ได้อ่านพบความคิดเห็นของคุณก๊ง ซึ่งบอกว่าเป็นผู้มีหน้าที่บำบัดวานร เพื่อคืนสู่ป่า ในเว็บบอร์ดกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม เห็นว่าน่าสนใจสำหรับกรณีหมีแพนด้า จึงขออนุญาตนำมาโพสเพื่อความรู้ของคนรักหมีแพนด้า และขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
จาก http://www.siamensis.org/webboard/topic/701
...ผมเองเคยดูเรื่องตลกของปังคุงพอผิวเผิน เพราะความบังเอิญน่าจะราว 2-3 ปีมาแล้ว ปังคุงเองก็เป็นชิมแพนซีเด็กครับ .... แฟนคลับตัวจริงลองสืบเสาะหน่อยก็ดีว่าปังคุงดั้งเดิมตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง หรือปัจจุบันที่ยังถ่ายทำกันอยู่เขาเอาลูกชิมแพนซีตัวใหม่มาสวมแทนหรือเปล่า
.... หรือความโด่งดังของปังคุงนั้นมีผู้ใดได้ประโยชน์สูงสุด หรือนั่นเพื่อช่วยบำบัดมนุษย์ด้วยกันเอง เห็นความน่ารักแสนรู้ก็ได้ฮาได้สุขก็ทำให้หลงลืมความเครียดความทุกข์ของตนเพียงชั่วขณะ แล้วอยากหาวานรมาเลี้ยงตามในรายการทีวี เพื่อชดเชยสิ่งที่ตนขาดหายไปเมื่อครั้งยังเด็ก หรือในภาวะปัจจุบัน นั่นคือการขาด "ความรัก ความห่วงใย" จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง คนที่รักสัตว์จนเกินงาม หมายถึงมิได้ใส่ใจที่จะศึกษาความเป็นมา หรือพร้อมที่จะรับผิดชอบเมื่อเขาจะเติบโตต่อไป ผมว่าคนเหล่านั้นคงไม่ค่อยปกตินัก เพราะสุดท้ายคนเหล่านี้มักจะทำเพื่อตัวเองมิได้รักสัตว์จริงหรอก....
อย่างกรณีวานรเขาจะอยู่กับท่านไปถึง 30-50 ปี กรงราคาเรือนแสนที่พูดถึงมีอายุใช้งานราว 5-10 ปีเท่านั้นเองครับ คนส่วนใหญ่ที่เลี้ยงวานรมาเขาเลยไม่กล้าทุ่มทุนต่อ แค่เอาความน่ารักน่าเอ็นดูมาบำบัดตัวเองไม่กี่ปี แล้วหาทางปล่อยให้สังคมรับผิดชอบต่อไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยอุปโลกน์ว่าอยากปล่อยคืนสู่ป่าบ้างหละ อยากให้มีเพื่อนบ้างหละ ทั้งๆ ที่วัยแห่งการเล่น (play age) นั่นเป็นช่วงที่เขาต้องการเพื่อนที่เป็นวานรด้วยกันมากที่สุด แต่มนุษย์มักใช้วานรในช่วงอายุนี้เพื่อบำบัดตัวเองจึงจะไม่ยอมมอบให้ผู้ใดง่ายๆ ไม่เหมือนตอนที่หมดความน่ารักแสนรู้ เมื่อนั้นต่างอยากให้เอาไปไกลๆ
ทุกท่านสามารถแสดงความเห็นได้นะครับเต็มที่เลย รับรองรุ่นนี้ไม่มีเคืองแล้วหละ พอดีงานสายตรงผมต้องบำบัดวานรเพื่อปล่อยคืนสู่ป่าเลยเผชิญเรื่องราวเหล่านี้มาพอสมควร...
เห็นอาการนั่งนิ่งๆของหลินปิงแล้ว ลองอ่านดูเรื่องของลิงบ้าง
เขียนโดย ก๊ง เมื่อ 23 กันยายน 2553
http://www.siamensis.org/webboard/topic/701
สภาพแวดล้อมที่ไม่เร้าใจ (Unstimulating environment)
วานรป่าในธรรมชาติมีชีวิตอิสระในพื้นที่หากินอันกว้างใหญ่ไพศาล ตัวอย่างเช่นฝูงลิงแสม 10-100 ตัว จะมีพื้นที่หากิน 156-1,250 ไร่ โดยในแต่ละวันจะเดินทางหาอาหาร 150-1,900 ม.ขณะที่ครอบครัวชะนี 2-8 ตัว ใช้พื้นที่หากินราว 300ไร่ อิสรภาพกลางป่านั้นเต็มไปด้วยสีสัน มีเรื่องให้สนุกสนานเพลิดเพลินไม่เว้นแต่ละวัน เพราะในธรรมชาติต้องใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ต้องพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลซึ่งกันทั้งทางตรงและทางอ้อม การไล่จับหยอกล้อเล่นกันตามเกมส์ธรรมชาติ การแก่งแย่งแข่งขันเพียงเพื่ออิ่มท้อง จนถึงการล่าเป็นอาหารภายใต้สมดุลทางธรรมชาติ อันวานรมนุษย์ในสังคมปัจจุบันที่คับแคบจมปลักกับมนุษย์ด้วยกันเอง ทะเลาะเบาะแว้ง ชิงดีชิงเด่น มีชีวิตประจำวันกับสัตว์เลี้ยงแสนรักและไม้ประดับเพียงไม่กี่สายพันธุ์ ไฉนเลยจะเข้าใจและรู้ซึ้งถึงชีวิตอิสระของสรรพสัตว์ในพงพนาว่าเริงสราญเพียงใด
วานรที่เติบโตในธรรมชาติจึงไม่มีภาวะจิตเสื่อมถอยแล้วแสดงพฤติกรรมผิดธรรมชาติออกมาให้เห็น วานรที่ถูกมนุษย์นำมาเลี้ยงจึงไม่มีทางที่จะเนรมิตรให้มีชีวิตความเป็นอยู่เยี่ยงวานรป่าได้ เว้นแต่การนำไปปล่อยคืนสู่ป่าให้สำเร็จเท่านั้นทว่าในโลกความจริงมิอาจทำเช่นนั้นได้เสมอไป กรงหรือสถานที่อยู่จึงควรมีขนาดใหญ่โตกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ และยิ่งกรงมีขนาดเล็กเท่าใดก็ยิ่งจำเป็นต้องสรรหาวิธีเสริมสร้างพฤติกรรมธรรมชาติมาใช้ให้มากที่สุด แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าวานรในกรงเลี้ยงนั้นมีชีวิตยืนยาวกว่าวานรในธรรมชาติ จึงน่าจะมีชีวิตที่เป็นสุขกว่าเป็นไหนๆ ได้กินอาหารอย่างดีภายใต้การดูแลของนักโภชนาการ มีระบบรักษาความปลอดภัยไม่ให้ศัตรูเข้ามาจับกิน และเมื่อเจ็บป่วยก็มีทีมสัตวแพทย์พร้อมเครื่องมืออุปกรณ์ครบครันคอยดูแล แต่หากย้อนถามท่านว่าอยากมีชีวิตเช่นนั้นหรือไม่ ก็เชื่อได้ว่าคงไม่มีผู้ใดปราถนา มิเช่นนั้นมนุษย์เราที่ร่ำรวยล้นฟ้าคงหนีออกจากเคหสถานของตนไปต่อแถวจองคิวเข้าห้องพิเศษตามโรงพยาบาลหมดแล้ว หรือหากเป็นการบริการที่ไม่ต้องเสียสตางค์ ยาจกเข็ญใจเองก็คงจะไปจองคิวเช่นกันแต่มั่นใจได้ว่าคงไม่มีผู้ใดอยากอยู่ในนั้นตลอดกาล