับมาสักสี่ห้ารอบได้ เหมือนกับเป็นสัญญาณเตือนว่าอะไรบางอย่างกำลังจะระเบิดออกมา และการเคลื่อนกล้องที่ผมว่าทรงพลังที่สุดคือการแพนมาให้เห็นภาพขาของนาโอโกะห้อยอยู่ในตอนท้าย ซึ่งเรียบง่ายแต่กระทบจิตใจอย่างแรง เช่นเดียวกับฉากนี้ในหนังสือ เรียบ ง่าย ราวกับเป็นสิ่งที่ต้องเกิดอยู่แล้ว แต่มันก็ทำให้หัวใจเราแหลกสลายอยู่ดี ทางด้านของนักแสดง นาโอโกะ รับบทโดย ริงโกะ คิคุจิ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ดีแล้ว ให้ความรู้สึกเหมือนแก้วไวน์ทรงสวยแต่เปราะบางและแตกสลายได้โดยง่าย ส่วน วาตานาเบะ (เคนอิจิ มัตสึยาม่า) ชายหนุ่มพูดน้อยก็ค่อนข้างเล่นได้ตรงคาแรคเตอร์(ท่าจะเป็นทางถนัดเพราะตอนเล่นเป็น L ก็พูดน้อยเหมือนกัน) แต่คนที่ออกมาแล้วทำให้โทนหนังดูลดความอึมครึมเศร้าหมองลงไปได้ ก็คือ มิโดริ (คิโกะ มิสุฮาระ) ซึ่งแปลว่าสีเขียว มิโดริเป็นตัวละครที่สดใสเป็นตามธรรมชาติ(แต่ก็ในแบบของหล่อนนะ)ทำอะไรที่อยากทำ ความสดใสหนึ่งเดียวในเรื่องราวโศกสลด ทางด้านบทภาพยนตร์ ก็แทบไม่ต่างจากเวอร์ชั่นหนังสือ เพียงแต่ถูกลดทอนเรื่องราวปลีกย่อยไปมากพอสมควร ทำให้ตอนหลังที่ วาตานาเบะ กับ เรโกะ มีเซ็กส์กันมันดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติของภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรม เพราะการที่จะคงเรื่องราวของเรโกะเไว้ก็คงต้องบวกเพิ่มอีกครึ่งชั่วโมงเป็นแน่ อีกส่วนที่ดูแปลกแปร่งแต่ผมกลับชอบก็คือบทพูดของตัวละครที่ถอดมาจากในหนังสือ(ไม่รู้ว่าต้นฉบับเป็นไงนะอ่านญี่ปุ่นไม่ได้ พูดได้บางคำจำมาจาก เอวี) โดยบทบรรยายได้คุณ นพดล เวชสวัสดิ์ ผู้แปลเรื่องนี้ในเวอร์ชั่นหนังสือมาแปลให้ บทสนทนาในหนังจึงเหมือนกันเป๊ะ ซึ่งบทสนทนาของ มูราคามิ ก็ขึ้ชื่อเรื่องความคมคาย แฝงอารมณ์ขัน จิกกัด อย่างเช่นตอนที่ มิโดริ ถาม วาตานาเบะ บอกหน่อยสิ, วาตานาเบะ-คุง นักศึกษาชายที่นี่ ว่าวกันทุกคนหรือเปล่า? เป็นไปได้ แล้วผู้ชายนึกถึงผู้หญิงหรือเปล่าตอนว่าว? ก็คงเป็นเช่นนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีใครนึกถึงตลาดหลักทรัพย์หรือคลองสุเอซในยามว่าว คมคายและมีอารมณ์ขัน ใช่ไหมเล่า....
แก้ไขเมื่อ 21 ก.พ. 54 23:09:12
จากคุณ |
:
ThE BaRE VaC PRojEcT
|
เขียนเมื่อ |
:
21 ก.พ. 54 23:05:56
|
|
|
|  |