'ละครไทย' ในแดนมังกร จังหวะก้าวสำคัญพา 'ที-วินด์' สู่ระดับสากล
|
 |
'ละครไทย' ในแดนมังกร จังหวะก้าวสำคัญพา 'ที-วินด์' สู่ระดับสากล
ผู้จัดการรายวัน 10 สิงหาคม 2554
อาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหม่มากนัก สำหรับกระแสละครไทยที่กำลังเป็นที่คึกคักอยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า 'ไทยวินด์ หรือ ที-วินด์ (T-Wind) ที่สื่อจีนบางสำนักเคยขนานนามให้กระแสละครไทยที่เข้าไปสู่ตลาดจีนว่า เหมือนกับสายลมที่พัดมาแล้วผ่านไปอย่างรวดเร็ว
แต่ใครจะไปนึกว่า ผ่านมาหลายปี สายลมที่พัดไปนั้นดูท่าจะเป็นที่ติดอกติดใจของชาวแดนมังกรยิ่งนัก เพราะยิ่งพัดก็ยิ่งดู ยิ่งมีละครหลายเรื่องมาให้ก็ยิ่งติดกันงอม จนกลายเป็นกระแสที่เรียกว่า ที-ป็อป (T-Pop : Thai pop culture) เทียบชั้นกับความบันเทิงของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เคยเข้ามาสร้างปรากฏการณ์ เจ-ป็อป (J-Pop : Japanese pop culture) และ เค-ป็อป (K-Pop : Korean pop culture) ในบ้านเราและที่ประเทศจีนก่อนหน้านี้ยังไงยังงั้น
แต่อย่างว่า ปัญหาหนึ่งที่เชื่อว่าคงสร้างความฉงนสงสัยให้เกิดขึ้นในใจของผู้ชมละครมานานแสนนานอย่างหนึ่ง ก็คืออะไรกันหนอที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ละครไทยสามารถยืนทัดเทียบกับละครจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียได้เช่นนี้ เพราะต้องยอมรับความจริงว่า สำหรับมุมมองคนไทยที่มีต่อละครไทยส่วนใหญ่แล้ว ต่างก็เห็นเป็นมุมเดียวกัน ละครไทยนอกจากจะทำหน้าที่คลายเบื่อ คลายเหงาแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะยืดเยื้อ เรื่องไม่ไปไหน ชนิดลืมดูไป 10 ตอนก็ยังเข้าใจเรื่องได้ไม่ยาก จนหลายคนถึงกลับบอกเป็นเสียงเดียวว่า
'ละครไทยน้ำเน่าสุดๆ' เพราะฉะนั้นการการประสบความสำเร็จนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย และดีไม่ดีนี่อาจจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ตลาดละครไทยก้าวไปสู่ตลาดบันเทิงในระดับนานาชาติอีกด้วย
เหตุใดจึงติดละครไทย หากให้พูดถึงมูลเหตุที่ละครไทยได้รับความนิยมเช่นนี้ในประเทศจีน คงต้องย้อนกลับไปไกล เมื่อปี 2547 ที่บริษัทแอ็กแซ็กต์ จำกัด และบริษัทซีเนริโอ จำกัด ได้นำละครของตัวเอง อย่าง 'เลือดขัตติยา' เข้าไปฉายทางสถานีโทรทัศน์อานฮุย แน่นอนว่าแม้ตอนนั้นจะไม่โด่งดังเท่าที่ควร เนื่องจากกระแสละครเกาหลีกำลังได้รับความนิยมอยู่มาก แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่ทำให้คนจีนได้มีโอกาสได้สัมผัสกับละครไทย
และหลังจากนั้นอีก 5 ปีละครไทยอย่าง 'สงครามนางฟ้า' ของผู้ผลิตเจ้าเดียวกัน ซึ่งว่ากันว่ามีบทและฉากที่หวือหวาและเน้นความสัมพันธ์แบบชิงรักหากสวาท ก็สามารถเอาชนะใจชาวแดนมังกรได้ในที่สุด และเป็นประตูสำคัญที่ทำให้ละครเรื่องอื่นๆ ของไทยที่ฉายผ่านทีวีจีน ไม่ว่าจะเป็น รอยอดีตแห่งรัก พรุ่งนี้ก็รักเธอ บ่วงรักกามเทพ แก้วล้อมเพชร ดอกรักริมทาง และ แจ๋วใจร้ายกับคุณชายเทวดา ฮิตติดลมบนในเวลาต่อมา
โดยจุดเด่นที่สำคัญที่ถูกสำคัญที่สุด ก็คือความหลากหลายของโครงเรื่องซึ่งมีอยู่เต็มไปหมดในละครไทย ขณะเดียวกัน สิ่งที่คนไทยมักจะคิดว่าเป็นจุดอ่อน อย่างความน้ำเน่าของละคร ที่มักจะมีบทประเภทชิงรักหักสวาท ตบตีด่าทอด้วยความรุนแรง ความรักที่ผิดหวัง หรือการทำลายร่างกายประเภทตบจูบ กลับกลายมาเป็นจุดเด่นที่สำคัญเวลาที่มาฉายในประเทศจีน เพราะบทเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนภาพได้อย่างดีว่า ละครไทยนั้นไม่ซับซ้อนและเข้าใจได้ง่าย
เท่าที่ดูมาละครเกาหลีคอนเซ็ปต์มันจะหนีไม่พ้นเรื่องอุบัติเหตุ เจ็บป่วยเป็นโรค รักษาไม่ได้ แต่คนจีนจะรู้สึกว่า ละครไทยแตกต่างออกไป โดยจุดเด่นที่สำคัญที่สุด ก็คือเรื่องแง่มุมความรักมันดูหักมุมดี พล็อตไทยส่วนใหญ่ ผู้หญิงโหด ผู้หญิงจะไม่อ่อนหวาน แก่นๆ มีบทลักพาตัว บทร้ายๆ ต่างจากเกาหลีกับญี่ปุ่น พูดง่ายๆ คือดูแล้วได้อารมณ์กว่า แถมฉากละคร หน้าตาดารา การเเต่งหน้า มันให้ความรู้สึกเป็นเอเชียมาก พิรญาณ์ แสงปัญญา นักศึกษาไทยที่ไปอยู่ในประเทศจีนอธิบายถึงภาพลักษณ์ของละครไทยที่เพื่อนๆ ชาวจีนเล่าให้ฟัง
แก้ไขเมื่อ 10 ส.ค. 54 21:45:51
จากคุณ |
:
Pikachu ร่าง 5
|
เขียนเมื่อ |
:
10 ส.ค. 54 21:39:04
|
|
|
|