กลายเป็นประเด็นในโลกออนไลน์ขึ้นมาทันที เมื่อมีข่าวคราวว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมจะยึดพื้นที่ของหอเกียรติภูมิรถไฟคืนจาก ชมรมเรารักรถไฟ หลังจากที่ปล่อยให้หอดังกล่าว ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมข้าวของทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับรถไฟมานานมากกว่า 21 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า ชมรมฯ หารายได้พิเศษจากการขายน้ำตู้อัตโนมัติและก๋วยเตี๋ยวชามละ 20 บาท ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงแต่แรกแล้ว 'ห้ามหารายได้' เป็นอันขาด แน่นอนว่า คำถามหนึ่งคงเกิดขึ้นในใจของทุกคนก็คือ ทำไมการรถไฟฯ ถึงทำเช่นนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า พื้นที่นี้เป็นศูนย์กลางสำคัญต่อการเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการคมนาคม แม้ว่างานนี้จะยังไม่สามารถนำผู้บริหารจากการรถไฟฯ มาตอบคำถามให้กระจ่าง แต่เหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้ ก็คงจะพอให้เห็นภาพกันได้บ้างว่า เกิดอะไรขึ้นกับแหล่งความรู้ของประเทศไทย ที่ชื่อว่า 'หอเกียรติภูมิรถไฟ' บันทึกความพ่ายแพ้อีกหน้าของประวัติศาสตร์รถไฟไทย [1] หากนับย้อนหลังไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน พื้นที่ของหอเกียรติภูมิรถไฟนี้ เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทยก็เคยทำเป็นอาคาร 'พิพิธภัณฑ์รถไฟ' มาตั้งแต่ต้นแล้ว โดยภายในนั้นได้บรรจุรถไฟประวัติศาสตร์จำนวนมาก ทั้งหัวลากดีเซลรุ่นต่างๆ แหละหัวจักรรถไฟไอน้ำ ตลอดจนรถไฟพระที่นั่งของบุรพกษัตริย์ไทย หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นที่ดังกล่าวกลับไม่ได้ถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สักเท่าใดนัก จนกระทั่งภายหลัง การรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินที่ตั้งอาคารนี้เพื่อพระราชทานให้กรุงเทพมหานครจัดทำเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งรู้จักกันดีในนามของ 'สวนจตุจักร' นั่นเอง แต่ทว่าปัญหาก็คือ อาคารพิพิธภัณฑ์นั้น ทาง กทม.กลับไม่ได้รับอำนาจให้ดูแลด้วย เพราะยังถือเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ อยู่ อาคารดังกล่าวจึงถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่าไร้ผู้สนใจ แถมยังมีโครงการที่รื้อถอนอาคารทิ้งอีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้เอง พอปี 2533 ชมรมเรารักรถไฟ ซึ่งก่อตั้งโดย สรรพสิริ วิรยศิริ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 จึงได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ดังกล่าว จากการรถไฟฯ เพื่อสืบสานปณิธานเริ่มแรกที่ตั้งใจจะใช้พื้นที่นี้เพื่อบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์รถไฟซึ่งมีมานานเกือบ 100 ปี ความจริงแล้วเราอยากจะดูแลโดยใช้ชื่อพิพิธภัณฑ์รถไฟเหมือนอย่างเดิม แต่การรถไฟฯ ก็แจ้งมาว่าเราทำไม่ได้ เนื่องจากเราเป็นเอกชน และมันก็ไม่มีกฎระเบียบยอมรับด้วย คุณพ่อ (สรรพสิริ) ก็เลยบอกขอเฉพาะอาคารได้ไหม ระงับการรื้อไว้ชั่วคราวก่อน ซึ่งการรถไฟฯ ก็ตกลงแต่มีเงื่อนไขอยู่ 3 ข้อ อย่างที่หนึ่งจะให้อาคารเปล่า โดยค่าน้ำ ค่าไฟ จะถูกตัดหมดเพราะยกเลิกการเป็นอาคารของการรถไฟฯ แล้ว อย่างที่สองต้องใช้เงินในการดำเนินการด้วยเงินส่วนตัว และห้ามการค้าใดๆ ทั้งสิ้น อย่างสุดท้ายคือให้ดำเนินการให้สมเกียรติการรถไฟฯ จุลศิริ วิรยศิริ ทายาทของสรรพสิริที่เข้ามาทำหน้าที่สืบสานเจตนารมณ์ต่อจากบิดา รำลึกถึงที่มาที่ไปของหอเกียรติภูมิรถไฟ ด้วยเหตุนี้ สมบัตินับร้อยชิ้น ไม่ว่าจะเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยเอง หรือสมบัติส่วนตัวของสมาชิกชมรมเรารักรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นหัวรถจักร ตู้โบกี้ ซึ่งบางคันก็เหลือเพียงชิ้นเดียวในประเทศ ถูกถ่ายเทเข้ามาอยู่ในหอเกียรติภูมิแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า แต่ละชิ้นต่างก็มีเรื่องราวอันยาวนาน ที่แสดงให้เห็นความรุ่งเรืองทางคมนาคมของชาติที่เคยได้ชื่อว่า หนึ่งในผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง 'สยามประเทศ' รถรางหลายคันที่เราเจอมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาก อย่างบางคันก็เป็นหนึ่งในสิบคันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานเอาไว้ให้ บางคันก็เป็นยานยนต์ 1 ใน 10 คันแรกของประเทศไทยด้วย หรือบางคันเป็นรถคันสุดท้ายแต่ไม่เคยวิ่งเลย เช่น รถจักรไอน้ำ 1009 ซึ่งเป็นรถที่ชาวไต้หวันนำมาขอสัมปทานวิ่งเมื่อปี 2506 หรืออย่างรถไฟพยาบาล ที่เป็นไม้สักทองทั้งหลังเลย เป็นต้น
จากคุณ |
:
RiverNoReturn
|
เขียนเมื่อ |
:
24 มิ.ย. 54 17:05:27
|
|
|
|