|
|
|
|
|
|
|
|
| ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (41 คน) |
|
|
|
| |
| | | ชอบมาก ห้ามพลาด (549 คน) |
| | | ชอบ (409 คน) |
| | | เฉยๆ (221 คน) |
| | | ไม่ชอบ (30 คน) |
| | | ไม่ชอบมาก เสียดายตังค์ (41 คน) |
| |
จำนวนผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 1250 คน |
เลือกอ่านบทความนี้พร้อมรูป + อ่านความเห็นอื่นๆและชวนแสดงความเห็นเพิ่มเติมที่ http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=aorta&month=05-2011&date=01&group=14&gblog=246
... บ่อยครั้งที่คนเป็นลูก โดยเฉพาะตอนยังเป็นเด็ก มักไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อแม่ถึงต้องทำแบบนั้น ทำแบบนี้ ทำไมไม่รักหรือไม่ใส่ใจ ซึ่งบางครั้งเราก็เข้าใจถูก แต่บ่อยครั้งก็เพราะเรายังไม่เข้าใจ โลกที่พ่อแม่ต้องเผชิญ
เหมือนที่แนนไม่เข้าใจว่า ตั้งแต่เล็ก พ่อก็ไม่เห็นเคยจะสนใจ ส่งตัวเองไปให้ยายเลี้ยง แล้วจู่ๆนึกจะย้ายบ้านมาเชียงใหม่ ก็หอบหิ้วเธอมาด้วย โดยที่เธอไม่ได้อยากจากเพื่อน จากยาย หรือ จากความคุ้นเคยกับเมืองกรุง
และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของ ลัดดาแลนด์ ที่ตั้งคำถามแบบเงียบๆไว้ให้คนดูสงสัยว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของพ่อ-ลูก แต่เพราะเป็นหนังผีเราจึงไม่ทันได้สนใจกับมันมากนัก
15 นาทีแรกของ ลัดดาแลนด์ อาจทำให้คนรอกรี๊ดผิดหวัง แต่ถ้าตัดความคาดหวังเรื่องผีออกไป ถือได้ว่าเป็นการเปิดเรื่องที่ดีมาก ที่สามารถดึงเราเข้าไปในโลกของธีร์ - พ่อของแนน อย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้คนดูอินไปกับความรู้สึกของคนที่เข้าสู่วัยสร้างครอบครัว
ไม่ว่าจะถูกหรือผิด แต่เราก็รู้กันว่า ผู้ชาย แบกรับความคาดหวังจากค่านิยมเก่าๆและสังคมที่มีมานานเกี่ยวกับ ความเป็นชาย ว่า พ่อหรือหัวหน้าครอบครัวที่ดี คือ ต้องสามารถเป็นที่พึ่งพาให้ลูกเมีย ต้องปกป้องลูกเมียได้ และ ต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ลูกเมียเชื่อฟัง
ธีร์ ก็โตมากับความเชื่อเช่นนั้น เราจึงเห็น ภาพคนเป็นพ่อที่เก็บหอมรอมริบ สู้ชีวิตเพื่อพิสูจน์ตัวเอง จนดาวน์บ้านได้หนึ่งหลัง กำลังตกแต่งบ้านรอ ภรรยาและลูกๆเดินทางมาเข้าบ้านใหม่ พยายามหาของถูกใจลูกๆทั้งสองคน เตรียมเซอร์ไพรส์ไว้ให้ภรรยา
แต่เมื่อลูกมาถึง แนน ลูกสาวคนโตกลับแสดงออกด้วยความไม่พอใจ หลายพฤติกรรมเข้าข่ายเกรียนและกวนใส่พ่อ ซึ่งพ่อก็ได้แต่ทำหน้าจ๋อยแล้ว อดทน
ธีร์ โชคดีที่มีภรรยาที่น่ารัก เธอเข้าใจ คอยให้กำลังใจ และ เตือนให้ใจเย็นกับลูก
คำเตือน (Spoils alert) : บทความถัดจากนี้มี เฉลย และ บอกเล่าจุดสำคัญในเรื่อง
... จุดเปลี่ยนสำคัญที่พาครอบครัวนี้ไปพบกับ หายนะ คือ การตกงานแบบไม่คาดฝันของธีร์(ที่เสียดสีการขายตรงและความฝันของโลกทุนนิยมได้พอแสบๆคันๆ) โดยยังมีหนี้ก้อนโต บวกกับอายุที่หางานได้ยาก
และ ตัวโหมโรงชีวิตครอบครัวนี้ให้เข้าสู่หายนะเร็วขึ้น คือ เหตุฆาตกรรมในหมู่บ้านลัดดาแลนด์ ตามมาด้วยข่าวลือว่า มี ผี
ผู้คนทยอยย้ายออก และ เมื่อเจอผีจัดหนักหลายรอบ ภรรยาของธีร์ก็ขอร้องให้เขาขายบ้านแล้วกรุงเทพฯ แต่ ธีร์ ไม่ยอมไป
ถึงตอนนั้น สมาชิกในบ้านรวมถึงคนดูไม่เข้าใจว่า เพราะอะไร ธีร์ ถึงดื้อด้านนัก หรือ เพียงเพราะจะอยู่ให้ผู้กำกับได้โชว์ฉากผีหลอก
ข้อดีของหนังเรื่องนี้ก็คือ บทหนังให้คำอธิบายที่ดีพอถึง ความดื้อที่จะยึดติดกับบ้านหลังนี้ และ ทำให้เราเข้าใจหัวอกคนเป็นพ่อคนหนึ่งที่น่าสงสารเอามากๆ
... แม้จะมีเงินเก็บไม่มาก เขาก็เสี่ยงดาวน์บ้านในหมู่บ้านสวยๆ แม้จะฝืดเคืองในการใช้จ่ายก็ยังยอมที่จะจ่ายค่า BB ให้ลูกสาวได้แชตกับเพื่อน ยอมซื้อทีวี LCD หลังจากลูกบ่นเปรียบเทียบกับบ้านเก่าที่กรุงเทพ เพื่อให้ลูกพอใจในบ้านหลังนี้
การใช้ชีวิตของธีร์ มองในแง่มุมหนึ่งอาจเป็นเรื่องของหน้าตา , วิพากษ์รูปแบบชีวิตของคนในยุคสมัยทุนนิยมและบริโภคนิยม หรือ การตามกระแสค่านิยมคล้ายๆฝรั่งมี American dream แต่สิ่งหนึ่งที่ฉายชัดที่สุดคือ ทุกสิ่งที่เขาทำๆไม่ได้เป็นการซื้อเพื่อหน้าตาตัวเอง แต่มาจาก ความรักที่เขามีให้กับลูกเมีย และ ความคาดหวังมากมายที่ตัวเองแบกรับอยู่ (ค่านิยมของสังคม , ความกดดันจากแม่ยาย , ความสุขของลูกเมีย)
เดิม ตัวตน(self) ของธีร์ ถูกกระทบจากลูกที่ไม่เชื่อฟัง ยังทำให้เขาพอทนได้ แต่เมื่อตกงาน สิ่งที่ตามมา ความเป็นชายและความภาคภูมิใจในตัว ล้วนถูกกระทบตามเป็นลำดับๆ
ลูกต่อต้าน งานไม่มี (สงสัย)เมียมีชู้ คู่ต่อสู้(เจ้านายเก่าเมีย)เหนือกว่า ชักหน้าไม่ถึงหลัง แอบถอนเงินลูก ลูกเห็นเป็นพนักงานขายของ ไปด่าเพื่อนบ้าน แล้วเขายิงกันตาย ดื้อไม่ยอมย้ายบ้าน ลูกเป็นบ้า และ สุดท้าย ...
แม้จะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่า การมีของอันตรายอยู่ในมือในภาวะอารมณ์กดดันสามารถนำอันตรายมาถึงตัวเมื่อขาดสติ เช่น ความไม่ไว้วางใจ เป็นอันตรายที่สามารถเปลี่ยนเป็นกระสุนพุ่งใส่คนรัก แต่ ธีร์ก็คงไม่ทันคิดถึงจุดนั้นในช่วงจังหวะชีวิตที่ความทุกข์ซ้ำกรรมซัด แถมเจอผีจัดเต็มไม่หยุดหย่อน
และ เมื่อทุกความฝันพังย่อยยับ ทุกความหวังไม่หลงเหลือ สิ่งที่ ธีร์หลงเหลือขณะกำลังคุกเข่าในห้องกับปืนในมือ คือ ความเจ็บปวด ล้มเหลวทั้งในฐานะพ่อและหัวหน้าครอบครัว รู้สึกผิดที่ทำให้ลูกเป็นบ้า ผิดที่ยิงลูกตาย ผิดที่ไปทำให้บ้านข้างๆกดดันหนักจนต้องฆ่ากัน แถมถ้าอยู่ต่อยังต้องแบกความอับอาย(ถ้าต้องย้ายไปอยู่กับแม่ยาย)ไปด้วย
ฉากสุดท้ายบนรถ แม้ตอนแรกจะดูเหมือนส่วนเกิน ทั้งๆที่หนังน่าจะจบไปก่อนหน้านั้นได้แล้ว แต่เมื่อแม่เปิดปากเล่าความจริงในอดีต สารที่ฉากนี้สื่อออกมา เป็นการบดขยี้ต่อมเห็นใจธีร์ ให้หนักขึ้นไปอีก(และน่าจะหนักมากสำหรับแนน)
เมื่อได้รู้ว่า คนที่รักแนนมากที่สุดตั้งแต่เธอยังไม่เกิด ก็คือ พ่อของเธอ ที่ต่อสู้จะให้เธอได้ลืมตาดูโลกทั้งๆที่แม่คิดจะทำแท้งเพราะไม่พร้อม
และ เพื่อแนน พ่อถึงต้องยอมทุกอย่าง ยอมกระทั่งยกลูกให้แม่ยายเลี้ยง หวังว่าเธอจะโตมาอย่างสมบูรณ์พร้อม โดยที่เขาก็เก็บหอมรอมริบยอมถูกแม่ยายหยามเหยียด รอวันที่จะรับกลับมาอยู่ด้วยกันเมื่อตัวเองมั่นคง
... ลัดดาแลนด์ จึงไม่ใช่มีความหมายแค่ บ้าน แต่คือ ความหวังหนึ่งเดียวที่เขาจะพิสูจน์ตัวเองให้ลูกเมียเห็นในฐานะ พ่อและภรรยา ที่ทำให้ทุกคนภูมิใจ หวังจะเอาชนะใจลูกสาว ให้กลับมามีความสุขเวลาอยู่กับพ่อ ไม่ใช่สุขเฉพาะเวลาอยู่กับยาย พิสูจน์ให้แม่ยายได้เห็นว่าเขามีดีกว่าที่โดนดูถูกและสามารถจะเลี้ยงดูภรรยากับลูกได้
น่าเศร้าใจที่เขาผูกคำว่าครอบครัวที่มีความสุข ไว้ที่บ้านในรูปแบบสิ่งก่อสร้าง พร้อมๆกับแบกรับความกดดันจากคนรอบข้าง แล้วปล่อยวางมันช้าเกิน
เพราะในความเป็นจริง แม้ต้องเสียบ้านหลังนี้หรือเสียงานไป ขอเพียงหันหน้ามาปรับความเข้าใจกับลูกสาวให้ตรงจุด หรือหยุดแบกความคาดหวังจากสังคมและคนรอบข้าง เขาก็จะมองเห็นว่า
ทุกสิ่งที่เขาทำมา ก็ควรค่ากับการเป็น พ่อและสามีที่ดีมากพอแล้ว
... ที่น่าสนใจคือ ตัวหนังไม่ได้วางให้ตัวละคร พ่อที่มีปัญหาในหนังเรื่องนี้ แค่ ธีร์ คนเดียว แต่ คุณสมเกียรติ บ้านข้างๆก็ประสบปัญหาคล้ายๆกัน
แรกๆเราก็คงมองเขาเหมือนมองจากสายตาคนข้างบ้านเพียงผิวเผิน แล้วตัดสินคุณสมเกียรติได้ง่ายๆว่า เป็น ผู้ชายไม่ดีที่นิยมใช้ความรุนแรงกับลูกเมีย แล้วเก็บมานินทาด่าทอ
แต่กว่าเราจะเข้าใจก็เมื่อสายว่า จริงอยู่ที่การทำร้ายเด็กกับผู้หญิงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่มันไม่ใช่เรื่องของนิสัยส่วนตัวเสียทั้งหมด หากแต่ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นถึงขั้นฆ่ากันตาย มีตัวกระตุ้น มาจาก ความเครียดที่ต้องแบกรับเหมือนกับธีร์
พ่อคนหนึ่ง แบกรับความคาดหวังและความกดดันจากสังคม และ ภาพฝันที่ตัวเองตั้งไว้ที่อยากจะเป็นพ่อที่ดี เป็นสามีที่ภรรยาภูมิใจ ส่วนพ่ออีกคนหนึ่ง ก็แบกรับความกดดันเช่นกันจากหนี้สินมหาศาล กับ การรับผิดชอบลูกเมียแถมแม่พิการอีกหนึ่งคน โดยมีตัวเองทำงานอยู่แค่คนเดียว
จุดแตกหักของสมเกียรติ ก็คล้ายกับ จุดแตกหักของธีร์ คือ การถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม กระทบความเป็นชายที่เขายึดไว้กับ ศักดิ์ศรีของหัวหน้าครอบครัว เมื่อรู้ว่าเมียไปยืมเงินบ้านข้างๆแล้วลูกก็ไปสร้างความเดือดร้อน โดยที่ตัวเองควบคุมอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้วกระทั่ง คนในบ้าน
(กระทบความเป็นชายสามต่อ คือ หนึ่ง ไม่ชอบการถูกทำอะไรลับหลัง สอง ถูกคนอื่นเขามาด่าต่อหน้าเสียๆหายๆให้อับอายเสียหน้า และ สาม สูญเสียความสามารถในการควบคุม)
... เรียกได้ว่า จากโปสเตอร์และโฆษณา คนดูคงไม่รู้ตัวว่าจะได้เจอกับประเด็นดราม่าที่มากและหนักขนาดนี้ และที่เซอไพรส์คือ ปกติในหนังผี ส่วนดราม่ามักจะเป็นแค่ไม้ประดับ แต่สำหรับ ลัดดาแลนด์ ความเป็นดราม่าในหนังเรื่องนี้เป็นตัวชูโรง แถมยังออกมาดีเสียยิ่งกว่าหนังไทยหลายเรื่องที่เป็นหนังดราม่าพันธุ์แท้เสียด้วยซ้ำ
ถึงแม้จะใส่รายละเอียดในชีวิตของตัวละครมามาก แถมกระจายความลึกให้กับตัวละครทุกตัวรวมไปถึงเพื่อนบ้าน แต่ก็ใส่เข้ามาแบบไม่ทำให้รู้สึกว่ายัดเยียด และ เรื่องราวทั้งหลายที่ใส่เข้ามามันก็ส่งเสริมไปในทิศทางเดียวกัน
เมื่อถึงบทสรุปตอนท้าย ทุกอย่างมันจึงชัดเจนมากๆสำหรับการพูดถึง วิกฤติวัย(ใกล้)กลางคน ของ คนเป็นพ่อ และ ปัญหาของสถาบันครอบครัวที่กำลังล่มสลายแบบไม่ทันรู้ตัว
การสั่นคลอนของสถาบันครอบครัวใน ลัดดาแลนด์ ทำให้ผมคิดถึงภาพที่คล้ายกันอย่างมากใน Tokyo Sonata อาจจะต่างกันก็ตรงบริบททางวัฒนธรรมกับสังคม แต่ในแง่ชะตากรรมของคนเป็นพ่อและหัวหน้าครอบครัวแทบจะไม่ต่างกันเลย (มี conflict กับลูก , ตกงาน , ไม่กล้าบอกลูกเมีย , เพื่อนบ้านฆ่าตัวตาย , ต้องกลายเป็นพนักงานทำความสะอาด , ลูกเมียมาเจอโดยไม่คาดฝัน)
รวมถึง คนเป็นแม่ เองก็ต้องรับความกดดันแล้วเก็บกดอย่างที่คนอื่นไม่รู้ แม่ใน Tokyo sonata เก็บกดความฝันของตัวเองแล้วรับหน้าเสื่อทั้งจากลูกและสามี ส่วน แม่ในลัดดาแลนด์ ต้องยอมทิ้งการทำงานที่ตัวเองรัก เพื่อมารับบทเป็นแม่บ้าน แล้วรับหน้าเสื่อทั้งจากแม่และสามี
มันจะต่างจังๆก็ตรงที่ว่า ครอบครัวในลัดดาแลนด์ เปรียบเสมือน การพาครอบครัวใน Tokyo sonata มาเจอ ผีตุ้งแช่
(
อ่านบทความต่อได้ที่ ความเห็น 13 )
(ขออภัยที่ต้องเลื่อนยาว เพราะมีคำที่ติด auto delete กว่าจะเจอเล่นเอาเหงื่อตก
)
แก้ไขเมื่อ 02 พ.ค. 54 12:30:46
แก้ไขเมื่อ 02 พ.ค. 54 10:51:47
แก้ไขเมื่อ 02 พ.ค. 54 10:22:43
แก้ไขเมื่อ 02 พ.ค. 54 10:20:47
แก้ไขเมื่อ 02 พ.ค. 54 10:15:54